โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

The End of the F***ing World 2 - ฉันควรทำยังไงกับความเจ็บปวด - เพจ Kanin The Movie

TALK TODAY

เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 17.00 น. • เพจ Kanin The Movie

( บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ ) 

ต้องยอมรับว่า The End of the F***ing World กลายเป็นหนึ่งในซีรีส์ที่เซอร์ไพรซ์เรามาก ๆ ของปีที่ผ่านมา เรื่องราว คอมเมดี้-ดราม่า ของวัยรุ่นมีปัญหาสองคนที่ตัดสินใจหนีออกจากบ้านก่อนจะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่เหนือการควบคุม กลายเป็นหนัง Road Trip / Coming of Age ที่สนุกและมากไปด้วยเสน่ห์จากองค์ประกอบทุกส่วน ตั้งแต่ ตัวละคร บทพูด งานภาพ เพลง หรือวิธีการเล่าเรื่อง แม้ซีรีส์จะมีความยาวตอนละไม่ถึงครึ่งชั่วโมง (กับจำนวน 8 ตอน) แต่ก็สามารถสร้างความผูกพันและสื่อสารทางความรู้สึกกับเราได้อย่างเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะเรื่องของ “ความเจ็บปวด” นี่แหละ 

สารภาพตามสัตย์จริง เราไม่ค่อยอยากให้ The End of the F***ing World มีซีซั่นสองเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุผล (ทางความรู้สึก) ที่ว่า 1) บทสรุปจบลงตัวแล้ว และ 2) กลัวสิ่งที่ภาคแรกสร้างไว้จะถูกทำลายทั้งหมด กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่าการหาทางไปต่อให้กับชีวิตของ เจมส์ และ เอลิซซ่า นี้น่าพึงพอใจไม่น้อย มันไม่เพียงแต่มีพล็อตหรือประเด็นใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเท่านั้น แต่ซีรีส์ยังโน้มน้าวให้เราเชื่อว่ามันคือ “ส่วนต่อขยาย” ที่จำเป็นต่อเรื่องราวชีวิตของตัวละครด้วย แน่นอนว่าซีซั่น 2 มีหลาย ๆ ส่วนที่ยังไม่กลมกล่อมนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้กลับไปสอดส่องและสำรวจชีวิตของหนุ่มสาวที่ผ่านพ้นโศกนาฏกรรมมา มันทำให้ทุกอย่างดูมีวุฒิภาวะขึ้นมากซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญของภาคนี้ที่พาย้อนทุกคนกลับไปยังจุดเริ่มต้นผ่านมุมมองใหม่ในฐานะ “ผู้รับผิดชอบ” 

อาจจะชวนเหวอไม่น้อยที่เปิดมาอีพีแรกซีรีส์กลับแนะนำให้เรารู้จักกับ บอนนี่ ตัวละครใหม่ของเรื่อง เธอไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับ เจมส์ หรือ เอลิซซ่า นอกเหนือจากความแค้นที่พวกเขาฆ่าศาสตราจารย์ ไคลฟ์ คนรักของเธอ ด้วยความหวังที่ บอนนี่ ตั้งใจจะใช้ชีวิตร่วมกับ ไคลฟ์ ขัดขวางทุกปัญหาที่เธอเชื่อว่าจะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างตนกับอาจารย์ (กระทั่งขับรถชนหญิงสาวที่หลับนอนกับเขาจนต้องติดคุก) ทั้งหมดอาจจะฟังดูเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นความรักที่ดูงี่เง่าขาดสติ แต่ถ้าคุณจะตัดสินเธอแบบนั้น เราอาจต้องย้อนกลับไปทบทวนถึงจุดเริ่มต้นของ เจมส์ และ เอลิซซ่า ด้วยเช่นกัน

