โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

WHERE WE BELONG : แห่งไหนที่ใจเธออยู่

The Momentum

อัพเดต 25 มิ.ย. 2562 เวลา 13.04 น. • เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2562 เวลา 13.04 น. • Filmsick

In focus

  • Where We Belong โดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี ตลอดทั้งเรื่องคือการที่เบลล์จับซูซ้อนท้ายไปไหนมาไหนเพื่อเคลียร์เรื่องต่างๆ ก่อนเดินทางไปฟินแลนด์โดยมีเป้าหมายว่า “จะไม่กลับมาอีก” อดีตสั้นๆ ของซูค่อยๆ เปิดเผยเชื่องช้าในเมืองเล็กๆ ที่เงียบเหงา
  • เราไม่อาจปฏิเสธชั้นของการเมืองบางๆ ที่ห่มคลุมอยู่ในหนังของคงเดช หนักบ้างเบาบ้าง จนอาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ หนังของเขาสามารถใช้อธิบายประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของสังคมไทยได้ตามลำดับเวลาใต้โครงสร้างของหนังรัก หนังเดินทาง หรือหนังวัยรุ่น
  • Where We Belongอาจจะผลักไสฉากหลังทางการเมืองออกไปอยู่ไกลกว่าเรื่องอื่น หากการที่หนังออกฉายในช่วงเวลาหลังเลือกตั้ง หลังปรากฏการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ทำให้หนังขยายภาพความคับข้องใจทางการเมืองของเด็กร่วมสมัยปัจจุบันอย่างน่าสนใจ 
  • หนังกรุ่นไปด้วยการอธิบายโลกที่แตกออกเป็นสอง โลกของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ นอกจากเพื่อน เมือง และความรักแล้ว บ้านที่อบอุ่นได้กลายเป็นไม้ตายสุดท้ายในการยื้อเด็กสาวไว้จากการเลือกไปจากที่นี่

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์​

ซู จบ ม.6 แล้ว และกำลังจะไปจากที่นี่ แม้ซูไม่เคยรู้เลยว่าที่ที่จะไปนั้นเป็นอย่างไร เพราะมีแต่การไปจากที่นี่จึงจะให้คำถามกับเธอได้ว่าทำไมเธอจึงต้องไป ทุกวันเวลาขึ้นไปตากผ้าบนดาดฟ้าบ้านซูจะเห็นป้ายซุ้มประตูโค้งกล่าวลาคนผ่านทาง “ขอให้โชคดี” ราวกับป้ายกล่าวลาเสมอ กระตุ้นให้เธอออกไปจากเมืองเล็กๆ

ซูมีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่งชื่อเบลล์ ทั้งคู่อาจจะเพิ่งสนิทกันไม่นานนัก แต่ก็ซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ ต่างจากซูโดยส้ินเชิง เบลล์ไม่อยากไปไหนไกลกว่าอาณาเขตบ้านของเธอกับพ่อและย่า เบลล์อยากทำอะไรก็ได้ที่ได้ดูแลย่าที่ป่วยจากอาการสมองเสื่อมไปด้วย เธอชอบการได้ดูแลคนอื่น การได้เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดในทุกหนแห่ง จนหยก เพื่อสาวร้านการ์ตูนถึงกับเอ่ยปากถามว่า นี่มึงชื่อเบลล์หรือชื่อเบ๊วะ

ซูสอบชิงทุนได้ไปฟินแลนด์ทั้งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ตลอดทั้งเรื่องหนังคือการที่เบลล์จับซูซ้อนท้ายไปไหนมาไหนเพื่อเคลียร์เรื่องต่างๆ ก่อนเดินทางโดยมีเป้าหมายว่า “จะไม่กลับมาอีก” อดีตสั้นๆ ของซูค่อยๆ เปิดเผยเชื่องช้าในเมืองเล็กๆ ที่เงียบเหงา ทั้งความรักที่เก็บงำไว้ บาดแผลที่แก้ไม่หาย หรือ ความคิดถึงคนที่ตายไปแล้ว อดีตและปัจจุบันเปิดเผยตัวตน บ้านเหนี่ยวรั้งผู้คนจากการออกเดินทาง ขังเราไว้ในมิตรภาพ ความอบอุ่นคุ้นเคย หรือเรียกร้องลำเลิกบุญคุณที่เคยทำให้เราเติบโต โยนแอกของความรับผิดชอบให้เราแบกไว้ บ้านที่ต้องการให้เราอยู่เพราะเราต้องอยู่

