โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

The cold never bothered me anyway! สำนวนเย็นๆ รับลมหนาว

The Momentum

อัพเดต 06 ธ.ค. 2562 เวลา 12.11 น. • เผยแพร่ 06 ธ.ค. 2562 เวลา 12.11 น. • อธิพงษ์ อมรวงศ์ปีติ

In focus

  • Cold comfort ในที่นี้ cold ไม่ได้หมายถึง อุณหภูมิต่ำ แต่หมายถึง ชวนหดหู่ ชวนเศร้า อึมครึม เมื่อมารวมกับ comfort ที่หมายถึง การปลอบโยน จึงหมายถึง สิ่งที่ควรจะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นแต่ก็ไม่ได้ช่วยจริงๆ สิ่งที่ควรจะทำให้เราดีใจแต่ด้วยสถานการณ์แล้วก็ไม่ช่วยให้เราดีใจ หรือสิ่งปลอบโยนที่ไม่ได้ช่วยปลอบโยน 
  • Get cold feet สำนวนนี้ไม่ได้หมายถึงอุณหภูมิบริเวณเท้าลดฮวบจริงๆ แต่หมายถึง ประหม่า อยู่ๆ ก็เกิดกลัวขึ้นมาก่อนต้องลงมือทำอะไร เรียกอีกอย่างว่า ปอดแหกกะทันหัน
  • Cold turkey สำนวนนี้ใช้กับการเลิกทำบางสิ่งบางอย่างที่ทำมานาน แต่เป็นการเลิกแบบหักดิบ เช่น สมมติเราเสพติดชานมไข่มุกมาก แต่วันหนึ่งเราตัดสินใจลุกขึ้นมาให้คำมั่นกับตัวเองว่าจะไม่กินชานมไข่มุกอีกเด็ดขาด แบบนี้ก็อาจจะบอกว่า I’m giving up bubble tea cold turkey!

ประเทศไทยมีสามร้อนฤดู คือ ร้อน ร้อนมาก และร้อนสุดๆ

แม้เราจะชอบพูดติดตลกกันว่าเมืองไทยไม่มีฤดูหนาวจริงๆ อากาศเย็นมาเร็วไปเร็วเสียยิ่งกว่าประกันรถยนต์ แต่ดูท่าแล้วปีนี้น่าจะมีช่วงให้เราได้ใส่เสื้อกันหนาวนานพอจนคุ้มกับที่อุตส่าห์ไปขุดออกมาจากตู้เสื้อผ้า เพราะนอกจากอากาศจะเย็นกว่าหลายๆ ปีแล้ว ยังดูจะเย็นนานพอสมควรอีกด้วย

คงเป็นเพราะความหนาวเย็นเป็นสิ่งที่คนที่อาศัยใกล้เส้นศูนย์สูตรอย่างพวกเราไม่ได้ประสบพบเจอบ่อยๆ สำนวนที่มีคำว่า หนาว หรือ เย็น จึงไม่ได้มีอยู่เยอะมาก (เช่น ร้อนๆ หนาวๆ ใจเย็น ร่มเย็น) แต่สำหรับชาวตะวันตกที่อยู่ในบริเวณที่อุณหภูมิต่ำกว่าแถบเราจนบางครั้งมีหิมะ ความเย็นยะเยือกนับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องพบเจออยู่ทุกปี จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาษาอังกฤษจะมีสำนวนต่างๆ ที่นำเอาความหนาวเย็น โดยเฉพาะคำพื้นฐานอย่างคำว่า cold มาเป็นส่วนประกอบ (เช่น สำนวน give someone a cold shoulder ที่เคยเขียนถึงไปแล้ว)

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูสำนวนในภาษาอังกฤษที่มีคำว่า cold อยู่ แล้วดูกันว่าความหนาวไปแทรกซึมอยู่ในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่อารมณ์ทางเพศ ความรวนเรเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไปจนถึงการเลิกยา และอาการป๊อดกะทันหันได้อย่างไร

