โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Tolkien ซ่อนรักไว้นัยภาษา - เพจ Cineflections

TALK TODAY

เผยแพร่ 27 ก.ย 2562 เวลา 05.25 น. • เพจ Cineflections

ภาษา ความหมาย ความรู้สึก

สารภาพว่าเริ่มดู Tolkien (2019) ด้วยใจที่ค่อนข้างเป็นกลาง เพราะไม่ได้เป็นแฟน Lord of the Rings หรือ The Hobbit จริงจัง เคยลองเริ่มอ่านหนังสือพร้อมๆ กับ Harry Potter สมัยเด็ก แล้วกลับติดพันเล่มหลังแทน

เรื่องหักมุมของหนังอัตชีวประวัติที่ไม่หักมุมคือเราเป็นฝ่าย ‘เข้าถึง’ หนังจนน้ำตาซึม จากความสัมพันธ์ของสามสิ่งแรกที่กล่าวถึงง่ายๆ แค่นี้เอง

(เอาจริงเรื่องความรักระหว่างนัก (อยาก) เขียนกับภาษาเป็นความสัมพันธ์พื้นฐานที่แทบไม่ต้องอธิบาย)

ขอเกริ่นไว้ก่อนว่าจากเว็บไซต์ Internet Movie Database (IMDB) ทางตระกูลของโทลคีนปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับตัวหนังใดๆทั้งสิ้น การกล่าวถึงหนังในบทความนี้จะอ้างอิงถึงตัวหนังล้วนๆ และไม่เปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์จริง

ฉาก ‘สัมผัสมือ’ อันดับหนึ่งในหนังย้อนยุคโรแมนติกในดวงใจเราคือ Atonement (2007) ขณะที่พระ-นางแอบสัมผัสปลายนิ้วกันและกันหลังเก้าอี้ เคมี การแสดง และการปูเบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างสองคนจนถึงจุดนั้น ทำให้การสัมผัสที่ดู ‘ห่างไกล’ กลับใกล้ชิด วาบหวาม และเปี่ยมด้วยความโหยหาอย่างหาที่เปรียบยาก

ฉากที่สองคือ Pride and Prejudice (2005) เมื่อมือพระเอกแตะโดนมือนางเอกขณะพยุงนางขึ้นรถม้า ทั้งที่ไม่เคย ‘สัมผัส’ ถูกเนื้อต้องตัวกันมาก่อนเลย เป็นความใกล้ชิดครั้งแรก ที่แม้แต่นางเอกผู้ทะนงตน เกลียดหน้าพระเอกตั้งแต่ต้นเรื่อง ก็เก็บซ่อนความรู้สึกว่ามี ‘อะไร’ สักอย่างมาสะกิดใจไม่ได้ จนต้องหันขวับมองพระเอก

(ใช่ค่ะ Keira Knightley เคียร่า ไนท์ลีย์ คือนักแสดงหญิงหนังพีเรียดย้อนยุคที่รักของเรา)

และฉาก ‘สัมผัสมือ’ ระหว่างพระ-นางใน Tolkien ก็ตามมาติดๆ ในที่สาม หากเป็นฉากแรกที่การ ‘สัมผัส’ มาพร้อมกับบทพูด ไม่ใช่เพียงสายตาหรือสีหน้าอย่างในสองฉากของสองอันดับแรก

ฉากดื่มน้ำชาของพระ-นาง ทั้งปูพื้นและแสดงออกถึงความรักและความผูกพันของโทนคีนกับภาษา โดยสื่อบทพูด โทนเสียง การกระทำ และสายตา ถึงรากฐานที่มันคงของ ‘ความรัก’ ที่เพิ่งก่อกำเนิดระหว่างนักเขียนกับหญิงสาวเด็กกำพร้าผู้เติบโตมาในบ้านของผู้อุปถัมภ์คนเดียวกัน

“Tell me a story. - เล่าเรื่องให้ฉันฟังสิ” ประโยคแรกจากนางเอก Edith อีดิธ ดึงและตรึงความสนใจเรา พอ ๆ กับพระเอกอย่าง Tolkien โทลคีน

จากมุมนักเขียน หรือคน (ต้องยอมรับว่าจำนวนไม่น้อย) ที่มีโลกส่วนตัวสูงและมักคิดและเข้าใจมาตลอดว่าความชอบระดับลึกของตัวเองเป็นอะไรที่คนอื่นยากจะเข้าถึงหรือคงยอม (ตั้งใจ) รับฟัง ประโยคง่ายๆ สี่คำ พร้อมแววตาที่กองความสนใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ไว้ที่คนตรงหน้าเพียงคนเดียว ก็สามารถละลาย ‘กำแพง’ ที่คนอย่างโทลคีน สร้างไว้เกือบหมด

