โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

กระบวนการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

Wealthy Thai

อัพเดต 02 มี.ค. เวลา 10.04 น. • เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2564 เวลา 12.45 น. • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน” เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญและบูรณาการในการประกอบธุรกิจเนื่องจากการต้องเผชิญกับความเสี่ยงหรือโอกาสที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวและพัฒนาอยู่เสมอเพื่อให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน คือ การที่ธุรกิจให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จะเห็นผลเป็นรูปธรรมก็ต่อเมื่อธุรกิจสามารถบูรณาการการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจโดยปกติ

การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วยกระบวนการหลัก 5 กระบวนการ ดังนี้

1.การวิเคราะห์บริบท ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย และประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กร (Materiality)

-ธุรกิจต้องเข้าใจบริบทขององค์กรก่อนจากวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัฒนธรรมองค์กร ห่วงโซ่คุณค่า กลยุทธ์ของธุรกิจ ความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจ ตลอดจนทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหกรรม
-ระบุได้ว่าธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มใดบ้างตลอดห่วงโซ่คุณค่า และสามารถจัดลำดับความสำคัญของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม
-ดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มเพื่อกำหนดประเด็นผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่ผู้มีส่วนได้เสียมีต่อธุรกิจและที่ธุรกิจมีต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งครอบคลุมผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
-นำประเด็นผลกระทบมากำหนดเป็นประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality) และจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการบริหารจัดการประเด็นสำคัญในแต่ละประเด็น
-ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่ธุรกิจกำหนดไว้อาจเปลี่ยนแปลงไปหรือเปลี่ยนลำดับความสำคัญเมื่อบริบทขององค์กรหรือผู้มีส่วนได้เสียเปลี่ยนไป ดังนั้น ธุรกิจจึงควรทบทวนและประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

2.การกำหนดเป้าหมายและนโยบายด้านความยั่งยืนขององค์กร (Policy)

-กำหนดนโยบายและเป้าหมายด้านความยั่งยืนในระดับองค์กรให้สอดคล้องกับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่บริบทขององค์กรและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย เป็นลายลักษณ์อักษรและประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบ เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน
-กำหนดผู้รับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนแต่ละประเด็น อีกทั้งควรสื่อสารให้ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้รับทราบว่าใครบ้างที่มีบทบาทรับผิดชอบในประเด็นต่าง ๆ ด้านความยั่งยืน เพื่อให้เกิดการทำงานที่เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ
-ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการดำเนินงานในประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนแต่ละประเด็นอาจทำงานร่วมกันแบบข้ามสายงานในรูปแบบของคณะทำงาน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบูรณาการเชื่อมโยงกัน
-อาจกำหนดให้มีฝ่ายงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลภาพรวมของการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนและเป็นศูนย์กลางในการประสานงานร่วมกับฝ่ายงานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างบูรณาการและมุ่งบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนในระดับองค์กร
-การกำหนดผู้รับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนไม่มีรูปแบบหรือวิธีดำเนินการที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและบริบทของแต่ละองค์กร ซึ่งธุรกิจสามารถพิจารณาได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

3.การกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร (Strategy)

-กำหนดกรอบการดำเนินงานหรือกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนให้สอดคล้องกับนโยบายและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่กำหนดไว้ โดยทั่วไปกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมักมองไปในอนาคตในระยะกลางหรือระยะยาว จึงไม่เปลี่ยนแปลงทุกปียกเว้นในกรณีที่ธุรกิจมีบริบทหรือลักษณะการบริหารจัดการองค์กรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
-กำหนดแผนปฏิบัติการหรือแผนงานด้านความยั่งยืนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้เห็นว่าธุรกิจจะดำเนินงานในเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กรอย่างไร ภายใต้กรอบการพัฒนาด้านความยั่งยืนซึ่งควรสอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายด้านความยั่งยืนในระดับองค์กรที่กำหนด
-ในการกำหนดแผนงานด้านความยั่งยืน ธุรกิจควรกำหนดระยะเวลา แนวทางการดำเนินงาน และตัวชี้วัดที่ชัดเจน ซึ่งสามารถสะท้อนผลการดำเนินงานได้ทั้งในเชิงผลลัพธ์แบบ output และ outcome เพื่อให้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนและสามารถประเมินคุณค่าหรือมูลค่าที่สร้างให้แก่ธุรกิจได้

4.การขับเคลื่อนความยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติ (Implementation)

-นำแผนงานด้านความยั่งยืนไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญ เนื่องจากหากไม่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ธุรกิจก็จะไม่สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
-มีการติดตามการดำเนินงานเป็นระยะเพื่อให้สามารถปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ รวมถึงมีการตรวจสอบผลการดำเนินงาน วิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งของการดำเนินงาน เพื่อปรับเป็นแนวทางดำเนินแผนงานรอบใหม่ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง

5.การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (Disclosure)

-ธุรกิจจำเป็นต้องมีกระบวนการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อใช้ในการติดตามและพัฒนาผลการดำเนินงาน อาจมีความจำเป็นต้องให้มีการสอบทานข้อมูลหรือรับรองคุณภาพของข้อมูลโดยหน่วยงานจากภายนอกเพิ่มเติมด้วย
-วิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานโดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่าผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่
-นำข้อมูลผลการดำเนินงานไปเปิดเผยและสื่อสารต่อผู้มีส่วนได้เสียเพื่อสร้างความเข้าใจและการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างคุณค่าและ/หรือมูลค่าให้แก่ธุรกิจได้
องค์กรที่มีกระบวนการดำเนินงานอย่างชัดเจนในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนทำให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนและพัฒนากระบวนการทำงาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ผู้บริโภค คู่ค้า ชุมชน และสังคม ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรในองค์กรทุกระดับไปพร้อมกัน รวมทั้งตอบสนองความคาดหวังของผู้ลงทุนทั้งด้านผลตอบแทนและความน่าเชื่อถือในระยะยาว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0