โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Paolo Canevari ศิลปินผู้ใช้ศิลปะท้าทายความเป็นไปได้ทางการเมือง

The Momentum

อัพเดต 20 ต.ค. 2561 เวลา 21.50 น. • เผยแพร่ 20 ต.ค. 2561 เวลา 21.50 น. • ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

In focus

 

  • เปาโล คานีวาริ (Paolo Canevari) คือศิลปินร่วมสมัยชาวอิตาเลียน ที่มีผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยแง่มุมทางการเมือง เขาเป็นที่รู้จักจากงานศิลปะในเทคนิคที่หลากหลาย และเป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 นี้
  • คานีวาริเติบโตในครอบครัวศิลปิน ลุงของเขาทำงานศิลปะที่เชิดชูความยิ่งใหญ่ของสถาบันทหาร นั่นทำให้เขาพยายามหาวัตถุดิบและภาษาทางศิลปะที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อต่อต้านงานศิลปะในรูปแบบอนุสาวรีย์
  • เขาเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นประติมากร ในในช่วงต้นยุค 90s เขามักใช้วัสดุที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน อย่าง ยางรถยนต์มาใช้เป็นวัตถุดิบ ต่อมา ในช่วงปลายยุค 2000s เขาเริ่มใช้สื่อวิดีโอในการทำงานศิลปะ
  • ผลงานที่โดดเด่นและอื้อฉาวที่สุดของเขาในยุคนี้คือ Bouncing Skull(2007) วิดีโอที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวของเด็กชายอายุ 11 ปี ที่กำลังเล่นเตะฟุตบอลอย่างขมักเขม้น แต่ถ้าสังเกตดีๆ สิ่งที่เขากำลังเตะอยู่นั้นไม่ใช่ลูกฟุตบอล หากแต่เป็นหัวกะโหลกมนุษย์
  • คานีวาริมักกล่าวอยู่เสมอว่า ศิลปะคือความเป็นไปได้ทางการเมือง ในทุกๆ การกระทำที่ศิลปินทำล้วนแล้วแต่แฝงความหมายทางการเมืองทั้งสิ้น ถึงแม้ศิลปินจะวาดรูปดอกไม้ มันก็มีความหมายในเชิงต่อต้านระบบใดๆ อยู่ดี

 

ในตอนที่แล้วเรานำเสนอเรื่องราวของศิลปินร่วมสมัยระดับโลกผู้มีผลงานเต็มเปี่ยมไปด้วยประเด็นทางการเมือง ที่เดินทางมาแสดงผลงานศิลปะในบ้านเราอย่าง มารินา อบราโมวิชไปแล้ว ในตอนนี้เลยจะขอกล่าวถึงศิลปินร่วมสมัยระดับโลกอีกคนที่มีผลงานศิลปะอันเต็มไปด้วยแง่มุมทางการเมือง และเดินทางมาแสดงผลงานศิลปะในบ้านเราเช่นเดียวกัน แถมศิลปินผู้นั้นเองก็เคยมีความสัมพันธ์ในฐานะอดีตคู่รักของอบราโมวิชอีกด้วย

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เปาโล คานีวาริ (Paolo Canevari)

หนึ่งในศิลปินร่วมสมัยชาวอิตาเลียน ผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยของเขา คานีวาริเป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะที่ใช้เทคนิคอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง, งานวาดเส้น และสื่อภาพเคลื่อนไหวอย่าง วิดีโอ และแอนิเมชั่น ผลงานของเขามักนำเสนอเรื่องราวที่ผู้ชมเข้าใจง่าย ผ่านสัญลักษณ์และสิ่งที่ผู้ชมรู้จักและคุ้นเคย เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเกี่ยวกับศาสนา ความสุขอันฉาบฉวยกลวงเปล่าของคนเมือง ไปจนถึงหลักการอันสำคัญเบื้องหลังการสร้างสรรค์และทำลาย ท้าทายขนบธรรมเนียมประเพณี และการแสดงถึงความไม่คงทนถาวรของศิลปะ

เกิดในปี 1963 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เขาเติบโตในครอบครัวศิลปิน ปู่ของเขาเป็นนักวาดจิตรกรรมกระเบื้องโมเสค ลุงของเขาเป็นประติมากร ที่ทำงานศิลปะที่เชิดชูความยิ่งใหญ่ของสถาบันทหาร ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นและอนุสาวรีย์ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นศิลปินที่เสาะแสวงหาวัตถุดิบและภาษาทางศิลปะที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่เพื่อต่อต้านงานศิลปะในรูปแบบอนุสาวรีย์