นานทีจะมีคนมาขอเรื่องอะไรแบบนี้อย่างจริงใจ

นานทีจะมีคนมารับฟังแบบสนใจจริงๆ

สีหน้าโทลคีนเหมือนเหวอไปเล็กน้อยหลังประโยคเอ่ยชวน คล้ายไม่ทันตั้งตัว ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ที่คนนิ่งหรือเก็บตัว (จนถูกหาว่า ‘หยิ่ง’ จากคนรอบข้าง) จะกล้าแสดงออกให้ใครเห็นบ่อยนัก

เขากลับบ่ายเบี่ยงอีดิธ จนอีกฝ่ายเริ่ม ‘ต้อน’ เขาด้วยการเริ่มเรื่องก่อน

ในความสนใจที่ซ้อนทับ (overlap) กัน และความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งกล้าพอที่จะหยิบยื่นให้ คนนิ่งๆ คนหนึ่งนับว่าโชคดีเหลือเกินที่หญิงสาวตรงหน้ามีชีวิตชีวา มีความ ‘กล้า’ ที่จะเริ่มเดินหมากก้าวแรกก่อน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์

เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นมิตรไมตรีของคนหัวใจศิลป์เหมือนกัน หากบุคลิกต่างกัน ที่เติมเต็มกันอย่างเหมาะเจาะ

 

(เราเคยดู Lily Collins ลิลี่ คอลลินส์ สาวตาหวาน คิ้วดกดำเหมือนตุ๊กตา อย่างผ่านๆ มาในหนังหลายเรื่อง Tolkien ทำให้เราหยุดมองเธอจริงๆ ด้วยต้องมนต์สะกด เพราะการแสดงที่เป็นธรรมชาติจนสัมผัสได้ถึงพลังงานความสดใส อ่อนหวาน และมีเสน่ห์ในยามต่อปากต่อคำต่อล้อต่อเถียงอย่างขึ้เล่นกับโทลคีน)

“It begins with the arrival of a proud and opinionated princess. She demands entertainment. - เปิดเรื่องเมื่อเจ้าหญิงผู้หยิ่งทะนงและเอาแต่ใจเสด็จมาถึง พระองค์รับสั่งให้จัดมโหรสพ” เธอขึ้นประโยคแรกให้เขาง่าย ๆ เพื่อชวนเขาเริ่ม

เขายิ้ม เหมือนที่นักเขียนหรือศิลปินคนไหนก็คงยิ้มเมื่อมีคนพยายามคะยั้นคะยอทางอ้อมให้ ‘แสดง’ พรสวรรค์ของตนต่อกลุ่มคน

เป็นใครก็หวั่นใจในตัวเอง และมักรู้สึกประหม่าขึ้นมา เมื่อต้องแสดงผลงานที่ยังไม่เสร็จดีให้กลุ่มคนดู ฟัง หรืออ่าน และยิ่งจะกดดันมากกขึ้นถ้าเป็นผลงานดั้งเดิมของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องแฟนตาซีในจินตนาการของโลกและภาษา (ทั้งศัพท์ ทั้งไวยกรณ์ และสำนวน) ที่เขาคิดค้นขึ้นเองด้วย

มากกว่านั้น เขายิ้มเพราะเสน่ห์โดยธรรมชาติในประโยคของอีดิธ: การหยิบสถานการณ์ตรงหน้าและตัวเธอเอง(เท่าที่ผู้ชมรู้จักถึงฉากนั้นในหนัง)แทรกเข้านนิยายแฟนตาซีของชายหนุ่ม ทั้งที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับนิยายของเขาเลย นอกจากประเภท และคำๆหนึ่งจากภาษาใหม่ในนิยาย

หญิงสาวรู้จักพูดเลือกก้าวแรกในการเชื่อมสัมพันธ์ที่เข้าถึงในอีกฝ่ายอย่างน่ารักและแนบเนียน

โทลคีนปล่อยให้อีดิธ ‘ต่อเรื่อง’ เอง และไม่ขัดเธอ จนเขาเผลอ ‘หลงกล’ แก้คำเธอและเริ่มต่อเรื่องเอง เมื่อเธอใช้คำที่เขาบัญญัติขึ้นเองในแง่ที่เขาไม่เห็นด้วย

