โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"OK, Boomer" มีมฮิตระดับโลก ที่การเมืองไทยหนียังไงก็ไม่พ้น

The MATTER

อัพเดต 20 พ.ย. 2562 เวลา 04.50 น. • เผยแพร่ 20 พ.ย. 2562 เวลา 03.06 น. • Thinkers

(1)

สัปดาห์ที่ผ่านมา OK, Boomer กลายเป็นวลีสั้นๆ แพร่หลายอย่างรวดเร็วในโซเชียลมีเดีย หลังจากชายยุค 'เบบี้บูม' คนหนึ่ง วิจารณ์คนรุ่นใหม่ผ่านแอพพลิเคชัน Tik Tok ว่าเป็นพวก 'ปีเตอร์แพนซินโดรม' นั่นคือ ไม่คิดจะโต ไม่ต่อสู้ดิ้นรนใดๆ จนทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนเกิดอาการ 'กระฟัดกระเฟียด' ต้องโต้กลับด้วยประโยคสั้นๆ นี้

แน่นอน นี่เป็นส่วนหนึ่งของ 'ความแตกต่างระหว่างวัย' ที่เป็นธรรมดาของโลกอยู่แล้ว เพราะผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะยุคใดก็ตาม มักจะเห็นว่าเด็กอ่อนประสบการณ์กว่า มองอะไรตื้นเขินกว่า และอยู่กับตัวเองมากไป จนไม่ได้มองบริบทรอบด้าน ส่วนเด็กก็คิดเหมือนกัน คือผู้ใหญ่มักจะมองอะไรแบบเก่าๆ คิดว่าพวกบูมเมอร์นั้นแก่กะโหลกกะลา และสร้างปัญหาคาราคาซังมมาให้คนรุ่นหลัง

วิวาทะนี้ทำให้ผมนึกถึง 'ประโยคเด็ด' ของการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้สนับสนุนหลักของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ปราศรัยในวันที่ 21 มี.ค. ให้ระวังตัวร้ายที่ยืน 'ตาขวาง' อยู่ตามเสาไฟฟ้าให้ดี รวมถึงขอให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง ไปคุยกับลูกหลานว่าอย่าเลือกพรรคนี้เลย และถ้าหาก 'ขอ' ไม่สำเร็จ ก็ให้ 'ยกมือไหว้มันสักที' ให้เลือกพรรคลุงกำนันแทนพรรคตัวร้ายตัวใหม่

อย่างที่เรารู้กัน พรรคของลุงกำนัน ที่เคยเป็นเจ้าของเสียงมวลมหาประชาชนนับแสนคนที่ลงบนท้องถนนนั้น กลับได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งน้อยกว่าพรรค 'ตัวร้ายตัวใหม่' หลายเท่า แม้จะขอให้พ่อแม่กราบกรานลูกหลานแล้วก็ตามที

Ok, Boomer

(2)

ผลการเลือกตั้ง และวิธีการทำงานการเมืองของอนาคตใหม่ กลายเป็นการเมืองที่ทำให้ 'เบบี้บูมเมอร์' ไม่คุ้นชิน และทำให้ใครก็แล้วแต่ที่อยู่ในโลกของการเมืองเดิม แบบที่ลุงกำนัน ลุงตู่ ลุงแดง และบรรดาผู้สนับสนุนอยู่ หรือที่เรียกกันหยาบๆ ว่าเป็นพวก 'อนุรักษ์นิยม' ล้วนเกิดอาการวิตกจริตว่าพวกเขาจะไม่สามารถตามการเมืองแบบใหม่ได้ทัน และถ้าปล่อยให้การเมืองยังเดินด้วยระบบแบบนี้ 'ที่ยืน' ของพวกเขา จะหายไปเรื่อยๆ หลังจากที่ยึดครองมาได้ตลอด