จริงๆ เราอาจพูดได้ว่ามันคือหนังในท่วงทำนองแบบ เด็กสาวสองคนในเมืองเล็กๆ แบบเดียวกับหนังญี่ปุ่น นุ่มนวลพอๆ กับการเป็นหนังฤดูร้อนสุดท้ายการสิ้นสุดของวัยเยาว์ที่จบลงพร้อมกับการจบการศึกษาชั้นมัธยม 

หลายปีก่อน มีเด็ก ม.หก อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญกับฤดูร้อนแห่งการเปลี่ยนแปลง ยอง-เจ-เบสท์-เอ็ม ที่หนึ่งในสี่ก็จะสัมภาษณ์ไปเรียนเมืองนอกเหมือนกัน ปีนั้นมีคนยากจนจำนวนมากออกมาประท้วงบนถนน มีคนถูกยิงตายกลางเมือง และหนึ่งในสี่ก็เข้าไปอยู่ในคืนอันมืดมิดคืนนั้นด้วย 

ถ้าเด็กสี่คนจาก ตั้งวงหนังปี 2013 ของคงเดช เปลี่ยนผ่านท่ามกลางควันปืน คาวเลือดและการแตกหักอย่างถึงรากถึงโคนของผู้คนในปีนั้น หกปีต่อมา เด็กอย่าง ซู เบลล์ มิว หยก ก็เปลี่ยนผ่านตัวเองท่ามกลางความมืดมนในสังคมยุคคสช. เด็กวัยรุ่นที่เกิดไม่ทันความรุ่งโรจน์และร่วงหล่นของทักษิณ ชินวัตร เด็กเกินกว่าที่จะมีส่วนร่วมกับการชุมนุมทางการเมืองใดๆ ความไม่สงบมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านพ้น เด็กๆ ที่เริ่มจดจำได้ก็พบว่าตัวเองอยู่ในสังคมเผด็จการ ที่ทุกอย่างสงบเงียบเรียบร้อยจนผิดสังเกต ผู้คนบอกให้คุณเป็นตัวของตัวเอง แต่คุณไม่สามารถพูดทุกสิ่งที่คุณคิดออกมาได้ คุณคิดว่าคุณโตพอแล้ว แต่คุณไม่เคยโตพอ เหมือนที่คุณมีสิทธิ์เลือกตั้งแล้ว แต่คุณไม่เคยเลือกตั้งมาก่อนเลย หรือพูดให้ถูก ตลอดชีวิตที่ผ่านมา คุณไม่เคยเห็นการเลือกตั้งจริงๆ เลยสักครั้งด้วยซ้ำ คุณอยู่ในเมืองที่ทุกอย่างเหมือนเดิมมาตั้งแต่คุณเกิด ราวกับว่าความเจริญอยู่หนอื่น และคุณไม่รู้มาก่อนว่าโลกข้างนอกเป็นอย่างไร คุณรู้แค่ว่าโลกข้างในในบ้านนี้ ในเมืองนี้ และอาจจะในประเทศนี้ ไม่ใช่ที่ของคุณ 

