โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

WCW : อดีตค่ายมวยปล้ำหมายเลขหนึ่งของโลก ที่ล่มสลายด้วยมือของตัวเอง

Main Stand

อัพเดต 25 ก.ค. 2562 เวลา 04.10 น. • เผยแพร่ 20 ก.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง

สโตน โคลด์ สตีฟ ออสติน, ทริปเปิล เอช, มิค โฟลีย์, คริส เจอริโก และ คริส เบนวา เชื่อว่าแฟนกีฬาชาวไทย คงคุ้นเคยกับชื่อของนักมวยปล้ำชื่อดังเหล่านี้เป็นอย่างดี

 

แต่หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า ก่อนที่พวกเขาจะสร้างชื่อเสียง จนเป็นตำนานของ WWE นักมวยปล้ำเหล่านี้เคยเป็นแค่คนไร้ค่าของค่ายมวยปล้ำที่ชื่อว่า WCW อดีตสมาคมหมายเลขหนึ่งของโลก ที่มีมหาเศรษฐีพันล้านเป็นเจ้าของ

จากวันที่อยู่บนจุดสูงสุดของวงการมวยปล้ำ ภายในระยะเวลาไม่นาน WCW ต้องเผชิญปัญหามากมายมหาศาล ที่พวกเขาก่อขึ้นด้วยมือของตัวเอง กว่าจะรู้ตัวอีกที ค่ายมวยปล้ำที่เคยเป็นเบอร์หนึ่งของโลกแห่งนี้ จึงถึงวันที่ต้องปิดตัวลงไปตลอดกาล

จุดเริ่มต้นสู่ความยิ่งใหญ่ และจุดจบของ WCW หนึ่งในสมาคมมวยปล้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มาจากเหตุผลใด? ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่

 

กำเนิดค่ายมวยปล้ำพันล้าน

สมาคม WCW หรือ World Championship Wrestling (เวิลด์ แชมเปียนชิพ เรสต์ลิง) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1988 หลัง เท็ด เทอเนอร์ มหาเศรษฐีจากธุรกิจสื่อสารมวลชน ผู้ก่อตั้งช่องโทรทัศน์ CNN ทุ่มเงิน 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อส่วนหนึ่งของสมาคม NWA ค่ายมวยปล้ำอันดับสองของโลก มาไว้ในการดูแลของตัวเอง

Photo : edition.cnn.com

ในช่วงเวลาดังกล่าว ค่ายมวยปล้ำหมายเลขหนึ่งของโลกคือค่าย WWF (หรือ WWE) ที่ถูกบริหารงานโดย วินซ์ แม็คแมน (Vince McMahon) โปรโมเตอร์ที่มาแรงที่สุดในเวลานั้น เขาปลุกกระแสมวยปล้ำจนทำยอดขายศึก Wrestlemania 4 ให้มียอด เพย์เพอร์วิว หรือผู้สั่งซื้อเพื่อเข้าถึงการรับชมถึง 585,000 ราย มากที่สุดในประวัติศาสตร์มวยปล้ำจนถึงทุกวันนี้

เทอเนอร์เป็นนักธุรกิจมือฉมัง เขามองเห็นโอกาสในยอดขายค่ายคู่แข่ง แม้ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวธุรกิจมวยปล้ำแบบ วินซ์ แม็คแมน แต่เทอเนอร์มั่นใจว่าประสบการณ์ในธุรกิจของเขา และเม็ดเงินที่มหาศาลที่พร้อมหนุนหลัง จะช่วยผลักดันให้ WCW เทียบเท่า และแซงหน้า WWF ในเวลาไม่นาน

โชคร้ายที่ธุรกิจมวยปล้ำไม่ได้ง่ายแบบที่เทอเนอร์คิด จากที่ควรจะฟาดกำไรมหาศาลจากการลงทุน WCW ต้องขาดทุนปีละ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงห้าปีแรกของสมาคม โดยส่วนใหญ่มีเหตุผลจากความผิดพลาดในการเขียนบท และปั้นนักมวยปล้ำที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนดู

Photo : WCW

ปี 1991 ตำนานแชมป์โลก 16 สมัย ริค แฟลร์ (Ric Flair) ผู้รับบทบาทเป็นนักมวยปล้ำหมายเลขหนึ่งของ NWA/WCW มานานเกือบ 20 ปี ตัดสินใจเดินออกจากสมาคม เนื่องจากความขัดแย้งกับผู้บริหาร เหตุการณ์นี้ทำให้สมาคมเจอภาวะสุญญากาศ และต้องหาใครสักคนแทนที่

สุดท้าย WCW เลือกผลักดันนักมวยปล้ำหน้าใหม่มาแรงนามว่า เล็กซ์ ลูเกอร์ (Lex Luger) ซึ่งคงจะไม่มีปัญหาอะไร หากพวกเขาไม่พลิกลูเกอร์ที่แต่เดิมเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะ และต่อสู้กับ ริค แฟลร์ มาในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ให้กลายเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม แทน ริค แฟลร์ เสียเอง