บอนนี่ เติบโตมาในครอบครัวที่มีสภาวะอึดอัด อยู่บนความกดดันจากความคาดหวังของแม่ที่อยากให้เธอเรียนดีและเป็นสุภาพสตรีในแบบฉบับตน บอนนี่ ใช้ชีวิตกับการถูกลงโทษ เมื่อใครกระทำสิ่งใดก็ต้องได้รับผลตอบแทนจากสิ่งนั้น ความคิดดังกล่าวเติบโตขึ้นพร้อม ๆ กับการขาดความรัก ความต้องการที่จะได้รับความรักแต่ตัวเองก็ไม่รู้เช่นกันว่าความรักนั้นมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร การได้เจอกับ ไคลฟ์ จึงเหมือนเป็นการถูกเติมเต็มส่วนที่ไม่เคยมีอยู่ เธอไม่รู้ว่าความรักนั้นต้องรับมืออย่างไรแต่เธอรู้สึกดีที่ได้มีมัน เพราะมันทำให้เธอได้มีตัวตนเสียที

“ฉันเคยรู้สึกเหมือนไม่มีตัวตนจริง เหมือนฉันมีแต่ความว่างเปล่า  

แต่เมื่อคุณตกหลุมรัก ความรู้สึกว่างเปล่านั้นก็ถูกกลืนกินด้วยความรู้สึกบางอย่างไป” 

แม้ตัวละคร บอนนี่ ไม่ได้เขียนมาเพื่อโดดเด่นเทียบเท่ากับ เจมส์ หรือ เอลิซซ่า แต่เธอก็มีประเด็นน่าสนใจและรับใช้กับเรื่องราวของ The End of the F***ing World 2 ได้เป็นอย่างดี การทำซ้ำเส้นเรื่องจากภาคแรกเพื่อนำเสนอ “โศกนาฏกรรมอุบัติเหตุ” เป็นสิ่งที่ดี เช่นเดียวกับการที่เธอเป็นเหมือนตัวแทนบทลงโทษที่วนกลับมาเพื่อย้ำเตือนบาดแผลที่หนุ่มสาวทั้งสองเคยก่อขึ้นและแบกรับไว้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด บอนนี่ คือตัวละครที่ทำให้เราเห็นว่าหากชีวิตไม่สามารถหลุดพ้นจาก “พื้นที่ของความเจ็บปวด” ได้จะนำไปสู่ผลลัพธ์อะไร ซึ่งมันสะท้อนกลับมายังสภาวะครึ่ง ๆกลาง ๆ (จนหลงทาง) ของ เจมส์ และ เอลิซซ่า ได้เป็นอย่างดี

หลายคนอาจไม่ได้นึกสงสัยว่าชีวิตของ เจมส์ กับ เอลิซซ่า หลังจาก “วันนั้น” จะเป็นอย่างไร (หรือกระทั่งจำเป็นต้องรู้มั้ย) ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้สร้างต้องทำให้เห็นว่าภายหลังเรื่องแสนชุลมุนคอขาดบาดตายนั้นยังมีเรื่องราวและเส้นทางที่สามารถไปต่อได้อยู่ ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นจริง ๆ ในซีซั่น 2 เราจะได้พบกับ เจมส์ และ เอลิซซ่า ในเวอร์ชั่นที่ต่างออกไป พวกเขาดูเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะขึ้น และในขณะเดียวกันความบ้าบิ่นโลดโผนตามประสาเด็กก็ถดถอยน้อยลงไป เราได้เห็นพวกเขาตั้งคำถามกับอนาคตมากขึ้น เริ่มพยายามจะปรับตัวเองให้เข้าที่เข้าทาง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตพวกเขากลับมาปกติแม้ทั้งคู่จะรู้ดีว่าสิ่งที่ต้องการที่สุดคือคำว่ากันและกัน

