โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

วิชาเขียนโปรแกรม ถูกบรรจุในหลักสูตรแล้ว

ลงทุนแมน

อัพเดต 01 มิ.ย. 2561 เวลา 12.40 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2561 เวลา 11.40 น. • ลงทุนแมน

วิชาเขียนโปรแกรม ถูกบรรจุในหลักสูตรแล้ว / โดย ลงทุนแมน
เร็วๆ นี้มีข่าวว่าเด็กไทยจะต้องเริ่มเรียน
เขียนโปรแกรมเป็นการศึกษาภาคบังคับกันแล้ว
หลายๆ คนฟังแล้วอาจจะยังไม่เชื่อ
แต่นี่เป็นเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้น และเกิดในต่างประเทศมาแล้ว

เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน

ถ้าใครยังจำกันได้ เราจะมีวิชา สปช. กพอ. และ สลน.

ทั้ง 3 วิชานี้จะครอบคลุมทั้ง วิทยาศาสตร์ สังคม และทักษะพื้นฐาน ที่ใช้ในการดำเนินชีวิต

แต่ต่อมาไม่นานวิชาเหล่านี้ก็ถูกยกเลิกไป พร้อมกับเปลี่ยนเป็นวิชาอย่างสังคม วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ เข้ามาแทนที่

ทำไมต้องการมีการเปลี่ยนหลักสูตร ?

ถ้าเราลองมองไปรอบตัว เราจะเห็นว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

เทคโนโลยีทั่วโลกมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน สื่อสังคมออนไลน์

วิชาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญขึ้นกว่าในสมัยก่อนมาก

หลักสูตรจึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตามเพื่อให้ทันกับเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอ

ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน

เมื่อเรามองไปอีก 20 ปีข้างหน้า

ถ้าถามว่าอะไรกำลังเป็นเมกะเทรนด์ของโลก

คำตอบก็น่าจะเป็นสิ่งที่เรารู้ดี

Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ จะเป็นเมกะเทรนด์ เข้ามาอยู่ในทุกช่วงชีวิตประจำวันของเรา

ซึ่งหลายๆ บริษัททั่วโลกไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรือกูเกิ้ล กำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษ

ถ้าเราจะสอนเด็กรุ่นใหม่ให้ทันเทคโนโลยีเหล่านี้ หลักสูตรในการเรียนการสอนก็น่าจะต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับเรื่องที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน

เพื่อให้ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ Artificial Intelligence นี้ เราต้องรู้จักการคิดวิเคราะห์ ตรรกกะ ที่จะเขียนคำสั่งให้หุ่นยนต์คิด และ ทำงาน

วิชาการเขียนโปรแกรมจึงได้ถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรการเรียนในปัจจุบัน

แล้วหลักสูตรนี้มีในประเทศอื่นหรือยัง ?

ประเทศฟินแลนด์ที่มีระบบการศึกษาติดอันดับ 1 จากการจัดอันดับล่าสุดของเว็บไซต์เวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม (World Economic Forum) ได้บรรจุวิชาเขียนโปรแกรมไว้ในหลักสูตรระดับชาติตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว

รายละเอียดหลักสูตร มีดังนี้

เกรด 1-2 เรียนพื้นฐานเรื่องการเขียนโปรแกรม โดยไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์

แต่เน้นให้เด็กฝึกแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อฝึกฝนตรรกะ และความคิดเชิงวิเคราะห์

เกรด 3-6 เน้นการเขียนโปรแกรมให้เป็นส่วนหนึ่งของ “ความรู้เชิงขั้นตอนที่กว้างขวาง”

เกรด 7-9 การเขียนโปรแกรม ถูกเน้นให้เป็นวิชาที่มีกิจกรรมเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับวิชาอื่น

แล้วหลักสูตรของประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ป1. เขียนโปรแกรมแบบไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เป็นการฝึกใช้บัตรคำสั่งเดินขึ้น-ลง-ซ้าย-ขวา

ป4. เขียนโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์แบบใช้วิธีลากบล็อกคำสั่งบนจอ ไม่มีการเขียนโค้ด ใช้โปรแกรม Scratch ของ MIT ประกอบการสอน

ม. 1 ให้เลือกเรียนภาษาสำหรับเขียนโปรแกรม โดยภาษาที่แนะนำคือ ภาษา Python

ม. 4 นำภาษาที่เรียนมา ไปบูรณาการองค์ความรู้เพื่อทำโครงงาน

จะเห็นว่าหลักสูตรของประเทศไทยเอง ก็จะไปในแนวทางเดียวกับฟินแลนด์เช่นกัน

นอกเหนือจากฟินแลนด์แล้ว

อย่างอังกฤษเองก็เริ่มการสอนแบบนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ส่วนสิงคโปร์เพิ่งเริ่มสอนมาได้ 2 ปี

หมายความว่า การเรียนวิชาเขียนโปรแกรมตั้งแต่เด็กยังเกิดขึ้นมาไม่นานในต่างประเทศ

ทำให้ในครั้งนี้ประเทศไทยจึงถือได้ว่าอยู่ในประเทศกลุ่มแรก ที่มีการปรับหลักสูตรให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนจะสำเร็จมากน้อยขนาดไหน เราคงต้องเอาใจช่วยกันต่อไป

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

เราจะเห็นได้ว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอยู่เสมอ

ใครจะไปคิดว่า วิชาเขียนโปรแกรมจะมาอยู่ในหลักสูตรของเด็กได้

ต่อไป เด็กจะเก่งขึ้น

ส่วนรุ่นผู้ใหญ่ก็คงต้องยอมรับว่าจะสู้รุ่นเด็กไม่ได้ และผู้ใหญ่บางคนก็อาจจะยังยึดติดกับเรื่องเดิมๆ

ในอนาคต

ก็ไม่แน่ว่า เราอาจจะได้เห็นลูกของเรา

สามารถสร้างแอปพลิเคชันให้พ่อแม่ตรวจหวยได้ภายในไม่กี่นาที..
———————-
แอปตรวจหวยยังไม่ได้เขียน แต่ลงทุนแมนมีแอปบทความแล้ว
ติดตามเรื่องน่ารู้ต่าง ๆ ได้ที่
-แอปลงทุนแมน blockdit.com
-อินสตาแกรมinstagram.com/longtunman
-ทวิตเตอร์ twitter.com/longtunman
-ไลน์ line.me/R/ti/p/%40longtunman
-หนังสือลงทุนแมน 3.0 ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
———————-

Reference
-https://www.blognone.com/node/102435
-https://www.digitalagemag.com/thai-programming-study
-https://school.dek-d.com
[6854].

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0