โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Pride Month 2020 กับ การไม่ยอมจำนนต่อการถูกละเมิดสิทธิ

BRIGHTTV.CO.TH

เผยแพร่ 17 มิ.ย. 2563 เวลา 12.46 น. • Bright Today
Pride Month 2020 กับ การไม่ยอมจำนนต่อการถูกละเมิดสิทธิ

Pride Month 2020 กับ การไม่ยอมจำนนต่อการถูกละเมิดสิทธิ คุยกับ "เชอร์รี่" แกนนำผู้ขับเคลื่อนระเบียบการแต่งกายตามเพศสภาพของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนี่เป็นเพียงสุดเริ่มต้น

Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ที่เคยจัดขึ้นตลอดเดือนมิถุนายนของทุกปี ต้องถูกระงับไปในปี 2020 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และการไว้อาลัยให้การเสียชีวิตของจอร์จ ฟรอยด์ แต่ขณะเดียวกันก็มีประกาศที่ออกมาเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง แนวปฏิบัติต่อนักศึกษาและการแต่งกายของนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือวิถีทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด พ.ศ. 2563 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ไบรท์ทูเดย์จึงได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "เชอร์รี่" ศิรวุฒิ อินทร์พิมพ์ ว่าที่บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำผู้เป็นหัวเรือในการขับเคลื่อน "ระเบียบการแต่งกายตามเพศสภาพ" ในครั้งนี้

จุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนประกาศในครั้งนี้

การเคลื่อนไหวเริ่มต้นมาจากการที่เธอนั้นเป็นผู้ที่ประสบปัญหา ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการแต่งกายตามเพศสภาพเพื่อถ่ายรูปบัตรนักศึกษา เมื่อปีพ.ศ. 2560 ตอนที่เธอนั้นอยู่ปี 2 โดยสำนักทะเบียนนั้นใช้ระเบียบการแต่งกายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2549 ซึ่งระบุเพียงการแต่งการของเพศ "ชาย" และ "หญิง" เท่านั้น การที่ไม่มีระเบียบดังกล่าว ทำให้การส่งรูปที่ใช้ในเอกสารงานทะเบียนภายในธรรมศาสตร์ ต้องเป็นรูปตามเพศกำเนิด และการกดทับ ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ด้วยเหตุเเห่งเพศในมหาวิทยาลัยนั้น เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเธอใกล้สำเร็จการศึกษาและต้องส่งรูปและเอกสารเพื่อแจ้งจบการศึกษา ปัญหาเชิงระบบที่ยังไม่ถูกแก้ไขนี้ก็วนกลับมาเล่นงานกับความรู้สึกเธออีกครั้ง นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในครั้งนี้

การดำเนินการเรียกร้องในครั้งนี้ เริ่มจากการที่เธอทำให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ ด้วยการขับเคลื่อนทางโซเชียลมีเดียก่อน จากนั้นเธอ กลุ่มเพื่อน และด้วยความช่วยเหลือจากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน พิจารณาการดำเนินการเป็น 2 เเนวทาง ได้แก่ การยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมกับทางมหาวิทยาลัยโดยตรง เเละการดําเนินการเมื่อมหาวิทยาลัยปฏิเสธคําร้อง ซึ่งจะนําไปสู่กระบวนการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ (วลพ.) ต่อไป แต่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ก็ได้เห็นชอบและออกระเบียบปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว

ความสำเร็จครั้งนี้มีผลอย่างไรต่อ Transgender บ้าง

เธอเล่าว่า จากประกาศของทางมหาวิทยาลัย นักเรียน โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถแต่งเครื่องแบบนักศึกษาในงานทั่วไป เครื่องแบบนักศึกษาในงานพิธี หรือเครื่องแบบเฉพาะของคณะเพื่อเข้าชั้นเรียน เข้าสอบวัดผล เข้าฝึกปฏิบัติงาน หรือติดต่อหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามเพศวิถีของตนได้ นอกจากจะพูดถึงเรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพแล้ว ยังครอบคลุมถึงการเลือกปฏิบัติ หรือกลั่นแกล้งด้วยเหตุแห่งเพศอีกด้วย แต่ถึงอย่างไร ก็อยากฝากให้ทางมหาลัยนั้นจัดการอบรมเรื่องการเข้าใจความหลากหลายทางเพศต่อไป เพื่อนำประกาศนี้มาสู่การปฏิบัติจริง

ความเจ็บปวดของการถูกบังคับให้แต่งกายที่ขัดต่อเพศสภาพปัจจุบัน ที่ผ่านมา เป็นอย่างไร

"ไปเปลี่ยนคำนำหน้าเป็นนางสาวก่อนค่อยมาใส่ชุดผู้หญิง"

ความเจ็บปวดนี้จริงๆ สะสมมาตลอด เนื่องจากประเทศเราก็ยังไม่เปิดกว้างในการแต่งเครื่องแบบ แต่มหาวิทยาลัยธรรมสาสตร์ก็เปิดกว้าง สามารถแต่งกายตามเพศสภาพเข้าชั้นเรียนได้ แต่คำพูดของเจ้าหน้าที่มหาลัยบางคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจประเด็นตรงนี้ เคยบอกให้เธอ "ไปเปลี่ยนคำนำหน้าเป็นนางสาวก่อนค่อยมาใส่ชุดผู้หญิง" ซึ่งนี่ก็เป็นตัวสะท้องให้เห็นถึงปัญหาหลักที่ "การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อตามเพศสภาพ" ยังไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเธอและเครือข่ายก็ได้ขับเคลื่อนประเด็นนี้เช่นเดียวกัน เธอเล่าว่าคำนำหน้านาม "นาย" นั้นกดทับและริดรอนสิทธิของคนข้ามเพศในหลายๆ มิติ อีกทั้ง หลายๆ คนนั้นยอมจำนนต่อการลิดรอนนั้น และไม่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเอง

นอกจากนี้แล้ว การที่คนข้ามเพศไม่สามารถแต่งกายและใช้คำนำหน้านามตามเพศสภาพนั้น ยังทำให้เกิดความไม่มั่นใจเมื่อต้องถูกเรียกตรวจบัตรนักศึกษา ถูกขานชื่อทั้งในห้องเรียนและการประกาสรับรางวัล สิ่งเหล่านี้นั้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ละเอียดอ่อนทางเพศอีกด้วย

ความสำเร็จนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น

ประเด็นที่เชอร์รี่เห็นว่าสังคมควรผลักดันอีกหนึ่งประเด็นก็คือ "การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อตามเพศสภาพ" เพราะเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลต่อสิทธิ์ของคนข้ามเพศในทุกมิติ และระเบียบการแต่งกายตามเพศสภาพนี้ก็ควรออกมานานแล้ว เนื่องจากส่งผลกระทบต่อตัวคนข้ามเพศจริงๆ สำหรับคนที่ยังไม่กล้าลุกออกมาเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ให้ตัวเอง ในเรื่องอื่นๆ ก็ขอให้ลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิ์ที่เราพึงได้รับ อย่ายอมจำนนต่อการถูกละเมิดสิทธิ

"อย่ายอมจำนนต่อการถูกละเมิดสิทธิ"

ความสำเร็จในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนข้ามเพศที่ประจวบเหมาะกับเดือนแห่งความหลากหลาย เป็นเพียงก้าวหนึ่งในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นเดือนแห่งความหลากหลายหรือไม่ สังคมเราก็ยังคงต้องตื่นตัวและเข้าใจกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ รวมไปถึงการผลักดันกฎหมายที่เอื้อให้คนกลุ่มนี้ได้ใช้สิทธิ์ของพวกเขาอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างสังคมแห่งความหลากหลายต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0