ภายหลังจากการถูกยิง เจมส์ พยายามกลับมาใช้ชีวิตธรรมดาของตัวเองกับพ่อที่เริ่มใส่ใจเขามากขึ้น ทั้งสองเหมือนจะไปด้วยกันได้ดีในฐานะการเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ แต่แล้วพ่อเขาก็เสียชีวิตกะทันหันจากอาการหัวใจวาย แม้จะไม่เหมือนกับ แม่ ของเขาที่ฆ่าตัวตายแต่การสูญเสียนี้ทำให้ เจมส์ มีเพียง เอลิซซ่า คนเดียวในชีวิต เช่นกัน ภายหลังถูกจับกุม เอลิซซ่า ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่กับแม่ในบ้านนอกตัวเมืองของญาติ เธอเริ่มต้นทำงาน เริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ และตัดสินใจแต่งงานกะทันหันจนไม่มีใครตั้งตัว ทุกอย่างเหมือนจะโอเคและเป็นไปตามแผนจนกระทั่งเธอพบว่า เจมส์ แอบคอยตามดูเธอมาโดยตลอด การกลับมาเจอกันอีกครั้งพาให้ทั้งสองมีโอกาสได้ทบทวนและหาคำตอบกับสิ่งต่าง ๆ อีกครั้งจากทุกเรื่องที่ยังคงค้างคาไม่หายไปแม้จะผ่านมาเป็นปีแล้วก็ตาม

หากซีซั่นแรกเป็นการฉายภาพสิ่งต่าง ๆ ที่หนุ่มสาวสองคนลงมือทำ ซีซั่นสองก็คงว่าด้วยการรับมือและเผชิญหน้ากับผลลัพธ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงของตนเอง ตั้งแต่ต้นจนจบเราแทบจะไม่ได้เห็น เจมส์ กับ เอลิซซ่า ใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงหรรษาเดินทางไปมาแบบครั้งก่อนนัก แน่นอนว่ามันยังคงมีสถานการณ์ชุลมุนวุ่น ๆ เกิดขึ้นเป็นระยะ รวมถึงการระหกระเหินไปตามปลายทางต่าง ๆ ที่พวกเขาเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะไปไหนดี การแวะที่นั่น ที่นี่ หากแต่ไม่ใช่ที่ที่พวกเขาควรจะไปตั้งแต่แรกสักทีนั้นน่าสนใจไม่น้อย มันกลายเป็นว่าความ Road Movie ในซีซั่นนี้ถูกใช้เพื่อบอกเล่า “การหลงทาง” ของตัวละครเสียมากกว่า ซึ่งมันเวิร์คมาก ๆ เพราะการบอกว่า “ไปไหนก็ได้” ในซีซั่นแรกนั้นให้ความหมายและความรู้สึกคนละแบบกับซีซั่นนี้ พวกเขาเติบโตขึ้นและต้องการจะมีชีวิตเป็นของตัวเอง พวกเขารู้สึกว่าตัวเองได้รับโทษที่สาสมแต่มันอาจไปไกลมากกว่านั้น พวกเขาได้พบกับ บอนนี่ และในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องจัดการกับความเจ็บปวดที่ยังจางหายไปไม่หมด

หนึ่งในฉากที่ชอบที่สุดของซีรีส์คือตอนที่ บอนนี่ สนทนากับ เจมส์ และ เอลิซซ่า ในตอนท้าย เธอพูดเรื่องของการชดใช้ เรื่องของการลงโทษ แต่กลับถูกหนุ่มสาวทั้งสองสวนกลับว่า “ไม่คิดเหรอว่าพวกฉันถูกลงโทษไปแล้ว” เพราะสำหรับ เจมส์ และ เอลิซซ่า เธอเองก็มีเรื่องที่ต้องแบกรับไม่ต่างกับที่ บอนนี่ เผชิญหน้า การที่เธอสูญเสียคนรักจากฆาตกรรมไม่ได้ทำให้เธอเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งนั่นเป็นใจความสำคัญที่ดีใน The End of the F***ing World ที่พยายามพูดถึงความเจ็บปวดในหลากหลายมุมมอง