ความกราดเกรี้ยวนี้ยังดำรงอยู่ เพราะยิ่งนานวัน คนรุ่นเก่ายิ่งรู้สึกไม่มั่นคง เนื่องจากเขาอยู่ภายใต้ระบบราชการแบบเก่า ระบบอุปถัมภ์ ระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ขณะที่เด็กรุ่นใหม่จำนวนมาก ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากระบบนี้ และยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกแปลกแยก เพราะระบบนี้ไม่ได้ให้โอกาสเขาเติบโต เท่ากับคนที่มีอยู่แล้ว รวยอยู่แล้ว มั่นคงอยู่แล้ว

นั่นทำให้เด็กรุ่นใหม่ อายุตั้งแต่ 30 ลงไป จะถูกเหมารวมภายใต้ stereotype เดียวกันว่าเป็นผู้สนับสนุน 'พรรคส้ม' และเป็นพวกหัวรุนแรง หากไม่ออกตัวชัดมาก ก็จะบอกว่าเป็นพวกอ่อนต่อโลก ไม่เข้าใจการเมือง แต่หากสนับสนุนมากเข้าก็จะโดนหนักหน่อย โดยอาจถูกเรียกว่าเป็นพวกหัวรุนแรง “ซ้ายจัดดัดจริต”​

Ok, Boomer

(3)

ทั่วโลกนั้น เจเนอเรชั่นถูกแบ่งออกหยาบๆ ว่าเป็น 4 เจเนอเรชั่น หนึ่งคือ Silent หรือคนที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1925 - 1945 สองคือ เบบี้บูมเมอร์ เกิดช่วงปี ค.ศ. 1946 – 1964 สามคือ Gen X เกิดปี ค.ศ. 1965 – 1979 มิลเลเนียลส์ หรือ Gen Y เกิดปี ค.ศ. 1980 – 1997 และ Gen Z คือเกิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา

มีการสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบว่า Gen Z นั้น ไม่ต่างอะไรจากบ้านเรา คือเอียงไปทาง 'เสรีนิยม' มากกว่า ซึ่งต่างจากบรรดาผู้ที่เกิดก่อนหน้านั้นชัดเจน

ปลายปี ค.ศ. 2018 มีผลโพลสำรวจโดยกลุ่ม Harris Insights & Analytics พบว่าประเด็นสาธารณะ ซึ่งคนรุ่นใหม่สนใจมากที่สุดสามอันดับ ก็คือ 'การกราดยิงในที่สาธารณะ' 'ความเท่าเทียมระหว่างเชื้อชาติ' และ 'นโยบายผู้ลี้ภัย' ซึ่งแตกต่างจากสามอันดับของรุ่นที่แก่กว่า อย่าง Gen X เบบี้บูมเมอร์ และกลุ่ม Silent ที่โหวตเรื่อง 'ระบบสุขภาพ' 'การก่อการร้าย' และ 'หนี้สาธารณะ'

แน่นอน คนรุ่นใหม่ไม่รู้สึกอินใดๆ กับเรื่องการก่อการร้ายเท่ากับคนรุ่นก่อนหน้าที่เผชิญกับเหตุการณ์ 11 ก.ย. 2001 โดยตรง และพาอเมริกาลากยาวไปสู่สงครามอิรัก – อัฟกานิสถาน พร้อมกับทุ่มทั้งงบประมาณ ทั้งสรรพกำลังไปยังสงครามเหล่านี้อย่างมหาศาล เพื่อเอาไปใช้ด้าน 'ความมั่นคง' ให้คนในชาติมั่นใจว่าจะไม่มีการก่อการร้ายที่มีคนตายไปเป็นพันๆ คนอีก

เมื่อมองไปถึงคะแนนความนิยมในตัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ Pew Research Center โพลชื่อดังอีกแห่งกลับพบว่า กลุ่ม Gen Z และกลุ่มมิลเลเนียลส์นิยมประธานาธิบดีคนนี้น้อยที่สุด เพียง 29% ส่วน Gen X นั้นสูงขึ้นมาหน่อย อยู่ที่ 38% เบบี้บูมเมอร์ อยู่ที่ 43% และบรรดาคนที่แก่กว่านั้น อยู่ที่ 54%