Take a cold shower

หากบ้านใครไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น ก็คงรู้ดีว่าการอาบน้ำเย็นๆ มันทรมานแค่ไหน ทันทีที่น้ำเย็นกระทบลงบนร่างกายปุ๊บ เราก็จะสะดุ้งโหยง ความคิดทุกอย่างในหัวก็มลายหายสิ้นปั๊บ จิตใจจดจ่ออยู่เรื่องเดียวคือรีบอาบน้ำให้เสร็จอย่างรวดเร็วที่สุด จะได้ไปสวมเสื้อผ้าอุ่นๆ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ชาวตะวันตกจะเชื่อกันว่าการอาบน้ำเย็นๆ จะช่วยให้หยุดคิดฟุ้งซ่านเวลาที่เกิดอารมณ์ทางเพศได้ ทำนองว่าพาน้องชายที่กำลังตื่นเต้นชูชันเข้าไปอาบน้ำเย็นๆ (เอาน้ำเย็นเข้าลูบแบบ literally) เพื่อให้น้องชายกลับไปอ่อนน้อมถ่อมตนตามเคย ลืมๆ เรื่องใต้สะดือไปเสีย 

ภูมิปัญญาชาวบ้านนี้จึงทำให้เกิดสำนวน take a cold shower ใช้เพื่อไล่คนที่เริ่มหงี่ให้ไปสงบสติอารมณ์ (ใช้ได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง) ตัวอย่างเช่น สมมติเราไปดูหนังกับเพื่อนแล้วเพื่อนเราจ้องพระเอกตาเป็นมัน พลางหันมาบอกเราว่า คนนี้ฟีลผัวมาก อยากได้เป็นพ่อของลูก เราก็อาจจะบอกเพื่อนว่า Go take a cold shower! ความหมายทำนองว่า ไปสวดมนต์สงบจิตสงบใจซะนะ

Blow hot and cold 

สำนวนนี้มีที่มาจากนิทานอีสปเรื่อง The Satyr and the Traveler หรือ เซเทอร์และนักเดินทางพเนจร (เซเทอร์ คือ สิ่งมีชีวิตในเทพนิยาย ท่อนล่างเป็นแพะ ท่อนบนเป็นคน แต่มีเขาและหนวดเคราเหมือนแพะ) เรื่องมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่งในฤดูหนาวอันหนาวเหน็บ มีชายพเนจรคนหนึ่งกำลังเดินฝ่าลมหนาวอยู่ในป่า เซเทอร์ตัวหนึ่งเห็นเข้าจึงเกิดสงสารและออกตัวว่าจะพากลับไปพักอุ่นๆ ที่บ้าน ระหว่างที่ทั้งสองกำลังเดินทางไปยังถ้ำที่เป็นบ้านของเซเทอร์ ชายพเนจรก็ยกมือขึ้นเป่าด้วยปาก เซเทอร์เห็นแล้วงงเพราะไม่ค่อยได้พบเห็นมนุษย์ จึงถามว่าทำอะไร ชายพเนจรก็บอกว่า เป่าเพื่อให้นิ้วอุ่น เซเทอร์ได้ยินคำตอบก็ทึ่งว่าทำไมมนุษย์ถึงเก่งจัง พอถึงบ้านปุ๊บ เซเทอร์ก็นำซุปร้อนๆ มาเสิร์ฟให้ ชายพเนจรก็ยกซุปขึ้นเป่าด้วยปากก่อนกิน พอเห็นเช่นนั้น เซเทอร์จึงถามว่า ท่านทำอะไร ชายพเนจรก็ตอบว่า เป่าเพื่อให้ซุปเย็นลง เซเทอร์ได้ยินเข้าก็กลัวและไม่ไว้ใจที่มนุษย์ใช้ลมหายใจเป่าให้ของร้อนหรือเย็นก็ได้ 

