โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"UN" ชวนสมาชิก ถก "วิกฤตโควิด-19"

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 01 เม.ย. 2563 เวลา 14.31 น. • เผยแพร่ 01 เม.ย. 2563 เวลา 14.24 น.
Thailand Confirms Fourteen Cases Of Wuhan Virus
File Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images

คอลัมน์ CSR Talk

“อันโทนิโอ กูเทเรส” เลขาธิการสหประชาชาติ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวจากสำนักงานใหญ่สหประชาชาติว่า การเผชิญกับโควิด-19 เป็นวิกฤตด้านสุขภาพระดับโลกที่ไม่เหมือนเหตุการณ์ใดในประวัติศาสตร์ 75 ปีของสหประชาชาติ จนทำให้เกิด “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก” ซึ่งอาจมีผลกระทบมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทั้งนี้การรับมือระดับประเทศที่เห็นในปัจจุบัน ยังไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ซับซ้อนระดับโลกในครั้งนี้ได้ พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศต่างตัดสินใจด้านนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน และประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ควรออกนโยบายรูปแบบใหม่หรือที่เรียกว่า “นวัตกรรมเชิงนโยบาย” เพื่อตอบสนองความท้าทายที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 อันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้

“เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่สามารถรับมือแบบที่ผ่านมาได้อีกต่อไป เราไม่สามารถใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบปกติในเวลาที่ผิดปกติเช่นนี้ ถ้าเราปล่อยให้ไวรัสแพร่กระจายเหมือนไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงมากที่สุดของโลก มันจะฆ่าผู้คนนับล้านคน”

นอกจากนั้น เลขาธิการสหประชาชาติยังเน้นย้ำการลงมือทำใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง การแก้ไขภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นที่การป้องกันผลกระทบทางสังคม สอง การตอบสนองทางเศรษฐกิจและการฟื้นฟู และสาม ความรับผิดชอบในการ “ฟื้นฟูให้ดีขึ้น” พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เปลี่ยนจากการแก้ปัญหาวิกฤตด้านสุขภาพ

ครั้งนี้แบบต่างคนต่างทำให้เป็นการทำ “แผนยุทธศาสตร์ร่วม” ที่จะสร้างความมั่นใจจากทั่วโลกได้ กลยุทธ์เหล่านี้รวมถึงการสนับสนุนค่าจ้าง การทำประกัน การประกันสังคม การป้องกันการล้มละลาย และการตกงาน พร้อมกับการออกนโยบายด้านการคลัง และการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีกำลังจ่ายน้อยที่สุดกลับต้องมาแบกภาระ

จากข้อสังเกตที่ว่าเด็กกว่า 800 ล้านคน ไม่ได้เข้าเรียนในตอนนี้ เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเสริมว่า เราต้องช่วยกันสร้างหลักประกันเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กทุกคนสามารถได้รับอาหาร และโอกาสในการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล และลดต้นทุนในการใช้ระบบสื่อสารต่อกัน

“เรามีหน้าที่จะต้องช่วยกันฟื้นฟูให้ดีกว่านี้ และให้แน่ใจว่าเมื่อพวกเราได้รับบทเรียน และตระหนักว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งเพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคตสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพเช่นนี้ รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐในศตวรรษที่ 21 และการให้บริการแก่ประชาชนทั่วโลก”

ขณะที่ “ศุภชัย เจียรวนนท์” นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand-GCNT) เปิดเผยข้อมูล “5 SDGs Mega Trend 2020” ซึ่งจัดเป็นแนวโน้มสำคัญด้านความยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นในโลก ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยชี้ว่าเป็นความท้าทายใหม่ของธุรกิจในไทยที่ต้องเตรียมรับมือสำหรับอนาคตหลังวิกฤตโควิด-19 เพราะเราในฐานะเครือข่ายท้องถิ่น (local network) ของ United Nations Global Compact มีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน

ในการช่วยสร้างให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง ใน 4 ด้านสำคัญคือ สิทธิมนุษยชน, แรงงาน, สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต พร้อมทั้งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถร่วมส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals-SDGs) ในระดับโลกภายในปี ค.ศ. 2030

โดยได้จัดทำข้อมูล “5 แนวโน้มสำคัญปี 2563 เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “5 SDGs Mega Trend 2020” ซึ่งเป็นแนวโน้มสำคัญด้านความยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นในโลก เพื่อจะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจพลวัต และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางขององค์กรธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤตซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั่วโลก ดังกรณีโควิด-19 ในปัจจุบันนี้

“การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs มากำหนดเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ และเป้าหมายทางธุรกิจ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมความเข้มแข็งแก่ธุรกิจในการรับมือกับภาวะวิกฤตพร้อมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับกิจการ จนนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ผมเห็นว่าการบรรลุ SDGs เป็นทั้งความท้าทาย และโอกาสทางธุรกิจ และที่สำคัญที่สุด ภารกิจนี้เป็นความรับผิดชอบของทุกคน”

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด “SDGs Mega Trend 2020” และติดตามความรู้ใหม่ ๆ รวมทั้งคำแนะนำด้านความยั่งยืนได้ทาง Website Global Compact Network Thailand http://www.globalcompact-th.com/

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0