โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Rewild My City: เมื่อเทรนด์ปี 2020 ไม่ใช่การแยก ‘ป่า’ ออกจาก ‘เมือง’

a day magazine

อัพเดต 21 ม.ค. 2563 เวลา 13.56 น. • เผยแพร่ 21 ม.ค. 2563 เวลา 13.25 น. • Little Thoughts

ถึงตอนนี้ชาวกรุงเทพฯ หลายคนคงได้แวะเวียนไปเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมที่น่าตื่นเต้นอย่างน้อย 2 แห่ง

ที่เราพูดถึงไม่ใช่ห้าง แต่เป็นโครงการสวนเกษตรในเมือง(urban farming) ที่ยกระดับกรุงเทพฯ และหวังว่าจะกลายเป็นแฟชั่นใหม่ที่จะได้เห็นมันเกิดขึ้นในวงกว้างในไม่ช้า

เรากำลังพูดถึงอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ ที่ได้รับรางวัลอันเปรียบได้กับออสการ์ทางภูมิสถาปัตยกรรมของโลกอย่างASLA และอุทยานการเรียนรู้ป๋วย100 ปี ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่กล่าวได้ว่าเป็นสวนเกษตรในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย

ทั้งสองอุทยานออกแบบโดยบริษัทภูมิสถาปนิกเดียวกัน ชื่อว่า LANDPROCESS ซึ่งมีผู้ก่อตั้งคือกชกร วรอาคม คนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติให้ขี้นเวทีTED Talks ใหญ่(TEDWoman 2018 ณ เมืองปาล์มสปริงส์) และเป็นคนไทย 1 ใน 3 ที่ได้รับการประกาศให้เป็น TIME 100 Next ของปี2019

ผลงานออกแบบของ LANDPROCESS ไม่ได้มีเพียงอุทยานสองแห่งนี้ นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทภูมิสถาปนิกแห่งนี้ก็สั่งสมผลงานที่มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่สีเขียว ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงการเพิ่มออกซิเจนและการดูดซับคาร์บอน แต่ยังเป็นเรื่องของการกักเก็บและการระบายน้ำสำหรับเมือง และหากไม่มีอะไรผิดพลาด ไม่เกินกลางปี2020 คนกรุงเทพฯ ก็จะได้ชื่นชมอีกหนึ่งโครงการซึ่งเปลี่ยนซากทางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ถูกทิ้งร้างตรงกลางสองฝั่งสะพานพระปกเกล้า ให้เป็นสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำที่จะเป็นทั้งพื้นที่สาธารณะสีเขียว และหวังว่าจะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ที่ยกระดับจิตวิญญาณแห่งอนาคตให้กับเมืองแห่งนี้

เมื่อพูดถึงปี2020 สิ่งที่หลายคนเฝ้ารอก็คือโอลิมปิกของโตเกียว

หลายคนในนั้นไม่ได้รอชมกีฬาโอลิมปิก แต่รอดูความน่าตื่นเต้นของภาพโตเกียวใหม่ที่เราจะได้เห็น โดยเฉพาะสนามกีฬาโอลิมปิกที่ได้รับการสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งเสร็จก่อนกำหนดจริงหลายเดือน

แม้มีเรื่องยุ่งยากในตอนเริ่มต้นโครงการ เมื่อแบบที่ชนะการประกวดซึ่งเป็นของซูเปอร์สตาร์ทางสถาปัตยกรรมอย่าง Zaha Hadid ผู้ล่วงลับ ถูกปัดตกในที่สุด หลังจากมีเสียงเรียกร้องโดยเฉพาะรุ่นใหญ่ในแวดวงสถาปัตยกรรมของญี่ปุนว่า อยากเห็นโครงการที่จะเป็นหน้าเป็นตาของญี่ปุ่นนี้สร้างสรรค์โดยยอดฝีมือชาวญี่ปุ่นเอง และที่สำคัญคือแบบแรกนั้น ‘แพงเกินไป’

ยอดฝีมือที่ส้มหล่นใส่คนนั้นก็คือ Kengo Kuma สถาปนิกระดับปรมาจารย์ของญี่ปุน

 

