โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Tried & Tested: ลาก่อน Facebook! นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราหนีไปดิจิทัลดีท็อกซ์

THE STANDARD

อัพเดต 17 ม.ค. 2563 เวลา 16.34 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 16.30 น. • thestandard.co
Tried & Tested: ลาก่อน Facebook! นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราหนีไปดิจิทัลดีท็อกซ์
Tried & Tested: ลาก่อน Facebook! นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราหนีไปดิจิทัลดีท็อกซ์

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่ตรากตรำกับการทำงาน ใช้เวลานับชั่วโมงไม่ได้ในการล็อกสายตากับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ iPad กระทั่งหลังเลนส์กล้อง แต่แม้จะสนุกกับการไถ Instagram หรือดู YouTube เพลินแค่ไหน จุดหนึ่งก็อาจรู้สึกล้าทั้งสายตาและใจว้าวุ่นเอาได้ กระทั่งเป็นต้นตอของโรค Smartphone Syndrome หรือ Phantom Ringing Syndrome มีการศึกษาพบอีกว่า ในเวลากลางคืน แสงสีฟ้าจะรบกวนวงจรนาฬิกาในร่างกายของเรา ทำให้ผิวทำงานผิดปกติอาจก่อให้รู้สึกวิตกกังวล กระวนกระวายใจ กระทั่งนอนหลับไม่สนิทและตื่นง่าย 

 

แต่เราขอ (ท้า) ชวนคุณมาพักจากหน้าจอทุกสิ่งอัน กลับไปประหนึ่งตนดุจมนุษย์ยุคก่อนเทคโนโลยีหน้าจอ ให้ทั้งกายและใจได้พักอย่างเต็มอิ่มที่ Chiva-som (ชีวาศรม) อาศรมของผู้มองหาความสงบริมทะเลหัวหิน และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราโยนโน้ตบุ๊ก ซ่อนโทรศัพท์ หลบไปเข้าโปรแกรมดิจิทัลดีท็อกซ์แบบ 3 วันเต็มๆ

 

 

Day 1: ยากกว่าที่คิด

ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงราวๆ 3 ชั่วโมง เราก็เดินทางมาถึง ชีวาศรม สถานที่พักตากอากาศอันโด่งดัง และเป็นสถาบันสปาที่ขึ้นชื่อเก่าแก่ ทั้งยังริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนวิชาชีพความงามและสุขภาพสปา ชีวาศรม (Chiva-Som Academy) มอบศาสตร์การสปาและสุขภาพให้กับสปาและสถานสุขภาพมากมายในประเทศไทยและต่างประเทศที่เราเห็นทุกวันนี้ 

 

หลายคนอาจได้ยินชื่อชีวาศรมในแง่ของรีสอร์ตรีทรีตระดับโลกที่เน้นเรื่องสุขภาพ เสิร์ฟอาหารดีต่อกายแต่ไม่ต่อใจ ไปยันที่พักฟื้นยอดฮิตของชาวต่างชาติกระเป๋าหนักที่เจ็บป่วย ทั้งยังคว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติมานับไม่ถ้วน ทั้ง The World’s Best Destination Spa ของนิตยสาร Condé Nast Traveller (UK) ฯลฯ แต่น้อยคนจะรู้ว่ายังเหมาะสำหรับชาวเมืองอย่างเราอย่างการทำดิจิทัลดีท็อกซ์ และแท้จริงแล้วยังอาหารอร่อยอีกต่างหาก

 

 

เมื่อเดินทางมาถึง หลังจากทำการกรอกข้อมูลเรียบร้อย พร้อมกับเซ็นรับทราบว่าคุณจะไม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์สื่อสาร (หรือหากใช้ ต้องใช้ภายในห้องส่วนตัวเท่านั้น มิเช่นนั้นแขกที่มาพักท่านอื่นอาจฟ้องพนักงานเอาได้ เราพูดจริงๆ!) ซึ่งพนักงานจะเก็บอุปกรณ์ของคุณใส่ตู้เซฟไว้ให้ พร้อมกับต้อนรับด้วยเครื่องดื่มเย็นๆ จากนั้นจึงพาไปที่ห้องพัก ซึ่งทางชีวาศรมเพิ่งเองก็รีโนเวตใหม่ฉลองครบรอบการก่อตั้งครบ 25 ปี

 

 

ในเมื่อไม่มีอุปกรณ์คู่ใจที่เกือบจะกลายเป็นอวัยวะที่ 33 เราจะทำอะไรดีล่ะ 

 

