โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Stockholm: The Open City เมื่อสตอกโฮล์มเปิดรับและยินดีต้อนรับคุณในแบบที่คุณเป็น

a day magazine

อัพเดต 19 พ.ย. 2562 เวลา 17.09 น. • เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 17.09 น. • Little Thoughts

‘ฉันไม่สนว่าคุณเป็นใคร มาจากที่ใด โหวตให้ใคร นามสกุลใหญ่แค่ไหน ไม่สนด้วยว่าคุณจะหัวก้าวหน้าหรืออนุรักษ์

ฉันไม่สนว่าคุณรักหรือรังเกียจใคร ไม่สนว่าคุณจะรวย จน หรืออยู่ตรงกลาง

ไม่สนว่าคุณจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรืออยู่ตรงกลางเช่นกัน

ฉันไม่สนด้วยซ้ำว่าคุณจะรู้สึกยังไงกับฉัน ไม่ว่าคุณจะรักฉัน เกลียดฉัน หรือยังไม่ได้ตัดสินใจ

ฉันยินดีต้อนรับคุณอยู่ดี อย่างที่คุณเป็น พร้อมกับความฝัน ความเชื่อ ความกังขา ไปจนถึงอคติของคุณ’

 

คือข้อความโปรโมตแคมเปญStockholm: The Open City ของเมืองสตอกโฮล์มที่ออกมาเมื่อต้นปี2018 ซึ่งถือว่าช้ามาก

ไม่เพียงเพราะว่ามันเป็นแคมเปญที่หลายเมืองใช้กันมาก่อนหน้า รวมถึงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟินแลนด์

แต่เป็นเพราะว่าหากจะมีเมืองใดในโลกที่เหมาะสมจะใช้แคมเปญ ‘เมืองเปิด’ นี้ที่สุด หนึ่งในนั้นควรเป็นสตอกโฮล์มอย่างไม่ต้องสงสัย

 

แต่งตั้งสามัญชนต่างชาติเป็นกษัตริย์

เมื่อพูดถึงสตอกโฮล์ม หลายคนอาจนึกถึง Greta Thunberg กับแคมเปญClimate Strike ของเธอ หรือไม่ก็อาจนึกถึงรางวัลโนเบลที่จัดพิธีมอบกันเป็นประจำทุกปีในวันที่10 ธันวาคม ณ เมืองแห่งนี้ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสวีเดนเป็นผู้พระราชทาน

หรือไม่ก็นึกถึงความเรียบง่ายของสมเด็จพระราชาธิบดี รวมถึงสมาชิกราชวงศ์แบร์นาดอตต์แห่งสวีเดนนี้เอง

ย้อนกลับไปราวสองร้อยปีก่อน ประวัติศาสตร์ใหม่ของสวีเดนเริ่มต้นขึ้นภายใต้ราชวงศ์แบร์นาดอตต์ ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายกษัตริย์สวีเดนมาจนปัจจุบัน

มันคือต้นศตวรรษที่19 และสงครามนโปเลียนกำลังปะทุในยุโรป กษัตริย์สวีเดนในเวลานั้นคือพระเจ้าคาร์ลที่13 มีพระชนมายุ61 พรรษา และมีพระพลานามัยอ่อนแอ คงไม่ใช่เรื่องใหญ่หากทายาทที่มีไม่ชิงลาโลกไปก่อน ส่วนโอรสบุญธรรมชาวเดนมาร์กที่รับมาเลี้ยงเพื่อเป็นรัชทายาทก็ชิงตายไปก่อนเช่นกัน

เรื่องประหลาดก็คือ อยู่ดีๆ ส้มก็หล่นใส่จอมพลชาวฝรั่งเศสJean-Baptiste Bernadotte ผู้เป็นสามัญชน เขากลายเป็นรัชทายาทองค์ใหม่

แม้ในเวลานั้นนโปเลียนมักส่งญาติไปเป็นกษัตริย์ตามดินแดนต่างๆ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ดำริของเขา หากเป็นความคิดของมหาดเล็กคนสนิทของพระเจ้าคาร์ลในเวลานั้น เหตุผลสำคัญคือสวีเดนต้องการความแข็งแกร่งของฝรั่งเศส กับอีกอย่างหนึ่งคือแบร์นาดอตต์ยินยอมที่จะเข้านิกายลูเทอรันอันเป็นนิกายหลักของสวีเดนด้วย

