โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

Social Security 101 : รู้เรื่องประกันสังคม สิทธิที่ไม่ได้อยู่แค่ในมนุษย์เงินเดือน

Mango Zero

เผยแพร่ 08 ก.ค. 2562 เวลา 12.00 น. • Mango Zero
Social Security 101 : รู้เรื่องประกันสังคม สิทธิที่ไม่ได้อยู่แค่ในมนุษย์เงินเดือน

เหล่ามนุษย์เงินเดือนเคยสงสัยกันไหมว่า ยอดที่ถูกหักไปในสลิปเงินเดือนทุกเดือนอย่างประกันสังคม แท้จริงแล้วเราสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไรบ้างนอกจากการรักษาพยาบาล หรือแม้แต่เหล่ามนุษย์ฟรีแลนซ์ เคยสงสัยกันไหมว่าการเป็นนายจ้างตัวเองแบบนี้สามารถมีประกันสังคมกับเขาได้บ้างหรือไม่ วันนี้ Mango Zero พาทุกคนไปไขข้อสงสัยเกี่ยวกับประกันสังคม เอาให้หายสงสัยกันให้หมดทุกข้อเลยจ้าาาาา

ประกันสังคมคืออะไร

นอกเหนือจากสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตร 30 บาทแล้ว เรายังสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้จากอีกหนึ่งทาง นั่นก็คือประกันสังคม ถ้าเอาง่ายๆ ประกันสังคมก็คล้ายกับประกันสุขภาพของเรานี่แหละ แต่เปลี่ยนจากคนที่ยื่นสิทธิให้นั้นคือภาครัฐ ไม่ใช่บริษัทประกัน โดยถ้าเป็นพนักงานประจำก็จะมีนายจ้างช่วยจ่ายเงินสมทบตามกฎหมาย ส่วนสิทธิในการรักษาก็จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

ใครทำประกันสังคมได้บ้าง?

หลักๆ เลยก็คือคนที่มีรายได้ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ (ถ้าอายุมากกว่า 60 ปีแล้วยังทำงานอยู่จะไปอยู่ในอีกเงื่อนไขผู้ประกันตน) ซึ่งคนที่มีรายได้อาจจะเป็นลูกจ้างประจำ แรงงานนอกระบบ หรือคนที่เป็นฟรีแลนซ์ก็ได้ทั้งหมด แต่เงื่อนไขในประกันก็จะแตกต่างกันออกไปอีก

ประกันสังคมของลูกจ้างประจำ

เรียกคนกลุ่มนี้ว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยเบี้ยประกันจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากเงินเดือนที่ได้ คือ เราจ่าย 5% ของเงินเดือน นายจ้างจ่าย 5% ของเงินเดือน และรัฐจ่าย 2.75% ซึ่งอัตราเงินสมทบประกันสังคมปัจจุบันที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนต้องจ่ายก็คือไม่เกิน 750 บาท โดยในช่วงนี้ก็ยังมีข่าวเรื่องการปรับเพดานเงินสมทบเป็น 1,000 บาทออกมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

