โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Pamukkale ดินแดนสีขาว กับเรื่องราวเมืองสปาสองพันปี

THE STANDARD

อัพเดต 21 ก.ย 2562 เวลา 03.43 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2562 เวลา 03.43 น. • thestandard.co
Pamukkale ดินแดนสีขาว กับเรื่องราวเมืองสปาสองพันปี
Pamukkale ดินแดนสีขาว กับเรื่องราวเมืองสปาสองพันปี

 

Pamukkale
Pamukkale

 

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ถูกบังคับ (โดยกฎอุทยานฯ) ให้เดินเท้าเปล่าท่ามกลางอากาศอุณหภูมิใกล้ 0 องศาเซลเซียส โดยไม่สามารถขัดขืนและปริปากบ่น เพราะเราเองที่เลือกเดินทางมาตุรกีในเดือนธันวาคม

 

ทุกตารางนิ้วปกคลุมด้วยสีขาวราวหิมะ แต่แข็งราวกับหิน สองเท้าเหยียบย่างลงบนผลงานศิลปะชิ้นเอกของศิลปินนามว่า ‘ธรรมชาติ’ เนินเขาและหน้าผาดูราวกับกองสำลีขนาดยักษ์ สวยจนทำให้เราลืมความเย็นใต้ฝ่าเท้าไปชั่วขณะ 

 

Pamukkale
Pamukkale

 

 

คำถามแรกที่ผุดขึ้นในหัว คือ ไอ้หินแข็งๆ ผิวสาก ริ้วลายคล้ายหินแอ่งน้ำตกเอราวัณนี่มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมมันขาวจั๊วะปกคลุมไปทั้งไหล่เขาได้ขนาดนี้?

 

หน้าผาขาวราวกับฉีดกลูต้าแห่งปามุกคาเล (Pamukkale) คือ หินปูน (Calcium Carbonate) แต่ที่นี่มีความพิเศษกว่าที่อื่น เพราะตกตะกอนอย่างรวดเร็วในช่วงที่น้ำแร่เย็นตัวลงเมื่อโดนอากาศ ปฏิกิริยาที่ไม่ปกตินี้ทำให้เราต้องเรียกหินปูนสีขาวของปามุกคาเล ว่า ทราเวอร์ทีน (Travertine) เอ้า! แล้วทำไมต้องเรียกต่างกันให้มันยุ่งยาก…ก็เป็นเพราะกระบวนการเกิดมันต่างกันไง หินปูนเกิดใต้ดินโดยความร้อนและแรงกดดัน แต่ทราเวอร์ทีนเกิดจากการตกตะกอนตอนที่น้องน้ำไหลออกมาชมโลก

 

Pamukkale
Pamukkale
Pamukkale
Pamukkale

 

น้ำแร่ร้อนไหลมาตามหน้าผา ตกเป็นน้ำตกจิ๋วหลายสายครอบคลุมทั่วพื้นที่ ผ่านไปหลายแสนปี หินทราเวอร์ทีนค่อยๆ หนาขึ้นๆ บางจุดกลายเป็นแอ่งน้ำ บางจุดจับตัวห่มคลุมเนินผาเป็นก้อนขยุกขยุยเหมือนสำลี ทำให้ได้ชื่อเล่นเป็นภาษาตุรกีว่า Pamukkale แปลเป็นอังกฤษว่า Cotton Castle 

Pamukkale
Pamukkale

 

แม้อากาศจะเย็นจัดจนพื้นเยือกแข็ง แต่ทุก 20-30 เมตร มีสายน้ำแร่อุ่น อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียสทั้งปีทั้งชาติให้แช่เท้า เรียกได้ว่าเหมือนขึ้นสวรรค์ฟินง่ามนิ้วกันทุก 5 นาที ตลอดทางเดินชมมีบ่อน้ำแร่ให้แช่ตัวได้ แต่ต้องสังเกตกันสักนิด ถ้าขอบบ่อดูเป็นเหลี่ยมมุมเป๊ะราวกับสระว่ายน้ำ แสดงว่าบ่อนั้นลงแช่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ด้านล่างๆ ของเนินเขา แต่ถ้าบ่อไหนขอบบ่อสวยงามคดโค้งเว้าคอดแบบธรรมชาติ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าห้ามลง เพราะนั่นคือบ่อดั้งเดิมที่เกิดขึ้นเอง เปราะบาง และมนุษย์ไม่ควรแม้แต่จะเข้าไปสัมผัส

 

Pamukkale
Pamukkale

 

จริงๆ แล้ว เที่ยวเนินเขาปามุกคาเลควรมีเวลา 1 วันเต็ม บางคนอาจจะร้อง “เฮ้ย! แค่นี้ต้องใช้เวลาเต็มวันเลยรึ ถ่ายรูปเล่นสองสามชั่วโมงก็พอ” แต่เพราะปามุกคาเลไม่ได้มีแค่ผาและน้ำตกสีขาวไง ไม่เช่นนั้นเขาจะได้เป็นมรดกโลกเหรอ

Pamukkale
Pamukkale

 