หลังจากนั่งๆ นอนๆ ในห้อง ชมวิวต้นไม้ใบไม้สักพัก เราเริ่มค้นพบว่าการทำดิจิทัลดีท็อกซ์ยากกว่าที่คิด สิ่งที่ผู้เขียนได้ทำคือหยิบดินสอถ่ายทอดความคิดในหัวผ่านสมุดบันทึกที่วางไว้บนโต๊ะของโรงแรม จดบันทึกถึงสิ่งท่ีเข้ามาในหัว และค้นพบว่าความคิดวิ่งเร็วไม่แพ้จรวด พลันนึกถึงสิ่งที่แม่ชีเคยกล่าวตอนไปเข้าค่ายจริยะสมัยวัยเยาว์ “ความคิดของเราวิ่งเร็วยิ่งกว่าทุกสิ่งในจักรวาล” คำพูดนี้ยังก้องในหู เมื่อได้สำรวจจิตใจของตนเองและพิสูจน์ว่าจริงแท้ 

 

เรายังสังเกตเห็นว่าคนที่มาพักเป็นชาวต่างชาติในวัยตั้งแต่ 30 ขึ้นไป บ้างมาเป็นคู่ และมีจำนวนไม่น้อยมาฉายเดี่ยว ต่างคนต่างเดินไปมาในชุดคลุมอาบน้ำจนเป็นเรื่องปกติ ไม่ต่างกับตัวคุณ ชวนให้รู้สึกไม่เคอะเขิน ราวกับเช็กอินเข้าโรงแรมรักแบบโดดเดี่ยว

 

เมื่อมาถึงที่นี่สามารถเลือกได้ว่าอยากร่วมกิจกรรมหรือรับบริการใดบ้าง ซึ่งมีบริการด้านสุขภาพและความงามมากมายถึง 13 โปรแกรม ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ให้รู้สึกราวกับเดินเข้าหมู่บ้านแห่งกิจกรรมเพื่อสุขภาพองค์รวม 

 

เราได้พูดคุยกับเธอราพิสต์เบื้องต้นที่มาช่วยจัดตารางกิจกรรม โดยผู้เชี่ยวชาญสอบถามอย่างละเอียดเรื่องอาหารการกินและเงื่อนไขต่างๆ ส่วนบุคคล อาการแพ้ ข้อจำกัดต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้ได้ประโยชน์จากจุดประสงค์การมาครั้งนี้มากที่สุด โดยคุณสามารถแจ้งได้ว่าไม่รับประทานอะไรบ้าง หรือกำลังทดลองการกินแบบคีโตเจนิกหรือทำIntermittent Fasting (IF)อยู่ โดยข้อมูลของคุณจะอยู่ในเอกสารที่ให้และในระบบ ช่วยให้การจัดอาหารไม่ว่าจะร้านไหนในโรงแรม ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างสะดวกสบาย

 

 

กิจกรรม: บำบัดฉบับมนุษย์เมืองคลั่งงาน

หนึ่งในตารางกิจกรรมที่เราชอบมากและเหมาะกับคนทำงานออฟฟิศคือ การฝึกลมปราณ (Pranayama Breathing) ซึ่งให้คุณทดสอบการหายใจผ่านเครื่องล้ำสมัย โดยสามารถบอกได้ว่าระดับความเครียดของคุณอยู่ระดับไหน และพัฒนาการหายใจที่คุณอาจไม่คิดมาก่อนว่ามีส่วนทำให้รู้สึกวิตกกังวลง่าย เป็นต้น พร้อมกับพกคำแนะนำในการฝึกหายใจในการรับมือกับความเครียดกลับบ้านไปด้วย 

 

วิธีที่ว่านี้มีเทคนิคคือ หายใจให้สุด ออกให้สุด โดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องเข้าช่วย หายใจเข้า 5 วินาที และออก 5 วินาที 6 ครั้งด้วยกัน ทำต่อเนื่องเป็นเวลา 10-15 นาที 2-3 ครั้งต่อวัน โดยแนะนำให้ทำตอนเช้า กลางวัน และก่อนนอน หรือนั่งทำงานไปก็ฝึกไปได้ แล้วคุณจะรู้สึกผ่อนคลายขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ แถมผู้เชี่ยวชาญยังแนะอีกว่า วิธีนี้สามารถใช้เมื่อรู้สึกประหม่าหรือตื่นเต้น ช่วยบรรเทาความเครียดได้ดี ซึ่งเราการันตีว่าได้ผลจริง หลังจากเอาวิธีนี้มาใช้ก่อนออกไปพรีเซนต์งาน หรือออกไปพูดที่สาธารณะ เป็นต้น