นิทานเรื่องนี้จึงทำให้เกิดสำนวน blow hot and cold หมายถึง ปรวนแปร รวนเร เปลี่ยนใจไปมา เอาแน่เอานอนไม่ได้ คาดเดาลำบาก ตัวอย่างเช่น เราชวนเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งไปเที่ยวต่างประเทศด้วยกัน แต่เพื่อนคนนี้แทนที่จะตัดสินใจให้เสร็จๆ แล้วบอกเราว่าจะไปหรือเปล่า กลับมาบอกเราวันหนึ่งว่าจะไป แต่พอวันรุ่งขึ้นบอกว่าไม่ไป เปลี่ยนใจไปมา แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า My co-working has been blowing hot and cold about the trip. I think we should go without her. ก็คือ อีนี่ลำไยเหลือเกิน เราไปกันเองเหอะ  

Cold comfort

คำว่า cold เป็นหนึ่งในคำที่อยู่ในภาษาอังกฤษมานาน ทั้งความหมายหลักที่แปลว่า เย็น ยังผูกกับประสาทสัมผัสขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน จึงทำให้เกิดความหมายเชิงเปรียบเทียบผุดขึ้นมามากมาย 

ในที่นี้ cold ไม่ได้หมายถึง อุณหภูมิต่ำ แต่หมายถึง ชวนหดหู่ ชวนเศร้า อึมครึม (ซึ่งก็โยงกับบรรยากาศหรืออารมณ์ของผู้คนในฤดูหนาว) เมื่อมารวมกับ comfort ที่หมายถึง การปลอบโยน จึงหมายถึง สิ่งที่ควรจะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นแต่ก็ไม่ได้ช่วยจริงๆ สิ่งที่ควรจะทำให้เราดีใจแต่ด้วยสถานการณ์แล้วก็ไม่ช่วยให้เราดีใจ หรือสิ่งปลอบโยนที่ไม่ได้ช่วยปลอบโยน (ตั้งเป็นชื่อเพลงใหม่ของ Getsunova ได้นะเนี่ย) ตัวอย่างเช่น เราสอบตกติดเอฟ แล้วครูมาบอกว่า ไม่ต้องเสียใจไป อย่างน้อยเธอไม่ใช่คนที่คะแนนต่ำสุดในห้อง แบบนี้ก็เหมือนจะชวนให้ดีใจที่มีคนคะแนนต่ำกว่าเรา แต่รู้ไปก็ไม่ได้ทำให้อะไรๆ ดีขึ้น ก็ยังสอบตกอยู่ดี แบบนี้ก็อาจจะบอกว่า Thanks for telling me, but that’s cold comfort

Get cold feet

สำนวนนี้ไม่ได้หมายถึงอุณหภูมิบริเวณเท้าลดฮวบจริงๆ แต่หมายถึง ประหม่า อยู่ๆ ก็เกิดกลัวขึ้นมาก่อนต้องลงมือทำอะไร เรียกอีกอย่างว่า ปอดแหกกะทันหัน ตัวอย่างเช่น เจ้าสาวหรือเจ้าบ่าวที่กำลังจะเข้างานวิวาห์แล้วเกิดกลัวขึ้นมา ตั้งคำถามกับตัวเองไปต่างๆ นานาว่าคนนี้ใช่เนื้อคู่จริงๆ หรือเปล่า จะไปด้วยกันตลอดรอดฝั่งไหม แต่งงานไปแล้วจะร้างรากันหรือเปล่า จนทำให้ตัวเองกังวลและกลัว แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า They got cold feeton their wedding day. หรือแม้แต่อาการประหม่าก่อนขึ้นเวทีหรือตื่นเวที (stage fright) ก็ใช้สำนวนนี้ได้ เช่น I always get cold feetbefore going on stage. 