ด้านบนสุดของเนินสีขาว เป็นที่ราบสูงและทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ อดีตเมืองตากอากาศสุดเก๋ของเหล่าชนชั้นสูงยุคโบราณ ราว 200 ปีก่อนคริสตกาล ยุคที่กรีกรุ่งเรืองในพื้นที่แถบนี้ โดยมีกษัตริย์อัตตาลิด (Attalid) แห่งเมืองเปอร์กามัม (Pergamum) ปัจจุบันคือเบอร์กามา (Bergama) ในเมืองอิซเมียร์ (Izmir) อ่านแล้วงงไหม? เอาเป็นว่ากษัตริย์อัตตาลิดสั่งให้สร้างเมืองเฮียราโพลิส (Heirapolis) เพราะที่นี่มีน้ำแร่ร้อนสรรพคุณเลิศล้ำ ช่วยรักษาโรคต่างๆ บรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ดียิ่งกว่าหมอนวดวัดโพธิ์ พระองค์จึงเห็นควรเป็นที่สุดว่าที่นี่ต้องเป็นเมืองสปาประจำอาณาจักร 

 

Pamukkale
Pamukkale

 

ต่อมา ทั้งเมืองโดนยึดโดยโรมัน และกระหน่ำซ้ำทำลายด้วยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แต่ชาวโรมันเจ้าของใหม่ไม่ยอมแพ้ เมืองสปาที่ข้ายึดมาต้องอยู่ยั้งยืนยง เลยทุ่มทุนสร้างใหม่ใหญ่กว่าเดิม จนถึงยุคของจักรพรรดิคอนสแตนติน มีการตั้งกรุงคอนสแตนติโนเปิล (อิสตันบูลในปัจจุบัน) พร้อมกับรับเอาศาสนาคริสต์มาแทนการนับถือเทพเจ้ากรีก เมืองเฮียราโปลิสก็ถูกเปลี่ยนให้เป็น Bishopric หรือดินแดนในปกครองของบาทหลวง และยกระดับเป็นเมืองขนาดใหญ่มาก (Metropolis) ในสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งไบแซนไทน์

 

Pamukkale
Pamukkale

 

เฮียราโปลิส ถูกทำลายอีกหลายครั้งทั้งจากการรุกรานของเปอร์เซีย แผ่นดินไหว และสิ่งสุดท้ายที่ทำให้เฮียราโปลิสล่มจมอย่างไม่ได้ผุดได้เกิด คือ สงครามครูเสดยุคที่ 2 ความไม่สงบตลอด 30 ปีทำให้ผู้คนละทิ้งเมือง ตามมาด้วยหายนะปิดจบแบบปังๆ จากแผ่นดินไหว The Great Thracian Earthquake ที่ฝังทุกสิ่งกวาดทุกอย่างกลับสู่พื้นดิน

 

Pamukkale
Pamukkale

 

ในศตวรรษที่ 20 เมื่อชื่อเสียงของน้ำตก น้ำแร่ร้อน และเนินเขาสีขาวของปามุกคาเล ฟื้นคืนชีพ นักท่องเที่ยวก็ได้พบกับซากอารยธรรมโบราณอีกครั้ง แม้ก่อนหน้านั้นจะมีการขุดค้น แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจ จนเมื่อมีโรงแรมหรูสร้างทับซากเมืองบางส่วน และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น เฮียราโปลิสจึงกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง พร้อมกับคำสั่งรื้อโรงแรม เหลือไว้แค่สระน้ำแร่ท่ามกลางซากเสาหินโบราณ ในชื่อว่า Cleopatra Antique Pools พร้อมกับเรื่องเล่าว่านี่คือของขวัญที่ มาร์ก แอนโธนี (Marc Antony) มอบให้คลีโอพัตราจริงหรือไม่ เรื่องนี้ไม่กล้าฟันธง เพราะเว็บท่องเที่ยวหลายๆ เว็บมีข้อมูลตรงกัน แต่ในเว็บทางการของ UNESCO ไม่เขียนถึงเรื่องนี้ หรือกล่าวถึงสองท่านนี้แต่อย่างใด

 

Pamukkale
Pamukkale

 

ส่วนใครที่มีเวลาเที่ยวไม่มาก จากด้านบนสุดของหน้าผาหินทราเวอร์ทีน ให้เดินตรงตามถนนอิฐมา พอถึง Cleopatra Antique Pool ก็ชิดซ้าย เดินตามถนนกรวดขึ้นเนิน มองขึ้นไปที่สุดทางจะเห็นซากโรงละครโรมันสุดอลังการ Amphi Theatre แม้ว่าจะไม่ใหญ่โตที่สุดในตุรกี แต่ขนาดก็ไม่ได้เล็กสักนิด และตรงนี้เป็นจุดที่เหมาะมากสำหรับชมพระอาทิตย์ตก

 

แสงสีทองอาบไปทั่วซากโบราณ พลางจิตนาการถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต จากตรงที่เรานั่งสามารถมองเห็นได้ทั่วอาณาเขตของเฮียราโปลิส มีฉากหลังเป็นยอดเขาฮาซัน (Hasan Dag) อยู่ไกลๆ กองหิน เสาหิน ซากหักพังของอาคารโบราณ โรงอาบน้ำ วิหาร และรางน้ำซึ่งทำจากหินสกัดเป็นร่องแตกแขนงแยกย่อยไปในหลายๆ จุด สะท้อนความเจริญขั้นสุดของยุคสองพันปีก่อน 

 

Pamukkale
Pamukkale
Pamukkale
Pamukkale

 

เมื่อดวงอาทิตย์ลดต่ำ เมืองสีทองถูกกลืนไปกับเงามืด เหมือนไฟในโรงละครค่อยๆ หรี่ลง ทุกสิ่งเมื่อขึ้นถึงจุดสูงสุด ก็ย่อมตกกลับสู่จุดที่ถือกำเนิดขึ้นมา ไม่ว่าเราจะเรียกว่าซาก หรือ รากของอดีต นี่ก็คือหลักฐานยืนยันได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าเราจะอยากเจอหรือไม่ก็ตาม

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0