ความคุ้มครองของผู้ประกันตนตามมาตรา 33

มีทั้งหมด 7 กรณี ได้แก่

  • กรณีเจ็บป่วย และอุบัติเหตุ จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน สามารถเข้ารักษาฟรีที่โรงพยาบาลที่ลงทะเบียนเอาไว้ โดยไม่รวม 13 โรคยกเว้น กรณีฉุกเฉินสามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลอื่นและขอเบิกได้ เบิกค่าทันตกรรมได้ 900 บาทกรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และเบิกได้ 1,300-4,400 บาท กรณีทำฟันปลอมถอดได้ นอกจากนี้จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยและไม่ได้รับค่าจ้างในการทำงานตามที่กองทุนฯ กำหนด
  • กรณีทุพพลภาพ หรือพิการ จะได้รับเงินชดเชยเมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภาย 15 เดือนก่อนทุพพลภาพ กรณีทุพพลภาพรุนแรง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของเงินเดือน หรือหากพิการไม่รุนแรงจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยได้รับค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพทั้ง 2 กรณี
  • กรณีเสียชีวิต ได้รับเงินชดเชยเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ก่อนเดือนถึงแก่ความตาย โดยได้เป็นค่าทำศพ 40,000 บาท และหากจ่ายเงินสมทบมาตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ตามเกณฑ์ที่กำหนด เท่าค้าจ้างเฉลี่ย 2-6 เดือน
  • กรณีคลอดบุตร เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร โดยได้รับค่าคลอด 13,000 บาทต่อการคลอด 1 ครั้ง และเงินชดเชยกรณีต้องหยุดงาน 50% นาน 90 วัน (เงินชดเชยเฉพาะบุตร 2 คนแรก)
  • กรณีสงเคราะห์บุตร เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนมีบุตร โดยบุตรอายุตั้งแต่ 0-6 ปี ได้รับเงินเดือนละ 400 บาทต่อคน ไม่เกิน 3 คน
  • กรณีชราภาพ เมื่อผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปีขึ้นไป โดยแบ่งเป็นบำเหน็จแก่คนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12-180 เดือน และบำนาญแก่คนที่จ่ายเงินสมทบ 180 เดือนขึ้นไป โดยเงินที่ได้คิดตามเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เงินประกันสังคมไปอยู่ที่ไหน? ในวันที่เราเกษียณอายุ
  • กรณีว่างงาน เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน โดยว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป โดยได้รับเงินชดเชย 30-50% ของค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าลาออกหรือถูกเลิกจ้าง

ประกันสังคมสำหรับฟรีแลนซ์

ฟรีแลนซ์ก็ทำประกันสังคมได้! โดยมีอยู่ด้วยกัน 2 กรณี คือ

มาตรา 39 : ลาออก แต่ยังอยากจ่ายประกันสังคมต่อ

คือคนที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือว่ากันง่ายๆ คือเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อน โดยต้องเคยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้องกว่า 12 เดือน และสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 หลังจากลาออกไม่เกิน 6 เดือน จ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท คุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ ต่อจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33

มาตรา 40 : ไม่เคยมีประกันสังคมมาก่อน

สามารถรับความคุ้มครองได้ 3 แบบคือ

  • คุ้มครอง 3 กรณี จ่ายเดือนละ 70 บาท ได้รับความคุ้มครอง คือ เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต
  • คุ้มครอง 4 กรณี จ่ายเดือนละ 100 บาท ได้รับความคุ้มครอง คือ เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และกรณีชราภาพ
  • คุ้มครอง 5 กรณี จ่ายเดือนละ 300 บาท คือ เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ

ทั้งนี้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องใช้สิทธิรักษาพยาบาลด้วยบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองเท่านั้น

FAQ

เช็คสิทธิรพ. ที่สังกัดยังไง?

เข้าไปที่ http://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml กรอกเลขบัตรประชาชนและวัน เดือน ปีเกิด ระบบจะแจ้งว่าสิทธิการรักษาพยาบาลของเราอยู่ที่โรงพยาบาลใด

ขอเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ไหม?

เปลี่ยนได้!! โดยสามารถเปลี่ยนได้ 3 กรณี คือ

  • เปลี่ยนโรงพยาบาลประจำปี ในช่วงวันที่ 1 มกราคมถึง 31 มีนาคมของปี
  • ย้ายที่อยู่
  • ย้ายสถานประกอบการ

โดยกรณีย้ายที่อยู่และย้ายสถานประกอบการสามารถทำในช่วงไหนของปีก็ได้ และใช้เวลาประมาณ 15 วันในการดำเนินเรื่อง

เข้าไปยื่นขอเปลี่ยนโรงพยาบาลกันได้ที่นี่เลย!! https://www.sso.go.th/wpr/

ประกันสังคมลดหย่อนภาษีได้ไหม?

ลดหย่อนภาษีได้ในผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา !! โดยผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 มีหนังสือรับรองที่เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมออกให้

ที่มา :สำนักงานประกันสังคม 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0