โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

WWF เตือนสถาบันการเงิน 'เร่ง' วางแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงด้านหลักเกณฑ์การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

WWF-Thailand

เผยแพร่ 07 ม.ค. 2563 เวลา 17.01 น.

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลระบุ หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของอาเซียนกำลังวางแผนป้องกันสภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ชี้ภาคการเงินของอาเซียนควรเร่งเดินหน้าสู่นโยบายการเงินยั่งยืน รายงานล่าสุดขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลเกี่ยวกับการประเมินหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการธนาคารที่ยั่งยืนในอาเซียน พบว่า หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินของประเทศต่างๆในภูมิภาคกำลังวางแนวในการป้องกันภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศและด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น

รายงานฉบับใหม่ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF พบว่าหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนามซึ่งคิดเป็น 85% ของ GDP ของภูมิภาค - กำลังเพิ่มมาตรการเพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (E&S) ทั้งนี้รายงานการประเมินหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินหรือสมาคมธนาคารใน 5 ประเทศดังกล่าวข้างต้น อ้างอิงจากกรอบการดำเนินงานใหม่ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงองค์ประกอบที่สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งของการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด 25 ข้อ แบ่งออกเป็น 6 เสาหลัก ได้แก่ ขอบเขต กลยุทธ์และธรรมาภิบาล นโยบายและกระบวนการ ความเสี่ยงและผลกระทบของพอร์ตโฟลิโอ การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

WWF ระบุว่า หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันควรมีส่วนช่วยแก้ไขความไม่สม่ำเสมอของการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของธนาคารในภูมิภาคอาเซียน ดังที่ได้แสดงไว้ในรายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคารฉบับล่าสุดของ WWF หรือ SUSBA ที่ได้รับการเผยแพร่ในเดือนสิงหาคมปีนี้

ในรายงาน SUSBA มีการประเมินการดำเนินการด้าน ESG ของธนาคารในอาเซียนและธนาคารต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงธนาคาร 29 แห่งที่มีการดำเนินงานใน 5 ประเทศที่ได้รับการประเมินตามรายงานฉบับใหม่นี้ หน่วยงานกำกับดูแลสามารถนำผลการประเมินและข้อเสนอแนะตามรายงานนี้มาปรับใช้ เพื่อยกระดับความสามารถในการดำเนินงานตลอดจนการปรับตัวของภาคธนาคารในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งให้การสนับสนุนดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อตกลงปารีสและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินในภูมิภาคอาเซียนกำลังยกระดับการบริหารความเสี่ยงอันเนื่องมาจากสภาพอากาศและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ทว่าธนาคารต่างๆยังคงต้องเร่งสร้างความคืบหน้าอย่างทันท่วงที หลักเกณฑ์และแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืนต่างๆที่ได้รับการประเมินในรายงานนี้ เป็นการสร้างรากฐานที่ดีสำหรับการดำเนินการที่ยั่งยืนของธนาคาร โดยทั้ง 5 ประเทศที่ได้รับการประเมินมีการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม (เช่น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ) ไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ธนาคารควรหาวิธีการดำเนินการ

ย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีเพียงร้อยละ 62 จากธนาคารที่ได้รับการประเมินทั้งสิ้น 29 แห่งที่ตระหนักถึงความเสี่ยงอันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศ และมีธนาคารเพียงร้อยละ 48 ที่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินหรือสมาคมธนาคารต่างๆในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม ต่างมีความคาดหวังว่า ธนาคารในประเทศจะดำเนินการพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยง โดยที่ร้อยละ 43 ของธนาคารที่ดำเนินงานในประเทศเหล่านี้ระบุว่าธนาคารมีการกำหนดนโยบายแล้ว แต่ มีธนาคารเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่เปิดเผยข้อมูลของนโยบายดังกล่าว

