โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Social Distancing คืออะไร "เว้นระยะห่าง" อย่างไรให้ปลอดภัย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 09 เม.ย. 2563 เวลา 07.05 น. • เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 13.04 น.
Staff of food delivery companies sit on social distancing chairs due to coronavirus disease (COVID-19) outbreak, as they wait for their costumers' orders at a department store in Bangkok
REUTERS/Chalinee Thirasupa

Social distancing คือ การเว้นระยะทางกายภาพกับบุคคลอื่น ๆ ในสังคม แปลง่าย ๆ ก็คือ การอยู่ห่างจากคนอื่น ๆ ในสังคมเพียงพอที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อของโรคน้อยลง หรือช้าลง ทำให้ผู้ที่ปฏิบัติตามเทคนิคนี้ปลอดภัยมากขึ้น

นอกจากนี้ การเว้นระยะเช่นนี้ ยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขมีเวลาเตรียมความพร้อมในการรับมือผู้ป่วยจำนวนมากได้ ซึ่งใช้สำหรับทุกคนในสังคม รวมทั้งผู้ที่อาจจะยังไม่ได้มีการสัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือผู้สงสัยว่าอาจติดเชื้อโดยตรง

Social distancing เป็นหนึ่งในมาตรการลดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสามารถใช้ได้กับโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือจากการสัมผัสอื่น ๆ อีกด้วย

สิ่งที่สามารถทำได้เพื่อเว้นระยะจากผู้อื่น

1. การยืนนั่งห่างกันอย่างน้อย 1.5-2 เมตร (อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยที่เชื้อโควิด-19 สามารถแพร่ไปได้ ซึ่งตามคำแนะนำสากลส่วนใหญ่ คือ 6 ฟุต คิดเป็น 1.83 เมตร)

2. การปิดโรงเรียน หรืองดคลาสเรียน หันมาเรียนออนไลน์

3. งดการรวมตัวกันในสถานศึกษา ที่ทำงาน หรือสถานบันเทิงต่าง ๆ อาจมีการยกเลิกกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง เช่น งานเทศกาลสงกรานต์ หรือการรวมญาติในงานไหว้บรรพบุรุษในคนไทยเชื้อสายจีน (เช็งเม้ง) งานบุญ

4. ในห้องสมุด ควรจัดให้จองหนังสือออนไลน์ เดินไปรับแล้วออกไปอ่านเองในที่พัก หรืออ่านแบบอิเล็กทรอนิกส์

5. เปลี่ยนระบบการทำธุรกิจ โดยใช้การติดต่อทางโทรศัพท์ หรือออนไลน์เป็นหลัก หรือปรับเวลาการมาทำงานให้ยืดหยุ่น

6. หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยขนส่งที่มีคนหนาแน่น หรือใกล้ชิดกัน เช่น รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ เรือสำราญ หรือเครื่องบิน เป็นต้น

7. ลดความหนาแน่นในลิฟต์ อาจมีการตีเส้นแบ่งในลิฟต์เพื่อให้ยืนห่างกัน หันหน้าออกจากกัน เลี่ยงการพูดคุยในลิฟต์ หรือเน้นการเดินขึ้นบันได โดยเฉพาะถ้ามีอากาศถ่ายเทได้ดีกว่า

8. ทำงานที่บ้านแทนที่จะทำที่ทำงาน (work from home) ทำให้ลดการเดินทางมาทำงาน และการพบปะคนอื่นในที่ทำงาน ซึ่งเพิ่มทั้งโอกาสการรับและแพร่กระจายของเชื้อ

9. การเยี่ยมญาติหรือติดต่อสื่อสารกันทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทาง LINE หรือ video call ต่าง ๆ แทนการไปพบปะกันโดยตรง

10. การยกเลิก หรือเลื่อนงานสัมมนา หรืองานประชุมขนาดใหญ่ไปเลย ซึ่งพบได้มากในช่วงนี้ เช่น การยกเลิกการสัมมนาวิชาการกลางปีของสมาคมโรคติดเชื้อ เป็นต้น

11. ทานอาหารจานเดียว หรือสำรับอาหารสำหรับคนเดียว แทนที่จะนั่งกินรวมกันเป็นกลุ่ม เพราะขณะที่เราอาจจะสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นส่วนใหญ่ในสถานที่ชุมชน แต่เวลาทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ต้องมีการถอดออก เพื่อทานอาหารหรือพูดคุยกับเพื่อนร่วมโต๊ะ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการรับและแพร่เชื้อโควิด-19 อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังสามารถซื้ออาหารมาทานที่โต๊ะทำงาน หรือที่พักของตนเอง แทนที่จะนั่งในศูนย์อาหาร ซึ่งมีความหนาแน่นกว่า หากเลี่ยงไม่ได้ยังสามารถนั่งเว้นระยะห่างจากผู้อื่น เช่น นั่งเก้าอี้เว้นเก้าอี้ หรือจัดวางโต๊ะให้ห่างกัน

ทำสัญลักษณ์บอกว่า เก้าอี้ใดควรนั่ง ทุกคนหันหน้าทางเดียวกัน และทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวสัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมก่อนนั่งรับประทานอาหาร

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0