เราไม่อาจปฏิเสธชั้นของการเมืองบางๆ ที่ห่มคลุมอยู่ในหนังของคงเดชมาตลอด หนักบ้างเบาบ้าง  จนอาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ หนังของเขาสามารถใช้อธิบายประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของสังคมไทยได้ตามลำดับเวลาใต้โครงสร้างของหนังรัก หนังเดินทาง หรือหนังวัยรุ่น เฉิ่มคว้าจับห้วงยามปลายของยุคสมัยทักษิณที่ความดีความงามความจริงถูกท้าทายตรวจสอบ ทำลายล้างโลกของสงบสุขแบบเดิมๆ ของ นายสมบัติ ดีพร้อม แท็กซี่คนซื่อ กอดอธิบายยุคสมัยหลังการรัฐประหารครั้งแรกของไอ้ขวานสามแขนที่เดินทางไปในโลกดิสโทเปียของถนนหลวงในประเทศนี้ แต่เพียงผู้เดียวพูดประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของช่างกุญแจกับเด็กร้านหนังสือที่แอบเข้าไปใช้ความทรงจำในห้องของผู้อื่นและพบว่าความทรงจำของตัวเองต่างหากที่ถูกขโมย ความทรงจำอันเลอะเลือนและถูกสร้างขึ้นใหม่ในขวบปีที่ประเทศแตกออกเป็นสองด้วยชุดของประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน ก่อนที่ทุกอย่างจะระเบิดออกใน ตั้งวงภาพบันทึกความสับสนของเด็กวัยรุ่นสี่คนตลอดช่วงการชุมนุมใหญ่และการสลายการชุมนุมที่เหี้ยมโหด ที่ถึงกับมีฉากที่หนึ่งในสี่ร่วมอยู่ในคืนนั้นกลางแยกดินแดง  หลายปีต่อมา Snapคว้าจับบรรยากาศแปดปีหลังรัฐประหารที่ทุกอย่างถูกแช่แข็งเชื่องช้า ผ่านความสัมพันธ์ของคู่รักเก่าที่กลับมาพบกันในงานแต่งงานของเพื่อนเก่า 

Where We Belongอาจจะผลักไสฉากหลังทางการเมืองออกไปอยู่ไกลกว่าเรื่องอื่น เจือจางให้มันเป็นเพียงสิ่งที่อวลอยู่ในอากาศโดยไม่ถูกพูดถึงตรงๆ หากการที่หนังออกฉายในช่วงเวลาหลังเลือกตั้ง หลังปรากฏการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ที่คว้าจับจิตใจของคนรุ่นใหม่อย่างยิ่ง และกระพือความขุ่นข้อง ความกังวล ไปจนถึงความกลัวของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กๆ รุ่นใหม่จนต้องพยายามจะกดไว้ ทำให้หนังทำหน้าที่ขยายภาพความคับข้องใจทางการเมืองของเด็กร่วมสมัยปัจจุบันอย่างน่าสนใจ 

เด็กๆ ในเรื่องไม่ได้เป็นเด็กที่ร่ำรวยอะไร น่าสนใจที่เด็กทุกคนมีงานต้องทำในช่วงปิดภาคเรียน ทั้งการที่เบลล์ไปเป็นเด็กร้านสะดวกซื้อ ซูไปขายก๋วยเตี๋ยว หยกเฝ้าร้านเช่าการ์ตูน ซัน (น้องชายของซู) ที่แม้จะยังเด็กอยู่มากก็ต้องหัดทำก๋วยเตี๋ยวแล้ว เก่งไปฝึกปลาโลมา และมิวเป็นทั้งเด็กเชียร์เบียร์กับสาวขายประกัน อย่างไรก็ตามความเป็นการเมืองของมันรั่วไหลอยู่ในบทสนทนาตรงนั้นตรงนี้ (ที่บ่อยครั้งก็ตรงไปตรงมาจนเหมือนบังคับตัวละครพูดมากกว่าจะเป็นบทสนทนาจริงๆ ในชีวิตคน) หนังกรุ่นไปด้วยการอธิบายโลกที่แตกออกเป็นสองอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ 

