โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานี พหลโยธิน-รัชโยธิน-เสนานิคม-ม.เกษตร คืบหน้าแล้ว 95%

BLT BANGKOK

อัพเดต 13 พ.ย. 2562 เวลา 10.39 น. • เผยแพร่ 13 พ.ย. 2562 เวลา 10.37 น.
8e36af1e771fd26254da664f9727478f.jpg

รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 4 สถานีใหม่ ได้แก่ พหลโยธิน-รัชโยธิน-เสนานิคม-ม.เกษตร ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว 95% คาดเสร็จสมบูรณ์ภายใน 4 ธ.ค. นี้ โดยจะเริ่มทำการทดลองเดินรถเสมือนจริงภายในสัปดาห์หน้า ส่วนกำหนดเปิดอย่างเป็นทางการ และค่าโดยสาร ต้องรอสรุปและประกาศชัดเจนอีกครั้ง
นายสกลธี ภัทธิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจสถานที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต พร้อมทดลองนั่งรถไฟฟ้าจากสถานีห้าแยกลาดพร้าวถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าขณะนี้การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีพหลโยธิน สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความคืบหน้า 95% โดยปัจจุบันได้มีการทดลองเดินรถบ้างแล้ว และในสัปดาห์หน้าจะเริ่มทำการทดลองเดินรถเสมือนจริง 
โดยรองผู้ว่าราชการ กทม. ยืนยันว่าความพร้อมของทั้ง 4 สถานี ทั้งในด้านของสถานี ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบการเดินรถ จะเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 4 ธ.ค. 2562 นี้ และ กทม. วางแผนการเปิดให้บริการไว้ช่วงต้นเดือนธันวาคม ส่วนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ จะเป็นวันที่ 4 หรือ 5 ธันวาคมนี้ หรือวันไหนแน่ รวมถึงจะให้ใช้บริการฟรีหรือไม่ และจะฟรีเป็นเวลาเท่าไร ต้องรอดูกำหนดที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะประกาศชัดเจนก่อน

ส่วนเรื่องอัตราค่าโดยสารที่เป็นทางการ จะต้องรอการอนุมัติการร่วมทุนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน ซึ่งเมื่อทาง ครม. อนุมัติให้ร่วมทุนแล้วก็จะทราบได้ว่าจะจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราใด โดยคาดว่าจะสามารถทราบได้ภายในเดือนนี้ 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดให้บริการทั้ง 4 สถานีอย่างเป็นทางการแล้ว คาดว่าจะช่วยลดปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี จะทำให้การเดินทางของประชาชนในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีทั้งสถานศึกษา ศูนย์ราชการ และชุมชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยการเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยายดังกล่าว ช่วงเร่งด่วนจะมีความถี่ในการเดินรถ 4 นาทีต่อขบวน และช่วงเวลาปกติจะมีความถี่ในการเดินรถประมาณ 6-8 นาที

ส่วนการก่อสร้างสถานีที่เหลืออีก 11 สถานี ตั้งแต่สถานีกรมป่าไม้ ถึงสถานีคูคต คาดว่าปลายปี 2563 จะสามารถเปิดให้บริการได้ทั้งหมด โดยจะมีจุดจอดรถไว้บริการประชาชนบริเวณสถานีคูคต ซึ่งสามารถจอดรถได้ประมาณ 1,700 คัน 
นอกจากนี้ นายสกลธี ภัทธิยกุล ยังกล่าวถึงกรณีการติดตั้งสปริงเกอร์ดักฝุ่น PM2.5 เพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562 ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการขนส่งกรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมได้กำหนดให้มีการติดตั้งสปริงเกอร์ดักจับฝุ่น PM2.5 เพิ่มอีก 3 จุด คือ ศาลาแดง สยาม อโศก

สำหรับจุดแรกที่บริเวณศาลาแดง ได้ทำการติดตั้งแล้วในวันที่ 13 พ.ย. 2562 จากนั้นจะติดตั้งที่ สยาม และอโศก เป็นลำดับต่อไป ซึ่งเมื่อติดตั้งเรียบร้อยแล้วสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร จะจัดเก็บข้อมูลเปรียบเทียบผลว่าเป็นอย่างไร หากสามารถดักจับฝุ่น PM2.5 ได้ผลก็จะติดตั้งในจุดต่างๆ เพิ่มเติมต่อไป โดยเฉพาะในจุดที่มีการสะสมของฝุ่นค่อนข้างเยอะ 
ทั้งนี้ การติดตั้งสปริงเกอร์ดักจับฝุ่น PM2.5 นั้นได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว 1 จุด บริเวณสถานีสะพานควาย ผลออกมาค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแล้วว่าสามารถช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้จริง ซึ่งสปริงเกอร์ที่จะติดตั้งทั้ง 3 จุดนั้นก็เป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่ติดตั้งบริเวณสะพานควาย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0