โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

SMEจุกขึ้นค่าจ้าง พันโรงงานจ่อปิด

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 12 ธ.ค. 2562 เวลา 03.20 น.

 

เอสเอ็มอีร้องระงม ปรับขึ้นค่าจ้างรอบใหม่ ตัวเร่งปิดกิจการ สภาอุตฯจับตากว่าพันโรงออกอาการ หลังพิษบาทแข็ง ส่งออกทรุดทำโคม่า เจอต้นทุนเพิ่ม ภาคก่อสร้างชี้กระทบหนัก แรงงานต่างด้าวได้อานิสงส์

ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง(วันที่ 6 ธ.ค. 62) มีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าเฉลี่ย 5-6 บาทต่อวันใน 77 จังหวัดทั่วประเทศหรือตํ่าสุด-สูงสุดที่ 313-336 บาทต่อวัน จากอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าทั่วประเทศที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ตํ่าสุด-สูงสุดอยู่ที่ 308-330 บาทต่อวัน มติดังกล่าวกระทรวงแรงงานจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นของขวัญแก่ผู้ใช้แรงงานนั้น

ตัวเร่งSMEsปิดกิจการ

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน และประธานคณะกรรมการสายแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากหลักเกณฑ์การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าจะดูจาก 5 เรื่อง ได้แก่ 1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) 2. อัตราเงินเฟ้อ 3. ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง 4. ความจำเป็นของลูกจ้าง และ 5. ให้ฟังความเห็นของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด

ทั้งนี้หากดูจีดีพีไทยปีนี้คาดจะขยายตัว 2.4% เงินเฟ้อ 0.8% ขณะที่ความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบการในภาพรวมแย่มาก อัตราค่าจ้างขั้นตํ่าตามหลักเกณฑ์การพิจารณาจะปรับได้ที่ 4-5 บาทต่อวัน ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับขึ้น 5-6 บาทต่อวันถือว่าไม่สร้างปัญหาแก่นายจ้างมากนัก(โดยเฉพาะรายใหญ่) แต่จากปีนี้ที่ผู้ประกอบการซึ่งผลิตสินค้าส่งออกเป็นส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาส่งออกลดลงจากสงครามการค้า จากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา 8% ทำให้หลายรายต้องลดกำลังผลิต ลดเวลา หลายรายจ่ายค่าจ้างพนักงานเพียง 75%

“การปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้แม้จะอยู่ในกรอบที่พอรับได้ แต่จะส่งผลด้านจิตวิทยา โดยจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังตัดสินใจว่าจะไปต่อ หรือปิดกิจการตัดสินใจได้เร็วขึ้น เนื่องจากจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับธุรกิจที่แย่ลง ครั้งนี้คาดจะมีโรงงานเอสเอ็มอี
นับพันโรงจะตัดสินใจไม่ดำเนินธุรกิจต่อ”

นอกจากนี้จะเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานมาก เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มจะขยายฐานไปลงทุนในประเทศเพื่อน
บ้านที่ยังมีค่าแรงตํ่ากว่า เช่น เมียนมา กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และเวียดนามมากขึ้น

 

ก่อสร้างแบกค่าแรงเพิ่ม

ด้านนายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า การปรับค่าแรงขั้นตํ่าครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับอานิสงส์คือ แรงงานต่างด้าว ขณะที่ได้สร้างแรงกดดันต่อนายจ้างที่ต้องปรับเพิ่มค่าแรง สำหรับคนไทยที่มีฝีมือตามไปด้วย ทำให้ในภาพรวมจะสร้างผลกระทบให้กับอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งระบบ สำหรับทาง
ออกรัฐบาลต้องควบคุมการขึ้นราคาของสินค้า เพราะการขยับค่าแรงในครั้งนี้เกิดจากราคาสินค้าเป็นหลัก

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่กระทบค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมง เพราะปัจจุบันแรงงานประมงค่าจ้างเกิน 1 หมื่นบาทต่อเดือนแล้ว ขนาดจูงใจจ้างเกิน 1 หมื่นบาทยังไม่มีใครอยากจะมาลงเรือเลย ทำให้แรงงานภาคประมงยังขาดแคลนอยู่ 3-5 หมื่นคน

ภาคธุรกิจต้นทุนพุ่ง

ขณะที่นายจตุพร จันทรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล มารีน โฟรเซ่น ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งแบรนด์ “ชิมชิว” กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นตํ่า คาดจะทำให้บริษัทมีต้นทุน
เพิ่มขึ้น 3-4% เนื่องจากกระบวนการผลิตใช้แรงงานคนเป็นหลัก เมื่อบวกค่าบรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งที่กำลังจะปรับราคาขึ้นในปี 2563 จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 5-10%

“ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการปรับขึ้นค่าแรง ยอมรับว่าเห็นด้วยแต่ไม่ทั้งหมด เนื่องจากมองว่าค่าครองชีพของแรงงานควรจะได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ผลประโยชน์ที่ได้จะไปอยู่ที่แรงงานต่างด้าวมากกว่า ซึ่งหากการปรับอยู่ที่ระดับ 5-6 บาทก็น่าจะพอรับได้ แต่หากปรับขึ้นมากกว่านี้ตามนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้งคงจะลำบาก ที่สำคัญยังไม่เห็นมาตรการที่ออกมาช่วยผู้ประกอบการเลย”

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า การปรับขึ้นค่าจ้างเฉลี่ย 5 บาทต่อวัน ภาพรวมไม่ได้ปรับขึ้นมากแต่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน หากพิจารณาจากต้นทุนแรงงาน ต่อต้นทุนธุรกิจ พบว่าต้นทุนแรงงานอยู่ที่ประมาณ 11% การปรับขึ้นค่าจ้าง 5 บาทมีผลให้ต้นทุนแรง
งานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.3% ในปีหน้า ทั้งนี้หลายภาคธุรกิจที่มีต้นทุนค่าแรงค่อนข้างสูงกว่าธุรกิจอื่นๆ อาทิ ร้านอาหาร ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ก่อสร้าง และสินค้าโภคภัณฑ์หรือภาคเกษตรหากธุรกิจมีต้นทุนสะสมอาจทำให้อยู่ในภาวะยากลำบากมากขึ้น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,530 วันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0