โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จากเด็กที่ชื่นชอบเกม หลงรักดีไซน์ สู่ผู้พัฒนา COVID Tracker เว็บไซต์อัปเดตข้อมูลผู้ป่วยโควิดแบบเรียลไทม์

LINE TODAY

เผยแพร่ 20 มี.ค. 2563 เวลา 12.29 น. • @mint.nisara

จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ถูกส่งต่อ ๆ กันมา ข่าวสารจากหลากหลายแหล่งเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 ในตอนนี้ที่เป็นจริงบ้างและเป็นเท็จอีกมาก ปัญหาของการรบรวมข้อมูลและสื่อสารมันอย่างมีประสิทธิภาพไปสู่บริโภคเป็นตัวกระตุ้นให้กับดีไซเนอร์และนักพัฒนากลุ่มนี้ริเริ่มโปรเจกต์เล็ก ๆ ที่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามนี้ขึ้นมา 

COVID Tracker เว็บไซต์จากทีม 5lab ที่ช่วยให้เราแทร็กการแพร่กระจายของไวรัสโควิดในประเทศไทยรวมถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ ในช่วงนี้กับทีมงานคนรุ่นใหม่เพียงแค่ 7 ชีวิตที่อยู่เบื้องหลัง วันนี้ LINE TODAY จะขอพาทุกคนไปรู้จักกับ เจนนี่ - รมิดา จึงไพศาล หนึ่งในเจ้าของโปรเจกต์นี้ และพูดคุยกับเธอถึงความเป็นมาเป็นไปของ COVID Tracker การใช้งานดีไซน์มาช่วยจัดการการสื่อสารข้อมูล รวมไปถึงอาชีพสุดคูลของเธอด้วย 

อ่านจบแล้วคุณจะต้องรู้สึกเหมือนกับเราว่า “น่าดีใจจริง ๆ ที่มีคนคิดริเริ่มทำอะไรแบบนี้ขึ้นมา” : )

เจนนี่คือดีไซเนอร์สาวอายุ 24 ปีที่ทำงานกับทีม 5lab บริษัทรับออกแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น มาตั้งแต่เธอเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอเล่าให้เราฟังว่าการค้นเจอความชอบของตัวเองรวมถึงสายอาชีพที่อยากทำเกิดขึ้นตอนที่เธอเรียนอยู่ปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย การได้ลงคอร์สเรียนที่ผูกการดีไซน์เข้ากับเทคโนโลยีคือความสนใจและแพสชั่นของเธอ และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เจนนี่เริ่มเดินสายนักออกแบบที่ควบบทบาทของนักพัฒนาฟรอนต์เอนด์ไปด้วย

"เอาจริง ๆ ว่าตอนเรียนเราก็ยังไม่รู้หรอกว่าตัวเองชอบอะไร เพราะคณะค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องวิชาเลือก จนตอนที่เจนนี่ได้มาเรียนคอร์สที่พี่ใหม่ ผู้ร่วมก่อตั้ง 5lab มาเป็นอาจารย์พิเศษสอน เรื่องการโคดดิ้งขั้นพื้นฐาน เลยรู้สึกว่าได้เจอทางของตัวเอง บวกกับตอนเด็ก ๆ ที่เราเป็นคนชอบเล่นเกม ชอบการตกแต่งพวกธีมใน Hi5 นั่งปรับ HTML เราเคยสนุกกับอะไรอย่างนั้น พอได้กลับมาทำอีกครั้ง ก็รู้สึกว่าตัวเองถนัดกับมันและทำได้ดี จริง ๆ ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดต่อหรอกว่ามันจะมีงานให้ทำไหม (หัวเราะ) แต่คิดแค่ว่าเดี๋ยวต่อไป เทคโนโลยีมันก็จะเริ่มสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยรู้สึกว่าอาจเป็นทางเลือกที่ดีและยึดจากสิ่งที่เราชอบ"

ถึงจะไม่ได้เป็นภาพจำในวงกว้างสักเท่าไร แต่ตำแหน่งของนักพัฒนาเว็บไซต์ก็มีผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในสาขาอาชีพนี้เยอะ ซึ่งเจนนี่บอกว่าความสนุกของมันอยู่ที่การได้ลองตีโจทย์ และการจับเอาเทคโนโลยีและการดีไซน์มาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในขณะนั้น ซึ่ง COVID Tracker ก็เป็นหนึ่งในผลผลิตที่เธอต้องการช่วยอุดช่องโหว่ในเรื่องการสื่อสารข้อมูลระหว่างวิกฤตช่วงนี้ 

ข่าวปลอมและข้อมูลที่แพร่สะพัดคือจุดเริ่มต้นของ COVID Tracker

"มันมาจากการที่เราได้รับข่าวสารเยอะมากจนเรารู้สึกทุกอย่างมันล้นไปหมด ไอเดียนี้เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม ตอนเย็นคุณแม่ก็ส่งข้อความมาบอกว่ามีคนติดโควิดอีกแล้ว คราวนี้อยู่ในตึกออฟฟิศของเราเลย ส่วนตัวเราก็เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่แถว ๆ พื้นที่สุ่มเสี่ยงอยู่แล้วด้วย พอได้ยินข่าวว่ารอบ ๆ ตัวมีแต่คนติดเชื้อ เป็นข่าวที่ส่ง ๆ ต่อกันมาในแชท มันเลยกลายเป็นความรู้สึกที่ว่าจะเชื่ออะไรดี เราก็เลยคุยกันกับพี่ใหม่ (หัวหน้า) ว่าอยากลองทำสิ่งนี้ขึ้นมาจะดีไหม พอได้ไฟเขียว เจนนี้ก็เลยเริ่มรวบรวมข้อมูล พี่ใหม่ช่วยขึ้นโครง และสร้างเว็บขึ้นมาในวันนั้นเลย" เจนนี่เราให้เล่าฟังว่าตัวเว็บไซต์เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วข้ามคืน และคนก็ให้ความสนใจอย่างมากจนมีผู้เข้าชมเว็บไซต์มากถึง 40,000 คนต่อนาที

