โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

Weekend Focus: ‘เจ้าชายแฮร์รี-เมแกน’ ลดบทบาทเชื้อพระวงศ์ เผยรอยร้าวในราชวงศ์อังกฤษ

Manager Online

เผยแพร่ 18 ม.ค. 2563 เวลา 08.37 น. • MGR Online

ความเคลื่อนไหวของราชวงศ์อังกฤษกลายเป็นข่าวดังระดับโลกอีกครั้ง เมื่อเจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ และพระชายา เมแกน มาร์เคิล ประกาศลดบทบาทสมาชิกระดับสูงของราชวงศ์ และจะทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง สร้างความตกตะลึงทั้งต่อชาวอังกฤษและบรรดาเชื้อพระวงศ์ ทั้งยังจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมไม่เกรงใจใครของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ทรงมีพระราชดำรัสยินยอมอย่างไม่เต็มพระทัย และขอให้สำนักพระราชวังเร่งหาทางออกที่เหมาะสมในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน

วิกฤตครั้งสำคัญของราชวงศ์อังกฤษเริ่มขึ้นเมื่อเจ้าชายแฮร์รีวัย 35 พรรษา และ เมแกน วัย 38 ปี ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ว่าต้องการถอยห่างจากบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกราชวงศ์ระดับสูง และจะขอปลีกตัวไปใช้ชีวิตอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือมากขึ้น และแม้ทั้งคู่จะอ้างว่าพูดคุยเรื่องอนาคตกันมานานหลายเดือนแล้ว แต่กลับไม่เคยทูลปรึกษาผู้ใหญ่ในครอบครัวอย่างสมเด็จพระราชินีนาถหรือเจ้าฟ้าชายชาร์ลส ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนธรรมเนียม และยังก่อความแตกแยกขึ้นภายในราชวงศ์ด้วย

ในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ผ่านเพจอินสตาแกรมของทั้ง 2 พระองค์ ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ทรงย้ำถึงความตั้งใจที่จะถอยออกจากการเป็นเจ้านายชั้นสูง และทำงานหาเลี้ยงตัวเอง “เพื่อให้มีอิสระทางการเงิน” โดยจะทรงแบ่งเวลาประทับอยู่ในสหราชอาณาจักรและแคนาดาอย่างสมดุล แต่ก็จะยังคง “รักษาหน้าที่ที่มีต่อสมเด็จพระราชินีนาถ เครือจักรภพ และองค์กรต่างๆ ซึ่งเราเป็นผู้อุปถัมภ์อยู่”

สื่ออังกฤษชี้ว่า ดยุคและดัชเชสน่าจะทรงวางแผนเรื่องนี้ขณะปลีกตัวไปประทับที่แคนาดานาน 6 สัปดาห์ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

เมแกน มาร์เคิล เป็นอดีตนักแสดงชาวอเมริกัน เคยอาศัยและทำงานอยู่ที่นครโทรอนโตระหว่างถ่ายทำซีรีส์ ‘Suits’ และมีเพื่อนฝูงชาวแคนาดาอยู่หลายคน

ก่อนหน้านี้ เจ้าชายแฮร์รีและชายาเคยประทานสัมภาษณ์กับสื่อ ITV ระหว่างเยือนแอฟริกาใต้เมื่อปีที่แล้ว โดย เมแกน ยอมรับว่าการเลี้ยงดูโอรสน้อย ‘อาร์ชี แฮร์ริสัน เมานต์แบ็ตเทน-วินด์เซอร์’ โดยถูกสื่อมวลชนตามติดอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นเรื่องที่ “ยากลำบาก” สำหรับเธอ ส่วนเจ้าชายแฮร์รีก็อ้างถึงความทรงจำเกี่ยวกับพระมารดา ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’ ซึ่งสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงปารีสขณะถูกสื่อไล่ตามว่ายังคงเป็น “แผลกลัดหนอง” ในใจพระองค์เสมอมา

