โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

YANO: ความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของผืนผ้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น

a day BULLETIN

อัพเดต 14 พ.ย. 2562 เวลา 08.57 น. • เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 20.47 น. • a day BULLETIN
YANO: ความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของผืนผ้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เป็นธรรมดา นั่นทำให้ ‘เก่ง’ - นครินทร์ ยาโน แห่งแบรนด์ YANO ผู้ที่เรียนรู้และเตรียมตัวตั้งรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอบอกกับเราว่า จุดสำคัญที่ทำให้ธุรกิจผ้างานคราฟต์แบบภูมิปัญญาอยู่รอด สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผสานไปกับ ‘โอกาส’ ที่หยิบยื่นให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับ YANO ให้อยู่รอดไปด้วยกัน

 

Yano
Yano

ทำไมคุณถึงอยากมีธุรกิจงานคราฟต์ที่ยึดโยงไว้กับชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

        เหตุผลเดียวที่เราเริ่มทำคือเมื่อ 15 ปีก่อน ชีวิตของเราพัง ตอนนั้นเราอยู่ไม่รอดหรอกหากไม่มีปลายสายเป็นเสียงของแม่บอกให้กลับบ้าน เรากลับบ้านตอนวัย 32 ปี ซึ่งอยู่ในวัยที่จริงๆ แล้วต้องเริ่มแข็งแรงแล้ว แต่เรากลับอ่อนแรงมาก

        เราเป็นเหมือนคนสิ้นหวังอยู่หนึ่งเดือน สิ่งที่ปลอบประโลมได้เพียงอย่างเดียวคือ การเขียนบันทึกและการตั้งคำถามต่อตัวเองว่าความสุขที่ยาวนานของฉันอยู่ตรงไหน แล้วก็โยงความคิดทำเป็น mind map นั่นทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง จนได้ข้อสรุปว่า ความสุขที่ยาวนานของฉันจะต้องประกอบไปด้วย การได้อยู่กับงานที่ฉันรัก ได้อยู่บ้าน อยู่กับครอบครัว เพราะฉันจะไม่ไปไหนอีกแล้ว แล้วเราก็เริ่มมองหาช่องทางที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอด

นั่นคืองานผ้าของคุณอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ใช่ไหม

        ใช่ เป็นงานผ้าฝ้าย ปักและด้นมือ แต่ยังไม่จัดจ้านขนาดนี้ ตอนที่เราจับงานผ้า แล้วได้เห็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็เกิดไอเดียที่จะทำต่อ เพราะเราจำได้ว่าสมัยเด็กๆ คุณย่า คุณยาย น้าๆ และคุณแม่ของเราทุกคนต้องปลูกฝ้าย เย็บที่นอน เย็บผ้าห่มใช้กันเอง เรายังทันยุคนั้นอยู่ และเป็นวิถีชีวิตตามปกติของทุกหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น จนมาถึงยุคเรา ที่เป็นช่วงก้ำกึ่งระหว่างยุคใหม่กับยุคเก่า เราจึงยังเห็นอยู่ แต่ในปัจจุบัน รุ่นหลานก็ไม่เห็นสิ่งเหล่านี้แล้ว เด็กๆ ไม่มีโอกาสซึมซับสิ่งเหล่านั้นแล้ว มันเปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนหมด บริบทสังคมเปลี่ยน สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เราจึงตัดสินใจเอาต้นทุนเดิมนี้มาสร้างเส้นทางใหม่ และเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน (OTOP)

คุณเชื่อมต่อกับคนในชุมชนเพื่อให้พวกเขามาทำงานกับคุณได้อย่างไร

        ตอนทำ OTOP ครั้งแรกๆ มีคุณแม่เป็นตัวประสาน ตัวเชื่อมระหว่างคนยุครุ่นปู่ย่า หรือคนที่ทำแบบดั้งเดิมให้ก่อน ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดแค่จะรอดอยู่คนเดียว เราคิดไปจนถึงชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมด้วย ก็ทำเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อราวปี 2009-2010 มีหลักคิดการจะสร้างสมดุลให้กับธุรกิจยั่งยืนได้นั้นจะต้องมีความสมดุลสามด้าน หรือที่เรียกว่า Triple Bottom Line ประกอบไปด้วย 3P อย่างแรกคือ people ผู้คน ซึ่งหมายถึงการที่เราสนใจคนรอบข้างหรือชาวบ้านผู้ผลิต สอง planet หรือสิ่งแวดล้อม และท้ายสุดคือ profit หรือกำไร เราถึงได้รู้ว่าที่เราทำอยู่ก็คือ 3P นี่ล่ะ ที่ทำให้เรามีสายป่านไปต่อ และได้ผู้ผลิตรายใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

