โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Q&A : 13 คำถามจากพ่อแม่ที่ต้องให้ลูกกินยารักษาโรคสมาธิสั้น

Mood of the Motherhood

เผยแพร่ 16 ก.ย 2562 เวลา 14.28 น. • Features

จิตแพทย์จะใช้สองวิธีในการรักษาเด็กที่มีอาการของโรคสมาธิสั้น (ADHD-Attention Deficit Hyperactivity Disorder) วิธีแรกคือการปรับพฤติกรรมสำหรับอาการในระยะแรกเริ่มและเด็กที่มีผู้ปกครองพร้อมให้ความร่วมมือในการปรับพฤติกรรม วิธีที่สองคือรักษาด้วยยา สำหรับเด็กที่มีอาการตั้งแต่ปานกลางขึ้นไปจนถึงขั้นรุนแรง 

คุณพ่อคุณแม่หลายคนจึงเกิดความไม่สบายใจที่จะให้ลูกที่อายุยังน้อยต้องใช้วิธีกินยาเพื่อรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง

ส่วนหนึ่งของงานสัมมนา โครงการความรู้สู่พ่อแม่และครูครั้งที่ 12 หัวข้อ ‘เด็กสมาธิสั้นกับสังคมออนไลน์’ ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยามหิดล จึงมีหัวข้อบรรยายเกี่ยวกับ ‘ยาและการรักษาทางเลือกสำหรับเด็กสมาธิสั้น’ โดย รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล ทีมงาน M.O.M จึงทำการสรุปประเด็นคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับการให้ลูกกินยารักษาโรคสมาธิสั้นมาช่วยคลี่คลายความสงสัยให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังพยายามรักษาโรคสมาธิสั้นให้ลูกน้อยของเรากันค่ะ

1. Q: กินยารักษาต่อเนื่อง จะมีผลในระยะยาวต่อร่างกายและสมองของลูกหรือไม่

A: กลุ่มยาที่หมอนิยมใช้รักษาโรคสมาธิสั้นมากที่สุดคือ Psychostimulants ซึ่งมีการวิจัยมากมายช่วยยืนยันความปลอดภัยของยารักษาโรคสมาธิสั้น และเด็กๆ ที่กินยาชนิดนี้เป็นระยะเวลานาน จะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองเท่ากับเด็กที่ไม่ได้กินยาทั่วไป

2. Q: ยาจะมีการสะสมและตกค้างในร่างกายลูกหรือเปล่า

A: ยารักษาโรคสมาธิสั้นใช้ระยะออกฤทธิ์ประมาณ 4 และ 12 ชั่วโมง หลังจากนั้นยาจะถูกกำจัดออกจากร่างกายหมดภายในหนึ่งวัน ไม่ตกค้างสะสมอยู่ในร่างกาย ยืนยันได้ว่าปลอดภัยเพราะว่ายาที่รักษาโรคสมาธิสั้นถูกใช้รักษามา 80 ปีแล้ว และมีความปลอดภัยกว่ายาพาราเซตามอลอีก

3. Q: ความแตกต่างของยาที่ออกฤทธิ์ 4 ชั่วโมงกับ 12 ชั่วโมง

A: ยาที่ออกฤทธิ์ 4 ชั่วโมง หมายถึงหลังกินยา ยาจะออกฤทธิ์และหมดฤทธิ์ภายใน 4 ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่าหลังกินยาแล้วเด็กจะอยู่ในภาวะสงบได้ประมาณสี่ชั่วโมง แต่ยาที่ออกฤทธิ์ 12 ชั่วโมง จะทำให้เด็กสงบนิ่งได้ยาวนานกว่า

4. Q: ยาจะช่วยให้ลูกหายจากการเป็นโรคสมาธิสั้นได้เร็วขึ้นจริงหรือ

A: กินยาไม่ได้ช่วยให้เด็กหายเป็นสมาธิสั้นเร็วขึ้น แต่ถ้ารู้ว่าลูกเป็นสมาธิสั้นตั้งแต่เนิ่นๆ รีบทำการรักษา และให้กินยาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ลูกมีโอกาสหายจากโรคสมาธิสั้นได้มากขึ้น เช่น ถ้าลูกมีอาการของโรคสมาธิสั้นมาตั้งแต่ยังเด็ก แต่คุณพ่อคุณแม่เพิ่งรู้และเริ่มทำการรักษาตอนลูกอายุได้ 15 ปี โอกาสที่จะหายจากโรคนี้ก็เป็นไปได้ยาก และต้องกินยารักษาตามอาการเท่านั้น

5. Q: ผลข้างเคียงของยารักษาสมาธิสั้นมีอะไรบ้าง

A: ผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อยและมักเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการกินยา ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง นอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดท้อง อารมณ์ขึ้นลงและหงุดหงิดง่าย และน้อยใจบ่อย แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อต่อเนื่องไปสักระยะ

6. Q: กินยาแล้วลูกน้ำหนักลดลงเยอะมาก ทำอย่างไรดี

A: หนึ่งในผลข้างเคียงของยารักษาโรคสมาธิสั้น คือ ทำให้เด็กเบื่ออาหาร ซึ่งอาการนี้แสดงให้เห็นว่ายากำลังออกฤทธิ์รักษาโรค แต่คุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลาและสังเกตอาการ ถ้าลูกไม่สามารถกลับมากินอาหารได้ตามปกติ จนน้ำหนักตัวลดลงมากเกินไป ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อปรับการให้ยาอีกครั้ง

