โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Tourette Syndrome พ่อแม่ต้องรู้ เมื่อหนูเป็นทูเร็ตต์

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 22 ก.ค. 2562 เวลา 06.30 น. • Motherhood.co.th Blog
Tourette Syndrome พ่อแม่ต้องรู้ เมื่อหนูเป็นทูเร็ตต์

Tourette Syndrome พ่อแม่ต้องรู้ เมื่อหนูเป็นทูเร็ตต์

เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสชมภาพยนตร์บอลลีวูดเรื่องหนึ่ง ที่นางเอกของเรื่องป่วยเป็น "Tourette Syndrome" เธอมีอาชีพเป็นครูและก็เป็นครูที่ดีมากเสียด้วย แต่เธอก็ต้องผ่านการ bully มาไม่น้อยตั้งแต่เด็กจนโต แม้แต่ในช่วงที่เป็นครูแล้วก็ตาม เมื่อไปค้นข้อมูลต่อจึงพบว่า Tourette Syndrome เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการที่พบได้มากในวัยเด็กเช่นกัน ซึ่งอาการที่ได้เห็นในวิดิโอต่างๆนั้นมีตั้งแต่ขั้นเบา สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และหนักขนาดไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เลยในวัยผู้ใหญ่ และเป็นโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในบ้านเรามากนัก จึงเป็นที่มาของบทความตอนนี้ อยากให้คุณพ่อคุณแม่ติดตามกันนะคะ

โรคทูเร็ตต์คืออะไร?

โรคทูเร็ตต์ จัดอยู่ในกลุ่มอาการเดียวกับโรคติกส์ (Tics Disorder) ที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกซ้ำๆ กระพริบตา หรือทำเสียงบางอย่างออกมาโดยไม่รู้ตัวและไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ส่งเสียงจากในลำคอหรือโพล่งคำหยาบออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ยังไม่มีการค้นพบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค แต่มักพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

ผู้ป่วยมีอาการขยับกล้ามเนื้อบางส่วนหรือทำเสียงบางอย่างโดยไม่รู้ตัวและควบคุมไม่ได้
ผู้ป่วยมีอาการขยับกล้ามเนื้อบางส่วนหรือทำเสียงบางอย่างโดยไม่รู้ตัวและควบคุมไม่ได้

อาการของกลุ่มอาการทูเร็ตต์

ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคติกส์อย่างอาการกล้ามเนื้อกระตุกและทำเสียงออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจและควบคุมไม่ได้ โดยทั้งสองอาการอาจเกิดขึ้นพร้อมกันหรือเกิดขึ้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมากอาจมีอาการเพียงกล้ามเนื้อกระตุกซ้ำๆอย่างรวดเร็ว แต่บางรายก็มีอาการหนักเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

นอกจากนี้ อาการกระตุกของกล้ามเนื้อและอาการเปล่งเสียงออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ อาการแบบไม่ซับซ้อนที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อร่างกายเพียงไม่กี่ส่วน และอาการแบบซับซ้อนที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อร่างกายหลายๆส่วน ดังนี้

อาการกล้ามเนื้อกระตุก

  • ชนิดไม่ซับซ้อน เช่น กระพริบตา ขยิบตา กลอกตา ยักไหล่ ผงกศีรษะ แลบลิ้น ปากกระตุกหรือจมูกกกระตุก เป็นต้น
  • ชนิดซับซ้อน เช่น สัมผัสหรือดมสิ่งของ ทำท่าทางไม่สุภาพ เลียนแบบท่าทางผู้อื่น ดัดหรือบิดตัว กระโดด เป็นต้น

อาการทำเสียงโดยไม่ได้ตั้งใจ

  • ชนิดไม่ซับซ้อน เช่น เสียงคราง เสียงกระแอมไอ เสียงเห่า อาการสะอึก เป็นต้น
  • ชนิดซับซ้อน เช่น พูดซ้ำๆ พูดทวนคำผู้อื่น โพล่งคำหยาบ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรงในช่วงวัยรุ่นตอนต้น แต่อาการมักดีขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยสามารถหยุดอาการนี้ได้ชั่วคราวแต่ต้องอาศัยความพยายามอย่างมาก นอกจากนี้ อาการของโรคนี้มักหายไปเมื่อผู้ป่วยมีสมาธิจดจ่ออยู่กับกิจกรรมต่างๆหรือมีความรู้สึกผ่อนคลาย