ชีวิตเต็มไปด้วยสิ่งที่เราสามารถเลือกได้ และเลือกไม่ได้ เอลิซซ่า พูดกับตัวเองถึงเรื่องนี้อย่างถึงแก่นในตอนท้ายเรื่อง มันคงจะดีกว่าถ้าเราคิดว่าตัวเองไม่มีอำนาจควบคุมสิ่งใด ๆ ได้เสมอไป เพราะมันไม่ใช่แบบนั้น ซึ่ง The End of the F***ing World พูดเรื่องนี้อยู่เสมอมาตั้งแต่ซีซั่นแรก การต้องแบกรับความเจ็บปวดที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนก่อหรือกระทั่งตั้งใจทำ แบกมันอยู่อย่างนั้นด้วยความรู้สึกสับสนและไม่สมเหตุสมผล การที่ เอลิซซ่า ต้องเจอกับครอบครัวชวนประสาทเสีย การที่ เจมส์ ต้องไร้ความรู้สึกเพราะสูญเสียแม่ หรือการที่ทั้งสองมีส่วนร่วมในคดีฆาตกรรม ซีซั่นสองได้ขยายเรื่องเหล่านี้ให้เราเห็นชัดขึ้นผ่าน บอนนี่ ที่เธอเองก็ต้องแบกรับความรู้สึกที่ตนไม่ได้เป็นคนสร้างขึ้นเช่นกัน การยอมรับและเข้าใจว่าบางทีชีวิตก็เกิดขึ้นเพราะมีบางสิ่งผ่านเข้ามา (ไม่ใช่แค่การที่เราก้าวออกไปเผชิญ) ก็อาจจะช่วยให้เราสติแตกได้น้อยลงอยู่ไม่น้อย

The End of the F***ing World 2 ไม่ได้ถึงกับเป็นการสานต่อที่เพอร์เฟคสมบูรณ์แบบ แต่ก็อยู่ห่างไกลจากคำว่าผิดหวังพอสมควร การได้เห็น เจมส์ และ เอลิซซ่า เติบโตขึ้น เริ่มเสาะหาหนทางที่จะปักหลักชีวิตอีกครั้งท่ามกลางซากปรักหักพังของใจเป็นอะไรที่ชวนคล้อยตามได้ไม่ยาก เช่นเดียวกับเส้นเรื่องความรักของทั้งคู่ที่ชวนลุ้นสุดใจอยู่เช่นกัน (ความน้อยแต่เยอะของซีซั่นนี้ดีมาก ๆ สัดส่วนเกือบทั้งเรื่องหมดไปกับการใจแข็ง ปากแข็ง ไม่ยอมพูดกัน) และเหนือสิ่งอื่นใด การตอกย้ำกับคำว่า “โลกแตก” ของซีซั่นนี้มันงดงามจริง ๆ ชีวิตบางจังหวะที่อาจดูเลวร้ายราวกับเป็นจุดจบของโลก แท้จริงแล้วก็เป็นแค่เศษความเศร้าส่วนหนึ่งในเรื่องราวมากมายที่ถาโถมกัน กระนั้น การจะบอกว่าความเจ็บปวดนั้นช่างแสนสาหัสราวกับเป็น The End of the World ก็คงไม่ผิดนัก แต่ท้ายที่สุดมนุษย์ก็ต้องหาทางอยู่ร่วมกับความเจ็บปวด ปรับสมดุล ตามหาความพอดีให้กับชีวิต อันเป็นสิ่งสำคัญที่ซีรีส์ทั้งสองซีซั่นนี้พูดถึง: เราจะอยู่ร่วมกับความเจ็บปวดได้อย่างไร? แน่นอนว่าไม่มีใครให้คำตอบได้ แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับว่าเรายังต้องการอยู่หรือเปล่า 

.

.

ติดตามบทความของเพจ Kanin The Movie ได้บน LINE TODAY ทุกวันพุธ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0