 

 

หลังจากได้เรียนรู้เรื่องการฝึกลมปราณแล้ว เรายังมีเวลาพักถมเถ ในการพกหนังสือที่อ่านยังไม่จบ ไปนั่งชิลริมทะเลที่ไร้การถ่ายเซลฟี ไลฟ์สด โพสท่า แขกทุกคนที่มานอนเหยียดริมสระน้ำ บ้างหลับตาพัก หน้าจมอยู่ในหนังสือ หรือจับจ้องไปที่ท้องทะเล 

 

สารภาพว่าเราล้วงกระเป๋าไปควานหาโทรศัพท์คู่ใจออกมาเพื่อแชะภาพวิวลง Instagram แต่ก็ค้นพบความว่างเปล่า โทรศัพท์เพื่อนยากอยู่ในตู้นิรภัยสักแห่ง ดังแล้วดังอีก อีเมลหลักสิบฉบับ และคงมีแจ้งเตือนนับร้อย ที่แค่คิดก็รู้สึกวูบในท้อง 

 

นี่สินะความรู้สึกของความไม่คุ้นชินจากการเสพติดโทรศัพท์และโซเชียลมีเดียมาเป็นเวลานานจนลืมไปแล้ว ว่าชีวิตก่อนเทคโนโลยีคู่มือเป็นอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ คือหันหน้าออกทะเล จับจ้องผิวน้ำสีครามเข้มของหัวหิน ได้เห็นนกบินผ่านไปมา พ่อกับแม่จูงลูกผมสีทองเดินเล่นชายหาด 

 

หลังจากนั้นไม่นานเราก็เริ่มรู้สึกถึงลมทะเลเย็นๆ ที่โชยมาสัมผัสผิว รู้สึกเย็นสบาย เราหายใจลึกๆ เข้าออกตามคำแนะนำของเธอราพิสต์ และค้นพบว่าความสงบไม่ได้อยู่ไกลตัว ไม่ต้องจ่ายเงินราคาแพงซื้อบัตรโดยสารโบยบินไปไหน หากแต่อยู่ใกล้แค่เอื้อม เพียงแค่เรียนรู้ที่จะ ‘พัก’ 

 

แม้จะเป็นเวลาไม่นาน ก่อนหัวสมองจะเริ่มกระวนกระวาย หวังอยากเช็กโทรศัพท์จนเต็มแก่ นี่คือโรคติดโทรศัพท์และสังคมโลกโซเชียลสินะ 

 

โทรศัพท์รุ่นล่าสุดที่รักได้กลายเป็นก้อนสีเงินไร้ค่าที่ซุกตัวอยู่ที่ไหนสักแห่ง เราสั่งน้ำส้ม แล้วกระโดดลงน้ำหนีปัญหา

 

 

Day 2: มื้ออาหารเหนือจินตนาการ กับการปรนเปรอตัวเองจนลืมทุกสิ่ง

ตื่นเช้ามาด้วยความสดชื่นหลังจากได้นอนเยียดกายแช่น้ำจนลืมเวลาในอ่างอาบน้ำในห้องของโรงแรม ที่ตกแต่งเรียบๆ แต่ครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และอย่ากังวลไปว่าคุณจะเครียดจากความเงียบจนแทะเล็บกุดไปเสียก่อน เพราะในห้องนอนมีโทรทัศน์จอใหญ่ให้ดื่มด่ำไปกับภาพยนตร์และรายการที่ชอบบนเตียงนุ่มๆ 

 

 

หลังจากเพลินกับบุฟเฟต์อาหารเช้าที่ The Emerald Room ห้องอาหารออลเดย์ไดนิ่งนานาชาติ ที่เสิร์ฟอาหารจากวัตถุดิบระดับพรีเมียมเท่านั้น ผ่านมือเชฟไพศาล ชีวินศิริวัฒน์ Cuisine Director คนเก่งที่ศึกษาการรับประทานอาหารในแบบต่างๆ มาอย่างละเอียด ทำให้อาหารในรีสอร์ตกลับอร่อยผิดคาด ลืมความเป็นอาหารชีวจิต อาหารกระต่ายไปได้เสียสนิท! แม้มีให้เลือกไม่ได้เยอะเท่าบรันช์วันอาทิตย์แบบโรงแรมในเมือง แต่อาหารนั้นคุณภาพเยี่ยมทุกชนิดตั้งแต่พาร์มาแฮมไปยันสลัด และอาหารไทย 

 