ที่น่าสนใจก็คือ สิ่งที่ 'อเมริกันชน' มักคิดกันตลอดเวลาก่อนหน้านี้ว่าตัวเองเป็นประเทศที่ดีที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกก่อนหน้านี้ กลับถูกหักล้างโดยสิ้นเชิงจากบรรดาคนรุ่นใหม่ มีเด็ก Gen Z เพียง 14% และมิลเลเนียลส์เพียง 13% เท่านั้น ที่ยังคิดว่าอเมริกาคือประเทศที่ดีที่สุดในโลก ต่างกันลิบลับกับบรรดาบูมเมอร์ที่มากกว่า 30% คิดว่าอเมริกาคือประเทศที่ดีที่สุด ส่วนบรรดาคนชรามากกว่า 45% ก็คิดว่าอเมริกาคือประเทศที่ดีที่สุด

ตัวเลขนี้สะท้อนชัดเจนว่า ยิ่งคนอายุน้อยเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึก 'ชังชาติ' มากขึ้น

Ok, Boomer

(4)

ปัญหาสำคัญอีกอย่างก็คือบรรดา 'ชนชั้นปกครอง' ในเวลานี้ ล้วนอยู่ในวัยเบบี้บูมเมอร์ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีทรัมป์ นายกฯ บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ประธานาธิบดีโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ของฟิลิปปินส์ สมเด็จฮุนเซน ของกัมพูชา หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของบ้านเราก็อยู่ในข่ายเดียวกัน

ที่น่าสนใจก็คือ แม้คนกลุ่มนี้ จะได้รับ 'ฉันทามติ' โหวตให้เป็นผู้นำประเทศตามระบอบประชาธิปไตย (แม้ประเทศหลังๆ จะดูเป็นระบอบที่พิสดารหน่อย) แต่ก็มักจะพูดอะไรที่หลงยุคเสมอ นั่นทำให้บรรดา Gen Z และมิลเลเนียลส์ เอาตัวออกห่างจากรัฐบาลพวกเขามากขึ้นทุกที และกลายเป็นภาระของบูมเมอร์จำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องมาดีเฟนด์ความหลงยุคของนักเลงโบราณเหล่านี้ด้วยสารพัดเหตุผลที่ต่างก็พากันหลงยุค และทำให้ช่องว่างระหว่างเจเนอเรชั่นมากขึ้นไปอีก

แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ เราอยู่ในยุคที่สังคมผู้สูงอายุกำลังครอบงำหลายๆ ประเทศทั่วโลก ความกังวลใหญ่ของคนกลุ่มนี้ก็คือ ในวัยเกษียณ ในช่วงชีวิตบั้นปลาย จะทำอย่างไรให้มีระบบสวัสดิการที่คงที่ มีเงินเลี้ยงตัวเอง ไม่ใช่การต่อสู้กับนายทุน ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ยังไม่รู้ว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร

แต่ก็ใช่ว่าคนกลุ่มนี้จะไม่เคยเรียกร้องความเท่าเทียม ไม่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยมาก่อน ในอเมริกา หากไม่ได้เบบี้บูมเมอร์เหล่านี้ ขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิสตรีก็คงไม่เติบโต และในเวียดนามก็คงมีทหารตายเพิ่ม ส่วนในไทยเอง หากไม่ได้เบบี้บูมเมอร์เคลื่อนไหว สังคมไทยอาจอยู่ภายใต้ทหารต่อเนื่อง—ยาวนานมาตั้งแต่ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร จนถึงวันนี้ก็ได้