 

Yano
Yano
Yano
Yano

คุณใช้แนวคิดหรือกระบวนการใด ที่ทำให้งานผ้าอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้

        ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราทำมาตลอดเป็นสิบปีเขาเรียกว่าอะไร จนเราไปเจอเรื่องของ SDG (Sustainable Development Goals) เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทางองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ทุกองค์กรหันมาใส่ใจเรื่องดังกล่าว มีทั้งหมด 17 ข้อ และต้องใช้ไปอีก 10 ปี เราจึงรู้ว่าเรากำลังทำสิ่งเหล่านี้อยู่ (เป้าหมายดังกล่าวขององค์การสหประชาชาติคือมุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน และสันติสุข เพื่อเสริมแนวคิดไม่เป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลัง คาดว่าจะทำสำเร็จภายในปี ค.ศ. 2030) 

        และเมื่อเราเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี เราจึงรู้ว่ากระบวนการของเราเกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเรื่องของสามห่วงสองเงื่อนไข คือการรู้ตน รู้จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง เราจะไปทำกับชาวบ้านแบบไหน ตรงนั้นคือตัวตนเรา แล้วจับจุดดีตรงนั้นไปต่อยอด ทุกคนมีภูมิปัญญาอยู่แล้ว เรามีความคิดสร้างสรรค์ ก็นำสองส่วนนี้ไปรวมกันให้เกิดเป็นผลงาน

        ต่อมาก็คือการจัดการเรื่องธุรกิจ เราคิดเสมอว่าต้องไม่ทำอะไรก็ตามให้ใหญ่เกินตัว ทั้งเรื่องราคา การผลิต ทำอย่างไรก็ได้ให้หมุนเวียนได้โดยไม่กระทบกระเทือนกัน มันต้องไปได้ ดังนั้น เรื่องของการตั้งราคา สร้างงาน สต็อกสินค้าของเราต้องรันได้หมด แล้วมันจะไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน เมื่อไม่มีปัญหาการเงิน แบรนด์ก็เดินหน้าต่อได้อย่างไม่มีสะดุด ของก็ขายได้ เงินกลับมาเป็นค่าว่าจ้าง หมุนเป็นวงแบบนี้ เรียกว่า Circular Economy การคิดแบบครบวงจร ไปจนถึงเรื่องการบริหารวัตถุดิบ บริหารคน สุดท้ายจะต้องมีคุณธรรม Fair Trade ซึ่งเราให้ค่าตอบแทนกับคนทำงานของเราในราคาที่ทุกคนพอใจและอยู่เลี้ยงชีพได้ด้วย

        กระบวนการสำคัญที่สุดจึงไม่ได้อยู่ที่การออกแบบเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องรู้ว่า เมื่อไหร่ควรหาความรู้มาถมให้เต็ม อาจจะไปค้นคว้าหรือไปเรียนเพื่อหาคำตอบว่า ทำอย่างไรให้สิ่งที่เราทำอยู่นั้นเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากมีแบรนด์ที่ชื่อว่า YANO แล้ว คุณยังออกแบบเสื้อผ้า สร้างแบรนด์ใหม่ของตัวเองขึ้นด้วย ทำไมถึงไม่เลือกใช้แบรนด์เดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว

        ใช่ เราออกแบบแบรนด์ใหม่ เพราะต้องกระจายความเสี่ยง ด้วยหลักคิดแบบเดียวกับการทำไร่นาสวนผสม ไม่ได้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ธุรกิจก็เช่นกัน หากทำแต่เชิงเดี่ยว ถ้าล้มเมื่อไหร่ก็พังเลย เพราะฉะนั้น เราจึงทำแบบเชิงผสม อย่างสินค้าของเราก็จะไม่ได้มีแค่เสื้อผ้า แต่จะมีของที่ระลึก แตกเป็นหลายไอเทม โดยใช้แรงงานเดิม ใช้กำลังการผลิตเดิม กระจายหาตลาดที่ใช้การผลิตเดิม แต่พอเราแตกไอเทมเป็นหลายประเภท มันก็จะพยุงกัน

