โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ส่งของจากที่ไกลๆ ทำไมถูกกว่า? เบื้องหลังสมาคมฯ ผู้บิดเบือนราคาไปรษณีย์ระหว่างประเทศ

The Momentum

อัพเดต 28 ม.ค. 2562 เวลา 06.49 น. • เผยแพร่ 28 ม.ค. 2562 เวลา 06.49 น. • รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

In focus

  • การส่งไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เริ่มจากการที่ผู้บริโภคนำพัสดุไปหย่อนที่ไปรษณีย์ประเทศต้นทาง สุดท้ายคือการจัดการก่อนถึงมือผู้รับ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้แรงงานและต้นทุนสูงที่สุด คือไปรษณีย์ ณ ประเทศปลายทาง จะต้องคัดแยกจดหมายแล้วจัดส่งไปให้ถึงหน้าประตูบ้านของผู้รับ
  • สมาคมไปรษณีย์สากล (The Universal Postal Union: UPU) ริเริ่มระบบจัดเก็บค่าใช้จ่าย ณ ปลายทาง (Terminal Dues) ซึ่งเป็นรายได้ที่ไปรษณีย์ประเทศต้นทางของจดหมาย จ่ายค่า ‘บริหารจัดการ’ ให้กับไปรษณีย์ของประเทศปลายทาง ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับอัตราพิเศษ
  • กลไกราคาดังกล่าวได้เกื้อหนุนผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนาทางอ้อม เนื่องจากผู้บริโภคตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าที่มีราคาและคุณภาพใกล้เคียงกันจากต่างประเทศ แทนที่จะสั่งซื้อจากผู้ขายภายในประเทศ ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการขนส่งระหว่างประเทศที่ไม่จำเป็น

ในยุคที่การซื้อของออนไลน์กำลังผลิบาน หลายคนคงเคยมีประสบการณ์สั่งของจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนผ่านสารพัดเว็บไซต์ที่มักแปลภาษาไทยมาให้อ่านแบบชวนขำ หลายต่อหลายครั้ง ที่เรามักได้รับข้อเสนอ ‘ส่งฟรี’ จากผู้ผลิตในประเทศจีนไม่ว่าของที่สั่งจะมูลค่าต่ำเตี้ยเรี่ยดิน หรือของชิ้นนั้นจะจิ๋วจ้อยแค่ไหน

เมื่อได้รับสินค้า ราคาค่าส่งที่ติดอยู่ด้านหน้ายิ่งน่าตกใจ เพราะบางทีอาจถูกกว่าส่งพัสดุผ่านไปรษณีย์ไทยเสียด้วยซ้ำ!

แน่นอนว่าในฐานะผู้บริโภค การสั่งของออนไลน์โดยแทบไม่ต้องเสียค่าจัดส่งนั้นเป็นเรื่องที่แสนจะดีงาม แต่หากเราลองเปลี่ยนหมวกเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กในประเทศบ้างล่ะครับ? ค่าจัดส่งดังกล่าวแทบจะเป็นจุดตายที่ชี้ขาดว่าธุรกิจเราจะแข่งขันได้หรือไม่กับแหล่งช็อปปิ้งออนไลน์แห่งอื่น ในกรณีที่สินค้ามีคุณภาพและราคาไม่หนีกันมากนัก

เจย์มี สมอลโดน (Jayme Smaldone) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัทซึ่งผลิต Mighty Mug นวัตกรรมแก้วที่ถูกชนแล้วไม่ล้ม ให้สัมภาษณ์ในรายการ Planet Moneyว่าธุรกิจของเขาต้องเจอกับคู่แข่งในประเทศจีน หลังจากที่ Mighty Mug เริ่มวางขายบน eBay ในราคาเพียง 5.69 ดอลลาร์สหรัฐ (ฟรีค่าจัดส่ง) ในทางกลับกัน หากเขาต้องการส่ง Mighty Mug ภายในสหรัฐอเมริกา ราคาค่าจัดส่งจะเริ่มต้นที่ 6.30 ดอลลาร์สหรัฐ

นั่นหมายความว่า ค่าจัดส่ง Mighty Mug ภายในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นแพงกว่า ค่าผลิต Mighty Mug ในประเทศจีนรวมค่าจัดส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมายังอเมริกา

นี่มันตรรกะวิบัติชัดๆ

ไปรษณีย์ระหว่างประเทศจัดการอย่างไร?