สื่ออังกฤษตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าชายแฮร์รีไม่สามารถทำพระทัยให้คุ้นเคยและเป็นมิตรกับสื่อมวลชนได้อย่างเจ้าชายวิลเลียม พระเชษฐา และบ่อยครั้งที่ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่โปรดการใช้ชีวิตแบบเจ้าซึ่งต้องมีพิธีรีตองมากมาย

การประกาศเจตนารมณ์ของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนเกิดขึ้นหลังมีข่าวลือมานานหนึ่งปีเต็มเกี่ยวกับความบาดหมางระหว่างเจ้าชายแฮร์รีและเจ้าชายวิลเลียม รวมทั้งกระแสข่าวที่ว่า เมแกน ซึ่งมีมารดาเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการต้อนรับจากสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ

รอยร้าวระหว่างเมแกนกับราชวงศ์อังกฤษเริ่มปรากฏเค้าลางตั้งแต่ช่วงงานพระราชพิธีเสกสมรสในปี 2018 โดยสื่อซุบซิบตีข่าวเรื่องที่ เมแกน ต้องการสวมเทียร์ราที่ทำจากเพชรและมรกต แต่ถูกสำนักพระราชวังปฏิเสธเนื่องจากเกรงจะเป็นของที่มาจากรัสเซีย ซึ่งทำให้เจ้าชายแฮร์รีไม่พอพระทัยอย่างมาก ขณะที่ โรเบิร์ต จ็อบสัน อดีตผู้สื่อข่าวสายราชวงศ์ เขียนไว้ในหนังสือชีวประวัติเจ้าฟ้าชายชาร์ลสว่า เจ้าชายแฮร์รีเคยรับสั่งกับข้าราชบริหารในพระองค์ว่า “เมแกนอยากได้อะไร เธอต้องได้” และยังทรงกลายเป็นคน “ขี้หงุดหงิดอารมณ์ร้อน”

แหล่งข่าวใกล้ชิดพระราชวงศ์เผยกับเดอะซันว่า สมเด็จพระราชินีนาถถึงกับทรงเรียกเจ้าชายแฮร์รีไปตักเตือนว่า “เมแกนไม่สามารถได้ทุกอย่างที่เธอต้องการ” และเทียร์ราที่ เมแกน จะสวมได้ก็คือเทียร์ราที่พระองค์จะพระราชทานให้เท่านั้น

เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนยังวิจารณ์สื่อมวลชนอังกฤษว่าเลือกปฏิบัติกับพระองค์อย่างไม่เป็นธรรมตั้งแต่เริ่มมีข่าวว่าทรงคบหากัน ทั้งเสนอข่าวแบบคุกคาม ใช้ภาษาที่สะท้อนแนวคิดเหยียดผิว และยังใช้มาตรฐานที่แตกต่างระหว่างคู่ของพระองค์กับคู่ของเจ้าชายวิลเลียม-เคต มิดเดิลตัน

สื่อเมืองผู้ดีตั้งข้อสังเกตว่า 'ฟางเส้นสุดท้าย' ที่อาจทำให้เจ้าชายแฮร์รีตัดสินพระทัยลดบทบาทมาจากการแสดงออกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ดูเหมือนจะมองข้ามความสำคัญของพระองค์ไป เริ่มจากการออกพระราชดำรัสอวยพรคริสต์มาส ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าบนโต๊ะของควีนมีพระฉายาลักษณ์ของครอบครัวเจ้าฟ้าชายชาร์ลสและครอบครัวเจ้าชายวิลเลียม แต่กลับไม่มีภาพครอบครัวดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ หลังจากนั้นพระราชวังบักกิงแฮมยังได้เผยแพร่พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถกับองค์รัชทายาท 3 รุ่น ซึ่งได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส, เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายจอร์จ โดยเจ้าชายแฮร์รีไม่ได้มีส่วนร่วม