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจแก่แฟนมวยปล้ำเป็นอย่างมาก พวกเขารู้สึกว่าถูกหักหลัง จากการเขียนบทที่ไม่ให้เกียรติผู้ชมแบบนี้ และเมื่อกระแสตอบรับไม่ดี WCW ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับแชมป์โลกที่ผิดพลาดอย่างลูเกอร์ เส้นทางของเนื้อเรื่องหลังจากนี้ จึงพังพินาศมากกว่าเดิม

หลังลองผิดลองถูกอยู่นาน WCW จึงรู้ว่าไม่มีทางแก้ปัญหาใดจะดีไปกว่า นำคนที่สร้างปัญหา แต่สร้างผลงานได้กลับมา นั่นคือ ริค แฟลร์ พวกเขาตามง้อให้แฟลร์กลับมาที่ WCW อีกครั้ง โดยสัญญาว่าจะทุ่มค่าเหนื่อยมหาศาลให้เป็นการตอบแทน ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาดังกล่าว แฟลร์ไม่ได้รับบทบาทที่ดีนักกับ WWF เจ้าของฉายา “เดอะ เนเจอร์ บอย” จึงเดินทางกลับบ้านเก่าอีกครั้ง

ความสำเร็จในการล่าตัว ริค แฟลร์ กลับบ้าน ทำให้เรตติ้งของ WCW พุ่งสูงขึ้นแบบทันตาเห็น เท็ด เทอเนอร์ จึงเปลี่ยนนโยบายจากการปั้นนักมวยปล้ำในค่ายให้โด่งดัง เป็นการควักเงินเพื่อทุ่มซื้อซูเปอร์สตาร์แทน เขาเสียเงินเกือบ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเซ็นสัญญา ซิด วิเชียส (Sid Vicious) และ ดาวี่ย์ บอย สมิท (Davey Boy Smith) มาจาก WWF

Photo : biggoldbeltgroup.com

ทุ่มเงินแค่นักมวยปล้ำคงไม่พอ จากประสบการณ์ในสื่อโทรทัศน์ของเทอเนอร์ WCW คิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการเอาแมตช์มวยปล้ำออกนอกเวที พวกเขาทุ่มเงิน 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อถ่ายทำคลิปนักมวยปล้ำต่อสู้กันบนเกาะร้าง หวังเพิ่มเรตติ้งให้มากขึ้นไปอีก

นโยบายทุ่มแหลกของ WCW เห็นผลทันตา เรตติ้งโชว์มวยปล้ำทางทีวีของค่าย เพิ่มสูงขึ้นจากก่อนหน้านี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือตัวเลขในผลประกอบการที่ยังเป็นสีแดง เท็ด เทอเนอร์ จึงต้องการหาใครสักคนที่รู้จักธุรกิจมวยปล้ำ ดีพอกับการบริหารเงินของเขาอย่างคุ้มค่า

ปี 1993 WCW แต่งตั้ง เอริค บิสชอฟ (Eric Bischoff) ขึ้นเป็นหัวหน้าทีมโปรดิวเซอร์รายใหม่ นี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดในประวัติศาสตร์สมาคม WCW เพราะวิสัยทัศน์ของชายผู้นี้ จะพลิกโชคชะตาของค่าย จนแซงหน้า WWF แบบไม่เห็นฝุ่นในเวลาต่อมา

 

สงครามคืนวันจันทร์

มีปัจจัยหลายอย่างที่ เท็ด เทอเนอร์ เห็นในตัวของ เอริค บิสชอฟ เขาอายุน้อย, ก้าวร้าว, มีไอเดียใหม่ และกล้าจะทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า เขาแตกต่างจากนักมวยปล้ำที่ผันตัวเป็นโปรดิวเซอร์ คนเหล่านั้นมีความรู้ในการบริหารค่ายมวยปล้ำ แต่ไม่มีความสามารถและความเข้าใจในการบริหารธุรกิจแบบบิสชอฟ

Photo : www.sportskeeda.com

บิสชอฟแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางการถ่ายทอดสดมวยปล้ำเสียใหม่ แทนที่จะเดินสายไปทั่วประเทศ บิสชอฟปักหลักค่าย WCW ให้ปล้ำที่ MGM Studio ในรัฐฟลอริดา เพื่อประหยัดต้นทุน และควบคุมการถ่ายทำได้ดีกว่า พวกเขาสามารถสั่งคนดูในสตูดิโอได้ ว่าจะให้เชียร์หรือโห่นักมวยปล้ำคนไหน ในเวลาใดที่พวกเขาต้องการ

การเปลี่ยนวิธีถ่ายทอดสดมวยปล้ำ ให้กลายเป็นรายการทีวีอย่างเต็มรูปแบบของบิสชอฟ ช่วยลดต้นทุนพร้อมกับเพิ่มเรตติ้งไปพร้อมกัน แต่นั่นยังไม่ทำให้เขาพอใจ WCW ยังห่างไกล WWF อยู่มาก มวยปล้ำของบิสชอฟเป็นแค่มวยปล้ำทางเลือก และไม่ได้รับความสนใจจากมวลชนกระแสหลัก เขารู้ดีว่าสมาคมต้องทุ่มเงินครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อต่อยอดสิ่งที่เขาวางรากฐานไว้ให้สมบูรณ์