ผู้ใหญ่ในเรื่องเป็นเพียงภาพจางๆ ไม่ชัดเจน บรรดาพ่อแม่ของเบลล์และซู มักมีสถานะเป็นเสียงมากกว่าภาพ พวกเขาห่างเหินและเอาแต่สอนสั่ง เมื่อพวกเขาปรากฏตัว บ่อยครั้งหนังจะเคลื่อนกล้องออกจากพวกเขาที่พูดไม่หยุดไปจับจ้องใบหน้าของเด็กๆ ที่เข้าใจแต่ไม่ยอมรับ ต่อต้านแต่ไม่อาจขัดขืน ใบหน้าที่น่าจดจำของเบลล์กับซูในภาพของการให้กำลังใจกันจึงเป็นภาพจำประการหนึ่งของหนัง ฉากสำคัญอย่างฉากแม่เบลล์พาเที่ยวกรุงเทพ หรือคำขอของป๊าระหว่างทางกลับบ้าน กล้องจึงอยู่กับเบลล์และซูมากกว่าแม่หรือป๊า 

ฉากที่อธิบายส่ิงนี้ได้เต็มที่คือฉากการที่บรรดาลุงๆ ในร้านก๋วยเตี๋ยวพยายามยัดเยียดภาระในการสืบสานตำนานก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงประจำเมืองให้กับซู ฉากที่เป็นไปเพื่อยิงธีมหลักของหนังแล้วทำให้บทสนทนาดูจงใจมากๆ นี้ฉายภาพความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่กับเด็กๆ ที่มีปัญหาของพวกเธอเองทั้งจากปัญหาภายในและปัญหาของการถูกกดจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ทุกคนเป็นเพียงภาพจำลองของลูกค้าร้านก๋วยเตี๋ยวที่เพียงผ่านทางมา หากยังเสนอหน้ามาสั่งสอนให้เด็กๆ ต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ พร้อมๆ กับพยายามขัดขวางทางที่เด็กๆ เลือก ไม่ก็พยายามลงมือเลือกทางหนึ่งที่จะเลือกทางให้กับเด็กๆ ของพวกเขาเสียเองในนามของความหวังดี ไปจนถึงฉากหนึ่งเมื่อซูถามเบลล์ว่า แล้วอีกสิบหรือยี่สิบปี เราจะโตไปกลายเป็นคนแบบที่เราเกลียดหรือเปล่า

ท่ามกลางการเมืองของความหวังและความสิ้นหวังที่ห่มคลุมอาณาจักรแห่งลมหายใจนี้ ทางเลือกของเบลล์กับซูจึงเป็นทางเลือกที่ถูกบังคับเลือก มากกว่าจะเป็นทางเลือกจริงๆ เหมือนที่พวกเธอถูกสอนให้เป็นตัวของตัวเอง ให้พูดความจริง แต่ไม่ต้องพูดสิ่งที่คิดออกมา เธอเป็นตัวของตัวเองได้มากเท่าที่ฉันต้องการให้เธอเป็นเท่านั้น

เบลล์กับซูอยู่ในช่วงวัยเดียวกันกับยุพินและผองเพื่อจาก หน่าฮ่านภาพยนตร์ว่าด้วยวัยรุ่นภูธรของ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ที่ออกฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน ภาพยนตร์ที่พูดถึงสิทธิ์ที่จะเลือก หรือที่จะไม่เลือกหนทางแบบที่สังคมให้คุณค่า เช่นการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือการมีชีวิตเพื่อความฝัน (ประการใดประการหนึ่งที่สามารถนำมาเป็นแขนขาให้กับรัฐ ช่วยเป็นฟันเฟืองให้สังคมทุนนิยมให้ขับเคลื่อนไปได้) การต่อต้านของยุพินผ่านทางการเต้นตามเวทีหมอลำไปเรื่อยๆ จึงเป็นการการเลือกที่ท้าทายจนสังคมอยากลงโทษ แต่เบลล์กับซูไม่ได้โชคดีขนาดนั้น