น่าประทับใจตรงที่มีน้ำมันอะโวคาโด น้ำมันมะพร้าว และสารพัดซอสที่ทำสดใหม่เรียงรายให้เลือกใส่น้ำสลัดสดๆ ไปยันโจ๊กไร้ข้าวที่ทำจากไข่ขาว เมนูล้ำๆ ที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็น แถมยังอร่อยเด็ดเพราะโรยด้วยเห็ดอบกรอบ

 

 

กิจกรรม: เข้าออกซาวน่า บำรุงดวงตา แหงนฟ้าชมพระจันทร์สีเลือด

เราพุ่งตัวไปสปาตามนัด สปาที่นี่ใหญ่โตเป็นศูนย์สุขภาพ เพื่อรับบริการนวดด้วยหินร้อน ที่ช่วยผ่อนคลายผิวและกล้ามเนื้อจากอาการออฟฟิศซินโดรมให้ผ่อนคลาย ก่อนจะมีเวลาเหลือเฟือในการเดินเข้าซาวน่าที่เปิดบริการให้เข้าได้ตลอดทั้งวัน เราเดินเข้าๆ ออกๆ ซาวน่าและบ่อน้ำเย็น ก่อนจะเข้าทำทรีตเมนต์รอบดวงตา แล้วจึงถึงเวลาว่าง ให้ได้ไปเอกเขนกริมสระว่ายน้ำ อ่านนิตยสารที่ลืมไปแล้วว่าอ่านครั้งสุดท้ายเมื่อไร

 

ตกบ่ายเรามีนัดกับคุณหมอด้านผิวพรรณ เข้ารับบริการ Skin Facial Analysis ด้วยเครื่องมือตรวจสอบผิวสุดล้ำของวงการความงาม ที่เผยให้เห็นจุดยูวี จุดด่างดำ ความเรียบของผิว รูขุมขน ริ้วรอย และจุดแดง ไปยันแบคทีเรียที่แฝงอยู่ใต้ผิว ประโยชน์จากบริการนี้คือเพื่อทราบว่าควรดูแลผิวเพิ่มเติมอย่างไร หรือกิจวัตรประจำวันที่ทำอยู่ควรเพิ่มเติมป้องกันผิวได้อย่างไรบ้าง

 

แม้จะไม่มีโทรศัพท์ให้ดูเวลา จนต้องสอบถามพนักงานอยู่เรื่อยๆ เพื่อไม่ให้พลาดนัดกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ดีไม่น้อยคือ การได้ค้นพบว่าเมื่อไม่มีเวลาติดตัว ก็ไม่ต้องรีบร้อน ช่วยทำให้จังหวะการกิน การเดินช้าลง (เพราะก็ไม่รู้จะรีบไปทำไม) 

 

 

ตกเย็นนั้นเรามาฝากท้องที่ห้องอาหาร Taste of Siam ห้องอาหารเอาต์ดอร์ริมทะเลที่เสิร์ฟอาหารทะเลแบบไทยๆ พลางนั่งมองท้องฟ้าสีชมพูหลังพระอาทิตย์ลับตา อาหารอย่างปลาเนื้อขาวเสิร์ฟกับลูกเดือย หอมและกระเทียมอร่อยถูกลิ้น แม้จะรสไม่จัดจ้าน แต่พอดิบพอดี 

 

และเมื่อไม่ต้องจ้องโทรศัพท์ อาหารมื้อนั้นจึงเป็นวันพิเศษกว่าไหนๆ เพราะได้ละเลียดทุกรายละเอียด ทุกรสสัมผัส และด้วยปรากฏการณ์พระจันทร์สีเลือด (Blood Moon) ที่ทำเอาแขกเหรื่อต่างมานั่งชมและสนทนากันริมทะเล ต่างแหงนมองฟ้าไปพร้อมๆ กัน เราสั่งไวน์ขาวสักแก้วมาจิบ (ถูกแล้ว ที่นี่มีไวน์ดีๆ เสิร์ฟด้วย) ท่ามกลางอากาศเย็นๆ ก่อนขอตัวกลับเข้าห้องพักไปนอนหลับแบบลืมเวลา

 

 

Day 3: โลกออนไลน์อันห่างไกล

ปลุกร่างขึ้นมาพบนัดยามเช้ากับคลาสโยคะเหยียดร่างเบาๆ ที่ศาลาไทยกับโยคีชาวอินเดีย ที่สอนเรื่องการยืดร่างท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น ได้ยินแต่เสียงนกร้องแซ่ซ้อง เสร็จสรรพแล้วเราก็สาวเท้าไปพบนักกายภาพบำบัด (Physiotherapist) เพื่อเช็กการนั่งและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ปรับท่าทางให้ดีขึ้นกับร่างกาย ซึ่งผู้เขียนได้เรียนรู้ว่าเป็นคนนั่งหลังตรงเกือบแอ่น กอปรกับสรีระที่มีสะโพก ทำให้หลังเอนแอ่นเล็กน้อย นักบำบัดจึงแนะนำท่าบริการง่ายๆ ที่กลับไปทำเองที่บ้านหรือขณะนั่งทำงานได้