        ยกตัวอย่าง เสื้อผ้าที่เราขายคนในประเทศกว่า 90% หากวันหนึ่งเศรษฐกิจบ้านเราพังลงมา แล้วใครจะมาซื้อของเรา นั่นแปลว่าถ้าเราทำเชิงเดี่ยว เราก็จะล้มตามไปด้วย เราจึงทำของที่ระลึกขายให้นักท่องเที่ยวเพิ่ม ถ้าวันดีคืนดีฟองสบู่บ้านเราแตก ค่าเงินบาทลอยตัว คนอื่นจะมองว่าของบ้านเราถูก นักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะไหลมาซื้อของบ้านเรา พอเรามีสินค้าที่ทำขึ้นเพื่อขายนักท่องเที่ยวไว้รองรับแล้ว เราก็จะขายดีขึ้น มันก็จะพยุงกันไป

        ส่วนแบรนด์ใหม่ที่เปิดเน้นไปที่ ready-to-wear ชื่อว่า ‘เฮาฮอม’ ซึ่งจะเป็นตัวที่ช่วยพยุงกันและกันอีกวงหนึ่ง จากเดิมที่เราใช้คน 10 คน ปัจจุบันเรามีคนทำงาน 300 กว่าคน จาก 4 หมู่บ้าน กับอีก 3 เรือนจำ ในตาก อุตรดิตถ์ และสุโขทัย

ที่คุณอธิบายมา เห็นว่าคุณให้ความสำคัญกับคนและรายได้ที่พอเลี้ยงตัว แล้วในด้านสิ่งแวดล้อม คุณออกแบบและจัดการอย่างไร

        เราใส่ใจเรื่อง eco มาตั้งแต่แรก เราใช้ปัจจัยของ SDG มาเป็นตัวกำหนดในการออกแบบชิ้นงานของเราเช่นกัน ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่อง recycle, reuse, zero waste ผ้าฝ้าย ผ้าลินินที่ใช้ก็มีใบรับประกันว่าไม่มีสารตะกั่วตกค้างลงในแหล่งน้ำสาธารณะ เป็นฝ้าย local made ใช้ชุมชนทำ และเรามี ethic หรือจริยธรรมอยู่แล้ว การออกแบบของเราเรียกได้ว่า zero waste จริงๆ เหลือผ้าเท่าไหร่ เอามาปะให้หมด (หัวเราะ) รวมทั้งกางเกงเราด้วย นี่ก็คือ upcycling เอาเสื้อที่ใส่ไม่ได้แล้ว 4 ตัว นำมาตัดเย็บกลายเป็นกางเกงตัวใหม่ ไม่ทิ้งของเก่า แถมได้ของใหม่ เก๋ด้วย นี่คือสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด

 

Yano
Yano
Yano
Yano

นอกจากคุณจะเน้นการออกแบบสินค้าอย่างสร้างสรรค์แล้ว คุณยัง ‘ออกแบบหัวใจ’ ให้คนอื่นด้วย

        (ยิ้ม) เท้าความก่อนว่า ผู้หญิงที่เป็นช่างปัก ช่างตัดเย็บในหมู่บ้านของเรานั้น สมัยก่อนคือคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงๆ อยู่บ้านเลี้ยงเป็ดไก่ ทำนา เลี้ยงลูก ทอผ้า เย็บผ้าใช้เอง วันเวลาผ่านไป เขาเหล่านั้นอายุมากขึ้น กลายเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีอะไรทำ แต่เรามองเห็นว่าภูมิปัญญาและวิถีชีวิตดั้งเดิมยังติดตัวเขาอยู่ ไม่ได้หายไป แค่เขาไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่านั้น จนวันที่เราเข้าไป ก็เหมือนเราเข้าไปดึงสิ่งที่เขาเคยทำได้ให้กลายเป็นประโยชน์ และสร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างคุณค่าทุกอย่างให้ตัวเขาหมดเลย จนทำให้พวกเขามีเป้าหมายใหม่ในชีวิต หลายคนเป็นแบบนั้น

        พอช่วงหลังๆ บริบทสังคมไทยเปลี่ยน กาลเวลาผ่านไป คนทำงานของเรากลายเป็นหญิงสาววัยกลางคน เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวบ้าง แม่วัยใสบ้าง หรือสาวโรงงานที่แบกความผิดหวังกลับบ้าน ผู้หญิงเหล่านี้คือบุคคลที่ต้องการการมีคุณค่าในตัวเองและต้องการรายได้เลี้ยงดูลูก งานของเราจึงตอบโจทย์ชีวิตของเขา ได้เลี้ยงลูก ได้อยู่บ้านเกิด มีรายได้ และมีความสุข