คานีวาริเริ่มต้นอาชีพศิลปินด้วยการเป็นประติมากร ในช่วงต้นยุค 90s เขามักใช้วัสดุที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน อย่าง ยางรถยนต์มาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำงาน และพัฒนาภาษาทางศิลปะของตัวเองที่เป็นการหลอมรวมสัญลักษณ์, วัฒนธรรมป๊อป, เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ และประเด็นทางการเมืองเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อตีความวิถีชีวิตประจำวันในแง่มุมใหม่ๆ ขึ้นมา

อาทิเช่น ผลงานประติมากรรมจัดวางรูปคนและไยแมงมุมที่ตัดจากยาง อย่าง Hofame, Esodo (1998) หรือผลงานศิลปะจัดวางและศิลปะแสดงสด Colosso (2004) ที่คานีวาริแบกประติมากรรมรูปโคลอสเซียม ที่ทำจากยางรถยนต์เอาไว้บนบ่า เพื่อสื่อถึงภาระอันหนักอึ้ง ที่เกิดจากการกดทับโดยขนบธรรมเนียมและประเพณีอันยาวนานของอิตาลีที่ศิลปินแบกรับอยู่ หรือผลงาน Carroarmato (2009) ที่เป็นรถถังที่ทำขึ้นจากยางรถยนต์

Colosso (2004) ภาพโดย [dip] contemporary art, Lugano (CH)

Seed (2004) งานศิลปะแสดงสดที่เขาทำบนดาดฟ้าของตึกในนิวยอร์ก เพื่อจะถ่ายภาพเก็บไว้เป็นโปสเตอร์สีขาวดำ โดยมิสไซล์ที่กำลังร่วงหล่นนั้นสื่อถึงเมล็ดพันธุ์ที่ตกจากฟากฟ้า งานศิลปะชิ้นนี้ทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้เป็นเวลา 16 ชั่วโมง ภาพโดย [dip] contemporary art, Lugano (CH) 

 

ในช่วงปลายยุค 2000s เขาเริ่มใช้สื่อวิดีโอในการทำงานศิลปะ เพื่อตอบสนองความต้องการในการแสดงออกถึงสิ่งที่เสื่อมสลายง่าย ไม่คงทนถาวร หากแต่ก็ยังโดดเด่นสะดุดตา คล้ายกับงานประติมากรรมอายุสั้นที่อยู่ได้ประเดี๋ยวประด๋าวชั่วคราว เพื่อสะท้อนแนวคิดที่ปฏิเสธความโอ่อ่าอลังการและความคงทนถาวรของศิลปะเชิงอนุสาวรีย์ที่เป็นที่นิยมในอิตาลีในยุคเผด็จการ แนวคิดเช่นนี้ของเขาได้แรงบันดาลใจจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะหัวก้าวหน้าในอิตาลี ที่มักจะใช้วัสดุที่เสื่อมสลายง่ายไม่คงทนเพื่อต่อต้านคุณค่าความงามตามขนบ อย่าง อาร์เต้ โพเวร่านั่นเอง

ผลงานที่โดดเด่นและอื้อฉาวที่สุดของเขาในยุคนี้ก็คือ Bouncing Skull(2007) วิดีโอที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวของเด็กชายอายุ 11 ปี ที่กำลังเล่นเตะฟุตบอลอย่างขมักเขม้น แต่ถ้าสังเกตดีๆ สิ่งที่เขากำลังเตะอยู่นั้นไม่ใช่ลูกฟุตบอล หากแต่เป็นหัวกะโหลกมนุษย์ต่างหาก!

ผลงานวิดีโอชิ้นนี้ถ่ายทำในตึกร้าง ที่เคยเป็นฐานทัพของหน่วยความมั่นคงของเซอร์เบีย ในกรุงเบลเกรด ยูโกสลาเวีย ที่ถูกกองกำลังระหว่างประเทศของนาโต้ทิ้งระเบิดถล่มจนย่อยยับ และถูกทิ้งร้างเพราะยังมีระเบิดหลงเหลือตกค้างอยู่ มันจึงเป็นพื้นที่ต้องห้ามที่ไม่อนุญาตให้คนเข้าไป

“เราใช้เวลาสามเดือนในการขออนุญาตเข้าไปถ่ายทำวิดีโอในนั้นเพียงสิบนาที และเราถ่ายทำวิดีโออย่างเรียบง่าย บนไอเดียของงานจิตรกรรม ที่ไม่มีการเคลื่อนกล้อง ไม่มีการตัดต่อ และใช้กล้องถ่ายวิดีโอในแบบที่เรียบง่ายที่สุด นิ่งที่สุด เป็นอะไรที่เด็กๆ ก็ทำได้ และไม่ทำสำเนาวิดีโอเลยด้วยซ้ำ”

