โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Work-Life ไม่ Balance ปัญหางูกินหางในประเทศทุนนิยม

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 08 พ.ย. 2562 เวลา 07.21 น. • เผยแพร่ 15 ต.ค. 2562 เวลา 13.14 น.
family-2485714_1920

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

work-life balance เป็นคำที่ได้ยินบ่อยในหลายปี หลัง ๆ มานี้ แต่ส่วนมากจะใช้กันในบริบทการหาสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อนคลายความเหนื่อยล้า แต่ที่จริงแล้ว คำว่า work-life balance กินความหมายกว้าง และเป็นปัญหาใหญ่กว่าแค่การแบ่งเวลางานและเวลาชีวิตส่วนบุคคล เพราะโดยทั่วไปมนุษย์ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวโดด ๆ แต่มีความสัมพันธ์ที่มาพร้อมกับหน้าที่ที่จะต้องดูแลใส่ใจคนในความสัมพันธ์นั้น ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้เงื่อนไข “เวลา” อันมีจำกัด ซึ่งจะต้องแบ่งสรรปันส่วนให้ลงตัว

ความยากของการสร้าง work-life balance คือ สองด้านที่ว่านี้ มันไปด้วยกันลำบาก work กับ life เหมือนเป็นตาชั่ง 2 ด้าน ซึ่งหากเราให้น้ำหนักฝั่งใดฝั่งหนึ่ง นั่นแปลว่า อีกฝั่งหนึ่งจะลดลง ถ้าคนวัยทำงานต้องการหาเงินให้ได้มาก ๆ ก็ต้องใช้เวลาทำงานมากขึ้น เวลาสำหรับชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และคนในความสัมพันธ์ก็จะน้อยลง หรือกลับกัน ถ้าให้ความสำคัญกับการใช้เวลาพักผ่อน เลี้ยงลูก ดูแลพ่อแม่ ฯลฯ ก็จะต้องลางาน อาจจะถึงขั้นบกพร่องในหน้าที่การงาน หรือกรณีคนทำงานอิสระ เป็นเจ้าของกิจการก็จะมีเวลาหาเงินน้อยลง ส่งผลให้รายได้ (ซึ่งจะนำไปดูแลตัวเองและครอบครัว) น้อยลง แต่ถ้าจะทำให้ตาชั่งสองด้านเท่ากัน ก็อาจจะเป็นความครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ดีสักด้าน

*หลากปัญหาที่ทำให้ work-life ไม่ balance *

จากคอนเซ็ปต์หลักของปัญหาที่เกริ่นไปแล้ว เราจะข้ามเรื่องการแบ่งเวลางานและพักผ่อนส่วนตัว ไปพูดเรื่องปัญหาใหญ่ คือ การเลี้ยงดูลูก และการดูแลพ่อแม่ ซึ่งเป็น “เรื่องใหญ่” ที่คนวัยทำงานต้องการดูแลจัดการให้ดีไปพร้อม ๆ กับการทำงาน แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงมักไม่เป็นดั่งใจ คนส่วนมากไม่สามารถจัดการทั้งสองด้านให้ดีได้พร้อม ๆ กัน

ในเวทีเสวนา “Work-ไร้-Balance : งาน-ครอบครัว เลือกได้ไม่ต้องแลก” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 101 ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่า การทำงานกับการมีลูก (ในเมืองไทย) ไม่สนับสนุนส่งเสริมกัน แต่กลับเป็นเงื่อนไขข้อจำกัดให้ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่ทั้งสองด้าน และนั่นทำให้ผู้หญิงหาสมดุลระหว่างสองด้านได้ยากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของตัวเองมากกว่าผู้ชาย

ผศ.ดร.มนสิการกล่าวว่า ผู้หญิงที่มีลูกจะมีความเสียเปรียบในด้านรายได้ งานวิจัยพบว่ามีช่องว่างทางรายได้ระหว่างผู้หญิงที่มีลูกกับผู้หญิงที่ไม่มีลูก รวมถึงช่วงเวลาที่ผู้หญิงลาไปคลอดลูกยังเป็นการสูญเสียโอกาสที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วย เพราะในช่วงที่ลานั้น ผู้ลาก็ขาดประสบการณ์เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ลา และเมื่อกลับมาทำงานแล้ว ประสิทธิภาพในการทำงานก็ลดลงด้วย

