โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

New Normal วิถีชีวิตใหม่หลัง 2475 สำรวจการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 06 ธ.ค. 2565 เวลา 03.39 น. • เผยแพร่ 25 ธ.ค. 2563 เวลา 16.27 น.
10-12-2475
ชาวพระนครออกมาฉลองรัฐธรรมนูญฉบับถาวรบนท้องถนน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 (ภาพจาก มูลนิธิ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และท่านผู้หญิงบุญหลง)

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา“New Normal วิถีชีวิตใหม่หลังสมัย 2475” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งเจ้านายและประชาชนต้องปรับตัวในวิถีชีวิตแบบใหม่ของระบอบใหม่ที่ไม่คาดคิดมาก่อน ร่วมเสวนาโดย อ.วีระยุทธ ปีสาลี, ผศ. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และ เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.30-15.30น. ณ เบรนเวค คาเฟ่ มติชนอคาเดมี

ผศ. ศรัญญู กล่าวว่า New Normal คือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่จากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กระทบต่อชีวิต นำไปสู่การเกิดรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ กรณีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” เป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบใหม่ ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะการให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการตื่นตัวทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

คณะราษฎรพยายามสร้างระบอบใหม่ โดยใช้ “รัฐธรรมนูญ” อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเป็นรากฐานของการปฏิรูปประเทศในหลายด้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน กล่าวคือ ด้านการปฏิรูประบบราชการ เปิดโอกาสในประชาชนสามัญเข้าสู่ระบบราชการได้ มีการวางโครงสร้างการบริหารแผ่นดิน กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะการจัดตั้งเทศบาล ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากขึ้น สามารถเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นได้

ด้านการปฏิรูปการศึกษา ผศ. ศรัญญู กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือการเปลี่ยนระบบการศึกษา จากเดิมที่มุ่งเน้นการผลิตข้าราชการเข้าสู่ระบบราชการแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เมื่อเข้าสู่ระบบใหม่ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือการผลิตคนที่มีความรู้… คือผลิตคนที่อ่านออกเขียนได้ มีความรู้ ลักษณะแบบนี้คือการศึกษาแบบมวลชน แบบกว้างขวาง ที่สำคัญที่น่าสนใจคือการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นมหาวิทยาลัยแบบเปิด อันนี้คือการเตรียมคนเข้าสู่ระบอบใหม่ ที่เปิดโอกาสให้คนทุกคนไม่ว่าจะมีภูมิหลังมีชาติกำเนิดใดก็ตาม แต่เมื่อเข้าสู่ระบอบใหม่ ทุกคนมีความเสมอภาคกัน ทุกคนสามารถที่จะมีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการอะไรต่าง ๆ ได้ เพราะว่า ระบอบใหม่มันคือการเปิดโอกาสอย่างเสมอภาค”

ด้านการปฏิรูปสังคม ภายใต้หลักการแห่งความเสมอภาค ทำให้อภิสิทธิ์ของชนชั้นสูงหรือเจ้านายบางอย่างถูกยกเลิกไป รวมถึงสิทธิของประชาชนในการเลือกตั้ง การเข้ารับสมัครเป็นผู้แทนราษฎร ด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ เน้นนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม

ดังนั้น การปฏิรูปของคณะราษฎรเหล่านี้ได้ทำให้วิถีชีวิตประชาชนเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

ผศ. ศรัญญู ยังอธิบายว่า คณะราษฎรได้สร้างสำนึกเรื่อง “ชาติ” ขึ้นในความหมายใหม่ ชาติ คือ ประชาชน “ชาติมันเป็นสิ่งที่นามธรรมมาก แต่สิ่งที่คณะราษฎรทำก็คือทำให้ชาติเป็นรูปธรรมจับต้องได้“ จนมีการสร้างประดิษฐกรรมเกี่ยวกับชาติเช่น เพลงชาติ และวันชาติ โดยเฉพาะการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมอย่างเข้มข้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม อันอยู่ภายใต้แนวคิด ชาติหมายถึงประชาชนที่มีเชื้อชาติเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนมากมายหลากหลายด้าน

ขณะที่เจ้านายเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก (โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช) เนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัย ทำให้เจ้านายหลายพระองค์เสด็จย้ายออกจากกรุงเทพฯ เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปประทับยังปีนัง, กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จไปประทับยังบันดุง อ.วีระยุทธ กล่าวว่า เจ้านายต้องปรับตัวในด้านการดำรงชีพหรือการประกอบอาชีพ ซึ่งแต่ก่อนมีพันธะเรื่องเกียรติยศศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้า ก็ต้องลดละลงไปบ้าง

ปัจจัยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจ และการถูกลดเงินปี ซึ่งทำให้เจ้านายหลายพระองค์ต้องหันมาประกอบอาชีพหาเลี้ยงพระองค์และครอบครัว เช่น หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ประกอบอาชีพเป็นเลขานุการของสภากาชาดไทย, หม่อมเจ้าฤดีวรวรรณ ประกอบอาชีพเป็นครูสอนเต้นลีลาส และเป็นผู้ประกาศข่าวที่ Voice of America, หม่อมเจ้าสุรางค์ศรี เย็บหมวกขาย, หม่อมเจ้าวรรณีศรีสมร ทำกล่องอาหารกลางวันขาย เรียกกระเช้าลันชั่น (Luncheon Basket), หม่อมเจ้าเราหินาวดี ทำขนมเค้กขาย เรียกว่า ขนมเค้กท่านหญิงเป้า และพระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน เปิดร้านอาหารไทยในกรุงลอนดอน ชื่อว่า Siam Rice เป็นต้น

วิถีชีวิตแบบใหม่ของเจ้านายอีกประการคือ การสมรสกับสามัญชน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากคณะราษฎรออกประกาศกฎมณเฑียรบาลเรื่องการสมรสของพระราชวงศ์ อ.วีระยุทธ อธิบายว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงหลักการเสมอภาค ความเท่าเทียม และสิทธิ ของคณะราษฎร

ทางด้านการศึกษา อ.วีระยุทธ กล่าวเน้นไปถึงเจ้านายสตรีว่า ได้รับโอกาสมากขึ้นกว่ายุคก่อน ที่เน้นแต่การศึกษาวิชาสำหรับสตรีในราชสำนัก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้านายสตรีมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น ระดับการศึกษาสูงขึ้น ทั้งยังศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ หลากหลายแขนง และยังสามารถไปศึกษายังต่างประเทศได้

ชมเสวนาย้อนหลังได้ที่นี่

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0