นอกจากนี้ มีเพียงธนาคาร 3 แห่งในสิงค์โปร์ ได้แก่ DBS OCBC และ UOB เท่านั้นที่นำนโยบาย”การไม่ตัดไม้ทำลายป่า” มาปรับใช้ พร้อมทั้งงดให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ด้วย ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของทั้ง 5 ประเทศ ภาคส่วนต่างๆ คาดหวังว่าธนาคารจะสร้างเสริมการกำกับดูแลในเรื่องการจัดการประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เข้มแข็งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีธนาคารเพียงร้อยละ 62 ที่มีการมอบหมายความรับผิดชอบในการดำเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนแก่คณะกรรมการฯหรือผู้บริหารระดับสูง โดยมีธนาคารเพียงร้อยละ34 เท่านั้นที่เปิดเผยว่ามีหน่วยงานเฉพาะที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

“ในระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินทั่วทั้งอาเซียนได้ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงการที่ภาคการเงินต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อม และในขณะที่แรงผลักดันเชิงบวกนี้กำลังทวีความเข้มข้นขึ้น ธนาคารในอาเซียนควรดำเนินการเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งบริหารจัดการความเสี่ยงในพอร์ตโฟลิโอของตน พร้อมกับแสวงหาโอกาสทางธุรกิจต่างๆที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น”

จีนนี่ สแตมป์ หัวหน้าโครงการ Asia Sustainable Finance ของ WWF และผู้ก่อตั้ง Asia Sustainable Finance Initiative ได้กล่าว

สมาคมธนาคารในภูมิภาคอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การเปลี่ยนแปลงในระดับอุตสาหกรรมครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่นโดยการสร้างขีดความสามารถของสมาชิกและแบ่งปันแนวปฎิบัติที่ประสบความสำเร็จ สร้างหน่วยงานกำกับดูแลในฐานะ “พี่เลี้ยง”

ธนาคารในอาเซียนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจของธนาคารและอาจได้รับผลกระทบรุนแรงเนื่องจากการขาดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่รัดกุม การทดสอบความสามารถในการดำเนินธุรกิจในสภาวะการณ์ต่างๆ (stress-test) ในระดับภาพรวมของอุตสาหกรรมช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสามารถในการปรับตัวของภาคการเงินเพื่อกำหนดมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสมในอนาคต

สำหรับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยนั้น ได้มีการเริ่มดำเนินการไปในทิศทางดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่าธนาคารจะเริ่มทำการประเมินและลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอื่นๆในระดับพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งปัจจุบัน ทั่วทั้งอาเซียนนั้นมีธนาคารเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่ดำเนินการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในพอร์ตโฟลิโอของตน

ในขณะเดียวกัน กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติสร้างแรงกดดันต่อธนาคารและบริษัทในอาเซียนให้ปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวทางของความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ คำแนะนำของคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) ซึ่งครอบคลุมการจัดการความเสี่ยงและโอกาสด้านสภาพภูมิอากาศได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน 374 แห่งที่มีสินทรัพย์ทั่วโลก 118 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

กระนั้น มีเพียงธนาคารสามแห่งในอาเซียนเท่านั้นที่สนับสนุน TCFD ได้แก่ DBS, OCBC และ UOB ขณะที่ ธนาคารอื่นๆในอาเซียนไม่ได้มีการเปิดเผยตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับ TCFD ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความคืบหน้าของธนาคารในขณะนี้ หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินอาจจำเป็นต้องออกข้อกำหนดให้ธนาคารมีการรายงานซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่ TCFD ให้คำแนะนำ ยกระดับมาตรการ ดึงเงินทุนเอกชน การเปลี่ยนทิศทางของกระแสเงินทุนจากกิจกรรมที่ส่งผลเสียไปสู่การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาการระดมเงินทุนอย่างเต็มที่จากภาคเอกชน

หน่วยงานกำกับดูแลสามารถให้การสนับสนุนการใช้คำจำกัดความ (taxonomies) 'สีเขียว' และ 'สีน้ำตาล' ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเป็นไปในทางเดียวกันเพื่อระบุกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำหนดมาตรฐานที่รัดกุมสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียยังมีการสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ เช่น การกำหนดโครงสร้างที่ส่งเสริมการออกพันธบัตรสีเขียวและพันธบัตรเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่ยั่งยืน ส่วนในประเทศอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนามนั้น หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อพัฒนามาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการเงินสีเขียว

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่า “ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับธนาคารต่างๆ และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลช่วยให้ภาคการธนาคารของประเทศไทยบรรลุความสำเร็จครั้งสำคัญในปีนี้ อันได้แก่ การที่สมาชิกสมาคมธนาคารไทยร่วมกันจัดทำแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารเพื่อความยั่งยืน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของภาคธนาคารที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยในระยะต่อไป จะมุ่งเน้นการลงมือปฏิบัติจริงของธนาคาร ซึ่งจำเป็นต้องผลักดันให้แนวความคิดและการดำเนินการของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดของภาคการเงินไทยไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม”

หมายเหตุบรรณาธิการ

Thailand: TBA Sustainable Banking Guidelines - Responsible Lending (August 2019) ประเทศไทย: แนวทางการดำเนินกิจการธนาคารเพื่อความยั่งยืน เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ เกี่ยวกับรายงานการดำเนินกิจการธนาคารที่ยั่งยืน รายงานล่าสุดของ WWF เรื่อง”หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการธนาคารที่ยั่งยืนในอาเซียน” ที่อ้างอิงจากกรอบการดำเนินการใหม่เพื่อการประเมินหลักเกณฑ์และแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการธนาคารที่ยั่งยืน อันประกอบด้วยตัวชี้วัด 25 ข้อ แบ่งออกได้เป็น 6 เสาหลัก ซึ่งทาง WWF ได้พัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงองค์ประกอบที่สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งของการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หน่วยงานกำกับดูแลสามารถนำไปต่อยอดการดำเนินงานเพื่อสร้างความมั่นใจว่าภาคการเงินในอาเซียนมีความสามารถในการปรับตัวต่อวิกฤกตการณ์ทางสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสนับสนุนวัตถุประสงค์ตามข้อตกลงปารีสและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ กรอบการดำเนินงานและรายงานนี้ นำเสนอส่วนประกอบสำคัญที่สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมและการเพิ่มขีดความสามารถให้กับธนาคารกลาง หน่วยงานกำกับดูแลและสมาคมธนาคารที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ WWFในการเพิ่มขีดความสามารถและความสอดคล้องกันของหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของภาคการธนาคารทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน รายงานนี้ ประเมิน 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งเป็นพัฒนาต่อจากผลการประเมินความยั่งยืนของธนาคารล่าสุดของ WWF หรือ SUSBA โดยเน้นถึงระดับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของธนาคารในแต่ละประเทศ SUSBA ครอบคลุมทั้งหมด 29 แห่งที่มีการดำเนินงานใน 5 ประเทศที่ได้รับการประเมินในรายงานฉบับใหม่นี้ 5ประเทศ ใน 10 ประเทศอาเซียน ไม่ได้รับการกล่าวถึงในรายงานนี้ เนื่องจากในประเทศฟิลิปปินส์ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (Bangko Sentral ng Pilipinas หรือ BSP) ประกาศถึงความตั้งใจที่จะออกกรอบการดำเนินงานเพื่อการเงินที่ยั่งยืนในปลายปี 2019 นี้ หลังจากที่ผ่านการหารือของภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยงข้อง กรอบการดำเนินงานตามโครงสร้างนี้ยังไม่ได้รับการเผยแพร่และอยู่ในระหว่างการสรุปผลรายงาน ในประเทศกัมพูชา สมาคมธนาคารกัมพูชา ได้ออกแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารเพื่อความยั่งยืน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งแนวทางดังกล่าว ไม่ได้รวมอยู่ในขอบเขตของรายงานฉบับนี้ เนื่องจากการประเมินเน้นไปยังประเทศที่ธนาคารมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในประเทศบรูไน ลาว และเมียนมาร์ หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินหรือสมาคมธนาคารต่างๆ ไม่ได้ออกหลักเกณฑ์หรือแนวทางใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการธนาคารเพื่อความยั่งยืน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0