เธอยิ้ม (และผู้ชมก็ยิ้มด้วย) ด้วยรู้ว่าเขาสมยอมตกกับดักแผนอันแยบยลของเธอ

“Cellardoor isn’t a princess’s name — it can’t be. เซลลาร์ดอร์เป็นชื่อของเจ้าหญิงไม่ได้หรอก ไม่เหมาะเลย” เขาว่า ก่อนหน้าอีดิธจะเล่าเรื่อง โทลคีนพยายามอธิบายให้เธอฟังถึงเหตุผลที่เขาเลือกคำๆ นี้มาเป็น ‘อะไรพิเศษ’ สักอย่างในนิยาย

“Cellardoor. That’s the most musical word I can think of. Something about the form of it. The rambling from the mouth - เซลลาดอร์ เป็นคำหนึ่งที่รื่นหูที่สุดแล้ว เพราะรูปคำ และการออกเสียง”

เขายังย้ำกับเธออีกว่า “If you say it over and over, it’s supposed to be something magical - ถ้าคุณเอ่ยมันซ้ำ ๆ ควรจะเหมือนมนต์วิเศษ”

ส่วน ‘หักมุม’ แบบนิ่มๆ ของฉาก ที่ดึงเราเข้าใกล้หนังเข้าไปอีก คือคำแย้งของอีดิธ: “A word isn’t just beautiful because of its sound. It’s the marriage of sound and meaning. The door to the cellar. A place where something magical and mysterious might happen. - คำๆหนึ่งไม่ได้งดงามเพราะการออกเสียง คำงดงามเพราะความสัมพันธ์เกี่ยวดองระหว่างการออกเสียงและความหมายต่างหาก ประตูห้องใต้ดิน สถานที่ๆสิ่งลึกลับและมหัศจรรย์อาจเกิดขึ้น”

เธอเอื้อมมือไปแตะมือโทลคีน (เป็นกริยาที่ค่อนข้าง ‘กล้า’ สำหรับผู้หญิงสมัยนั้น) ขณะพยายามอธิบายประเด็นของเธอ “Hand. That might be a beautiful word. But it means so much more because of what we associate it with - touch. Things aren’t beautiful because of how they sound. They’re beautiful because of what they mean. - มือ นั่นอาจเป็นคำที่งดงาม แต่คำมีความหมายมากกว่าเพราะเราโยงเข้ากับการสัมผัส สิ่งของไม่ได้งดงามเพราะเสียงเรียก หากเพราะความหมาย”

ตูม. ได้ใจเราไปเต็ม ๆ เลยค่ะ

จังหวะการเว้นวรรคประโยคระหว่างพูด ช็อตการสัมผัสมือพร้อมๆกับคำว่า ‘การสัมผัส’ ทำให้ฉากนั้นน่าจดจำขึ้นไปอีก เป็นการ flirt จีบกันแบบนิ่มนวลและสวยงาม ฉันศิลปินคนรักภาษามากๆ (ทำให้เรานึกถึงประโยคเรียบง่าย หากฝังใจอย่างบอกไม่ถูก เพราะรูปประโยค ความสัมพันธ์ของเสียงและความหมายของคำในประโยค วาดภาพในความคิดได้ชัดเจน ทั้งที่เป็นคำพื้นๆ:

“Touch. Fingers. Asking. Answer. Yes - สัมผัส ปลายนิ้ว ร้องขอ ตอบกลับ ขานรับ.” - James Joyce, Ulysses เจมส์ จอยส์ นักเขียนชาวไอริช จากนิยายยูลิสิส

ประโยคของอีดิธปรากฎตัวขึ้นอีกครั้งเมื่อโทลคีนพบศาสตราจารย์ด้านภาษาของเขา ณ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และเขาบอกปัดภาษาที่คิดขึ้นเองว่าไร้สาระ

“Language is never nonsense. Language is meaning. History. Layer upon layer upon layer. A word without meaning is what? Merely a sound! - ภาษาไม่เคยไร้สาระ ภาษาคือความหมาย ประวัติศาสตร์ ซับซ้อนชั้นแล้วชั้นเล่า คำที่ไร้ความหมายคืออะไร ก็แค่เสียงเฉยๆน่ะแหละ!”