เมื่อพระเจ้าคาร์ลที่13 เสด็จสวรรคตในปี1818 จอมพลชาวฝรั่งเศสจึงขึ้นพระเจ้าคาร์ลที่14 โยฮันแห่งสวีเดน และเริ่มต้นราชวงศ์แบร์นาดอตต์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ที่พักพิงสำหรับเหยื่ออธรรม

นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาท การเมืองสวีเดนก็อยู่ในมือของแบร์นาดอตต์ แม้สวีเดนจะมอบตำแหน่งรัชทายาทเพื่อหวังให้เขาในฐานะพลทหารชาวฝรั่งเศสช่วยยึดฟินแลนด์จากรัสเซียที่คานอำนาจกันอยู่กับฝรั่งเศส แต่กลายเป็นว่าเขากลับร่วมมือกับรัสเซียเพื่อสู้กับนโปเลียนด้วยการยกฟินแลนด์ใหัรัสเซียหน้าตาเฉย

เป้าหมายของรัสเซียคือต้องการฟินแลนด์ไปเป็นดินแดนกันชน สิ่งที่เป็นการแลกเปลี่ยนก็คือการที่รัสเซียช่วยสวีเดนยึดนอร์เวย์มาจากเดนมาร์กซึ่งในขณะนั้นเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ที่สำคัญคือแบร์นาดอตต์หวังว่าจะได้ขึ้นครองฝรั่งเศสเมื่อนโปเลียนพ่ายแพ้ด้วยนั่นเอง

เมื่อสงครามนโปเลียนสิ้นสุดลงในปี 1814 และการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาเพื่อหาหนทางในการ‘อยู่ร่วมกันในยุโรปอย่างสันติ‘ สิ้นสุดลงในปี1815 สวีเดนก็ถือนโยบายเป็นกลาง นั่นคือไม่ทำสงครามกับใครนับแต่นั้น โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ความเป็นกลางอย่างเป็นทางการของสวีเดนกลายเป็นภาพจำและจุดขายมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ในอีกแง่หนึ่ง การวางตัวเป็นกลางนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นการฝักใฝ่ทั้งสองฝ่ายมากกว่าจะเรียกว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นการขายสินแร่ที่ใช้ในสงครามให้เยอรมนี พร้อมกับเปิดทางให้เยอรมนีผ่านจากนอร์เวย์ไปสวีเดน หรือการช่วยฝึกอาวุธให้ผู้อพยพชาวเดนมาร์กและนอร์เวย์เพื่อไปปลดปล่อยดินแดนของตนจากเยอรมนี

เช่นเดียวกับความจริงที่ว่า การที่สวีเดนคงความเป็นกลางไว้ได้ ในขณะที่ประเทศอื่นแม้จะเป็นกลางในตอนแรกแต่ก็ถูกบังคับให้เข้าร่วมสงครามในตอนหลังนั้น ทำเลที่ตั้งที่อยู่เหนือขึ้นไปบนคาบสมุทรสแกนดิเนเวียก็มีส่วนช่วยไม่น้อย เพราะคู่สงครามทั้งสองฝ่ายไม่มีความจำเป็นต้องแย่งชิงพื้นที่สวีเดนโดยไม่จำเป็น

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของสวีเดนในสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ การช่วยรับผู้อพยพชาวยิวจากทั่วทั้งยุโรป โดยเฉพาะชาวยิวในเดนมาร์ก ประเทศคู่แค้นตลอดกาลของสวีเดนมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ(สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวความแค้นระหว่างสวีเดนกับเดนมาร์ก สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยการค้นคำว่าBloodbath เหตุการณ์อันเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของฉาก The Red Wedding ในซีรีส์Game of Thrones)