<i>ภาพถ่ายจากหน้าเว็บไซต์ <a href=
https://covidtracker.5lab.co">
ภาพถ่ายจากหน้าเว็บไซต์ https://covidtracker.5lab.co

"เวอร์ชั่นแรกใช้เวลาไม่นานมากเพราะมันยังไม่ได้มีฟีเจอร์อะไร เพราะเราตั้งใจจะทำออกมาใช้กันเอง แชร์กับเพื่อน ๆ แค่รวมข้อมูลที่ถูกต้องไว้ในที่เดียวกัน เวอร์ชั่นที่ออกต่อ ๆ มาเลยค่อย ๆ เพิ่มสิ่งที่จำเป็นเข้ามาทีละอย่าง จากตอนแรกที่ทำกัน 3 คน กลายเป็นว่าทั้งบริษัทเข้ามาช่วยหมดเลยค่ะตอนนี้ (หัวเราะ) เราไม่ได้นึกว่าจะมีคนมาสนใจมากขนาดนี้ ไม่ได้นึกด้วยซ้ำว่าทางหลังจากที่เราปล่อยเว็บออกไปแล้วจะทำยังไงกันต่อ เพราะมันเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อที่จะช่วยให้คนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น และใช้สกิลที่เรามีคือการ พัฒนาเว็บไซต์และดีไซน์มาช่วย จะใช้คำว่าวู่วามก็ได้ค่ะ (หัวเราะ)"

COVID Tracker เวอร์ชั่นปัจจุบัน

"ตอนนี้มีอาสาสมัครมาช่วยแปลเป็นอีก 4 ภาษาในเวอร์ชั่นปัจจุบันคือ อังกฤษ, ญี่ปุ่น, จีนแบบ simplified และจีนแบบ traditional มีฟีเจอร์ใหม่ที่เป็นหมุดรูปโรงพยาบาลเข้ามาเพิ่ม ซึ่งทางทีมก็รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาว่าโรงพยาบาลไหน ตรวจอะไร ค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่เท่าไร เพราะตอนนี้เคสมันเริ่มเยอะขึ้นมาก ต่อให้แทร็กไปก็ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้อยู่ดี ข้อมูลเรื่องการรักษาพยาบาล ถ้าติดเชื้อแล้วควรทำยังไงต่อ น่าจะเป็นประโยชน์กับตอนนี้มากกว่า

ส่วนด้านข้อมูลจะมี 3 แหล่งที่เราเอามา คือ 1. ข้อมูลทางการจากการประกาศของสาธารณสุขและสำนักข่าวใหญ่ ๆ 2. ข้อมูลจากศูนย์ anti fake news และ 3. ประกาศทางการจากองค์กรเอกชนและรัฐบาลต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดจะผ่านการคัดกรองโดยทีมงานก่อนที่จะอัปเดตขึ้นหน้าเว็บไซต์"

เราถามเจนนี่ว่ารู้สึกอย่างไรที่ทำให้คนตื่นตัวกับการรับข่าวสารและการที่เว็บไซต์ได้เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่ช่วยสื่อสารข้อมูลในยามวิกฤต เธอบอกกับเราว่ารู้สึกดีที่ตนสามารถเป็นส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้ "ถ้ามีคนที่สนใจเรื่องข้อมูลมากกว่านี้หรือมีใครที่รวมข้อมูลที่ถูกต้อง ตรวจสอบได้ มันจะทำให้ปัญหาเรื่องข่าวปลอมลดน้อยลงไปเลย อีกอย่างที่เรียนรู้เกี่ยวกับการทำโปรเจกต์นี้ก็คือการที่โซเชียลมีเดียมันพัดออกไปเร็วมาก เลยทำให้คนรับสารไม่ค่อยกรอง ซึ่งเราก็พยายามอย่างเต็มที่นะในการทำเว็บนี้ อาจจะยังไม่ได้บรรลุเป้าหมาย 100% เพราะความยากของการทำตัวแทร็กเกอร์คือเรื่องข้อมูล แต่ทิศทางหลังจากนี้น่าจะดีขึ้น.. 

ตอนนี้เรากำลังเตรียมข้อมูลเรื่องโรงพยาบาลและการรักษาอยู่ จริง ๆ มีองค์กร NGO ที่ทำส่วนนี้อยู่แล้วอาจจะเข้ามาร่วมกับเราด้วยในเชิงข้อมูลด้วย อยากสื่อสารเรื่องเตียงที่ไหนเหลือ เตียงที่ไหนขาด ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรทางการแพทย์ทั้งหลาย คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในเฟสต่อไปค่ะ"

เราฝากคำขอบคุณจากทุกคนที่ใช้COVID Tracker ในการติดตามข่าวถึงเธอ และเจนนี่ก็พูดทิ้งท้ายประโยคสุดท้ายนี้ไว้ก่อนจบการสัมภาษณ์ว่า “ขอบคุณทุก ๆ คนเช่นกันค่ะ เรารู้สึกว่าอย่างน้อยได้ทำสักอย่างดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” ติดตามข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยได้ที่ https://covidtracker.5lab.co

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0