*Bouncing skull (2007) โดย [dip] contemporary art, Lugano (CH) *

ผลงานชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยกิจกรรมอันเรียบง่าย เป็นกิจกรรมเชิงการเมืองที่พัฒนาจากแนวคิดเกี่ยวกับชีวิต ความตาย และการฟื้นคืนชีพ

“สิ่งที่ผมพยายามจะทำในเวลานั้น คือการสร้างภาพที่ทรงพลังพอที่จะเอาชนะภาพอื่นๆ ทั้งหมด รวมถึงความน่าสยดสยองที่เราพบเห็นในโทรทัศน์ทุกวี่วัน การทำอะไรที่เรียบง่ายอย่างการให้เด็กเตะฟุตบอล นั้นเป็นไอเดียที่เบสิค แต่เมื่อเราแทนที่ลูกฟุตบอลด้วยหัวกะโหลกมนุษย์ ถึงแม้มันจะเป็นกิจกรรมที่เรียบง่ายอย่างการเตะฟุตบอล ผู้คนก็จะช็อกกับภาพนั้น แต่พวกเขากลับไม่ช็อกกับการทิ้งระเบิดในอัฟกานิสถาน หรือในสงครามอื่นๆ ในโลกใบนี้ สำหรับผม งานศิลปะสามารถเปลี่ยนการรับรู้ของผู้คน

เมื่อมีคนถามว่าหัวกะโหลกนั้นเป็นของใครกันแน่? ผมมักจะมีคำตอบที่แตกต่างกันไป เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่เชื่อในการเปิดเผยความจริงเบื้องหลังผลงาน เพราะอันที่จริงแล้ว ความจริงอยู่ในตัวของคุณเองนั่นแหละ ผมสามารถพูดได้ว่ามันเป็นหัวกะโหลกจริง บางทีผมอาจจะบอกว่ามันเป็นหัวกะโหลกผู้ชาย กะโหลกเด็กผู้หญิง กะโหลกของเด็ก กะโหลกของบางคนที่ตายในสงคราม หรือบางทีผมอาจจะตอบว่าผมขโมยหัวกะโหลกจากสุสาน หรือแม้แต่บางทีก็อาจจะเป็นกะโหลกปลอม สำหรับผม นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งสำคัญคือความหมายของหัวกะโหลกใบนี้ในเชิงสัญลักษณ์ นั่นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับความคิดและจินตนาการของเราเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รอบตัว”

คานีวาริกล่าวถึงผลงานวิดีโอชิ้นอื้อฉาวของเขาชิ้นนี้

Bouncing Skull เป็นเสมือนหนึ่งอนุสรณ์แห่งชีวิตวัยเยาว์ ที่สะท้อนสภาวะของชีวิตและความตาย ซึ่งเป็นอีกแรงบันดาลใจสำคัญให้กับการทำงานของคานีวาริ มันร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 52 ในปี 2007 และอยู่ในการสะสมของพิพิธภัณฑ์ศิลปินสมัยใหม่ (MoMa) ในนิวยอร์ก

ในยุคหลัง คานีวาริหันเหจากการทำงานวิดีโอ (เพราะเขาเห็นว่าการถ่ายวิดีโอเป็นอะไรที่คนทำกันจนเป็นปกติธรรมดาไปแล้ว) และเปลี่ยนมาทำงานในรูปแบบดั้งเดิมอย่างงานประติมากรรม, จิตรกรรม และศิลปะแสดงสด

อาทิเช่นในผลงานชุด Nobody Knows (2010) ประติมากรรมและศิลปะแสดงสด ที่เขานั่งบนลูกบอลขนาดมหึมา ที่ทำจากโครงไม้หุ้มยางรถยนต์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโลกใบเล็กๆ ที่ทำให้เราอดนึกไปถึงตัวละครในนวนิยาย เจ้าชายน้อย ของ อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ไม่ได้ ผลงานชิ้นนี้เป็นการเน้นย้ำความลี้ลับของศิลปิน หรือท้ายที่สุดแล้ว ความลี้ลับของชีวิตนั่นเอง

Nobody knows (2010) ภาพโดย [dip] contemporary art, Lugano (CH) 