เดือนมิถุนายน ปี 1994 WCW เสนอสัญญามูลค่ามหาศาล แบบที่ไม่เคยมีนักมวยปล้ำคนไหนในโลกได้รับ เพื่อคว้าตัว ฮัลค์ โฮแกน (Hulk Hogan) ดาวดังหมายเลขหนึ่งของ WWF ผู้ที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จแค่บนเวทีมวยปล้ำ แต่ยังก้าวเป็นดาราดังในฮอลลีวูดมาแล้ว เข้าสู่สังกัด และผลักดันให้เป็นนักมวยปล้ำหมายเลขหนึ่งของค่ายทันที

Photo : www.andthevalleyshook.com

ยอดซื้อศึกใหญ่ของ WCW พุ่งพรวดทันทีที่ได้ตัวโฮแกน ความสำเร็จของบิสชอฟทำให้เทอเนอร์ไว้ใจ และมอบอำนาจในการคว้าตัวนักมวยปล้ำแก่บิสชอฟอย่างเต็มที่ เขาเดินหน้าเซ็นสัญญานักมวยปล้ำชื่อดังจาก WWF อีกหลายรายสู่ค่าย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโปรเจคต์รายการทีวีในช่วงไพร์มไทม์ เพื่อเปิดศึกกับ WWF อย่างเป็นทางการ

วันที่ 4 กันยายน ปี 1995 WCW เปิดตัวรายการ “WCW Monday Nitro” รายการที่ฉายในช่วงหัวค่ำวันจันทร์ ช่วงเวลาเดียวกับ “WWF Monday Night RAW” รายการมวยปล้ำอันดับหนึ่งของ WWF ในขณะนั้น สงครามชิงเรตติ้งของทั้งสองสมาคม จะแข่งขันกันอย่างดุเดือดหลังจากนี้ ในการแข่งขันที่แฟนมวยปล้ำทั่วโลกรู้จักในชื่อ “สงครามคืนวันจันทร์” (Monday Night Wars)

 

ก้าวสู่หมายเลขหนึ่ง

การเผชิญหน้ากันแบบตรงไปตรงมาของ WCW กับ WWF สร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ชมทั่วโลก แฟนมวยปล้ำต้องการเห็นทั้งสองค่ายต่อสู้กันผ่านสื่อ ในขณะที่ วินซ์ แม็คแมน ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน และวางสถานะว่าตัวเองคือเบอร์หนึ่ง บิสชอฟรู้ถึงสิ่งที่คนดูต้องการ และเริ่มต้นเดินเกมเล่นงานคู่แข่งทันที

Photo : en.eyeni.site

บิสชอฟยกระดับการคว้านักมวยปล้ำจาก WWF ขึ้นไปอีกขั้น เขาเปิดตัวนักมวยปล้ำเหล่านั้นด้วยความอื้อฉาว เริ่มด้วย เมดูซ่า (Madusa) แชมป์โลกหญิงของ WWF มาปรากฏตัวที่รายการ Monday Nitro แล้วทิ้งเข็มขัดแชมป์โลกหญิงของ WWF ลงถังขยะออกทีวี เหตุการณ์นี้สร้างความอับอายแก่ วินซ์ แม็คแมน อย่างมหาศาล จน WWF ยุติบทบาทของแชมป์โลกหญิงไปยาวนานถึง 3 ปี

หกเดือนหลังจากความอื้อฉาวของเมดูซ่า WCW ทำให้คนดูทั่วโลกต้องประหลาดใจ เมื่อ สก็อตต์ ฮอลล์ (Scott Hall) และ เควิน แนช (Kevin Nash) สองนักมวยปล้ำระดับแถวหน้าของ WWF เปิดตัวในรายการ Monday Nitro ด้วยการประกาศสงครามกับนักมวยปล้ำทั้งหมดใน WCW รวมถึง เท็ด เทอเนอร์ ด้วย

ในช่วงเวลาที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย การสืบหาความจริงที่ง่ายเพียงปลายนิ้ว ยังเป็นเรื่องยากในปี 1996 แฟนมวยปล้ำทั่วโลกคิดว่า ฮอลล์และแนช คือนักมวยปล้ำที่ WWF ส่งมาเล่นงานค่ายคู่แข่ง ทั้งที่ความจริง เจ้าตัวย้ายค่ายมาอยู่กับ WCW แต่ทำทีรับบทบาทเป็นนักมวยปล้ำของ WWF อยู่

Photo : instforgram.online

เนื้อเรื่องเหล่านี้มาจากมันสมองอันบ้าคลั่งของ เอริค บิสชอฟ เขานำเสนอมุมมองใหม่ที่ว่า WCW และ WWF ไม่ได้เป็นเพียงศัตรูทางธุรกิจ แต่ความบาดหมางของทั้งสองฝ่าย ลุกลามจนเป็นปัญหาส่วนตัว เรื่องราวที่เข้มข้นผ่านหน้าจอทีวี ช่วยผลักดันให้เรตติ้งของรายการ Monday Nitro พุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง

จุดสูงสุดของ WCW มาถึง เมื่อ พวกเขาพลิกฮีโร่ตลอดกาลของวงการมวยปล้ำ ฮัลค์ โฮแกน ให้กลายเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมจอมแสบ และตั้งกลุ่ม New World Order (นิว เวิลด์ ออเดอร์) หรือ nWo ร่วมกับ สก็อตต์ ฮอลล์ และ เควิน แนช ระหว่างศึก Bash at the Beach วันที่ 7 กรกฎาคม 1996

ภาพแฟนมวยปล้ำพากันขว้างปาขยะขึ้นไปบนเวที ในวันที่กลุ่ม nWo ก่อตั้ง ยังคงเป็นวันที่สวยงามที่สุดในประวัติศาสตร์ WCW จนถึงทุกวันนี้ ความโกรธเกรี้ยวของแฟนมวยปล้ำในวันนั้น ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความผิดหวังต่อตัว ฮัลค์ โฮแกน แต่ยังแสดงถึงความเกลียดชังที่แฟนมวยปล้ำ WCW มีต่อ WWF เพราะนักมวยปล้ำทั้งสามราย ล้วนเป็นเด็กปั้นของคู่แข่งที่เข้ามาหากินใน WCW ทั้งสิ้น

Photo : www.tpww.net

สงครามระหว่าง WCW กับ WWF จึงแปรเปลี่ยนเป็นสงครามจำลองระหว่าง WCW กับ nWo ในรายการ Monday Nitro ความดุเดือดและความนิยมของ nWo พุ่งขึ้นสูงอย่างฉุดไม่อยู่ มีผู้ชมราว 7 แสนราย เปลี่ยนช่องทีวีเพื่อมาดูการเปิดตัว เดอะ ไจแอนท์ (The Giant) เป็นสมาชิกรายที่ 6 ของกลุ่ม nWo ในวันที่ 2 กันยายน ปี 1996

วันนั้นรายการ Monday Nitro มีเรตติ้งทางทีวีสูงถึง 4.3 (หมายความว่า ในบ้านที่มีโทรทัศน์ 100 หลัง จะมี 4.3 หลังที่เปิดชมรายการดังกล่าว) มากที่สุดในประวัติศาสตร์มวยปล้ำ (นับจนถึงวันดังกล่าว) และเป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของ WCW อย่างแท้จริง เพราะหลังจากนี้ WWF จะไม่สามารถเอาชนะเรตติ้งทางทีวีแก่ WCW ในสงครามคืนวันจันทร์ เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี หลังจากนี้

 

เมฆฝนเริ่มก่อตัว

ปี 1997 WCW มีเรตติ้งเหนือ WWF ตลอดทั้งปี พวกเขาคือหมายเลขหนึ่งของวงการมวยปล้ำโดยสมบูรณ์ จำนวนผู้ชมของพวกเขาเพิ่มขึ้น 43 เปอร์เซ็นต์จากปี 1995 และมียอดสั่งซื้อเพื่อรับชมศึกใหญ่เพิ่มขึ้น 87 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับสร้างยอดคนดู 17,000 ราย เมื่อพวกเขาออกทัวร์ไปปล้ำยังเมืองชิคาโก

Photo : www.24wrestling.com

รายรับที่มหาศาลเหล่านี้ ช่วยให้ WCW ใช้จ่ายในการจ้างนักมวยปล้ำได้มากขึ้น พวกเขาต่อสัญญา ฮัลค์ โฮแกน โดยเพิ่มค่าเหนื่อยให้เป็นปีละ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังวางแผนกระชากตัว เบรท ฮาร์ท (Bret Hart) ดาวดังของ WWF ด้วยค่าตัวที่มากกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี จากเดิมที่เบรทรับกับ WWF แค่ปีละ 6 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ WCW เพิ่มเงินให้อีกเป็น 5 เท่า!!

ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับนักมวยปล้ำชื่อดัง บิสชอฟต้องการทำให้แน่ใจว่าแฟนมวยปล้ำทุกคน ต้องการรับชมรายการ Monday Nitro เขาดึงนักมวยปล้ำดาวรุ่งฝีมือดีจากทั่วโลก ทั้งญี่ปุ่น, แคนาดา และ เม็กซิโก เข้ามาเซ็นสัญญากับ WCW

ชื่อที่แฟนชาวไทยคุ้นเคยกันดี เช่น คริส เจอริโก (Chris Jericho), คริส เบนวา (Chris Benoit), เอ็ดดี้ เกอเรโร (Eddie Guerero) และ เรย์ มิสเตอริโอ (Rey Mysterio) ล้วนสร้างความน่าตื่นตื่นใจ ในการแข่งขันระดับครุยเซอร์เวตของ WCW ทั้งสิ้น