ก่อนที่จะสืบสาวไปถึงต้นตอว่าทำไมประเทศจีน (และประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ) สามารถส่งไปรษณีย์ข้ามประเทศได้แบบถูกแสนถูก เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าการส่งไปรษณีย์ระหว่างประเทศทำงานอย่างไร

หากเราต้องการส่งของไปจีน ญี่ปุ่น หรืออเมริกา ขั้นตอนแรกที่เราต้องทำคือเดินไปไปรษณีย์ไทยใกล้บ้าน (อย่าลืมของที่จะส่งด้วยนะครับ!) จ่ายค่าขนส่ง แล้วกลับไปนอนดูซีรีส์ที่บ้าน เพราะขั้นตอนต่อไปจะถูกจัดการโดยไปรษณีย์ต้นทาง

ขั้นต่อไป ไปรษณีย์ต้นทางจะต้องจัดการขั้นต้น (First Mile Handling) โดยทำอย่างไรก็ได้ให้พัสดุดังกล่าวเดินทางไปจนถึงสนามบินหรือท่าเรือปลายทาง (แล้วแต่เงื่อนไขและข้อจำกัดในการขนส่ง) เมื่อพัสดุไปถึงประเทศปลายทาง ก็เป็นอันว่าหมดหน้าที่

ขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดการก่อนถึงมือผู้รับ (Last Mile Handling) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้แรงงานและต้นทุนสูงที่สุด คือไปรษณีย์ ณ ประเทศปลายทาง จะต้องคัดแยกจดหมายแล้วจัดส่งไปให้ถึงผู้รับ โดยไปรษณีย์ของประเทศนั้นๆ จะต้องแบกรับต้นทุนดังกล่าวทั้งหมด แต่จะได้รับค่าตอบแทนตามราคาที่กำหนดโดยสมาคมไปรษณีย์สากล (The Universal Postal Union: UPU) องค์กรในเครือสหประชาชาติซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2417 ทำหน้าที่เป็นตัวกลางบริหารจัดการระบบการรับส่งพัสดุระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 191 ประเทศ

แรกเริ่มเดิมที ไปรษณีย์ของแต่ละประเทศจะไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายระหว่างกัน โดยใช้สมมติฐานว่า ฉันช่วยส่งให้เธอ เธอช่วงส่งให้ฉัน ซึ่งหากปริมาณจดหมายเข้าเท่ากับจดหมายออกระหว่างสองประเทศ ก็เป็นอันว่าไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่แน่นอนว่าสมมติฐานดังกล่าวไม่มีทางเป็นจริง

กระทั่งปี พ.ศ. 2512 UPU ได้ริเริ่มระบบจัดเก็บค่าใช้จ่าย ณ ปลายทาง (Terminal Dues) ซึ่งเป็นรายได้ที่ไปรษณีย์ประเทศต้นทางของจดหมายจ่ายค่า ‘บริหารจัดการ’ ให้กับไปรษณีย์ของประเทศปลายทาง โดยอัตราดังกล่าวจะถูกกำหนดในที่ประชุมทุกๆ 4 ปี โดยคำนึงถึงตัวแปรจำนวนมาก

ระบบจัดการการจ่ายเงินค่าใช้จ่าย ณ ปลายทาง UPU*Clearingโดยไปรษณีย์จากประเทศต้นทางจะต้องจ่ายเงินค่าการจัดการก่อนถึงมือผู้รับ (Last Mile Handling) ให้กับไปรษณีย์ประเทศปลายทางตามอัตราที่กำหนดไว้ในสกุล SDR (Special Drawing Rights) ซึ่งเป็นสกุลเงินที่บริหารจัดการโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) มูลค่าประมาณ SDR 1 : THB 45

แน่นอนว่าตามสไตล์องค์การสหประชาชาติ ที่จะต้องมีการแบ่งประเภทประเทศสมาชิกให้เป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (ในกรณีของ UPU มีการแบ่งประเภทย่อยๆ ประมาณ 5 ประเภท) นำไปสู่การกำหนดราคาค่าใช้จ่าย ณ ปลายทางที่แตกต่างกัน เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดและเอื้อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสามารถส่งสินค้าไปต่างประเทศด้วยต้นทุนการขนส่งที่ถูกแสนถูก ส่วนไปรษณีย์ประเทศปลายทางก็ต้องก้มหน้าแบกรับต้นทุนกันไป

หลายคนคงเดาได้นะครับ ว่าในรายชื่อประเทศกำลังพัฒนานั้นรวมประเทศจีนเอาไว้ด้วย

ผลกระทบจากราคาไปรษณีย์ที่ถูกบิดเบือน

แน่นอนว่าผลกระทบระลอกแรกคือเหล่าไปรษณีย์ในประเทศพัฒนาแล้วจะต้องแบกรับต้นทุนส่วนเกินเอาไว้ เช่น ในประเทศนอร์เวย์ ที่การส่งจดหมายน้ำหนักไม่เกิน 20 กรัมจะอยู่ที่ 1.32 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ค่าใช้จ่ายที่ระบุไว้ตาม UPU ซึ่งไปรษณีย์นอร์เวย์จะได้รับจากไปรษณีย์ประเทศต้นทางอยู่ที่เพียง 0.39 ดอลลาร์สหรัฐ หากไปรษณีย์นอร์เวย์ต้องการที่จะอยู่รอดทางการเงิน ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเกลี่ยต้นทุนที่แบกรับในการบริหารจัดการไปรษณีย์จากต่างประเทศ ไปยังค่าจัดส่งไปรษณีย์ภายในประเทศ