พูดก็พูดเถอะ แม้จะมีข้อครหา แต่ใครจะกล้าพูดล่ะว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด สนามกีฬาซึ่งสร้างจากคอนเซปต์ป่าในเมือง(urban forest) ของคุมะ อาจวาดภาพให้ชาวโตเกียวเห็นอนาคตที่พวกเขาอยากเดินไปมากกว่าสถาปัตยกรรมล้ำหลุดโลกที่ฮาดิดฝากไว้ในหลายเมืองทั่วโลกก็ได้

ไม่ใช่ว่าแบบของใครดีกว่าหรือแม้แต่ยั่งยืนมากกว่า แต่บางทีมันก็แค่ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่า ‘ภาพ’ อนาคตคือการไปอวกาศหรือการหันกลับมาปลูกต้นไม้กันแน่

ทั้งความล้ำสมัยและการอยู่กับธรรมชาติเป็นสิ่งที่ชาวโตเกียวรู้จักดีทั้งคู่ แต่สำหรับปรัชญาของโตเกียว2020 ดูเหมือนว่าพวกเขาเลือกที่จะกลับมาสรรเสริญอย่างหลัง

หากติดตามผลงานของคุมะ เราจะเห็นธรรมชาติอยู่ในนั้นเสมอ และในหลายครั้งมันก็สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมไม้ที่ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งสบายและกลมกลืน

ในวันที่มนุษย์เริ่มสร้างตึกสูง แทบไม่มีใครคิดถึงวัสดุอย่างไม้ เพราะความมั่นคงทำให้เรานึกถึงวัสดุที่แข็งแกร่งอย่างเหล็กและคอนกรีต แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการพูดกันว่าตึกสูงที่สร้างจากไม้อาจเป็นอนาคตของสถาปัตยกรรมซึ่งสิ้นเปลืองทรัพยากรในการก่อสร้างน้อยกว่า(อาคารไม้เบากว่าจึงสิ้นเปลืองคอนกรีตสำหรับวางรากฐานน้อยกว่า) ก่อให้เกิดของเสียในการผลิตน้อยกว่า(คอนกรีตเป็นวัสดุหลักที่ปล่อยคาร์บอนร้อยละ4-8 ของคาร์บอนที่ปล่อยสู่บรรยากาศในปัจจุบัน) และที่สำคัญคือไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนในเมืองให้กับพวกเราด้วย

ด้วยความรู้และเทคโนโลยีใหม่ การกลับไปหาวัสดุอย่างไม้และการเร่งสร้างพื้นที่สีเขียวกลายเป็นทางเลือกของภาพอนาคตที่เข้าใจได้ไม่ยาก และเป็นอนาคตที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น

เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิของปี2020 โลกก็จะมีสวนเกษตรในเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งใหม่ บนหลังคาของคอมเพลกซ์ศูนย์ประชุม Porte de Versailles ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเขต15 ของปารีส ครอบคลุมพื้นที่14,000 ตารางเมตร หรือราว 2 เท่าของสนามฟุตบอล

ประมาณการว่าสวนแห่งนี้จะผลิตผักและผลไม้ให้เก็บเกี่ยวได้ราววันละ2,000 ปอนด์ในฤดูเก็บเกี่ยว โดยใช้เทคโนโลยีการเพาะปลูกแบบ aeroponics ที่ใช้น้ำน้อยกว่าการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมราวร้อยละ90 และเหมาะกับการปลูกสวนแนวตั้ง Tokyo Stadium ก็ใช้เทคนิคเดียวกันนี้

แน่นอนว่าปารีสเป็นอีกเมืองที่จริงจังกับการฟื้นคืนธรรมชาติเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพอากาศ มีการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี2030 ปารีสจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ครึ่งหนึ่งของเมืองให้เป็นพื้นที่สีเขียว ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน รวมถึงบนหลังคา เริ่มจากทำเลที่เป็นแลนด์มาร์กอย่างบริเวณหน้าศาลาเมือง, โรงโอเปร่า Palais Garnier, สถานีรถไฟ Gare de Lyon, และแน่นอน…ริมแม่น้ำแซน