การเข้ามาของนักมวยปล้ำรุ่นเล็ก ช่วยกลบจุดอ่อนที่เริ่มเผยให้เห็นของ WCW คือ คุณภาพแมตช์การปล้ำที่ย่ำแย่ในรุ่นแชมป์โลก แต่ความนิยมของพวกเขาไม่เสื่อมคลายลงง่ายๆ แม้แฟนจำนวนหนึ่งเริ่มเบื่อหน่ายทิศทางของเนื้อเรื่อง พวกเขาเก็บค่าผ่านประตูในแต่ละโชว์ได้มากกว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ และขยายเวลาของ Monday Nitro สู่รายการ 3 ชั่วโมง

ท่ามกลางความสำเร็จเบื้องหน้า หลังฉากบิสชอฟต้องเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1997 สก็อตต์ ฮอลล์ และ เควิน แนช ไม่พอใจที่เสียแชมป์แท็กทีมให้แก่ เล็กซ์ ลูเกอร์ และ เดอะ ไจแอนท์ พวกเขาเข้าไปต่อว่าบิสชอฟหลังฉาก สุดท้ายบิสชอฟต้องยึดแชมป์แท็กทีม คืนให้แก่ฮอลล์และแนช หลังเสียแชมป์เพียงหนึ่งวัน

เหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความไม่พอใจแก่นักมวยปล้ำหลายคน ที่รู้สึกว่ากลุ่ม nWo หรือนักมวยปล้ำที่มาจาก WWF มีสิทธิประโยชน์เหนือคนอื่น นำโดย ริค แฟลร์ ผู้มีจิตวิญญาณของ WCW อย่างเต็มเปี่ยม และไม่พอใจความบ้าอำนาจของโฮแกน ที่เขียนบทให้ตัวเองแข็งแกร่งดั่งเทพเจ้า และกดนักมวยปล้ำคู่แข่งจนจมดิน

ความผิดพลาดเดียวของในการบริหาร WCW เอริค บิสชอฟ คือการไม่สนใจปัญหาดังกล่าว และหลงระเริงไปกับความสุขจากเรตติ้งที่ยังคงดีวันดีคืน เดือนกันยายนปี 1997 Monday Nitro มีเรตติ้งอยู่ที่ 4.27 ขณะที่ RAW อยู่ที่ 2.1 ทิ้งห่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (ณ ขณะนั้น) และเก็บรายได้ในโชว์ไม่ถ่ายทอดสดออกทีวี เป็นจำนวนเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่มีใครเคยทำแบบนี้ได้มาก่อน

ความคิดของบิสชอฟในตอนนั้น ไปไกลเกินกว่าการแซงหน้า WWF เขาต้องการฝังคู่แข่งให้จมดิน บิสชอฟปิดดีลคว้าตัว เบรท ฮาร์ท ได้สำเร็จ พร้อมกับแสดงความมั่นใจว่า ในวันที่ WWF ไม่มีนักมวยปล้ำอันดับหนึ่งอยู่กับค่ายอีกต่อไป พวกเขาจะล้มหายตายจากไปอย่างช้าๆ และไม่มีวันกลับมาต่อสู้กับ WCW ได้อีก

บิสชอฟไม่รู้เลยว่า เขาคาดการณ์ผิดอย่างมหันต์ WWF สามารถฉวยโอกาสจากการจากไปของ เบรท ฮาร์ท สร้างยุคใหม่ของสมาคมได้สำเร็จ ขณะที่ WCW จะก้าวสู่ขาลง และไม่มีวันกลับมายิ่งใหญ่แบบเดิมได้อีกเลย

 

ยุคทองล่มสลาย 

บทเรียนที่ WWF เรียนรู้หลังตกเป็นเบอร์สองของวงการ คืออย่ามองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้น ค่ายของคุณอาจเขียนบทในทิศทางที่ผิดพลาด, คุณภาพแมตช์การปล้ำต่ำ, นักมวยปล้ำไม่ได้รับความนิยม หรือยอดซื้อศึกใหญ่ไม่กระเตื้อง ทุกอย่างล้วนเป็นปัญหาที่ทำให้คนดูเบื่อหน่ายอย่างรวดเร็ว และหันหลังให้กับสินค้าที่พวกเขาไม่พอใจ แบบที่ค่ายมวยปล้ำไม่ทันตั้งตัว

Photo : www.sportskeeda.com

ปี 1996 WWF ขาดทุนเป็นจำนวนเงิน 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ วินซ์ แม็คแมน ตัดสินใจปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด ด้วยการเริ่มต้นยุคใหม่ของสมาคมในชื่อ “ยุคแอดติจูด” (Attitude Era) ที่สือถึงทัศนคติใหม่ของสมาคม พวกเขาเลิกยึดติดกับนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียง และนำนักมวยปล้ำระดับกลางที่ถูกเขี่ยทิ้งจาก WCW มาปั้นใหม่ให้เป็นซูเปอร์สตาร์ของวงการ

นักมวยปล้ำชื่อดังอย่าง สโตน โคลด์ สตีฟ ออสติน (Stone Cold Steve Austin), ทริปเปิล เอช (Triple H), มิค โฟลีย์ (Mick Foley) และ คริส เจอริโก ชื่อเหล่านี้คือตัวอย่างของนักมวยปล้ำที่ถูกทิ้งขว้างจาก WCW แล้วมาแจ้งเกิดที่ WWF จนเป็นกำลังหลักของสมาคมในเวลาถัดมา