        เราไม่ได้ออกแบบหัวใจคนอื่นอย่างเดียว คนอื่นก็ออกแบบหัวใจให้เราด้วย อย่างเวลาที่คุณยายวัย 70 ปีกว่ามาหาเราที่บ้านเพื่อมาส่งงาน พอเราจ่ายเงินให้คุณยายเสร็จ คุณยายจะกุมมือเรา หรือที่เชียงใหม่เรียกว่า ‘ปั๋นปอน’ เป็นการให้พร ยายก็จะบอกว่า “ยายขอบคุณนักๆ เน้อหลายเน้อ ที่ลูกร่ำเรียนแบบนี้มา ทำให้ยายมีคุณค่า มีความสุข” แค่นี้ก็ทำให้เราคิดว่า ยังไงก็ทิ้งคนเหล่านี้ไม่ได้ มันเป็นพันธกิจที่ยิ่งใหญ่มาก กับการที่มีใครสักคนฝากชีวิตที่เหลืออยู่ไว้ในมือของเรา แล้วเขาอยากจะอยู่ต่ออย่างมีความสุข หลังจากนั้น เราก็คิดเลยว่าต่อให้หนักแค่ไหน ฉันก็จะสู้ต่อ ฉันจะหาวิธีและทำทุกอย่างเพื่อให้ธุรกิจนี้อยู่รอดต่อให้ได้ ฉันต้องประคับประคองให้ได้

แล้วกำลังการผลิตบางส่วนที่มาจากเรือนจำ มีที่มาอย่างไร คุณ ‘ออกแบบ’ ไว้ก่อนด้วยไหม

        เราไม่เคยออกแบบสิ่งเหล่านี้ไว้เลย ที่ได้มาเป็นเรื่องของความบังเอิญ ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีคุณน้าคนหนึ่งขับรถจากลำพูนมาหาเราที่เชียงใหม่ บอกว่าอยากได้งาน ซึ่งทีมเขาสามารถทำงานปักได้ เราก็ให้ไป จนวันหนึ่งที่เราอยากได้รูปตอนกำลังปักมาประกอบการนำเสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เขาก็อ้ำๆ อึ้งๆ เราก็งงว่า แค่ถ่ายรูปเอง เราต้องการนำส่วนนี้ไปประชาสัมพันธ์ว่าเราทำงานกับชุมชนจริงๆ เขาจึงยอมบอกว่า แท้ที่จริงแล้ว เขาส่งงานต่อไปให้กลุ่มผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิงทำ ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดตาก อุตรดิตถ์ และสุโขทัย นั่นเป็นสิ่งที่ดีมากๆ นั่นคือโอกาส ถ้าน้าบอกตั้งแต่แรก เราเชื่อว่าตัวเองจะขยันขึ้นอีก เพื่อที่จะหาออร์เดอร์ไปให้พวกเขาผลิต สร้างงานสร้างรายได้ให้กับพวกเขามากกว่านี้อีก

คุณเป็นคนเชื่อเรื่องการสร้างโอกาสให้แก่ผู้คนอย่างมาก

        แน่นอน เราต้องให้โอกาสเขาได้ทำงานที่มีคุณค่า ให้เขาแข็งแรงทางจิตใจมากพอ ป้องกันการมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เพื่อวันที่เขาออกมาจะได้ไม่กลับไปเป็นแบบเดิม เพราะที่เขาทำแบบนี้ เขาเห็นเงินคือคุณค่าที่มีค่ามากกว่าตัวเอง แต่สิ่งที่เราให้เขาไป เขาอาจจะมองเห็นว่าเงินไม่ได้ให้คุณค่ากับเขาขนาดนั้น งานหรือสิ่งดีๆ ที่ทำต่างหากคือคุณค่าที่จะติดตัวเขาตลอดไป และเขาจะโหยหาวิธีที่จะทำให้ตัวเองมีคุณค่าต่อไป

มีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชนและนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ คุณคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

        เพราะว่าการนำภูมิปัญญามาใช้อาจจะเหมาะกับบางยุคบางสมัย ดังนั้น มันจึงมีคำว่า creativity ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน งานเหล่านี้จึงต้องเปลี่ยนตาม เรามองว่าคนที่มีต้นทุนเดิมอย่างภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่แล้วเมื่อนำมาบวกกับความคิดสร้างสรรค์ที่ร่วมสมัยโดยไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง สิ่งนี้ต่างหากที่จะนำพาภูมิปัญญาให้อยู่รอด โดยความหมายของการอยู่ได้  ไม่ใช่อยู่ได้แบบเป็นตำนานหรือเป็นประวัติศาสตร์ แต่ต้องอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แม้จะเปลี่ยนไปกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0