ในทางตรงกันข้าม อาการของผู้ป่วยจะแย่ลงเมื่อต้องเผชิญกับความตื่นเต้น ความเครียด หรือความวิตกกังวล โดยเฉพาะถ้าต้องกลั้นเป็นเวลานาน หรือถูกทัก ถูกดุว่า ถูกห้ามไม่ให้แสดงอาการ และยังสามารถเกิดอาการได้แม้กระทั่งเวลานอนหลับ แต่อาการจะค่อยๆหายไปเมื่อเข้าสู่ช่วงหลับลึก โดยผู้ป่วยบางรายจะมีอาการของโรคอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า และโรควิตกังวล เป็นต้น

ผู้ป่วยบางรายมีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว
ผู้ป่วยบางรายมีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว

สาเหตุของกลุ่มอาการทูเร็ตต์

สาเหตุของโรคนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อาจเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยแวดล้อม หรืออาจเกี่ยวกับสารสื่อประสาทในสมองอย่างโดพามีนและเซโรโทนิน นอกจากนี้ หากคนในครอบครัวมีประวัติการเกิดโรคในกลุ่มอาการเดียวกันนี้มาก่อน อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากขึ้น โดยมักพบโรคนี้ในเด็กอายุ 5-9 ปี และเด็กผู้ชายจะมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า

การวินิจฉัยกลุ่มอาการทูเร็ตต์

แพทย์จะวินิจฉัยโดยซักประวัติและสอบถามอาการจากผู้ป่วยเป็นหลัก โดยผู้ป่วยจะต้องมีอาการของโรคติกส์อย่างการกระตุกของกล้ามเนื้อตั้งแต่ 2 อาการขึ้นไป และมีการทำเสียงออกมาอย่างน้อย 1 อย่าง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 1 ปี และอาจเกิดอาการวันละหลายๆครั้ง หรือเกือบทุกวัน หรือมีอาการแบบเป็นๆหายๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีวิธีการที่ใช้สำหรับตรวจสอบโรคนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากมีเด็กหลายรายที่มีอาการโรคติกส์แล้วอาการนั้นสามารถหายไปเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน นอกจากนี้ แพทย์อาจจะวินิจฉัยเป็นโรคอื่นได้ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีภาวะอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกับผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ โรคความผิดปกติด้านการนอน หรือโรควิตกกังวล

ทั้งนี้ หาเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการรับประทานยาหรือจากโรคอื่นๆ อย่างโรคลมชัก หรือโรคฮันติงตัน และโรคสมองอักเสบ จะไม่จัดว่าเป็นโรคทูเร็ตต์ โดยแพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นโรคนี้จริง เช่น การตรวจเลือด การเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ การทำ MRI Scan การทำ CT Scan หรือการตรวจไฟฟ้าคลื่นสมอง (EEG) เป็นต้น

การรักษากลุ่มอาการทูเร็ตต์

ความจริงเด็กที่เป็นโรคนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา หากผู้ป่วยสามารถจัดการกับอาการของตนเองและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่หากมีอาการรุนแรงหรืออาการไม่ดีขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาการใช้ยารักษา การทำจิตบำบัด หรือการผ่าตัด ดังนี้

การใช้ยา

แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพื่อควบคุมหรือบรรเทาอาการของโรค โดยยาที่อาจนำมาใช้ มีดังนี้