ในขณะที่ WCW กำลังจ่ายค่าจ้างมหาศาลให้แก่นักมวยปล้ำที่ดังมาตั้งแต่ยุค 80’s WWF ปั้นหนักมวยปล้ำหน้าใหม่ที่โด่งดังไม่แพ้กัน แต่ค่าจ้างถูกกว่า และสร้างความสนใจจากคนดูได้มากกว่า เรตติ้งของ RAW เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนแซงหน้า WCW ในเดือนเมษายน ปี 1998 และสร้างกำไรถึง 456 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีกไม่กี่ปีถัดมา

สวนทางกับค่ายคู่แข่ง WCW ยังคงผลักดันแต่นักมวยปล้ำหน้าเดิม ที่แสนจะขี้เกียจและคิดถึงแต่เรื่องเงิน อย่าง ฮัลค์ โฮแกน, เควิน แนช และ แรนดี้ ซาเวจ คนเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่กับการถือเข็มขัดแชมป์โลก ส่วนนักมวยปล้ำที่สร้างแมตช์คุณภาพดีอย่าง เบรท ฮาร์ท หรือ ริค แฟลร์ ไม่ใกล้เคียงกับการไปถึงจุดนั้น เพราะไม่สามารถก้าวผ่านอำนาจหลังฉากของกลุ่ม nWo 

อำนาจของกลุ่ม nWo ในเวลานั้น มีสูงมากจนแม้แต่ WCW ไม่สามารถควบคุมได้ เควิน แนช ฝ่าฝืนกฎห้ามใช้ท่าเพาเวอร์บอมบ์ และไม่สนใจจะจ่ายค่าปรับ แถมยังสร้างความนิยมให้แก่ตัวเองจากการใช้ท่าดังกล่าว ขณะที่ ฮัลค์ โฮแกน งอแงจะย้ายไป WWF ก่อนที่ WCW จะประเคนโบนัส 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้เป็นค่าตอบแทน

การปฏิบัติแบบสองมาตรฐานทำให้ความไม่พอใจขยายเป็นวงกว้าง ปัญหาจากเดิมที่จำกัดในนักมวยปล้ำระดับสูง กระจายตัวสู่นักมวยปล้ำระดับกลางและครุยเซอร์เวต พวกเขาไม่พอใจที่ไม่ได้รับการผลักดัน และถูกปฏิบัติเป็นเหมือนตัวตลกให้นักมวยปล้ำระดับสูงกระทืบเล่น ทั้งที่ปล้ำอย่างดุเดือดเสี่ยงตาย และสร้างเสียงฮือฮาแก่คนดูได้เสมอ

เรย์ มิสเตอริโอ ถูกเขียนบทให้ถอดหน้ากาก กลายเป็นนักมวยปล้ำหัวโล้นสุดจืดธรรมดา ขณะที่ WCW ยังคงหน้าทนขายหน้ากากของเขาเป็นสินค้าต่อไป ขณะที่ เอ็ดดี้ เกอเรโร่ และดีน มาเลนโก (Dean Malenko) ทวงถามสัญญาที่ว่าจะผลักดันพวกเขาสู่ระดับที่ดีกว่า แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับ และจมปลักอยู่ในระดับครุยเซอร์เวตต่อไป

Photo : rumbleramble.com

ความไม่พอใจทำให้ คริส เบนวา, เอ็ดดี้ เกอเรโร่ และดีน มาเลนโก รวมหัวกันออกจาก WCW ไป WWF ที่เชื่อใจนักมวยปล้ำตัวเล็ก และพร้อมผลักดันเขาไปสู่ระดับที่ดีกว่า การลาจากของนักปล้ำเหล่านี้ ทำลายดิวิชั่นครุยเซอร์เวตของ WCW ลงในพริบตา รายการ Monday Nitro ไม่เหลือแมตช์มวยปล้ำที่สนุกอีกต่อไป เหลือแต่แมตช์มวยปล้ำแสนน่าเบื่อของคนตัวใหญ่ ที่จบด้วยชนะของ nWo แทบทุกครั้ง

เมื่ออิทธิพลของ nWo มากเกินไป คนที่รู้สึกถึงอันตรายมากที่สุด กลับกลายเป็น เอริค บิสชอฟ เขากลัวจะสูญเสียอำนาจของตัวเองไป บิสชอฟเริ่มแสดงไม้แข็ง เพื่อแสดงว่าใครคือเจ้านายที่แท้จริง ด้วยการไล่ ฌอน วอลต์แมน (Sean Waltman) เพื่อนซี้ของแนชและฮอลล์ออก ผลสุดท้ายสองคนนี้ไม่พอใจมาก และหายจากจอทีวีแบบดื้อๆ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ วอลต์แมนย้ายซบ WWF และสร้างชื่อเสียงโด่งดังในนาม เอ็กซ์ แพค (X-Pac)

