ทั่วไป

"อนุทิน" เผย ไทยเดินหน้าวิจัยวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 1 เริ่มเดือนหน้า

Thai PBS
อัพเดต 10 ก.พ. 2564 เวลา 08.52 น. • เผยแพร่ 10 ก.พ. 2564 เวลา 08.28 น. • Thai PBS

วันนี้ (10 ก.พ.64 ) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร แถลงความคืบหน้าการศึกษาวิจัยทางคลินิกวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยระบุว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติโดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้จัดหาวัคซีน 63 ล้านโดส เป็นที่เรียบร้อยเพื่อฉีดให้กับคนไทยและบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความปลอดภัยและให้ผ่านพ้นสถานการณ์ COVID-19 นี้ไปได้

มีคำถามว่า ทำไมเลือกแทงม้าตัวเดียว เราไม่ได้แทงม้าตัวเดียว เราได้ติดต่อกับผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกแทบทุกราย และจัดหาอย่างเพียงพอและอยู่ระหว่างการจัดส่ง การจัดซื้อ 63 ล้านโดส รัฐบาลไทย ได้ทำสัญญาหรือออกใบสั่งซื้อเรียบร้อยแล้ว

นายอนุทิน ยังกล่าวว่า การจัดหาจัดซื้อ 2 ล้านโดสที่มาจากจีนจะมาภายในเดือน ก.พ.นี้ 2 แสนโส ในล็อตแรก และเดือน มี.ค.จำนวน 8 แสนโดส และ ในเดือน เม.ย.จำนวน 1 ล้านโดส หลังจากนั้นปลายเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.ปี 64 วัคซีนบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตโดย บ.สยามไบโอไซเอนซ์ จะเริ่มทยอยส่งออกมาจำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งจะมาตามเวลา ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน ก.พ.คาดว่าวัคซีนจำนวน 2 แสนโดสแรกจะมาถึงไทย และหลังการตรวจคุณภาพจะนำมาใช้ภายในต้นเดือน มี.ค.เป็นต้นไป ซึ่ง อย.ได้รับข้อมูลเอกสารจากผู้ผลิตจีน และจีนได้ให้การรับรองการขึ้นทะเบียนซิโนแวคในสถานฉุกเฉินแล้ว และไม่เป็นที่ลำบากใจของ อย.ในการขึ้นทะเบียนให้ทันการมาถึงของวัคซีนล็อตแรก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการจัดซื้อจัดหาไม่ได้แทงม้าตัวเดียวในไทย โดยสถาบันวัคซีน องค์การเภสัชกรรม และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ผลิตวัคซีนเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งได้สนับสนุนให้หน่วยงานวิจัยต่าง ๆ องค์การเภสัชกรรมได้ร่วมวิจัย กับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีความคืบหน้าคือ Program for Appropriate Technology in Health (PATH) สหรัฐฯ และ ม.มหิดล ใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก วิธีเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่ง ข้อมูลจากองคการอนามัยโลกปี 2019 การผลิตวัคซีนวิธีไข่ไก้ฟักมีความปลอดภัย ประสิทธิภาพดี ต้นทุนต่ำ ไม่ซับซ้อน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การร่วมพัฒนาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และทดลองในสัตว์ทดลองพบว่า วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดี และขั้นต่อไปการศึกษาในชั้นคลินิก ในมนุษย์ ในระยะที่ 1 ในเดือน มี.ค.นี้ โดยร่วมมือกับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล 

เมื่อมีการศึกษาทางคลินิกครบ 3 ระยะ จะขอขึ้นทะเบียนกับทาง อย.และผลิตในระดับอุตสาหกรรม และผลิตโดยโรงงาน องค์การเภสัชกรรม และหากไม่มีปัญหา ผลการทดลองเป็นไปได้ด้วยดี ไม่นานไทยจะมีโรงงานผลิตวัคซีนโรค COVID-19 แห่งที่ 2 ต่อจาก โรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจและมั่นคงของไทย และไทยจะเป็นผู้ผลิตที่ผลิตวัคซีนในการดูแลตัวเอง ดูแลเพื่อนบ้าน และถ้าเป็นไปได้สามารถดูแลทุกประเทศที่มีความต้องการได้