ปัญหาถัดมา เป็นปัญหาใหญ่กว่านั้น คือ การที่วัยทำงานต้องดูแลพ่อแม่ ดูแลผู้สูงอายุ อย่างที่เราได้ยินกันว่า ประเทศเราเข้าสู่สังคมสูงวัย คนแก่เยอะ คนวัยทำงานน้อย ดังนั้น คนวัยทำงานหนึ่งคนจึงมีภาระสูง ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันประเทศเรายังไม่มีกฎหมายรับรองคุ้มครองให้สิทธิ์การลาดูแลผู้สูงอายุ การลาหยุดในกรณีนี้จึงมักจะใช้วันลากิจ หรือพูดคุยเจรจากัน ซึ่งก็แล้วแต่ละระดับความอะลุ้มอล่วยของแต่ละบริษัท

ผลักดันนโยบายคือทางออกสร้างบาลานซ์งาน-ชีวิตและครอบครัว

บนเวทีเสวนาเดียวกัน ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงความพยายามในเรื่องนี้ว่า 18 ปีที่ผ่านมา สสส.ทำเรื่อง work-life balance ผ่านแผนสุขภาวะองค์กร หรือ happy workplace อย่างจริงจังเข้มข้นมาก แต่การผลักดันหลาย ๆ ด้านก็ไม่เห็นผลเท่าที่คาดหวัง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การสร้างสุขภาวะ work-life balance เกิดขึ้นยาก คือ การที่ประเทศไทยอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยไม่ได้ลงทุนกับมิติทางสังคม

“เราจะต้องเติมหัวใจ เติมคำว่าครอบครัวใส่เข้าไป อันนี้น่าจะช่วยได้ เราไม่ได้คิดว่าประเทศต้องยกเลิกระบบเศรษฐกิจแบบนี้ แต่เราจะต้องสร้างสมดุลใหม่ ในเมื่อเราวางยุทธศาสตร์การพัฒนาคนในอีก 20 ปีข้างหน้า เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ความคาดหวังแบบนี้ต้องเอามาคุยกันกับความคาดหวังในการพัฒนาเศรษฐกิจว่ามันจะไปด้วยกันได้อย่างไร เราต้องเอาทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับคนมาคุยกัน เริ่มจากเรื่องเด็กก่อนก็ได้ ถ้าเรา concern ว่าเราเป็นสังคมสูงวัย ถ้าเรา concern ว่าทำยังไงอัตราการเกิดจึงจะมีความสมดุล เราเคยมีนโยบายว่า “มีลูกเพื่อชาติ” ซึ่งพูดเหมือนผู้หญิงผิดที่ไม่ยอมมีลูก มัวแต่อยากทำงานก้าวหน้า แต่ต้องมาดูว่าอะไรทำให้การสร้างครอบครัวของคนยุคใหม่มันไม่ง่าย”

ข้อเสนอของ สสส. คือ อยากชวนสถานประกอบการ ภาคเอกชนมาช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้สังคมเดินไปได้ เกิดภาวะของความสุข ซึ่งหลายสถานประกอบการทำแล้วเห็นผลดีต่อนายจ้างด้วย เพราะว่าเมื่อพนักงานมีความสุข ก็ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น พนักงานลาออกลดน้อยลง

ข้อเสนอสำคัญที่ สสส.อยากผลักดันให้เกิดขึ้นมาก ๆ และคนทำงานก็ต้องการมากเช่นกัน นั่นก็คือ การเพิ่มวันลาคลอดจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน โดยได้รับค่าตอบแทนเต็มทั้ง 6 เดือน ซึ่งณัฐยามองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในประเทศไทย รัฐบาลต้องลงทุนกับการสร้างเด็ก สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้ประเทศชาติในอนาคต ไม่ควรปล่อยให้ครอบครัวรับภาระเพียงลำพัง