ความขัดแย้งหลังฉากของ WCW กระจายตัวไปทั่วสมาคมจนยากจะควบคุมได้ เควิน แนช ทะเลาะกับ ฮัลค์ โฮแกน เพราะต้องการตำแหน่งหมายเลขหนึ่งของ nWo ที่โฮแกนไม่แบ่งให้ใครตลอดหลายปีที่ผ่านมา บิสชอฟเองก็เปิดศึกกับ ริค แฟลร์ มีการฟ้องร้องกันเป็นเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในข้อหาไม่ยอมเล่นตามบทบาทที่เขียนไว้

ถึงปัญหาหลังบ้านจะวุ่นวายแค่ไหน บิสชอฟสนใจแค่การเอาชนะ WWF ในสงครามเรตติ้ง เขาผลักดันโกลด์เบิร์ก (Goldberg) อดีตผู้เล่นอเมริกันฟุตบอล NFL มาเป็นหมายเลขหนึ่งคนใหม่ของสมาคม และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากแฟนๆ แต่ความผิดพลาดมีอยู่ในทุกอณูของ WCW

แทนที่พวกเขาจะนำแมตช์ในฝันของผู้ชม โฮแกน-โกลด์เบิร์ก ไปใส่ไว้ในโชว์ต้องจ่ายเงินเพื่อรับชม และสร้างรายได้แก่สมาคมหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บิสชอฟกลับปล่อยให้ดูฟรีทางรายการ Monday Nitro เพราะเขาสนใจแค่เรื่องเรตติ้งทางทีวีเท่านั้น

สุดท้าย บิสชอฟต้องจ่ายราคามหาศาลในความหมกมุ่นเรื่องเรตติ้งของเขา ปี 1999 WCW ขาดทุน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของสมาคม ตัวเลขสีแดงในผลประกอบการ บีบให้บิสชอฟลงจากตำแหน่งในช่วงปลายปี 1999 เป็นการยุติช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของยุค WCW ไว้เพียงเท่านี้

 

ปิดฉาก WCW

การล่มสลายของ WCW คือเรื่องที่ยังคงสร้างความประหลาดใจแก่แฟนมวยปล้ำมาจนถึงทุกวันนี้ พวกเขาคือสมาคมที่มีศักยภาพมากที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา ค่ายที่มีนักมวยปล้ำหลากหลายรูปแบบ เปี่ยมด้วยความสามารถและชื่อเสียง แถมยังถูกหนุนหลังโดยมหาเศรษฐี เท็ด เทอเนอร์ เหตุใดค่ายที่มีความพร้อมขนาดนี้ ถึงหล่นจากบัลลังก์หมายเลขหนึ่ง และล้มตายในระยะเวลาไม่กี่ปี

Photo : www.mirror.co.uk

คำตอบที่ง่ายและเห็นชัดเจนที่สุดคือ WCW ไม่เคยคิดจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสมาคมอย่างจริงจัง หลายครั้งที่พวกเขามองข้ามเรื่องเล็กน้อย แล้วปล่อยให้เวลาล่วงเลย กว่าจะรู้ตัวว่าปัญหาใหญ่โตขึ้นมา ทุกอย่างก็สายเกินแก้

ศึกใหญ่ที่เคยขายตั๋วหมดเกลี้ยง และทำรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับกลายเป็นเงินไม่ถึง 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ แถมยังต้องเอาตั๋วที่เหลือเกือบ 7,000 ใบไปแจกฟรี ในขณะที่รายจ่ายของ WCW ยังคงมหาศาล พวกเขาเสียเงิน 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดศึกใหญ่ที่กำลังขายไม่ออก

WCW แก้สถานการณ์วิกฤติ ด้วยการว่าจ้าง วินซ์ รุสโซ (Vince Russo) อดีตคนเขียนบทของ WWF ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างยุคแอดติจูด เข้ามารับตำแหน่งแทนบิสชอฟ โดยที่ผู้บริหาร WCW ไม่รู้เลยว่า สิ่งเดียวที่รุสโซเก่ง คือการโฆษณาชวนเชื่อว่าตัวเองมีความสามารถ ไม่ใช่ความเข้าใจในธุรกิจมวยปล้ำ หรือการกำหนดทิศทางเนื้อเรื่องที่ถูกต้องแต่อย่างใด

ผลลัพธ์ที่ออกมา WCW จึงมีรายการมวยปล้ำที่ย่ำแย่กว่าเดิมเป็นหลายเท่า รุสโซลาจากตำแหน่งในเดือนมกราคม ปี 2000 มรดกที่เขาทิ้งไว้ให้ WCW คือความพินาศที่ยากจะแก้ไข สุดท้าย WCW จึงตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่มีใครอยากเชื่อ คือจ้างรุสโซกลับมาแก้ปัญหาที่เขาก่อไว้อีกครั้ง

ไม่น่าแปลกใจที่ผลตอบรับทุกอย่างแย่ลงกว่าเดิม เดือนเมษายน ปี 2000 เรตติ้ง Monday Nitro ร่วงลงสู่ 1.8 ขณะที่ RAW อยู่ที่ 6.4 ขณะที่คนดูเฉลี่ยต่อโชว์ของพวกเขาลดลงเหลือเพียง 3,593 ราย เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถสร้างดาวดังรุ่นใหม่ได้ ขณะที่ตัวเก่าที่เคยได้รับความนิยมอย่าง ริค แฟลร์ และ โกลด์เบิร์ก ถูกเขียนบทเละเทะ จนกลายเป็นคนโง่ในสายตาแฟนมวยปล้ำทั่วโลก