ความน่าสนใจของสำนวนนี้ก็คือมีที่มาไม่แน่ชัด บ้างก็บอกว่ามาจากเพราะทหารชอบอ้างว่าเท้าเย็นจนเดินไม่ไหวเพื่อจะได้ไม่ต้องไปออกรบ แต่บ้างก็บอกว่าเป็นสำนวนนี้มีจากนิยายเยอรมันเล่มหนึ่ง ในเรื่องมีตัวละครหนึ่งที่เป็นนักเล่นไพ่ที่กำลังดวงขึ้นสุดๆ แต่กลัวว่าถ้าเล่นต่อจะเริ่มดวงตก ก็เลยขอถอนตัวออกจากวงไพ่ด้วยการบอกว่าหนาวเท้า ว่ากันว่าเมื่อมีการแปลนิยายเล่มนี้มาเป็นภาษาอังกฤษ ผู้แปลก็ถ่ายสำนวนนี้ไว้ตรงตัวว่า หนาวเท้า หรือ cold feet ทำให้คนเริ่มนำไปใช้เป็นสำนวนว่า ปอดปหกกะทันหัน ไม่กล้าลงมือทำอะไรบางอย่างขึ้นมา

Cold turkey

สำนวนนี้ใช้กับการเลิกทำบางสิ่งบางอย่างที่ทำมานาน แต่เป็นการเลิกแบบหักดิบ คือไม่ได้ค่อยๆ ลดปริมาณลงจนเลิกไปในที่สุด แต่หยุดโดยทันทีแบบไม่มีช่วงให้ได้ปรับตัว เดิมทีแล้วใช้กับการเสพยาหรือสารเสพติด (เช่น Those who quit smoking cold turkeyrarely succeed. คือ คนที่หยุดสูบบุหรี่แบบหักดิบน้อยคนที่จะเลิกได้สำเร็จ) แต่ในปัจจุบันใช้กับอะไรก็ได้ที่เราทำจนติดเป็นนิสัย เช่น สมมติเราเสพติดชานมไข่มุกมาก ถ้าไม่ได้วันละแก้วตอนบ่ายแล้วใจหวิว รู้สึกน้ำตาลตก แต่วันหนึ่งเราตัดสินใจลุกขึ้นมาให้คำมั่นกับตัวเองว่าจะไม่กินชานมไข่มุกอีกเด็ดขาด แบบนี้ก็อาจจะบอกว่า I’m giving up bubble tea cold turkey!

ส่วนที่ไก่งวงมาเกี่ยวกับการหยุดเสพสารเสพติดได้อย่างไรนั้น ก็ยังไม่มีใครฟันธงได้แน่ชัด บ้างก็อธิบายไว้ว่าคนที่เลิกเสพเหล้าเลิกยาแบบหักดิบแล้วลงแดง จะมีอาการร้อนๆ หนาวๆ บางช่วงก็จะเหงื่อซึมทั้งที่รู้สึกหนาวสั่น แถมขนยังลุกซู่ ดูแล้วเหมือนหนังไก่งวงที่ถอนขนแล้ว บ้างก็บอกว่า cold turkey คือไก่งวงที่เสิร์ฟแบบโง่ๆ ไม่ต้องผ่านกระบวนการหรือตกแต่งให้วิจิตรพิสดารแต่อย่างใด เลยกลายมามีความหมายว่า ตรงๆ ทื่อๆ ไม่ต้องพิธีรีตองใดๆ แต่บางสายก็บอกว่า สำนวนนี้มาจากสำนวน talk cold turkey ซึ่งหมายถึง พูดแบบไม่อ้อมค้อม ไม่ต้องตกแต่งคำพูดคำจาให้สวยหรูดูดีเกินจริง ความตรงไปตรงมานี้เลยถูกมาใช้ในบริบทการเลิกยา ก็คือเลิกเลยตรงๆ บอกว่าเลิกก็คือหยุดเสพเลย

บรรณานุกรม

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nded. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Taggart, Caroline. An Apple a Day: Old-fashioned Proverbs and Why They Still Work. Michael O’ Mara Books: London, 2009.

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0