  • ยาฮาโลเพอลิดอล ยาฟลูเฟนาซีน ยารักษาโรคฮันติงตัน หรือยาระงับอาการทางจิตอื่นๆ เพื่อช่วยยับยั้งสารโดพามีนในสมอง และช่วยควบคุมอาการโรคติกส์
  • การฉีดโบท็อกซ์ เพื่อช่วยควบคุมอาการกล้ามเนื้อกระตุกและอาการทำเสียงโดยไม่ได้ตั้งใจ ในผู้ป่วยที่มีอาการชนิดไม่ซับซ้อน
  • ยาเมทิลเฟนิเดต เป็นยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางที่ช่วยลดอาการของโรคสมาธิสั้นและโรคติกส์
  • ยาต้านอะดรีเนอร์จิกในระบบประสาทส่วนกลางอย่างยาโคลนิดีน ซึ่งมักใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง ช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมและยับยั้งตนเองไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ไม่ได้ตั้งใจ
  • ยาต้านเศร้าฟลูออกซิทีน ช่วยควบคุมอาการที่เกิดขึ้นร่วมกับโรคทูเร็ตต์อย่างพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล ซึมเศร้า

อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคืออาการง่วงซึม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเคลื่อนไหวซ้ำๆโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น หากพบว่าลูกมีความผิดปกติใดๆหลังใช้ยาให้รีบติดต่อแพทย์ทันที

การทำจิตบำบัด

เป็นการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหรือนักจิตวิทยา เพื่อบรรเทาอาการของโรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรควิตกกังวล ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นร่วมกัน โดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอาจรักษาอาการผู้ป่วยด้วยการสะกดจิต เทคนิคการผ่อนคลาย การทำสมาธิ และการฝึกหายใจ นอกจากนี้อาจใช้วิธีพฤติกรรมบำบัด (Habit Reversal Training) ร่วมด้วย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยรับรู้และระบุสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการได้ รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะหยุดอาการกล้ามเนื้อกระตุกหรืออาการทำเสียงออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ

ในผู้ป่วยเด็กจะเน้นที่การบำบัดมากกว่าการให้ยา
ในผู้ป่วยเด็กจะเน้นที่การบำบัดมากกว่าการให้ยา

การผ่าตัด

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและไม่ตอบสนองกับวิธีการรักษาแบบอื่นๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก ซึ่งเป็นการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าลงสมอง เพื่อกระตุ้นไฟฟ้าไปยังส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว

ภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการทูเร็ตต์

ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการที่ดีขึ้นเมื่อเข้าวัยรุ่นตอนปลาย และอาการอาจหายไปได้เองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ โดยโรคนี้ไม่ส่งผลต่อสติปัญญาและอายุขัยของผู้ป่วย แต่มักมีผลต่อพฤติกรรมและการเข้าสังคม ซึ่งอาจทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีได้

การป้องกันกลุ่มอาการทูเร็ตต์

เนื่องจากแพทย์ยังไม่ค้นพบสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดโรคนี้ จึงเป็นการยากที่จะป้องกันโรคได้ แต่ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคในกลุ่มอาการนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจต่อความเสี่ยงของโรค อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญในการดูแลไม่ให้อาการป่วยส่งผลกระทบต่อลูกมากนัก เพราะโรคนี้จะส่งผลต่อความมั่นใจของเขาโดยตรง และอาจประสบปัญหาในการเข้าสังคมได้

โดยเฉพาะกับผู้ป่วยในวัยเด็กเล็ก คุณครูและผู้คนที่ต้องพบปะกับเด็กบ่อยๆควรได้รับคำแนะนำในการรับมือกับเขาอย่างถูกวิธี อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยมากขึ้น เช่น มีการทำแบบทดสอบเพื่อลดความเครียด หรือการเรียนในชั้นเรียนขนาดเล็ก นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนลูกให้ออกไปพบปะกับคนอื่นๆหรือได้ออกไปทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ เพื่อให้เขารู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ป่วย Tourette Syndrome คือความเข้าใจนะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดใจก่อนว่าอาการของโรคนี้ไม่ได้ทำให้ลูกผิดปกติจนอยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ ต้องไม่ไปกดดันเขาจนเครียด เพราะเขาจะยิ่งมีอาการที่หนักขึ้น สิ่งที่ควรทำคือต้องให้กำลังใจเขาให้เขาเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง พร้อมทำสอนเขารับมือกับคนในสังคมที่อาจจะไม่เข้าใจถึงความท้าทายทางกายภาพที่เขากำลังเผชิญ เพียงเท่านี้อาการของเขาก็จะเริ่มทุเลาลง สามารถใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เมื่อเขาโต

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0