นอกจากประเด็นความอัจฉริยะของโทลคีนต่อภาษาแล้ว หนังยังกล่าวถึงเรื่อง ‘ความรัก’ อิง ‘ความจริง’ ที่มักทำหัวใจร้าว ได้อย่างงดงาม

“I don’t know why you’re taking it so hard. Life’s just returning back to normal. To reality, that’s all.” - ไม่รู้ทำไมคุณถึงเจ็บมากขนาดนี้นะ ชีวิตก็แค่กลับไปเหมือนเดิม สู่ความเป็นจริง แค่นั้น” อีดิธเปิดประเด็นเมื่อรู้ว่าความรักของทั้งสองจะต้องล่มกลางทาง เมื่อชีวิตต้องเดินทางไปคนละทิศ

“I refuse to give up on you. - ผมไม่ยอมเสียคุณไปหรอก” โทลคีนยังยืนกรานจะ ‘รัก’ และอยู่กับอีดิธแม้ชีวิตกำลังบังคับให้เขาเลือกอีกทาง

“Of course you will. More quickly than you think. - คุณยอมแน่ เร็วกว่าที่คิด”

 

และเมื่อรับรู้ในที่สุดว่าเสียอีดิธไปเพราะการตัดสินใจเลือกอนาคตแทนเธอ โทลคีนก็เศร้าหมองจนเพื่อนสนิทอย่าง Geoff Smith เจฟฟ์ สมิธต้องปลอบว่า:

“To love someone, who, for whatever reason, cannot return your feelings, is painful. But if you listen to the poets—perhaps there’s a kind of beauty to that love.

It burns.

Bright.

And it’s never tainted by reality or by overuse.

It’s just clear and fierce today as the first day it began. And there’s beauty to that, I think.”

“นับเป็นความเจ็บปวดแสนสาหัสเมื่อรักใครสักคน ที่ไม่ตอบรับความรักเรา ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ถ้าหากนายฟังที่พวกกวีว่า อาจมีความสวยงามในความรักเช่นนั้น

มันแผดเผา

สว่างโชติช่วง

และไม่เคยด่างพร้อยด้วยความเป็นจริงหรือความรักซ้ำซ้อน

ความรักนั้นใสสะอาดและเข้มข้นราววันแรกที่เริ่มรัก และงดงามในแบบของมันนะ ฉันว่า”

หนังไม่เคยระบุแน่ชัดว่าเจฟฟ์สนิทกับโทลคีนขนาดไหน แต่เขาเป็นคนเดียวในกลุ่มเพื่อนที่โทลคีนนิยามภายหลังว่าเทียบเท่ากับ ‘what it means to love and be loved - ความหมายของการรักและถูกรัก’ และเป็นนักกวีที่โทลคีนออกปากชมนอกหน้าว่าฝีมือดีมาก

กลุ่มเพื่อนของโทลคีนและเจฟฟ์มักพบเจอกันในร้านน้ำชา เพื่อถกเรื่องศิลปะ เพราะร่วมอุดมการณ์กันว่าจะเปลี่ยนโลกด้วยศิลปะ เหมือนกลุ่ม ‘ศิลปินหนุ่มรุ่นๆผู้อุดมด้วยความคิดสดใหม่และความหวังที่จะเปลี่ยนโลก’ ผ่านการศึกษาศิลปะ ทั้งบทกวี เพลง รูปวาด และวรรณกรรม ทำให้เรานึกถึงกลุ่มเด็กหนุ่มใน Dead Poets Society (1989) และ Kill Your Darlings (2013)

สิ่งหนึ่งที่โทลคีนพูดในฉากปิดท้ายหนัง ซึ่งเป็นประโยคไม่ได้ใหม่อะไรนัก และคุณคงเคยได้ยินในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหากเคยดูหนังแนวนี้มาแล้ว คือ: “…what our art could do. I cannot think of anything more necessary. Especially now. - สิ่งที่ศิลปะของเราสามารถสร้างได้ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่านี้แล้ว โดยเฉพาะขณะนี้”

เช่นภาษา ศิลปะในรูปแบบใดๆ ก็ตาม นับเป็น ‘เครื่องชโลมใจ’ ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ใจคนเสาะหา ‘ที่พัก’ ทางความคิดและจิตใจ

เพราะอย่างที่ทั้งอีดิธและศาสตราจารย์ว่าไว้ ศิลปะจะเบาหวิวหากเป็นเพียงเสียง ถ้อยคำ และสีสันบทแผ่นกระดาษ ‘ความหมาย’ ที่ซ่อนไว้ภายในต่างหากที่ทำให้ศิลปะนั้น ‘ดีต่อใจ’ เรายิ่งนัก

ติดตามบทความจากเพจ Cineflections ได้บน LINE TODAY ทุกวันศุกร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0