“ประเทศเราเด็กเกิดน้อย เราต้องมองว่าคนที่มีลูกเขากำลังทำหน้าที่เพื่อสังคมอยู่ด้วย วิธีคิดแบบนี้ควรจะต้องถูกทำให้มีขึ้น ไม่ใช่บอกว่า การมีลูกเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน ถ้าเราอยากได้พลเมืองที่ดี เราต้องทำ ในหลายประเทศที่ทำเรื่องนี้สำเร็จ รัฐบาลเขาสร้างมาตรการ ให้รางวัล ให้แรงจูงใจแก่เอกชน ส่วนใหญ่จะเป็นการงดเว้นหรือลดหย่อนภาษี ต้องทำให้เห็นว่า นี่คือสิ่งที่มีคุณค่า”

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ถามเพิ่มเติมถึงการผลักดันนโยบายที่จะเอื้อให้คนทำงานได้ดูแลพ่อแม่ในสถานการณ์สังคมสูงวัยที่ไทยกำลังเผชิญ ณัฐยา แสดงความเห็นว่า พอพูดเรื่องเข้าสู่สังคมสูงวัย ประเทศเราจะมองโซลูชั่นว่าจะสร้างตัวช่วยอย่างไร แต่ไม่ได้ย้อนกลับมาดูว่าหลายนโยบายที่รัฐบาลทำ อย่างเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการผลักดันให้คนออกจากบ้าน ต้องห่างครอบครัว แทนที่จะได้อยู่ใกล้บ้าน ได้ดูแลครอบครัว

“ตอนนี้ สสส.ยังไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมนัก แต่ส่วนตัวมองเรื่องวันลาเป็นอันดับแรก ควรมีการเพิ่มประเภทของวันลา เป็นวันลาดูแลสุขภาพบุพการี เช่น ต้องพาพ่อแม่ไปหาหมอ ก็ให้มีใบรับรองแพทย์หรือมีบุคคลพยานรับรอง คิดว่าน่าจะทำได้เลยโดยไม่ต้องใช้งบประมาณใด ๆ ในสถานประกอบการทุกแห่งมีวันลาอยู่แล้ว แค่เพิ่มเรื่องนี้เข้าไป”

อย่างไรก็ตาม ณัฐยาบอกว่า ถ้ารอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายอาจจะต้องรอนาน ฉะนั้น สิ่งที่ สสส.จะทำทันที คือ การร่วมมือกับบริษัทที่ทำแล้วมารวมกลุ่มกันสร้างแรงบันดาลใจให้บริษัทอื่น ๆ อยากทำตาม แล้วขยายวงกว้างไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันจะช่วยกันขยับผลักดันในด้านนโยบายไปด้วย

“ในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย สิ่งสำคัญอันแรก คือ mindset ซึ่งถ้าถูกกระทุ้งไปเรื่อย ๆ ความลังเลกังวลก็น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ ต่อมาคือ how จะทำอย่างไร ซึ่งก็มีตัวอย่างบริษัทที่ทำแล้ว ที่พิสูจน์แล้วว่าทำแล้วมีแต่ได้ บริษัทได้ ลูกจ้างได้ สังคมได้ ประเทศชาติได้”

กรณีศึกษาต่างประเทศ…จะทำอย่างไรให้สำเร็จ ?

ผศ.ดร.มนสิการ มีข้อเสนอแนะ โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่ทำสำเร็จแล้ว ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.เพิ่มวันลาคลอด วัตถุประสงค์ไม่ใช่แค่พักฟื้นจากการคลอด แต่เพื่อให้ผู้หญิงได้แลลูกด้วย การเพิ่มวันลาคลอดมีประโยชน์มาก การวิจัยพบว่าวันลาคลอด 3 เดือนน้อยไป พอครบ 3 เดือน ผู้หญิงยังไม่พร้อมทำงาน จึงตัดสินใจลาออก เพราะฉะนั้น การขยายวันลาคลอดเป็นการรักษากำลังคนเอาไว้ด้วย ตัวอย่าง รูปแบบการเพิ่มวันลาคลอดที่ไม่เป็นภาระกับรัฐบาลและนายจ้างมากเท่าที่คาดคิด ออสเตรียให้ลาได้ 24 เดือน จ่ายเงินเดือนทั้ง 24 เดือน โดยจ่ายมากกว่า 2 ใน 3 ของรายได้ 4 เดือน เบลเยียมให้ลาได้ 5.5 เดือน จ่ายเงินเดือน 9.5 เดือน โดยจ่ายมากกว่า 2 ใน 3 ของรายได้ 4 เดือน