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์การเภสัชกรรม มีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และมีนโยบายในการผลิตวัคซีน COVID-19 ได้ร่วมกับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล และ Program for Appropriate Technology in Health (PATH) ของสหรัฐฯ ซึ่งองค์กรดังกล่าวได้ส่งหัวเชื้อตั้งต้นไวรัส COVID-19 มาให้โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งการศึกษาได้ผลดีในเฟสที่ 1 และ 2 และเป็นตัวแรกของไทยที่เข้าสู่การวิจัยในมนุษย์และคาดว่าจะใช้เวลาอีก 7-8 เดือน จึงจะขึ้นทะเบียนและผลิตวัคซีนต่อไป หากใช้ในไทยเหลือก็จะไปใช้ในประเทศเพื่อนบ้านต่อได้

 

นพ.วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน กล่าวว่า การทำวิจัย ศูนย์เวชศาสตร์เขตร้อน มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปี เช่น การทดลองวัคซีนโรคเอดส์ และ วัคซีนมะเร็งปากมดลูก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ไข้เลือดออก เป็นต้น การทดสอบในอาสาสมัครคนไทยเพื่อฉีดในคนไทย การทดสอบในระยะที่ 1 แบ่งอาสาสมัครหลายกลุ่ม ทั้งการฉีดวัคซีนหลอกและวัคซีนจริงและเลือกในกลุ่มที่ดีเพื่อทดสอบในระยะที่ 2 ต่อไป

 

พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ต้องหาความเหมาะสมของวัคซีน แต่วัคซีนมีข้อดีคือ เป็นเทคโนโลยที่องค์การเภสัชกรรมมีความเชี่ยวชาญ 2.การจัดเก็บในอุณหภูมิที่ระดับ 2-8 องศาเซลเซียส ความเสถียรของอุณหภูมิค่อนข้างสูง 3.ผลิตโดยไวรัสที่ไม่ก่อโรคในคนและก่อโรคน้อยมากในนก และคาดว่า วัคซีนที่มีสารเสริมฤทธิ์จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่กว้างขึ้นต่อไวรัสที่อาจกลายพันธุ์ในอนาคต

พญ.พรรณี เพิ่มเติมกล่าวว่า การทดลอง 3 ระยะ ในระยะที่ 1.จะทดสอบในอาสาสมัครจำนวน 210 คน จะเกิดในช่วงเกิน 1-2 เดือน และจะทราบถึงขนาดที่เหมาะสม จากนั้นจะเลือก 2 สูตรไปทดลองในระยะที่ 2 ในอาสาสมัครอีกจำนวน 250 คน ซึ่งคาดหวังว่าในระยะที่ 2 จะสามารถให้ข้อมูลแล้วขับเคลื่อนการทำงานในระยะที่ 3 ได้ในช่วงปลายปีนี้

การทดลองชั้นคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 1 จะเริ่มในเดือน มี.ค. หรือ ต้น เม.ย. ระยะที่ 2 จะเริ่มในเดือน เม.ย.- พ.ค. และวิเคราะห์ข้อมูลกึ่งกลาง เพื่อนำไปวางแผนเพื่อทำระยะที่ 3 ต่อไปได้

 

 

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน กล่าวว่า มีความยินดีที่เห็นการผลิตวัคซีน แม้ว่าจะมีการจำหน่ายโดยหลายบริษัท แต่ไวรัส COVID-19 ซึ่งโรคอุบัติใหม่ที่มีทั้งกลายพันธุ์ และข้อมูลที่ยังไม่ครบ เช่น ต้องฉีดซ้ำหรือไม่ ซึ่งการจะป้องกันโรคต่างๆ ก็เตรียมทุนในการสนับสนุนการวิจัยไว้แล้วโดยสนันสนุนร่วมกับสำนักวิจัยแห่งชาติ

 

 

ดูข่าวต้นฉบับ