คานีวาริเชื่อว่า แรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดของศิลปินคือ วิธีคิดของผู้คนในเชิงจิตวิญญาณ ในฐานะส่วนหนึ่งของสภาวะความเป็นมนุษย์ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ที่เปี่ยมความหมาย ชัดเจน เข้าใจง่าย เป็นสากล และไม่ต้องตีความ อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงพื้นฐานในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ยางรถยนต์, กะโหลกศีรษะมนุษย์ หรือแม้แต่ ระเบิด ก็ตาม

ผลงานของคานีวาริมีความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับประเด็นทางสังคมและการเมือง แลท้าทาย ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์ระบบโครงสร้างและสถาบันอันทรงอำนาจในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันศาสนา อาทิเช่นในผลงาน J.M.B. (2001) ประติมากรรมสำเร็จรูปที่พิมพ์ชื่อของศาสดาของสามศาสนาบนผ้าคลุมรถ เพื่อตั้งคำถามกับความขัดแย้งแตกต่างระหว่างแต่ละศาสนาได้อย่างแหลมคมอย่างยิ่ง (ผลงานชุดนี้เคยแสดงในบ้านเรามาแล้วด้วย)

J.M.B. (2001) ภาพโดย [dip] contemporary art, Lugano (CH)

J.M.B. (2002) ภาพโดย [dip] contemporary art, Lugano (CH)

คานีวาริมักกล่าวอยู่เสมอว่า ศิลปะ คือความเป็นไปได้ทางการเมือง เขากล่าวว่าในทุกๆ การกระทำที่ศิลปินทำล้วนแล้วแต่แฝงความหมายทางการเมืองทั้งสิ้น

“ถึงแม้ศิลปินจะวาดรูปดอกไม้ มันก็มีความหมายในเชิงต่อต้านอยู่ดี เพราะวัฒนธรรมคือหนทางแห่งการต่อต้าน ไม่ว่าจะต่อต้านระบบที่ควบคุมและชักจูงให้คนคิดและเดินไปในทางเดียวกัน หรือต่อต้านความเป็นวัตถุนิยม, บริโภคนิยม, ทุนนิยม, ระบบสังคม สิ่งที่เราจะทำในฐานะศิลปิน คือการต่อต้าน ชัดขืน และเอาชนะพลังอำนาจเหล่านั้นในวิถีทางการเมือง (โดยไม่ใช้ความรุนแรง) และชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับมลพิษในสิ่งแวดล้อม ความอยุติธรรมทางการเมือง หรือความสนใจทางศิลปะที่ถูกควบคุมด้วยเงินตราหรือเศรษฐกิจ

มันเป็นความรับผิดชอบของศิลปิน ที่จะค้นหาขอบเขตจำกัด เสาะหา ท้าทาย และก้าวข้ามมันในทุกวิถีทาง ผมไม่ได้บอกว่าศิลปินต้องกระโดดออกทางหน้าต่างเพื่อพิสูจน์ว่าเขาเป็นศิลปินที่ดี แต่ผมคิดว่า ในเชิงแนวคิดแล้ว การทำงานศิลปะควรจะอยู่บนพื้นฐานของการค้นคว้าวิจัย โดยไม่ได้จบอยู่แค่การแสวงหาไอเดีย หากแต่เป็นการเดินทางค้นหาสัจธรรมและความจริงแท้ ผมคิดว่านั้นคือหน้าที่รับผิดชอบของศิลปิน ที่จะไม่หยุดหย่อนในการท้าทายขีดจำกัดทางความคิด และเสาะแสดงหาความท้าทายใหม่ๆ”