เมืองหลวงของความหลากหลาย

ปัจจุบันประชากรกว่าหนึ่งในสี่ที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงอย่างสตอกโฮล์มคือผู้อพยพหรือครอบครัวผู้อพยพ โดยประชากรราวร้อยละ15 มีถิ่นกำเนิดนอกประเทศ คิดเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในเมืองแถบนอร์ดิกด้วยกัน ภาษาพูดที่ใช้กันในเมืองแห่งนี้จึงหลากหลาย ไล่ตั้งแต่ภาษาสวีเดน ฟินแลนด์ อังกฤษ ไปจนถึงตุรกี อารบิก เปอร์เซีย เคิร์ด และเซอร์เบีย โดยประชากรที่เกิดนอกประเทศกลุ่มใหญ่สุดมาจากฟินแลนด์ อิรัก และอิหร่าน

แน่นอนว่าเมื่อมีนโยบายรับผู้อพยพ ก็ย่อมมีความขัดแย้งในประเทศ ข่าวเหตุกราดยิงในสวีเดนน่าจะเคยผ่านตาหลายคนมาบ้าง สำหรับสตอกโฮล์ม เหตุการณ์ที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดน่าจะเป็นการประท้วงในปี2013 ที่เกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการประท้วงของกลุ่มเยาวชนผู้อพยพที่ไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุในการยิงผู้ต้องสงสัยในย่านที่มีผู้อพยพอยู่เป็นจำนวนมาก กับอีกครั้งในช่วงปลายปีที่กลุ่มนีโอนาซีเข้าทำร้ายการเดินขบวนของกลุ่มต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ

ในความเป็นจริงนโยบายรับผู้อพยพของสวีเดนนั้นใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย ด้วยความที่เป็นรัฐสวัสดิการที่ผู้คนจ่ายภาษีในอัตราสูงลิ่วและคาดหวังการดูแลอันครอบคลุมจากรัฐเป็นการตอบแทน เมื่อมีผู้อพยพที่ไม่ได้มีความสามารถในการสร้างรายได้และจ่ายภาษีเท่าชาวสวีเดนมาเป็นตัวหารสวัสดิการเพิ่ม เรื่องนี้จึงไม่น่าเป็นที่พอใจสำหรับชาวสวีเดนสักเท่าไหร่ และในที่สุดรัฐบาลจึงต้องเข้มงวดเรื่องการรับผู้อพยพมากขึ้น

แต่อย่างน้อยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่มีประชากรเพียง 10 ล้านคนนี้ก็รับผู้ลี้ภัยรวมถึงญาติของผู้อพยพไว้มากกว่า 400,000 ราย กล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่เอื้ออารีต่อผู้อพยพที่สุดในยุโรป

ในขณะที่คาดการณ์กันว่าประชากรในเมืองสตอกโฮล์มจะทะลุ 3 ล้านภายในปี2045 ซึ่งเป็นผลมาจากการรับผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานและซีเรีย ซึ่งหมายความว่าเมืองจะต้องเตรียมสถานศึกษาและที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับประชาการในอนาคต

บางทีแคมเปญเมืองเปิดของสตอกโฮล์มอาจเป็นการยืนยันกับตัวพวกเขาเองในความเป็นดินแดนแห่งสิทธิมนุษยชน ‘มากที่สุดเท่าที่จะทำได้’ นั่นเอง

อ้างอิง

World Population Review

Highlights

  • 'ฉันยินดีต้อนรับคุณอยู่ดี อย่างที่คุณเป็น' นี่คือข้อความส่วนหนึ่งของแคมเปญStockholm: The Open City ของเมืองสตอกโฮล์มที่ออกมาเมื่อต้นปี2018 
  • ประชากรกว่าหนึ่งในสี่ที่อาศัยอยู่ในสตอกโฮล์มคือผู้อพยพหรือครอบครัวผู้อพยพ ร้อยละ15 มีถิ่นกำเนิดนอกประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในเมืองแถบนอร์ดิกด้วยกัน และคาดการณ์กันว่าประชากรในเมืองสตอกโฮล์มจะทะลุ 3 ล้านคนภายในปี2045
  • และแคมเปญเมืองเปิดของสตอกโฮล์ม อาจเป็นการยืนยันการเป็นดินแดนแห่งสิทธิมนุษยชนให้ ‘มากที่สุดเท่าที่จะทำได้’ ของพวกเขานั่นเอง
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0