7. Q: ลูกต้องกินยาไปนานแค่ไหน

A: ความยาวนานของการรักษาขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน เช่น ถ้าลูกมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อน มีผู้ปกครองที่เข้าใจและให้ความร่วมมือในการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เด็กกลุ่มนี้จะมีโอกาสหายจากโรคสมาธิสั้นได้และไม่ต้องกินยาตลอดชีวิต

แต่หากมีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง

8. Q: ให้ลูกกินยารักษาโรคสมาธิสั้นแล้วจะมีโอกาสติดยาที่รักษาโรคสมาธิสั้นไหม

A: มีงานวิจัยเปรียบเทียบเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นแล้วกินยากับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นแต่ไม่กินยาไปติดตามตั้งแต่พวกเขายังเด็กจนถึงช่วงวุ่ยรุ่น พบว่าเด็กที่เป็นสมาธิสั้นที่กินยาสม่ำเสมอมีโอกาสติดยาน้อยกว่าเด็กสมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาถึง 7 เท่า

9. Q: ให้ลูกกินยาบ้าง หยุดยาบ้าง จะมีผลเสียอย่างไรบ้าง

A:  คำแนะนำของคุณหมอเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีก่อน บอกว่าเด็กไม่จำเป็นต้องกินยา ในช่วงเวลาที่ไม่ได้เรียนหนังสือหรือจำเป็นต้องใช้สมาธิ แต่ผลงานวิจัยในปัจจุบันพบว่าการให้ลูกกินยาและหยุดยาเองตามใจชอบไม่ส่งผลดีต่อเด็ก

เพราะการหยุดยาแต่ละครั้งทำให้เด็กต้องปรับตัวใหม่เมื่อจะกลับมากินยา และต้องเจอผลข้างเคียงของยาใหม่อีกครั้ง

10. Q: ให้ลูกกินยาตอนเย็นแล้วลูกนอนไม่หลับเวลากลางคืน เป็นเรื่องปกติหรือไม่

A: รศ.นพ. ชาญวิทย์ พรนภดล—จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประจำโรงพยาบาลศิริราช แนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้สั่งยา ว่ายาที่ให้ลูกกินจะออกฤทธิ์ภายในกี่ชั่วโมง เพื่อวางแผนการกินยาให้ดี เช่น ถ้ายาของลูกเป็นยาที่ออกฤทธิ์ในระยะ 4 ชั่วโมง คุณหมอจะแนะนำให้เด็กเริ่มกินยาเวลา 4-5 โมงเย็น อย่างช้าไม่เกิน 6 โมงเย็น จะทำให้เด็กเข้านอนได้ในเวลาไม่ดึกจนเกินไป

11. Q: ยาจะเข้าไปกดและบีบสมองลูกจริงหรือไม่

A: ยาที่ใช้รักษาส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Psychostimulants คำว่า stimulants คือ การกระตุ้น ซึ่งตรงข้ามกับการกดหรือบีบสมองของเด็กอย่างแน่นอน

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีสารสื่อประสาทน้อยกว่าเด็กปกติ สารสื่อประสาททำหน้าที่คอยยับยั้งพฤติกรรมที่เด็กควบคุมไม่ได้ ส่วนยารักษาโรคสมาธิสั้นจะเข้าไปกระตุ้นสมองส่วนที่ทำงานล่าช้า ทำงานบกพร่องให้ผลิตสารสื่อประสาทมาทำงานมากขึ้น เพื่อให้เด็กสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น

12. Q: ลูกกินยาแล้วจะซึมจริงหรือไม่

A: ถ้าร่างกายตอบสนองต่อยาดี ยาจะทำให้เด็กดูนิ่งและสงบมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ที่คุ้นชินกับความซนของลูก พอเห็นลูกสงบนิ่งมากขึ้นจึงเกิดความประหลาดใจและเข้าใจผิดว่าเด็กมีอาการเซื่องซึม

ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องแยกอาการสงบกับเซื่องซึมให้ออก เด็กที่สงบจะกระตือรือร้นหากมีงานให้ทำหรือต้องใช้ความคิด เด็กจะตอบคำถามได้รวดเร็วและถูกต้อง ส่วนอาการเซื่องซึม หมายถึงเด็กจะไม่สามารถใช้ความคิดหรือตอบคำถามได้ดีเท่าเวลาปกติ

13. Q: ทำไมต้องให้เด็กกินยาตอนอายุ 6 ปีขึ้นไป

A: เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน ยังไม่ได้มีการวิจัยและทดลองใช้ยารักษาโรคสมาธิสั้นกับเด็กต่ำกว่าอายุ 6 ปี ทำให้ United States Food and Drug Administration หรือ FDA กำหนดให้ใช้ยานี้กลับเด็ก 6 ปีขึ้นไปเท่านั้น

แต่ภายหลัง เริ่มงานวิจัยเพิ่มเติมว่าสามารถใช้ยานี้กับเด็กที่ต่ำกว่าอายุ 6 ปีได้เช่นกัน  แต่ FDA ก็ยังไม่ได้ทำการแก้ไขข้อกำหนดใหม่อย่างเป็นทางการ

ดังนั้น เด็กที่ต่ำกว่าอายุ 6 ปี ที่มีมีอาการโรคสมาธิสั้นอย่างรุนแรง แพทย์ก็สามารถให้ยารักษาอาการแก่เด็กได้

อ้างอิง

โครงการความรู้สู่พ่อแม่และครูครั้งที่ 12 “เด็กสมาธิสั้นกับสังคมออนไลน”

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยามหิดล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0