ราคาการส่งพัสดุเปรียบเทียบตามน้ำหนักระหว่างการส่งภายในประเทศสหรัฐอเมริกา (สีดำเข้ม) และค่าใช้จ่าย ณ ปลายทาง (Terminal Dues) ตามที่ระบุโดย UPU (สีเทา) จะเห็นว่าราคาสำหรับการส่งในประเทศอเมริกานั้นสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ข้อมูล ณ พ.ศ. 2557 ในหน่วย SDR) ข้อมูลจาก Quantification of financial transfers caused by Universal Postal Union terminal dues

 

กลไกดังกล่าวของ UPU ทำให้ประเทศซึ่งมีจดหมายหรือพัสดุขาเข้าจำนวนมากแต่มีขาออกค่อนข้างน้อย เสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด เกิดเป็นความบาดหมางเบาๆ ระหว่างไปรษณีย์ของแต่ละประเทศ พร้อมกับความพยายามค้นหาคำตอบว่าประเทศไหนได้ประโยชน์และประเทศใดที่ขาดทุน

เมื่อ พ.ศ. 2558 บริษัทที่ปรึกษา Copenhagen Economics ประมาณการว่ามีการถ่ายโอนความมั่งคั่งระหว่างไปรษณีย์แต่ละประเทศรวมมูลค่าถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผู้เสียประโยชน์หลักๆ 15 ประเทศ กระแสของผลประโยชน์จะมาจากกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกและอเมริกาเหนือ ไปยังกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก

เหตุผลหลักที่ทำให้เหล่าประเทศพัฒนาแล้วขาดทุนมหาศาล คือปริมาณพัสดุขนาดเล็กจากประเทศกำลังพัฒนาที่หลั่งไหลมาตามคำสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ด้วยต้นทุนในการจัดส่งที่ถูกแสนถูก

อย่างไรก็ดี เบื้องลึกเบื้องหลังที่ทำให้สมาชิก UPU ยังคงสามัคคีกันอยู่ คือกลไกราคาที่กดค่าขนส่งระหว่างประเทศให้ต่ำกว่าราคาตลาด จะกีดกันเหล่าบริษัทขนส่งภาคเอกชนอย่าง DHL หรือ FedEx ให้ไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะการเป็นสมาชิก UPU นั้นจะสงวนไว้เป็นอภิสิทธิ์ของสมาชิกสหประชาชาติเท่านั้น

ผลกระทบระลอกสองของการที่ค่าพัสดุจากต่างประเทศราคาถูกกว่าค่าพัสดุภายในประเทศ คือผู้บริโภคตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ แทนที่จะสั่งซื้อจากผู้ขายภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาและคุณภาพใกล้เคียงกัน แม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ แต่การเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตนอกประเทศผ่านการบิดเบือนกลไกราคาค่าขนส่งก็เป็นประเด็นที่หลายสื่อหยิบยกมาโจมตีการดำเนินงานของ UPU

ผลกระทบระลอกสุดท้าย คือกลไกราคาข้างต้นจะกระตุ้นให้เกิดการขนส่งระหว่างประเทศที่ไม่จำเป็น นั่นหมายความว่าเราต้องผลาญทรัพยากรไปกับการขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทร ทั้งที่ผู้บริโภคสามารถสั่งสินค้าได้จากภายในประเทศ

เจมส์ แคมป์เบลล์ (James Campbell) ที่ปรึกษาและนักเศรษฐศาสตร์ไปรษณีย์ เสนอทางออกมากมายเพื่อแก้ไขกลไกราคาที่บิดเบือนในปัจจุบัน เช่น การแยกพัสดุประเภทการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ออกจากจดหมายประเภทอื่นๆ หรือการกำหนดค่าใช้จ่าย ณ ปลายทาง (Terminal Dues) โดยองค์กรไปรษณีย์ของประเทศนั้นๆ ตามต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงการปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการของ UPU ให้คล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากการกำหนดราคา 4 ปีครั้งอย่างในปัจจุบันอาจไม่สามารถปรับตัวทันกับยุคดิจิทัล

อย่างไรก็ดี การประชุมเมื่อ พ.ศ. 2559 เพื่อกำหนดค่าใช้จ่าย ณ ปลายทางระหว่าง พ.ศ. 2561-2564 ของ UPU แม้ว่าจะมีการปรับตัวเลขให้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น แต่ก็นับว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

การเปลี่ยนแปลงความคิดของเหล่านักไปรษณีย์ระหว่างประเทศดูท่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไหร่ แถมหัวข้อว่าด้วยพัสดุและไปรษณีย์ยังเต็มไปด้วยรายละเอียดที่แสนจะน่าเบื่อ! จนมีผู้เชี่ยวชาญอยู่เพียงหยิบมือทั่วโลก แต่สำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ คงไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจสักเท่าไหร่ เพราะยังไง้ยังไง เราก็ได้ประโยชน์เต็มๆ

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น