หนังฉายภาพปัจจัยต่างๆ ที่กำหนดทางเลือกของวัยรุ่นในสังคมได้อย่างสวยงาม  เบลล์อาจจะคล้ายยุพินมากกว่า เธอแน่ชัดว่าอยากอยู่บ้านกับย่า ทำอะไรก็ได้ หรือเรียนอะไรก็ได้ ที่จะได้อยู่แถวๆบ้าน   กรุงเทพที่เคยเป็นศูนย์กลางของการไปจากบ้านของเด็กๆ จากต่างจังหวัดกลายเป็นดินแดนที่ไม่ใช่สำหรับทุกคน ความอิหลักอิเหลื่อของ ‘แม่ที่กรุงเทพ’ ยิ่งขัดถูทางเลือกของเบลล์ให้กระจ่างขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องพูดออกมา เบลล์อาจดูเหมือนเป็นเพียงตัวประกอบในชีวิตของซู แต่เอาเข้าจริงๆ ชีวิตของเบลล์กลับกอปรขึ้นจากการเป็นตัวประกอบให้กับคนอื่นๆ เพราะสำหรับเธอการดูแลคนรอบข้างคือตัวเธอโดยไม่ต้องตามหาตัวเองว่าตัวเองคืออะไร อย่างไรก็ดี การได้ค้นพบว่าการที่เธอเป็นเพียงตัวประกอบของคนอื่นที่แท้นั้นเจ็บปวด หนังมีฉากงดงามที่ริมชายหาด เมื่อซูเล่าความฝันให้เบลล์ฟัง ในความฝันของการถูกทิ้งไว้ในความมืด เธอถูกทิ้งไว้อย่างโดดเดี่ยว การไม่มีตัวเองในความฝันของเพื่อนที่ตัวเองคิดว่าสนิทที่สุดนั้นคือการไม่มีตัวตนมากกว่าการไม่รู้ว่าตัวเองต้องมีความฝันหรือเปล่าด้วยซ้ำ

ในขณะที่คนแบบซู คนที่เชื่อมั่นในตัวเอง ขัดแย้งกับทุกสิ่งอย่างในบ้านเกิด คนที่ตระหนักรู้ว่าไม่มีที่ทางเป็นของตัวเอง ก็เป็นคนแบบซูจริงๆ คือเป็นเด็กสาวที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง นอกจากฉากเด็ดที่เบลล์ด่าซูจริงๆว่า “มึงคิดว่ามึงเป็นเจ้าหญิงเหรอที่โลกต้องหมุนรอบมึงน่ะ” อีกฉากที่สำคัญมากๆ ในการอธิบายคว่าซูเป็นคนแบบไหน คือฉากที่ซูพยายามคืนดีกับมิว ซึ่งแม้หนังไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ดูเหมือนมิวจะมีชีวิตยากลำบากกว่าซูหลายเท่า ในฉากนั้นบทสนทนาของซู เป็นบทสนทนาน่าหมั่นไส้ที่ออกจากใจและอธิบายใจของเธอด้วย เพราะสำหรับเธอ เมื่อมิวเลิกคุยกับเธอ เธอรู้สึก ‘เหมือนเป็นอากาศ’ เพราะมิวคุยกับทุกคนยกเว้นเธอ เธอหยิ่งผยองถึงขนาดที่ไม่ได้พูดถึงความผิดพลาดของตน แต่เลือกพูดว่า ‘ตัวเธอ’ เป็นอย่างไร เมื่อเธอไม่มีเพื่อนรักที่ดูเหมือนเธอจะเป็นคนทำลายความสัมพันธ์นี้ลงเสียเอง สำหรับเธอแล้ว เมื่อเธอไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลที่ไม่ได้หมุนรอบเธอแต่แรก นั่นไม่ใช่โลกของเธอ 

มันจึงงดงามอย่างยิ่งเมื่อเธอเพิ่งเข้าใจว่าเธอทำตัวเป็นศูนย์กลางมาแค่ไหนในฉากริมชายหาด คำสารภาพว่า “กูขอโทษที่ทำดีที่สุดได้แค่นี้” กลายเป็นครั้งแรกที่เธอได้เข้าใจว่าเธอไม่ได้เป็นเพียงสิ่งชำรุดโดดเดี่ยวอยู่เหนือสิ่งอื่น เธอห่างเหินต่อสิ่งอื่นแบบเดียวกับบทบรรยายในหนังสือของแม่ที่เธอเก็บไว้ในห้องนอน ทำร้ายผู้อื่นและถูกทำร้ายด้วยระยะห่างที่เธอสร้างขึ้นเอง ด้วยการมีแต่ตัวเองของเธอด้วย เธอเป็นขั้วตรงข้ามของเบลล์ที่เป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่ง นั่นทำให้เธอไม่มีที่ทางที่นี่ ขณะที่เบลล์ไม่ต้องไปที่ไหนเลย