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษทรงเรียกประชุมพระบรมวงศ์ชั้นสูงเป็นการฉุกเฉินในเช้าวันจันทร์ (13 ม.ค) ที่พระตำหนักซานดริงแฮมในมณฑลนอร์ฟอล์ค เพื่อแก้ปัญหากรณีดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ประกาศลดบทบาท ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เมแกน ใช้เวลาแค่ 3 วันอยู่ในอังกฤษ ก่อนที่จะบินกลับไปยังแคนาดาในวันพฤหัสบดี(9 ม.ค.) โดยทิ้งให้เจ้าชายแฮร์รีทรงรับทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับสมาชิกราชวงศ์

ภายหลังการประชุมรอยัลซัมมิตเสร็จสิ้นลง สมเด็จพระราชินีนาถได้ทรงออกแถลงการณ์ระบุว่า พระราชวงศ์และพระองค์สนับสนุนความปรารถนาของ “แฮร์รีและเมแกน” ในการสร้างชีวิตใหม่ในฐานะครอบครัวคนรุ่นใหม่ รวมทั้งต้องการบทบาทใหม่ที่สร้างสรรค์ภายในราชวงศ์ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าทรงเลือกใช้ถ้อยคำแบบไม่เป็นทางการ ทั้งยังทรงกล่าวถึงดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ด้วยการเรียกแค่ชื่อโดยไม่มีฐานันดรศักดิ์

มีรายงานจากเดลีเมล์ว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลสทรงกริ้วอย่างมากที่เจ้าชายแฮร์รีออกแถลงการณ์ลดบทบาทโดยไม่ทูลขอพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระราชินีนาถก่อน และเสด็จฯ ออกจากห้องประชุมไปก่อนที่การหารือจะจบลง

สมเด็จพระราชินีนาถทรงยอมรับว่า การตัดสินใจของเจ้าชายแฮร์รีและชายา “ไม่ใช่ข่าวที่น่ายินดี” และแม้พระองค์จะทรงต้องการให้ทั้งคู่ปฏิบัติกรณียกิจในฐานะสมาชิกราชวงศ์อย่างสมบูรณ์ต่อไป แต่ก็ทรงเคารพและเข้าใจความปรารถนาในการใช้ชีวิตที่มีอิสระมากขึ้น โดยยังเป็นส่วนหนึ่งที่มีค่าในราชวงศ์

ควีนเอลิซาเบธทรงสำทับว่า เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนไม่ต้องการพึ่งพิงเงินของรัฐ แต่ไม่ทรงระบุชัดเจนว่าทั้งคู่จะยังคงฐานันดรศักดิ์ต่อไปหรือไม่

“ครอบครัวข้าพเจ้ามีประเด็นอันซับซ้อนที่จะต้องดำเนินการแก้ไข และยังมีงานอื่นๆ ที่ต้องทำอีก แต่ข้าพเจ้าได้ขอให้มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้” แถลงการณ์จากสมเด็จพระราชินีนาถ ระบุ

ฟิลิป แดมเปียร์ ผู้สัดทัดกรณีด้านเชื้อพระวงศ์ เขียนในหนังสือพิมพ์เดลีเอ็กซ์เพรสว่า แถลงการณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถ “ถือเป็นชัยชนะ” ของเจ้าชายแฮร์รีและพระชายา พร้อมเปรียบเปรยว่าเหมือนกับทั้งสองกำลัง “เอาพระแสงปืนจี้พระเศียรองค์ราชินี เพื่อให้ทรงยอมทำตาม”

บทบรรณาธิการเดอะซันวิจารณ์สมเด็จพระราชินีนาถว่าทรง “ยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องที่เอาแต่ใจและเห็นแก่ตัวของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน” ขณะที่เดลีมิร์เรอร์ชื่นชมควีนว่าทรงแสดงออกถึงความไม่เห็นแก่พระองค์เอง ซึ่งต่างจากเจ้าชายแฮร์รีที่ปฏิบัติต่อพระองค์โดยขาดความเคารพ

ทั้งนี้ คาดว่าเจ้าชายแฮร์รีจะยังทรงมีสถานะเป็นองค์รัชทายาทลำดับที่ 6 อยู่เช่นเดิม ทว่าจะไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับเงินปีที่รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ‘Sovereign Grant’ อีกต่อไป

