โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

TDRI เผยวิธีทิ้งหน้ากากอนามัยให้ปลอดภัยกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 21 เม.ย. 2563 เวลา 06.15 น. • BLT Bangkok
TDRI เผยวิธีทิ้งหน้ากากอนามัยให้ปลอดภัยกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เผยแพร่รายงานการทิ้งหน้ากากอนามัยให้ปลอดภัยกับสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยภายในเนื้อหาจะมีตั้งแต่การจัดการหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งสำหรับประชาชน ไปจนถึงการเสนอนโยบายการรับมือกับปัญหาขยะติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นนี้ต่อภาครัฐ

การใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น 1.56 ล้านชิ้น / วัน

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เพราะนอกจากหน้ากากอนามัยจะถูกใช้ทางการแพทย์มากขึ้นแล้ว ประชาชนทั่วไปก็ยังมีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยมากขึ้นเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสด้วย โดยความต้องการใช้หน้ากากอนามัยในช่วงก่อนโควิด-19 จะอยู่ที่ประมาณ 0.8 ล้านชิ้น/วัน ในขณะที่ความต้องการใช้หน้ากากอนามัยในช่วงหลังมีโควิด-19 อยู่ที่ 1.56 ล้านชิ้น/วัน ซึ่งเห็นว่ามีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และหมายความว่าในแต่ละวันปริมาณขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวทิ้งก็มีจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

หน้ากากอนามัยจัดเป็นขยะติดเชื้อ

การที่หน้ากากอนามัยถูกจัดให้เป็นขยะติดเชื้อ เพราะเป็นขยะที่ปนเปื้อนไปด้วยเสมหะ, น้ำลาย, และน้ำมูกของบุคคลผู้ใช้ ทั้งยังอาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากบุคคลผู้เป็นพาหะนำโรคได้ และการคัดแยกอย่างไม่ถูกวิธีจะส่งผลให้พนักงานเก็บขยะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโรคต่าง ๆ และเมื่อขยะถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เช่น เทกองกลางแจ้ง ก็อาจเพิ่มโอกาสที่เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายไปยังคนในชุมชนทั้งทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากหน้ากากอนามัยมีองค์ประกอบที่ผลิตจากวัสดุย่อยสลายยากหลายประเภท

มาตรการจัดการหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งในประเทศไทย

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรุงเทพมหานครได้ออกมาประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนว่าสามารถทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี และสร้างความสะดวกสบายให้กับเจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาจัดการไว้ดังนี้
- นำหน้ากากอนามัยใช้แล้วบรรจุใส่ถุงที่ปิดสนิท
- มัดปากถุงให้แน่นพร้อมติดข้อความหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย”
- ให้รถเก็บขนขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัด

นอกจากนี้ทางกรุงเทพฯยังจัดให้มีถังรองรับหน้ากากอนามัย (ถังสีแดง) โดยเฉพาะในหลายจุด เช่นสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพฯ 11 แห่ง และศาลาว่าการกรุงเทพฯ เป็นต้น อีกทั้งรายงานยังได้มีการเสนอว่าในส่วนของหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน
สถานประกอบการ และอาคารชุดจำเป็นต้องจัดให้มีถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วโดยเฉพาะ และควรรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้หน้ากากผ้ากันมากขึ้น เพื่อลดปริมาณขยะติดเชื้อ และสามารถจัดสรรส่วนหน้ากากอามัยไว้ให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสจริง ๆ ได้มากขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0