ตัวละครที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งคือแม่และป๊าของซู หนังไม่ได้ให้คนดูรู้จักตัวละครนี้มากไปกว่าแม่ที่ตายไปแล้ว แม่ที่น่าจะเป็นขบถในช่วงวัยเดียวกับซู คนที่สอนซูว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา ซูไปสักตามแม่ที่เคยสัก อ่านหนังสือที่แม่เคยอ่าน แม่ของซูอาจจะเป็นภาพแทนอันน่ากลัวของคนที่ไม่ได้ออกไปจากที่นี่จนตายจาก แม่เคยบอกว่า “ป๊ายอมแพ้ง่ายเกินไป” ราวกับจะพูดเป็นนัยๆ ว่าป๊าก็เช่นกัน อดีตขบถที่กลับมาศิโรราบต่อการสืบทอดสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ถูกให้ความสำคัญกว่าอย่างก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง (การเลือก ขจรศักดิ์ รัตนนิสัย กับจอยซ์ TK มารับบทป๊ากับแม่จึงให้ภาพที่น่าสนใจมากๆ ในฐานะขบถที่ชราลงและยอมจำนน) 

ป๊ากับแม่ของซู ไปซ้อนทับเข้าพอดีกับ พ่อกับแม่ของโรสใน นคร-สวรรค์หนังไทยอีกเรื่องที่ออกฉายไล่เลี่ยกันและพูดถึงโลกจากมุมมองของผู้หญิงเหมือนกัน พ่อใน นคร-สวรรค์ที่ตอนนี้กลายเป็นชาวสวนคนหนึ่งก็มีร่องรอยบาดแผลของการเป็นขบถในช่วงวัยของเขา การหวนรำลึกถึงการเล่นดนตรี การไปเยอรมัน และ ‘บาหลี’ ที่เป็นมาตรฐานของทุกอย่างที่เป็นสิ่งใหม่ เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นขบถและท้าทาย พ่อที่ในที่สุดหยุดความเป็นขบถไว้ในยุคสมัยของตัวเอง พยายามอธิบายผ่านกรอบคิดที่จำกัดเท่าที่ตัวเองพ่อที่อาจจะมอบสายพันธุ์ของนักฝันให้กับลูกๆ แต่ตัวเขาเองก็ต้องต่อสู่กับความฝัน และการยกเลิกความฝัน ขัดถูโมงยามเก่าแก่ ซึ่งอาจจะเป็นบาหลี เป็นคนรัก เป็นเพลงร็อคยุค 70’s เป็นเพลงเพื่อชีวิต เป็นการแต่งตัวแบบคาวบอย หรือเป็นหนังสือวรรณกรรมฝ่ายซ้าย ถ้าพวกเขาสิ้นหวังมากพอ สิ่งนั้นจะถูกยกมาเป็นมาตรฐานในการตัดสินสิ่งอื่นๆ หรือไม่เช่นนั้นพวกเขาก็จะคล้ายพ่อของซู จำนนอยู่เงียบๆ และพยายามยื้อยุดสถานะเดิมๆ ให้ยืดยาวออกไปให้นานที่สุด เพื่อที่พอจะให้พวกเขามีที่ทางที่พอจะยืนอยู่ได้