แต่ในขณะเดียวกัน ในหลายยุคหลายสมัย ศิลปะเองก็เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และโฆษณาชวนเชื่อแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐเผด็จการเช่นกัน คานีวาริกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“จริงอยู่ ที่ศิลปะอาจเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เลวร้ายอย่างการโฆษณาชวนเชื่อ คุณต้องมีจิตสำนึก ความรับผิดชอบ และระมัดระวังต่อสิ่งที่คุณทำ ผมเชื่อว่าผลงานศิลปะสามารถตีความได้อย่างยาวนาน แน่นอนว่ายุคนี้เป็นยุคของศิลปะร่วมสมัย แต่ผลงานศิลปะควรจะต่อต้านแนวคิดของเวลา เพราะฉะนั้น สำหรับผม ภาพวาดของ คาราวัจโจ ก็เป็นศิลปะร่วมสมัยเช่นเดียวกับศิลปะจัดวางของผม หรือผลงานของคนอื่นๆ ยี่สิบปีจากนี้ไป อาจจะมีการตีความใหม่ๆ เกี่ยวกับงานเหล่านั้นได้ สิ่งที่เราต้องคิดก็คือ ศิลปะนั้นเป็นเครื่องมืออันสากลที่สามารถช่วยให้ผู้คนเข้าใจและคิดอย่างแตกต่าง ทั้งหมดทั้งมวล ที่สุดแล้วศิลปะก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนคิดนั่นแหละ นั่นเป็นความรับผิดชอบของงานศิลปะ งานโฆษณาชวนเชื่อที่คนมองว่าดีงามในวันนี้อาจจะไม่ดีอีกต่อไปในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า มันอันอาจจะมีคุณค่าทางสุนทรียะ แต่ในเชิงความคิดแล้ว มันไม่อาจต่อต้านกาลเวลาได้ แต่ในทางกลับกัน งานศิลปะเป็นอะไรที่ไร้กาลเวลา ที่มีความสามารถในการรอดพ้นจากการกัดกร่อนของกาลเวลาได้”

No Title (2007) ภาพโดย [dip] contemporary art, Lugano (CH)

thANKS (2010) โดย [dip] contemporary art, Lugano (CH)

*Monuments of the Memory (2013) โปรเจกต์ย่นย่ออนุสาวรีย์ ภาพโดย [dip] contemporary art, Lugano (CH) *

Souvenir (2015) งานศิลปะที่เขาตัดแผ่นเหล็กเป็นรูปหมาป่า แล้วไปตั้งไว้ในป่า ภาพโดย [dip] contemporary art, Lugano (CH)

นอกจากร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ แล้ว เขายังร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะลิเวอร์พูล เบียนนาเล่ (Liverpool Biennial) (2004), มหกรรมศิลปะวิทนีย์ เบียนนาเล่ (Whitney Biennal) (2006) ผลงานของเขาถูกสะสมโดยพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกหลายต่อหลายแห่ง เขายังเป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ในกรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน

กับคำถามที่ว่า ในฐานะที่เขาเป็นศิลปินที่เข้ามาแสดงงานในประเทศไทยในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยมีความเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่นัก เขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ คานีวารีกล่าวทิ้งท้ายว่า

“นั่นเป็นประเด็นที่พูดยาก เพราะในแง่ของการเมือง มันมักจะมีเรื่องของความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของคนรวมอยู่ด้วย แต่ผมคิดว่าศิลปะสามารถเป็นเครื่องมือในการปลุกจิตสำนึกของผู้คนให้ลุกขึ้นมาต่อต้านระบบการเมืองหรือรัฐที่ไม่เป็นธรรม โดยปกติในหลายประเทศ เรื่องการเมืองมักเป็นอะไรที่ห่างไกลจากความสนใจของผู้คน แต่เราสามารถใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของผู้คนเหล่านั้น และสร้างความเป็นไปได้ต่างๆ ให้เกิดขึ้นมาได้

ผมคิดว่าศิลปะควรจะมีความเป็นประชาธิปไตย ในแง่ที่มันทำหน้าที่สร้างความเข้าใจแก่ผู้คนในขั้นพื้นฐาน ถึงแม้ในระดับของความคิดมันอาจจะมีความซับซ้อนก็ตาม ผมคิดว่าศิลปะเป็นเครื่องมือของผู้คนในการทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ เป็นกุญแจที่จะเปิดหนทางแห่งความคิดใหม่ๆ นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับผม”

อ้อ ถ้าใครอยากชมผลงานของเขาในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ก็ไปดูกันได้ที่ศาลาการเปรียญในวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, เขตธนบุรี, กรุงเทพฯ เข้าไปดูรายละเอียดของสถานที่จัดงานได้ที่ http://www.bkkartbiennale.com/venues-detail/?venues=3กันตามอัธยาศัย.

เปาโล คานีวาริ กับผลงาน Monuments of the Memory, The Golden Room (2018) ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ภาพถ่ายโดย จิราภรณ์​ อินทมาศ

เอื้อเฟื้อภาพผลงานโดยศิลปิน และ [dip] contemporary art, Lugano (CH)

บทสัมภาษณ์ศิลปิน โดยผู้เขียน

 

ข้อมูล

http://paolocanevari.it/

http://dipcontemporaryart.com/project/820/

http://www.bkkartbiennale.com/profile/paolo-canevari/

https://brooklynrail.org/2010/09/art/art-is-a-political-opportunity

https://en.wikipedia.org/wiki/Paolo_Canevari

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0