โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

NBA All-Star 2020 : การเปลี่ยนแปลงของเกมออลสตาร์แด่ "โคบี้" ผู้เป็นที่รัก

Main Stand

อัพเดต 23 ก.พ. 2563 เวลา 13.47 น. • เผยแพร่ 18 ก.พ. 2563 เวลา 17.00 น. • วัชรินทร์​ จัตุชัย​

 

"All-Star Game" หรือ "เกมรวมดารา" คือหนึ่งในอีเวนท์ที่สามารถดึงดูดรายได้ และความสนใจอย่างมากมายมหาศาลในวงการอเมริกันเกมส์เสมอมา

ไม่เพียงเท่านั้น การได้มีส่วนร่วมในเกมดังกล่าว คือสิ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่า และเกิดเป็นความภาคภูมิใจให้แก่ตัวของนักกีฬาเองอีกด้วย ซึ่งในวงการบาสเกตบอลอาชีพของสหรัฐอเมริกาหรือบาสเกตบอล NBA ก็เช่นเดียวกัน

ทว่าในเกมออลสตาร์ปี 2020 มันมีหลายสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าเดิม และทั้งหมด เกิดขึ้นเพราะผู้ชายหนึ่งคนที่ด่วนจากโลกนี้ไป …

ประวัติศาสตร์เกมรวมดารา

ครั้งแรกที่เกิดไอเดียการนำเอาสตาร์ดังจากต่างทีมมาเล่นด้วยกัน เกิดขึ้นในปี 1951 โดย มัวริซ โพโดลอฟ ประธาน (คอมมิชชันเนอร์ ในปัจจุบัน) ของ NBA ในขณะนั้น ซึ่งแม้หลายฝ่ายจะไม่เห็นด้วยเท่าไรก็ตาม เนื่องจากวงการบาสเกตบอลเพิ่งจะเจอกับคดีการล็อกผลในระดับมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ แต่โพโลดอฟเชื่อว่าจะนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ลีก และครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของลีกได้แน่นอน 

Photo : Bleacher Report
 

และสิ่งที่โพโลดอฟพูดนั้น ก็กลายเป็นความจริงอย่างไม่ผิดเพื้อน เมื่อการจัดเกมการแข่งขันระหว่างซูเปอร์สตาร์จากฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ในเกม NBA ออลสตาร์ครั้งแรกที่เมืองบอสตันนั้น เรียกผู้ชมเข้าสนามได้ถึง 10,094 คน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยผู้ชมในแต่ละสนามของฤดูกาล 1950-51 ที่มีเพียงราวๆ 3,500 คนต่อเกมเท่านั้น

ด้วยแนวคิดเกมรวมดารานั้น ทำให้บรรดาซูเปอร์สตาร์และผู้เล่นต้องพยายามสร้างผลงาน สร้างมูลค่าของตนเองขึ้นมา เพื่อให้มีชื่อไปเล่นในเกมออลสตาร์ให้ได้ นั่นส่งผลไปถึงลีกที่มีการเขยิบภาพลักษณ์ขึ้นไปอีก และทำให้ได้รับความนิยม การกล่าวถึงจากสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ไม่เพียงเท่านั้น เกมออลสตาร์ยังเปรียบเสมือนเป็นการพักผ่อนของผู้เล่นอีกด้วย เพราะนอกจากช่วงเวลาที่จัดแข่งจะวางไว้ในช่วงกลางฤดูกาลปกติ จนเปรียบเสมือนการพักเบรกแล้ว เมื่อบรรดาสตาร์ทั้งหลายมาเจอกัน ก็จะกลายเป็นสีสันและสร้างความบันเทิงด้วยกันเอง แถมยังถือเป็นการประชาสัมพันธ์ลีกชั้นยอดอีกด้วย 

เพื่อเป็นการเอ็นเตอร์เทนคนดู แน่นอนว่า NBA นั้นได้สร้างกิจกรรมขึ้นมามากมาย จนกลายเป็น "สัปดาห์ออลสตาร์" ทั้งการแข่งขันสแลมดังค์, ชู้ต 3 คะแนน, แข่งทักษะ หรือแม้แต่การจับคนดังในวงการต่างๆ มาโชว์ลีลาแม่นห่วง

Photo :SB nation 

ขณะเดียวกัน พวกเขายังมีความยืดหยุ่นทุกอย่างเพื่อให้แฟนๆ ตอบรับกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโหวต ซึ่งเดิมทีเป็นการเขียนจดหมาย แต่เมื่อเข้าสู่ยุคที่มีอินเทอร์เน็ต ลีกก็เปิดช่องทางให้โหวตผ่านทางเว็บไซต์ได้ และนั่นทำให้สามารถขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศได้อีกมากมาย อย่างเช่นเมื่อสมัยที่ เหยา หมิง ไปเล่นใน NBA กับ ฮิวส์ตัน ร็อคเก็ตส์ ชาวจีนแทบทั้งประเทศต่างเข้าไปกด (หรือฟลัด) โหวตจน"อาเหยา" ติดทีมออลสตาร์แทบทุกปี แม้กระทั่งการแข่งขันสแลมดังค์ ที่บางปีนอกจากจะใช้การโหวตผู้ชนะผ่านทาง SMS แล้ว ยังมีการนำกงล้อมาให้ผู้เข้าแข่งขันหมุนว่าจะได้ดังค์ท่าของตำนานคนใด 