เอริค บิสชอฟ ถูกจ้างกลับมาเพื่อช่วยรุสโซแก้ปัญหา และเป็นอีกครั้งที่ WCW เดินหมากผิดจุด บิสชอฟยังใช้ลูกเล่นเดิมที่เคยได้ผลในปี 1996 แต่ไม่อีกแล้วในปี 2000 เขากลายเป็นคนเขียนบทตกยุคที่ไม่สามารถสร้างสิ่งที่คนดูต้องการได้ ที่แย่ไปกว่านั้น พวกเขาทำในสิ่งที่คนดูไม่ต้องการ

วันที่ 25 เมษายน ปี 2000 เดวิด อาร์เควตต์ (David Arquette) ดาราเกรดบีของฮอลลีวูด ซึ่งโด่งดังจากภาพยนตร์ Scream คว้าแชมป์โลก WCW มาครองได้สำเร็จ เรื่องดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่เป็นมวยปล้ำเป็นอย่างมาก พวกเขาประกาศบอยคอต WCW รายการ Monday Nitro มีคนดูในสนามไม่ถึง 1,500 ราย

เมื่อเห็นว่าการผลักดันคนนอกไม่ได้ผล รุสโซจึงกลับมาผลักดันคนในอีกครั้ง แต่ปัญหาคือเขาไม่ไว้ใจนักมวยปล้ำคนใดในค่าย แชมป์โลก WCW เปลี่ยนมือถึง 7 ครั้งในเดือนพฤษภาคม ปี 2000 ก่อนที่เดือนกันยายน ปีเดียวกัน รุสโซจะคว้าแชมป์โลกมาครองเสียเอง

ในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย เท็ด เทอเนอร์ เริ่มเบื่อที่จะบริหาร WCW ต่อไป มีการเปิดเผยว่า หากนักมวยปล้ำทุกคนในค่ายขึ้นปล้ำโดยไม่รับค่าจ้างในปี 2000 WCW ยังสามารถขาดทุนเป็นเงิน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสุดท้ายพวกเขาขาดทุนในปีดังกล่าว 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทอเนอร์ต้องการขจัดพิษร้ายตัวนี้ออกจาบริษัท แต่ไม่ใช่ในราคาที่ต่ำเกินไป เทอเนอร์ปฏิเสธข้อเสนอ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบริษัทแห่งหนึ่ง เพื่อรอข้อเสนอใหม่ที่ดีกว่า

โชคร้ายที่บอร์ดบริหารของบริษัท ไทม์วอร์เนอร์ ไม่สามารถทนกับของเล่นชิ้นนี้ของเทอเนอร์ได้อีกต่อไป เดือนมกราคม ปี 2000 WCW ถูกยกเลิกสัญญาทางรายการทีวีทั้งหมด และบีบให้เทอเนอร์ขาย WCW ให้แก่ วินซ์ แม็คแมน ในราคาเพียง 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น้อยกว่าข้อเสนอที่เคยได้ก่อนหน้า 200 เท่า

วันที่ 26 มีนาคม 2001 การซื้อขายลิขสิทธิ์ของ WCW เสร็จสมบูรณ์ และเป็นจุดจบของหนึ่งในค่ายมวยปล้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการ

Photo : Glinda Jeffries

นับจากวันนั้น เวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี เรื่องราวของ WCW ยังถูกเล่าขานเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจธุรกิจกีฬาทั่วโลก WCW คือค่ายมวยปล้ำที่กล้าทำสิ่งแปลกใหม่ จนได้รับความสนใจจากผู้ชม และผลักดันพวกเขาสู่หมายเลขหนึ่งของวงการ และส่งอิทธิพลสำคัญต่อวงการมวยปล้ำจนถึงทุกวันนี้

หากแต่ในวันที่พวกเขาอยู่บนจุดสูงสุด WCW กลับลืมผู้คนที่พาพวกเขาขึ้นมา เงินมหาศาลที่ประเคนให้นักมวยปล้ำชื่อดังมากมาย ไม่เคยกลับมาตอบแทนแฟนมวยปล้ำอย่างคุ้มค่า ในวันที่ WCW ร่วงลงมา จึงไม่มีใครเหลืออยู่เพื่อรอรับและอุ้มพวกเขากลับไป 

นี่คือบทเรียนครั้งใหญ่สำหรับธุรกิจกีฬาทุกประเภท … ไม่ว่าจะอย่างไร อย่าหักหลังแฟนกีฬาของคุณโดยเด็ดขาด WCW เรียนรู้ถึงบทเรียนจากเรื่องดังกล่าวมาอย่างชัดเจนด้วยลมหายใจของพวกเขาเองแล้ว

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ Death of WCW เขียนโดย Bryan Alvarez และ R.D. Reynolds
สารคดี Monday Night Wars ฉายทาง WWE Network

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0