โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

New Normal กำเนิด...แพลตฟอร์มใหม่ร่วมกัน เพื่อบริหารการผลิตและสต็อกสินค้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อัพเดต 01 มิ.ย. 2563 เวลา 09.55 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2563 เวลา 09.55 น.

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมการผลิตของผู้ประกอบการไทย ทั้งในด้านอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและนอกประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาพิจารณารูปแบบการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตใหม่เพื่อลดความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหลังการระบาดของโควิด โดยแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ การปรับรูปแบบห่วงโซ่อุปทานให้เกิดการบูรณาการและกระชับความสัมพันธ์กันมากขึ้นระหว่างผู้ผลิต เพื่อการบริหารจัดการกระบวนการผลิตที่เป็นองค์รวมและยืดหยุ่นมากขึ้นโดยผู้ผลิตสินค้าขั้นปลายในห่วงโซ่อุปทานน่าจะเริ่มดำเนินการและสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการใช้งานระบบสารสนเทศที่อยู่บนแพลทฟอร์มพื้นฐานเดียวกัน ดังเช่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ผู้ผลิตรถยนต์จะมีการสร้างแพลทฟอร์มการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนของตนขึ้นมา โดยแพลทฟอร์มดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลอุปสงค์และอุปทานชิ้นส่วนในแต่ละ Tier เพื่อการบริหารจัดการระดับของกิจกรรมการผลิตและสต็อกสินค้าในแต่ละจุดของห่วงโซ่อุปทานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถลดความเสี่ยงจากการผลิตเกินควรหรือผลิตไม่เพียงพอ เนื่องจากความผันผวนของอุปสงค์หรือปัญหาด้านอุปทานที่อาจเกิดขึ้น

ผู้ผลิตในแต่ละจุดของห่วงโซ่อุปทานที่มีความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ต่อกัน อาจได้รับการร้องขอจากผู้ผลิตที่เป็นลูกค้าของตนให้เพิ่มสต็อกสินค้าขั้นกลางที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตในขั้นตอนต่อไปของกระบวนการผลิต ซึ่งแม้จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงในกรณีที่อาจเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อการผลิตชั่วคราวได้ เช่น การเพิ่มสต็อกในผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) แบบยืดหยุ่นซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญและขาดไม่ได้ในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ในไทย เป็นต้น ในขณะที่สำหรับกรณีที่ต้องมีการนำเข้าชิ้นส่วนขั้นกลางจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการในไทยอาจต้องมีมาตรการเพิ่มสต็อกมากขึ้น เพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนในอนาคตของผู้ผลิตในไทยตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางบางประเภทที่มีความซับซ้อนในการผลิตและต้องนำเข้า เช่น  ตัวควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์(ECU) ที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น หรือแม้แต่เวเฟอร์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยต้องนำเข้ามาเพื่อผลิตวงจรสำหรับอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ เป็นต้น สำหรับในระยะยาว ผู้ผลิตสินค้าในแต่ละอุตสาหกรรมอาจจำเป็นต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนให้มีจำนวนชิ้นส่วนลดลง เพื่อลดความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทาน และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละจุดของห่วงโซ่การผลิตได้ รวมทั้งลดปัญหาการเก็บสต็อกชิ้นส่วนลง 

นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมทางสังคมหลังโควิดที่เปลี่ยนไปในด้านการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล อาจทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะพิจารณาจัดสภาพการทำงานของพนักงานในอนาคตให้สอดคล้องตาม เช่น การจัดช่วงห่างในพื้นที่ทำงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติรูปแบบต่างๆ เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตอย่างเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งแม้ในระยะสั้นจะมีต้นทุนเพิ่ม แต่ในระยะยาวจะทำให้การบริหารห่วงโซ่อุปทานในด้านการจัดการต้นทุนและคุณภาพสินค้าดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากปัญหาต่างๆ อันเกิดจากคนงานลงดังที่พบเห็นในช่วงการระบาดของโควิด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0