 

กิจกรรม: จับเส้น ซาวน่า ปรับสรีระ

จากนั้นเรายังมีนัดยืดเหยียดตัว (Stretch Class) กับนักบำบัดอีกคนที่ช่วยจับเส้น จากการเดิน ใส่ส้นสูง นั่งนานๆ หรือหิ้วของหนักเป็นประจำ ก่อนจะไปกินข้าวและนวดแผนไทยที่ช่วยจับเส้นอีกรอบ

 

 

หลังจากเข้าออกซาวน่าและออกไปว่ายน้ำ และอ่านหนังสือ ตกเย็นเรากลับมาฝากท้องที่ The Emerald Room อีกครั้ง ได้ชิมอาหารเย็นสไตล์ญี่ปุ่นอย่าง Futomaki ข้าวปั้นน่าทึ่งที่เชฟไม่ใช้ข้าว แต่แทนด้วยไข่ขาวแน่นๆ ใส่เห็ดและอะโวคาโด รับประทานกับเนื้อปลาสดใหม่ และจานปลาดิบ เหยาะโชยุเบาๆ ที่แม้จะมีสารพัดซอสและให้ได้เหยาะ แต่กลับอร่อยแบบไม่ต้องปรุงเพิ่ม (ขณะที่สายตาเหลือบไปเห็นคุณสุภาพบุรุษโต๊ะข้างๆ ขอเกลือจากพนักงานมาโรยไม่หยุด) อย่างไรก็ตาม โปรดทราบว่าคุณสามารถขอเกลือพริกไทยได้จากพนักงานหากต้องการ ดังนั้นหมดห่วงเรื่องต้องพกเครื่องปรุงไปเองได้เลย!

 

 

 

ด้วยความที่ไม่มีกิจกรรมอะไรยามค่ำ ทำให้เรา ‘ฆ่าเวลา’ ด้วยการแช่น้ำในอ่างยาวๆ กับเข้านอนเร็วเช่นเคย พร้อมตื่นเช้ามาเช็กเอาต์ออกจากโรงแรม พกพาความสำเร็จกลับบ้านด้วยการอ่าน Death on the Nileของอกาธา คริสตี้ ที่ซื้อมาปีกว่าสำเร็จในที่สุด 

 

ระหว่างทางกลับกรุงเทพฯ พบว่าหัวใจไม่ได้ร้อนรนอยากรีบรับโทรศัพท์เหมือนเมื่อ 72 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทั้งยังรู้สึกผ่อนคลาย ไม่กระวนกระวายใจง่ายๆ ใครจะคาดว่าการอยู่แบบไม่ต้องรีบเช็กตารางงานและการแจ้งเตือนบนโทรศัพท์จะคืนความสงบสุขให้กลับมาได้กว่าที่คิด และปรับตัวให้ชินได้ไม่ยาก แบบที่เราเชื่อว่าใครๆ ก็สามารถทำได้ 

 

ลองเริ่มจากทำดิจิทัลดีท็อกซ์สักหนึ่งวันต่อสัปดาห์ แล้วจดบันทึกความคิดที่ผ่านเข้ามาในหัวดูสิ แล้วคุณอาจประหลาดใจแบบเรา

 

อ่านเรื่อง แจกตาราง Smartphone Detox สำหรับ 7 วัน ได้ที่นี่

 

อ่านเรื่อง ดิจิทัล ดีท็อกซ์ กลับมานะ…สติ! ได้ที่นี่

 

Chiva-Som International Health Resort

Address: 73/4 ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

Budget: เริ่มต้นที่ 51,780 บาท สำหรับ 3 คืน (*เช็กจากเว็บไซต์ทางการของโรงแรมระหว่างการเข้าพักวันที่ 25-28 มกราคม 2563) หมายเหตุ: รับสำรองเฉพาะห้องพัก 3 คืนขึ้นไปเท่านั้น

Contact: โทร. 032 536 536

Website:อ่านบริการอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.chivasom.com/hua-hin

 

 

ภาพ: Courtesy of Chiva Som, พฤภัทร ทรงเที่ยง

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0