แต่หากลองเข้ากูเกิลเอิร์ทดูผืนเมืองปารีส ก็จะรู้ว่ามหานครที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องงดงามนี้มีงานต้องทำอีกมากในเรื่องการเติมพื้นที่สีเขียว ไม่เหมือนกับมหานครอีกแห่งอย่างลอนดอน ที่Paul Wood ผู้เขียนหนังสือLondon is a Forest เคลมว่าเป็น urban forest แห่งใหญ่ที่สุดของโลก

จะว่าไปก็คงไม่จริงเสียทีเดียวหากเรานับผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดและตั้งอยู่ในเมือง นั่นก็อาจจะเป็นสวนสาธารณะ Tijuca ในรีโอเดจาเนโร แต่หากดูจากสถิติว่าลอนดอนซึ่งมีประชากรราว8.6 ล้านคน มีต้นไม้8.4 ล้านต้น และมีพื้นที่ปลูกต้นไม้คิดเป็นร้อยละ21 ของเมือง ก็คงไม่ผิดเหมือนกันหากจะเรียกเมืองแห่งนี้ว่าป่า(องค์การสหประชาชาติให้คำจำกัดความ ‘ป่า’ ไว้ว่า พื้นที่ที่มีต้นไม้อยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ20)

ด้วยทุนทางธรรมชาติดั้งเดิมของการเป็นเมืองที่ล้อมรอบด้วยพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่งยังคงเหลือเป็นมรดกให้กับคนรุ่นหลังไม่ใช่น้อย บวกกับพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ทั่วเมือง ไม่แปลกที่ภาพจากกูเกิลเอิร์ทสะท้อนความจริงให้เห็นว่า ชาวลอนดอนมีพื้นที่สีเขียวน้อยใหญ่ในทุกระยะเดินถึง ไม่นับต้นไม้ที่ปลูกอยู่ตามถนนหนทางซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป

แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่ามรดกสีเขียวคือ การที่ชาวลอนดอนรู้ว่าสีเขียวนั้นสำคัญกับเมืองของพวกเขาขนาดไหน เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาลอนดอนเป็นเมืองหนึ่งในโลกที่มีโครงการฟื้นคืนความเป็นป่าให้กับเมืองอย่างเป็นรูปธรรม(รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งช่วยรับมือปัญหาน้ำท่วม) คำว่า rewild ที่ใช้เป็นชื่อแคมเปญต่างๆ ไล่ตั้งแต่Rewilding Britain, Rewilding London, Rewild My Street ฯลฯ กลายเป็นบทสนทนาสาธารณะ เป็นเรื่องที่ประชาชนยื่นคำร้องให้รัฐบาลออกนโยบายอย่างจริงจัง และเป็นวาระที่เข้าสู่สภา

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าในวันที่ชาวลอนดอนเห็นนกหายากกลับมาบินอยู่ใจกลางเมือง พวกเขาจะรู้สึกยังไง

แม้เรื่องราวจากมหานคร 4 แห่งของโลกจะตามมาด้วยคำถามว่า เพราะอะไรเราจึงแยก ‘ป่า’ ออกจาก ‘เมือง’ ตลอดมา แต่นั่นไม่ใช่สำหรับปี2020 เป็นต้นไป

อ้างอิง

BBC

BBC (2)

CityLab

Lonely Planet

Highlights

  • urban farming คือโครงการสวนเกษตรในเมืองที่กำลังจะกลายเป็นแฟชั่นใหม่ ที่เราจะได้เห็นมันเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในไม่ช้า
  • ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการพูดกันว่าตึกสูงที่สร้างจากไม้อาจเป็นอนาคตของสถาปัตยกรรม ซึ่งสิ้นเปลืองทรัพยากรในการก่อสร้างน้อยกว่า ก่อให้เกิดของเสียในการผลิตน้อยกว่า และที่สำคัญคือไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนในเมืองด้วย
  • Little Thoughts จากคอลัมน์cities ชวนไปติดตามเทรนด์ปี2020 ของเหล่าเมืองใหญ่ที่ไม่ใช่การแยก‘ป่า’ ออกจาก ‘เมือง’
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0