หลังจากอดีตนักร้องชื่อดังอย่าง “โจ บอยสเก๊าท์” ได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหันระหว่างเล่นคอนเสิร์ตเมื่อคืนที่ผ่านมา เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากหัวใจวายเฉียบพลัน ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแนะนำวิธีการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มโอกาสรอดของผู้ป่วยให้มากขึ้น โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เปิดเผยข้อมูลการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR)ว่าเป็นการปฏิบัติการเพื่อช่วยชีวิตคนที่หัวใจหยุดเต้น หรือคนที่หยุดหายใจอย่างกะทันหันซึ่งเป็นวิธีที่สำคัญมาก ในการช่วยฟื้นคืนชีพหรือกู้ชีวิตผู้ป่วย เพื่อให้หัวใจที่หยุดเต้นกลับมาเต้นใหม่ หากทำสำเร็จจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมอง มีการหายใจและการไหลเวียนกลับคืนสู่สภาพเดิม
ตามหลักแล้วหากสมองคนเราถ้าขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกินกว่า 4 นาที จะมีผลทำให้เกิดการสูญเสียของเซลล์สมองบางส่วนไปอย่างถาวร แม้หัวใจจะสามารถกลับมาเต้นใหม่ได้ในภายหลัง แต่สมองส่วนที่เสียไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นคืนสติกลับมาได้สมบูรณ์ดังเดิมอีก ดังนั้นการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า “CPR” จึงถือเป็นหนึ่งวิธีการที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหันได้เป็นอย่างดี
โดยอาการหัวใจหยุดเต้นกระทันหันจะพบได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจมาก่อน หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจวายเฉียบพลัน หากสามารถรู้ถึงวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธี จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยรอดชีวิต ลดการบาดเจ็บได้อีก และการช่วยฟื้นคืนชีพจะได้ผลดี และหากให้ได้ผลดีจะต้องทำควบคู่กับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED ก็จะเพิ่มโอกาสรอดได้ถึง ร้อยละ 45
สำหรับขั้นตอนการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) มีหลักการง่ายๆ 10 ขั้นตอน ดังนี้
1. เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตรวจดูความปลอดภัย ก่อนเช้าไปช่วยเหลือ เช่น ระวังอุบัติเหตุ ไฟช็อต หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ
2. ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงที่ดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง หากผู้ป่วยรู้สึกตัว หายใจเองได้ ให้จัดท่านอนตะแคง แต่หากยังไม่หายใจ ให้ทำตามขั้นตอนต่อไป
3. โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 พร้อมกับน้ำเครื่องเออีดีมาด้วย
4. ประเมินผู้ป่วย หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ให้ทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพทันที
5. ช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ ด้วยการกดหน้าอก จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอก ด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อน่าที
6. หากมีเครื่องเออีดี ให้เปิดเครื่องและถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออก
7. ติดแผ่นนำไฟฟ้า บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย และห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย
8. ปฏิบัติตามที่เครื่องเออีดีแนะนำ คือ หากเครื่องสั่งให้ช็อกไฟฟ้า ให้กดปุ่มช็อก และทำการกดหน้าอกหลังทำการช็อกทันที แต่หากเครื่องไม่สั่งช็อกให้ทำการกดหน้าอกต่อไป
9. กดหน้าอกต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่องเออีดี จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง
10. ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดและปลอดภัย
ขณะที่ พล.ต.ต.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตและที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า คนที่หัวใจหยุดเต้นส่วนใหญ่จะเกิดอาการนอกโรงพยาบาล โดยโอกาสรอดของเขา ขึ้นอยู่กับประชาชนที่ประสบเหตุมีความรู้ในการทำ CPR มากน้อยแค่ไหน อย่างแรกคนที่หัวใจหยุดเต้นจะหมดสติ บางคนหัวใจยังเต้นอยู่ เมื่อเจอเช่นนี้ต้องเรียก หากเขาไม่ตอบสนองแสดงว่าหมดสติ พร้อมกันนั้นให้โทรขอความช่วยเหลือจาก 1669 ขอรถพยาบาล และขอ AED ด้วยเป็นเครื่องช็อตไฟฟ้าหัวใจอัติโนมัติ จากนั้นตรวจสอบว่าเขายังหายใจหรือไม่ ส่วนบางคนมีภาวะหายใจเฮือก ที่ไม่ใช่หายใจปกติที่มีหายใจเข้า-ออก โดยอาการหายใจเฮือกจะเกิดขึ้นหลังหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว 1-2 นาที ซึ่งเป็นการเกร็ง ร่างกายอาจจะมีการขยับ ถ้าเป็นบุคลากรแพทย์ก็จะมีการปั๊มหัวใจทันทีเมื่อเกิดอาการหายใจเฮือก โดยคนที่จะช่วยเหลือต้องมีสติด้วย โดยทั่วไปจะปั๊มหัวใจนาน 2 นาทีแล้ว คอยดูอาการ จากนั้นก็ปั๊มไปเรื่อยๆ จนกว่ารถพยาบาลจะมา
ขณะเดียวกันในโลกออนไลน์ก็ได้มีการเรียกร้องให้มีการบรรจุการช่วยเหลือการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้ทุกคนเรียนรู้และสามารถที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นได้ก่อนที่รถพยาบาลจะเดินทางมาถึง โดยเพจ “ดราม่า แอดดิก” ได้กล่าวถึงคลิปวิดีโอการช่วยเหลือชีวิต “โจ บอยสเก๊าท์” ที่เกิดอาการวูบล้มลงกลางเวที ขณะเล่นคอนเสิร์ตที่ผับแห่งหนึ่งว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก เพราะขั้นตอนการปฐมพยาบาลไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการหายเฮือก แบบคนหัวใจกำลังจะหยุดเต้น นั่นคือเฮือกสุดท้ายแล้ว ถ้าเจอคนหมดสติไม่รู้สึกตัวและหายใจผิดปกติแบบนี้ต้องเริ่มทำ CPR ทันที แต่ในคลิปวิดีโอ มีเสียงคนตะโกนว่า หายใจได้ยังไม่ต้องปั๊ม ก่อนจะเริ่มปั๊มหัวใจก็ผ่านไป 4 นาทีแล้ว แล้วก็ปั๊มหัวใจอยู่เพียงสักพัก ก็ปล่อยให้ผู้ป่วยนอนหายใจเฮือกนานเป็นสิบนาที ก่อนเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาจึงมีการทำ CPR แบบจริงจังก็สายเกินไป และอยากจะวอนขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการการศึกษา ให้บรรจุเรื่อง CPR ลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอนเสียที
ข้อมูลเพิ่มเติม : สารตั้งต้นตอน ห้องฉุกเฉิน
ชีวิตทุกนาทีมีค่า "ปฐมพยาบาลเบื้องต้น" ลดอัตราการตาย
“โจ บอยสเก๊าท์” วูบล้มบนเวทีขณะเล่นคอนเสิร์ตที่ผับเสียชีวิตกะทันหัน
ความเห็น 0