2.เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งมีหลายรูปแบบ อย่างในประเทศอังกฤษมีตัวอย่างรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย เช่น ให้ทำงานพาร์ตไทม์, ทำงานที่บ้าน, time banking คือ ตกลงกับนายจ้างว่าหนึ่งปีจะต้องทำงานกี่ชั่วโมง แล้วทำสะสมไปเรื่อย ๆ โดยไม่กำหนดเวลา และอื่น ๆ อีกหลายรูปแบบ

3.การอำนวยความสะดวกให้แม่ลูกอ่อน ยกตัวอย่างที่อังกฤษ มีการออก พ.ร.บ.ให้นายจ้างต้องจัดหาสถานที่สำหรับลูกจ้างปั๊มนม และลูกจ้างสตรีสามารถเจรจายืดหยุ่นเวลาทำงานได้ หากต้องการให้นมหรือปั๊มนม

นอกจากเคสตัวอย่างจากต่างประเทศแล้ว หากจะทำให้สำเร็จในเมืองไทย ผศ.ดร.มนสิการแนะนำโจทย์วิจัยที่น่าสนใจที่ควรทำ ดังนี้

1.ทำ cost-benefit analysis ของนโยบายที่ดำเนินอยู่ อย่างเช่น ถ้าพิจารณาเรื่องเพิ่มวันลา ลองทำ cost-benefit analysis ของนโยบายที่ดำเนินงานอยู่ จะพบว่าสิ่งที่ได้รับกลับมาคืออะไรบ้าง

2.ชุดนโยบายที่จะตอบสนองรูปแบบงานที่หลากหลาย เมืองไทยมีรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย มีรูปแบบทางการกับไม่ทางการ นโยบายก็ต้องตอบโจทย์ที่ต่างกัน ต้องดูว่านโยบายรูปแบบไหนที่จะช่วยได้

3.ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ หลังจากคิดนโยบายที่หลากหลายแล้วต้องดูว่า นโยบายไหนที่จะทำให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

“การเพิ่มวันลา มันไม่ใช่แค่เรื่องการลา แต่มันคือการเพิ่มประชากรในอนาคต การเพิ่มจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน แล้วแม่ได้อยู่กับลูก มันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เด็กพัฒนาได้ดีขึ้น ช่วง 3 ปีแรกเป็นโอกาสทองในการพัฒนามนุษย์ การลงทุนในเด็กยิ่งเล็กเท่าไหร่ ผลตอบแทนยิ่งคุ้มค่ามากเท่านั้น อยากให้ลองวิจัยดู cost-benefit ถ้าทำแล้วเห็น benefit ของมัน สังคมวงกว้างก็คงช่วยกันผลักดันให้นโยบายต่าง ๆ เกิดขึ้นได้มากขึ้น” ผศ.ดร.มนสิการกล่าว

ปัญหา work-life ไม่ balance มีสาเหตุต้นตอสำคัญอยู่ที่ว่า เศรษฐกิจบ้านเราเป็นทุนนิยมที่พัฒนาแบบกระจุกตัว คนก็เลยต้องออกจากบ้านไปทำงานในเมืองศูนย์รวมเพียงไม่กี่แห่ง ทำให้ต้องห่างไกลครอบครัว การดูแลลูก ดูแลพ่อแม่ จึงกลายเป็นเรื่องยาก อีกทั้งการกระจุกตัวในเมืองก็นำมาสู่ปัญหาอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอด ๆ อย่างเช่น ปัญหาการจราจร รถติด ทำให้คนทำงานต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง แทนที่จะได้เอาเวลาไปใช้ผ่อนคลายดูแลตัวเอง เหมือนเป็นเรื่องงูกินหางที่พันกันอย่างยุ่งเหยิงไม่จบสิ้น หากมีการกระจายการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาไปได้มาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0