Sovereign Grant ถือเป็นงบประมาณสาธารณะที่รัฐบาลอังกฤษทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ โดยดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ระบุว่ารายจ่ายของสำนักงานส่วนพระองค์ในปี 2019 มาจาก Sovereign Grant เพียง 5% ส่วนที่เหลืออีก 95% มาจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลสในฐานะที่ทรงเป็นดยุคแห่งคอร์นวอลล์ ซึ่งมีมูลค่าราวๆ 1,100 ล้านปอนด์

กระแสวิจารณ์เรื่องอนาคตของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวอังกฤษ โดยผลสำรวจของ YouGov พบว่าคนอังกฤษ 46% สนับสนุนการตัดสินใจของดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ขณะที่ 57% มองว่าทั้งสองพระองค์ปฏิบัติต่อสมเด็จพระราชินีนาถอย่างไม่เป็นธรรม

เจ้าชายแฮร์รีและเจ้าชายวิลเลียมยังทรงออกแถลงการณ์ร่วมตำหนิรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะไทม์สที่อ้างว่าเจ้าชายวิลเลียมทรงมีท่าที “คุกคาม” จนกระทั่งดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ทรงรู้สึกเหมือน “ถูกผลักไสออกจากราชวงศ์”

เป็นที่ทราบกันดีว่า เจ้าชายพี่น้องทั้งสองพระองค์ทรงผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นหลังการสวรรคตของเจ้าหญิงไดอานาเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ทว่าเมื่อเดือนที่แล้วเจ้าชายแฮร์รีทรงออกมายอมรับว่าไม่ได้สนิทสนมกับพระเชษฐาเหมือนเคย และทรง “เลือกที่จะเดินคนละทาง”

แถลงการณ์ร่วมของทั้งสองพระองค์ดูเหมือนจะพยายามลบภาพความบาดหมางนี้ โดยระบุว่า “สำหรับพี่น้องที่ห่วงใยกันอย่างลึกซึ้งในด้านสภาพจิตใจ การใช้ภาษายั่วยุเช่นนี้ถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจและอาจส่งผลเสีย”

เดลีเมล์ ระบุว่า ความฝันที่แท้จริงของ เมแกน คือการลงหลักปักฐานในย่านเซเลบคนดังที่นครลอสแองเจลิส “แต่ต้องไม่ใช่ในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์” และเธอคาดหวังให้ปี 2020 เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านไปสู่บทบาทใหม่ รวมถึงมีแผนเปิดตัวมูลนิธิเพื่อการกุศล Sussex Royal และแสวงหาแหล่งรายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง

อย่างไรก็ดี ดยุคและดัชเชสยังคงปรารถนาที่จะเก็บพระตำหนักฟร็อกมอร์ภายในเขตพระราชวังวินด์เซอร์เอาไว้เป็นที่ประทับในอังกฤษต่อไป

นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดายอมรับในสัปดาห์นี้ว่า รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจว่ารับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาความปลอดภัยแก่เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนขณะประทับอยู่ในแคนาดาหรือไม่ และแม้พลเมืองแคนาดาจะ “ยินดีต้อนรับ” ทั้งสองพระองค์ แต่ก็มีหลายประเด็นที่จะต้องหารือกันต่อไป

สื่อแคนาดาประเมินว่า ค่าใช้จ่ายในการคุ้มกันดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์และพระโอรส อาร์ชี น่าจะตกอยู่ที่ราวๆ 1.7 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี

หนังสือพิมพ์เนชันแนลโพสต์ชี้ว่า เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนควรทำเรื่องขอสัญชาติแคนาดาเหมือนบุคคลทั่วไป ขณะที่โกลบแอนด์เมล์เรียกร้องให้นายกฯ ทรูโด ปฏิเสธคำขอย้ายมาอยู่แคนาดาของทั้งคู่ เนื่องจากแคนาดาเป็นประเทศที่ “ไม่มีระบบชนชั้นหรือเจ้าขุนมูลนายเหมือนในอังกฤษ”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0