โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

UNประณามซาอุฯตัดหัวประหารชีวิตพลเมือง37คน เอาศพตรึงไม้กางเขน

Manager Online

อัพเดต 24 เม.ย. 2562 เวลา 15.02 น. • เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 15.02 น. • MGR Online

รอยเตอร์ - หัวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในวันพุธ(24เม.ย.) ประณามซาอุดีอาระเบียต่อการประหารชีวิตด้วยการฆ่าตัดศีรษะพลเมือง 37 คนทั่วประเทศเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมชีอะห์ที่อาจไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมและในนั้มีอย่างน้อย 3 คนยังเป็นเยาวชนอยู่

ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันอังคาร(23เม.ย.) ว่าพวกเขาได้ทำการประหารนักโทษที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานก่อการร้ายในประเทศ กำลังถูกพินิจพิเคราะห์จากทั่วโลกในประวัติด้านสิทธิมนุษยชน หลังจากก่อนหน้านี้ได้ตกอยูในวงล้อมของเสียงโวยวายในคดี จามาล คาช็อกกี นักหนังสือพิมพ์ ถูกสังหารโหดในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียประจำอิสตันบูล รวมถึงกรณีควบคุมตัวเหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี

มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ในกรุงเจนีวาว่า "มันน่ารังเกียจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อยๆ 3 คนที่ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ในตอนที่พวกเขาถูกพิพากษา"

เธอบอกว่าคณะผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อกระบวนการพิจารณาคดีที่ปราศจากความเหมาะสมและไร้คำรับประกันว่าการพิจารณาคดีนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรม ท่ามกลางคำกล่าวหาว่านักโทษเหล่านั้นยอมรับสารภาพเพราะถูกทรมาน

องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุเมื่อช่วงค่ำวันอังคาร(23เม.ย.) ว่านักโทษที่ถูกประหารชีวิตใน 6 เมืองนั้น ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชีอะห์ และถูกพิพากษาว่ามีความผิดหลังการพิจารณาคดี "จอมปลอม" เนื่องจากในนั้นมีอย่างน้อย 14 คนเคยเข้าร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในจังหวัดอีสเทิร์น ในปี 2011-2012

นิรโทษกรรมสากลระบุในถ้อยแถลงว่า 1 ในนั้นได้แก่ อับดุลคารีม อัล-ฮาวาจ ถูกจับกุมตอนอายุ 16 ปีและโดนประหารชีวิตฐานละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง พร้อมระบุต่อว่าในบรรดาผู้ถูกประหารชีวิต มีอยู่ 11 คนที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานเป็นสายลับแก่อิหร่าน ซึ่งปกครองด้วยมุสลิมชีอะห์และเป็นศัตรูตัวฉกาจของประเทศ และถูกพิพากษาประหารชีวิตเมื่อปี 2016

จังหวัดอีสเทิร์น ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นชาวชีอะห์ กลายเป็นจุดโฟกัสของสถานการณ์ความไม่สงบเมื่อช่วงต้นปี 2011 ด้วยประชาชนรวมตัวประท้วงเรียกร้องให้ยุติการเลือกปฏิบัติและปฏิรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มุสลิมสุหนี่ อย่างไรก็ตามซาอุดีอาระเบียปฏิเสธว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติใดๆกับชาวมุสลิมชีอะห์

สำนักงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเสียงประณามจาก บาเชเลต์ รวมถึงรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากล อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เคยบอกว่าคนเหล่านี้ถูกประหารโทษฐานมีอุดมการณ์ก่อการร้ายสุดขั้ว, ก่อตั้งเครือข่ายก่อการร้ายเพื่อคอรัปชันและบั่นทอนความมั่นคง รวมถึงปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา

บาเชเลต์ เรียกร้องให้ริยาดทบทวนกฎหมายต่อต้านก่อการร้ายใหม่และระงับการลงทัณฑ์ประหารชีวิตที่ยังค้างอยู่

องค์การนิโทษกรรมสากลระบุว่าซาอุดีอาระเบียมีอัตราการประหารชัวิตนักโทษเพิ่มขึ้นในปี 2019 ด้วยนับตั้งแต่ต้นปี มีนักโทษถูกประหารชีวิตแล้วอย่างน้อย 104 คน ขณะที่เมื่อปี 2018 ตลอดทั้งปีมีการประการชีวิตนักโทษ 149 คน

ผู้ต้องหาที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานก่อการร้าย, ฆาตกรรม, ข่มขืน, ขโมยโดยใช้อาวุธ และค้ายาเสพติด มีสิทธิ์ต้องโทษประหารชีวิต ซึ่งทางรัฐบาลอ้างว่าเพื่อยับยั้งไม่ให้ก่ออาชญากรรมซ้ำอีก

เฟเดริกา โมเกรินี ประธานนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ระบุว่าการประหารชีวิตได้เพิ่มข้อสงสัยเกี่ยวกับความเคารพสิทธิของการได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมในซาอุดีอาระเบียและเตือนว่ามันอาจโหมกระพือความรุนแรงระหว่างนิกาย

ด้านฮิวแมนไรท์วอทช์ กลุ่มสิทธิมนุษยชนซึ่งมีสำนักงานในนิวยอร์ก ระบุใน 37 คน มีอยู่ 33 คนเป็นชาวชีอะห์ และมันเป็นการประหารชีวิตหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดของซาอุดีอาระเบียนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2016

มีนักโทษอยู่คนหนึ่งถูกตรึงบนไม้กางเขนหลังการประหาร บทลงโทษซึ่งสงวนไว้สำหรับอาชญากรรมร้ายแรงโดยเฉพาะ

"การประหารชีวิตหมู่ไม่ได้เป็นเครื่องหมายของรัฐบาลปฏิรูป แต่มันเป็นเครื่องหมายของระบอบการปกครองตามอำเภอใจและเผด็จการ" ไมเคิล เพจ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางระบุ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0