นอกจากเพื่อน เมือง และความรักแล้ว บ้านที่อบอุ่นกลายเป็นไม้ตายสุดท้ายในการยื้อซูไว้จากการเลือกไปจากที่นี่ ฉากสำคัญอย่างการเข้าทรงที่พ่อบอกว่าพาซูมาลาแม่ หนังทำให้ฉากนี้เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน อิหลักอิเหลื่อ แม่ในร่างทรง แม่ที่เคยเก็บเงินให้ลูกหนีไปเสียจากที่นี่ กลับบอกลูก ‘ผ่านเสียง’ ของร่างทรงว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงที่นี่ได้โดยไม่ต้องไปไหน และเป็นคำคมของคนตายไปแล้วที่เรารัก คนที่มีอิทธิพลเหนือเราแม้ไม่ต้องมีชีวิตอยู่นี้นี้ต่างหาก ที่หน่วงรั้งผู้คนไว้จากความเปลี่ยนแปลงใดๆ 

ทางเลือกของซูจึงกลายเป็นทางบังคับเลือกที่ถูกโลกของตัวเองใช้ทั้งไม้แข็ง (การมีภาระรับผิดชอบสืบทอดก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง การที่ไม่สามารถเคลียร์กับเพื่อนสนิทได้) และไม้อ่อน (การขอให้อยู่ของผู้ชายที่แอบชอบ คำของแม่ผ่านร่างทรง) เสียงของผู้หญิงผ่านปากของผู้ชายที่กลายเป็นเสียงแห่งอำนาจ เสียงของผู้ชายที่มีตั้งแต่ ลุงคนกินก๋วยเตี๋ยว ป๊า เก่ง ไปจนถึงเสียงของแม่ผ่านร่างทรง กลายเป็นเสียงของการยื้อยุดให้อยู่กับที่แบบทั้งขู่ทั้งปลอบ (ในขณะที่เสียงฝั่งสนับสนุน/ยอมรับ มาจาก น้องชายที่เป็นตุ๊ด และเพื่อนหญิงของซู)

โลกที่ซูตัดสินใจอยู่ต่อจึงเป็นโลกที่ทั้งซูเลือกเอง และไม่ได้เลือกเอง จากปัจจัยรายรอบที่กล่าวไป โลกที่ซูอยู่ต่อกลายเป็นโลกจืดชืดที่หันหลังให้กับการที่ชายคนหนึ่งบนโลกเลือกได้ว่าจะทำให้ตัวเองตายไปจากโลกนี้หรือไม่ ข่าวการุณยฆาตตัวเองในทีวี ทิ่มแทงทางเลือกที่เลือกไม่ได้ของซู แบบเดียวกับหัวใจของแม่ที่เลือกไม่ได้ว่าใครจะรับเอาไป  ไม่มีทางเลือกว่า ‘แห่งไหน’ ที่หัวใจของแม่ และของเธอจะไปอยู่ หรืออาจจะไม่มี ‘แห่งนั้น’ อยู่จริง 

ในแง่นี้ชีวิตของซูจึงเกาะเกี่ยวอยู่กับชีวิตในตำนานจับนมย่าของเบลล์  ในฉากหนึ่งเด็กสาวสองคนแลกเปลี่ยนความฝัน เมื่อเบลล์บอกว่าเธอไม่อยากเป็นเหมือนแม่ และซูบอกว่าเธอไม่อยากเหมือนย่าของเบลล์ ย่าของเบลล์กำลังร่วงโรย เดินเหินแทบไมไ่ด้ เลอะเลือนๆ ไปในมหาสมุทรความทรงจำของตนเองที่พาเธอกลับไปยังความรักที่ลอยลับ ที่เคยแอบหลงรักคนแปลกหน้าข้างบ้านที่จับนมเพียงครั้งแล้วลาจาก ย่าที่ค่อยๆ เหี่ยวแห้งและตายลงไปโดยไม่อาจเข้าถึงความรักชั่วคราวครั้งนั้น ไม่อาจแม้แต่จะจับนมตัวเองเพราะโดนห้ามจากลูกชาย ซูเลอะเลือนอยู่ในโลกที่เธอไม่อิน ห้องเรียนภาษาอังกฤษที่เธอเคยกระตือรือร้นกลายเป็นความว่างเปล่า ความรักที่เคยเผาไหม้กลายเป็นเพียงความจืดชืดราวกับเธอได้กลายเป็นโลมาในสวนน้ำ ที่เพียงให้ความรักและอาหารก็จะอยู่ต่อไปได้อย่างเซื่องๆ เช่นเดียวกันกับคนจำนวนมาก ร้ายกาจที่สุดคือเมื่อเธอตัดสินใจลงมือทำตามแม่สอน เปลี่ยนแปลงโลกที่เธอต้องติดอยู่ ลงมือทำความดีเพื่อเปลี่ยนแปลงที่นี่ สิ่งที่เธอทำคือการตัดสินและทำตัวเป็นเจ้าชีวิตคนอื่น