แต่เมื่อถึงวัยหนึ่ง ไม่มีใครสามารถแบกรับการต่อสู้ที่เหนื่อยล้า ยาวนาน และไม่มีจุดจบได้ขนาดนั้น เมื่อถึงวัยหนึ่ง อุดมการณ์จึงกลายเป็นเรื่องรอง และนำมาซึ่งความ 'อยู่เป็น' มากขึ้น ซึ่งพวกผู้นำเบบี้บูมเมอร์ที่กล่าวถึงข้างต้นรู้ปัญหา และรู้ความต้องการของคนกลุ่มนี้ดี นั่นเป็นคำตอบว่าทำไมเราถึงได้ผู้นำประเทศที่มีความคิดไม่ต่างกับพวกเบบี้บูมเมอร์ทั้งหลาย และทำให้คนเหล่านี้ ใช้ประโยชน์จากการคนที่โหวตให้จำนวนมหาศาลมาจากวัยเดียวกันได้คุ้มค่า

Ok, Boomer

(5)

แล้วมิลเลเนียลส์ Gen Y และ Gen Z ควรทำอย่างไร? คำตอบของผมอาจจะโลกสวยไปสักนิด นั่นคือคนกลุ่มนี้ต้องหาทางจูนเข้าหาเบบี้บูมเมอร์มากขึ้น และไม่ใช่เแนวคิด 'เหมาโหล' ที่ว่าบูมเมอร์ทุกคน จะเป็นพวกแก่กะโหลกกะลาไปเสียหมด

แน่นอน คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งอาจมีจุดอ่อนจริง ทั้งความฉาบฉวย การไหลไปตามกระแส ไหลตาม Influencer มากเกินไป ทั้งที่หลายเรื่องก็ขาดความรู้จริง ขาดการแสวงหาข้อมูล ซ้ำยังเบื่อหน่ายบางเรื่องอย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้จะกลายเป็นปัญหาต่อไป

แม้ว่าคุณจะมีอุดมการณ์ที่แน่วแน่มากขนาดไหนในการเปลี่ยนโลก แต่ถ้าคุณไม่สามารถดึงดูดคนที่ต่างวัย ต่างสถานะ ให้เข้าร่วมด้วยได้ คุณก็จะอยู่ในสภาพแบบที่ สู้ไป บ่นไป แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน เบบี้บูมเมอร์ก็ต้องมองคนรุ่นใหม่อย่างเข้าใจบ้างว่าสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโต ประเทศที่เขาจบมาทำงานนั้นเป็นแบบไหน ไม่ใช่ว่าใครก็แล้วแต่ ที่อายุต่ำกว่า 30 ใครที่เชียร์พรรคอนาคตใหม่ หรือใครที่เรียกประเทศว่า 'กะลาแลนด์' จะเลวร้ายไปทั้งหมด

แต่การจะจูนเข้าหากันได้ ต้องเริ่มจากเอาความหวาดกลัวคนรุ่นใหม่ออกไป แล้วก็ต้องหาทางฟังพวกเขาให้มากขึ้น อย่าคิดแต่ว่าพวกเขาจะเป็นปัญหา เป็นภาระ หรือจะสั่นคลอนความมั่นคงของพวกคุณ และของชนชั้นปกครอง ตัวแทนของพวกคุณเพียงอย่างเดียว

ถ้าคนรุ่นเก่ายังมองคนรุ่นใหม่เป็นตัวอันตราย เป็นตัวร้ายตัวใหม่ที่ต้องทำลาย ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่วิกฤตการเมืองที่ยาวนาน 13 ปี ครึ่งชีวิตของมิลลิเนียล และ 1 ใน 3 ของพวก Gen Z จะร้าวลึกกว่าเดิม จนกลายเป็นสงครามระหว่างวัยและทำให้พวก 'ชังชาติ' ในนิยามของคนรุ่นเก่า เติบโตขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นอีกหนึ่งความขัดแย้งที่สุมไฟความมั่วในระบบการเมืองบ้านเราให้มั่วต่อไปให้ไม่รู้จบ

จากประสบการณ์ และจากทัศนคติที่ผ่านมาของเบบี้บูมเมอร์ที่ปกครองประเทศอยู่ยาวนาน ผมคิดว่าน่ากลัวจะเป็นอย่างนั้น!

Ok, Boomer

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0