เพื่อที่จะมีชีวิตสืบต่อไปได้หากซูไม่จากไป เธอก็ต้องกลายเป็นคนประเภทนั้น คนที่เชื่อมั่นในความดีงามด้วยการถือสิทธิ์ที่ตัวเองอยู่สูงกว่าชี้หน้าด่าคนอื่นว่าชั่วเลว ในโลกอันพร่าเลือนที่พระแม่มารีหรือพระเยซูมีไว้ให้คนกราบไหว้แบบพุทธบนบานสานกล่าว ในโลกที่ร่างทรงมีอิทธิพลเหนือคนเป็น ในโลกโลกที่ผู้คนเหนี่ยวรั้งกันและกันไว้ ซูค่อยเรียนรู้ว่าตัวเองติดกับดักในโลกที่ทุกอย่างเดินวนเป็นวงกลมเหมือนเครื่องเล่นที่เธอนั่งอยู่ 

มันจึงเป็นภาพจำลองของผู้คนจำนวนมาก ทั้งวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง คนที่เลือก หรือพยายามที่จะเลือก พวกเขาจะถูกข่มขู่จากความกลัวของตนและของผู้อื่น ถูกล่ามไว้ด้วยพันธนการจากคนที่ตนรัก  หรือถูกบังคับให้ยอมรับว่าตนเองสังกัดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ชุมชนใดชุมชนหนึ่งชาติใดชาติหนึ่งและต้องเสียสละตนเข้าธำรง status quo เก่าๆ นั้นเอาไว้ โลกมอบกระเป๋าเดินทางสามล้อพิกลพิการให้ และให้เราหาทางจัดกระเป๋าออกจากบ้าน โดยรู้อยู่แต่ต้นว่าไม่ได้จะให้ไปจริงๆ

มันอาจจึงไม่มีแห่งไหนให้ดวงใจของเธออยู่โดยแท้จริง เพราะการอยู่หรือการไปในสังคมที่พยายามจะแช่แข็งทุกอย่างไว้มีแต่จะมอบบาดแผลให้กับเธอไม่ต่างกัน 

อย่างไรก็ดียังมีเด็กวัยรุ่นอีกคนหนึ่งในหนัง เด็กคนที่ไม่ได้ต้องดูแลย่า เล่นดนตรี แอบรักเพื่อนชาย หรือจะไปฟินแลนด์ ในหนังมีเด็กสาวอีกคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกวง BNK48 ไม่ได้แม้แต่จะพูดสักประโยคในหนัง  เด็กสาวคนนั้น มักบ่อยครั้ง ปรากฏตัวโดยการเดินผ่านตัดหน้ากล้อง หรือเดินออกไปหน้าบ้านจากข้างในบ้านที่มืดมิด แรงงานไร้ปากเสียง เด็กสาวผอมบางที่เสิร์ฟอาหารและล้างจานในร้านก๋วยเตี๋ยวของซู ที่หลายครั้งหนังถ่ายอย่างจงใจให้เห็นการปรากฏที่ไม่ปรากฏของเธอ สำหรับเบลล์และซูและหยกและคนอื่นๆ ชีวิตไม่สมปรารถนาจากการเลือกได้อย่างจำกัดในทางที่บังคับเลือก แต่เด็กสาวไม่รู้ชื่อคนนั้น เราไม่รู้เลยว่า เธอได้เลือกบ้างหรือเปล่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0