เดวิด สเติร์น อดีตคอมมิชชันเนอร์ NBA ผู้ล่วงลับเคยกล่าวถึงกิจกรรมในสัปดาห์แห่งศึกออลสตาร์นี้ว่า"นี่คือหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ลีกชั้นเยี่ยม เราไม่ได้เจาะจงเพียงแค่สหรัฐอเมริกา แต่เป้าหมายของเราคือ การทำให้ NBA เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และทุกอย่างสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่าได้ตลอด"

การเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

สิ่งที่สเติร์นพูดนั้น คือความจริงที่เกิดขึ้นกับเกมออลสตาร์เสมอ เพราะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ กติกาต่างๆ มาโดยตลอดเพื่อให้เกิดความสูสียิ่งขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกประวัติศาสตร์จริงๆ นั้น คงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2018 

ช่วงเวลาดังกล่าว แฟนๆ เริ่มอยากเห็นอะไรที่แปลกใหม่ เพราะรูปแบบของเกมออลสตาร์ตั้งแต่ครั้งแรกในปี 1951 นั้นก็จะเป็นแบบเดิม นั่นคือ ตะวันออก vs ตะวันตก ทว่าในช่วงหลังๆ เป็นฝั่งตะวันตกที่ครองความเหนือกว่ามาโดยตลอด จนคนดูเริ่มเบื่อหน่าย

Photo : Espn 

อดัม ซิลเวอร์ คอมมิชชั่นเนอร์ NBA คนปัจจุบัน ก็เป็นอีกคนเห็นถึงสิ่งนั้น และได้เปลี่ยนระบบเป็น ให้ผู้ที่มีคะแนนโหวตสูงสุดของทั้ง 2 ฝั่งเป็นกัปตัน และสามารถเลือกผู้เล่นคนใดก็ได้ที่มีชื่ออยู่ในทีมออลสตาร์ ไม่ว่าจะเป็นตัวจริงจากผลโหวต หรือตัวสำรองจากการเลือกของโค้ช มาติดทีมตนเอง หรือที่เรียกว่า"กัปตันดราฟต์" ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ไอเดียนี้ซื้อใจแฟนได้เต็มๆ เพราะด้วยระบบนี้ จึงทำให้สามารถที่จะเอาสตาร์ฝั่งตะวันออกมาเล่นด้วยกันกับสตาร์ฝั่งตะวันตกได้ และนั่นทำให้เรตติ้งเกม NBA ออลสตาร์นั้นกระฉูดเพิ่มเป็นอีกเท่าตัว 

นี่คือเสน่ห์ของเกมออลสตาร์ที่มีการปรับ การเพิ่ม ในหลายต่อหลายอย่างเพื่อให้ทันกับยุคสมัย เพราะในช่วงสัปดาห์ออลสตาร์นี้ นอกจากมีสื่อจากทั่วโลกร้อยกว่าประเทศที่เป็นพันธมิตรกับ NBA เข้ามาทำข่าวแล้ว ก็มีนักท่องเที่ยวขาจรจากทั่วทุกมุมโลกที่ยอมเสียเงิน เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมาสัมผัสประสบการณ์ชม NBA สักครั้งในชีวิต แล้วจะมีเกมไหนที่เต็มอิ่มกว่าเกมออลสตาร์อีกล่ะ

แด่ตำนานผู้จากไป

และในเกมออลสตาร์ปี 2020 ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อไม่กี่วันนี้ ยังถือเป็นปีที่พิเศษยิ่งกว่าเดิม ทั้งในแง่ที่เตรียมการไว้แล้วและเกิดขึ้นปุบปับกระทันหัน

Photo : Bleacher Report

เริ่มด้วยสิ่งที่เตรียมการไว้แล้วก่อน เนื่องจากเกมออลสตาร์ในปีนี้ เป็นการแข่งที่เมืองชิคาโก้ เมืองที่ ไมเคิล จอร์แดน ตำนานแห่งวงการบาสเกตบอลนั้นสร้างชื่อเสียง และพาต้นสังกัดอย่าง ชิคาโก้ บูลส์ คว้าแชมป์ NBA ถึง 6 สมัย จึงเปรียบเสมือนเป็นเมืองแห่งความทรงจำที่แฟนๆ หลายคนนั้นตั้งตารอ 

แต่จู่ๆ สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม … เมื่อ โคบี้ ไบรอันท์ อีกหนึ่งตำนานแห่งวงการแม่นห่วง ประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวตก ตัวเขาในวัย 41 ปี, จิอานน่า ลูกสาวคนรองวัย 13 ปี และผู้ที่อยู่บนเครื่องลำดังกล่าวรวม 9 คน เสียชีวิตทั้งหมด

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ NBA ต้องเปลี่ยนแพลนงานทุกอย่างใหม่หมด และมีการเพิ่มธีมพิเศษขึ้นมา เพื่อให้เป็นการระลึกถึง โคบี้ ไบรอันท์ โดยสะท้อนผ่านหลายต่อหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแข่งของทั้ง 2 ทีม โดยทุกคนใน ทีมเลบรอน ที่มี เลบรอน เจมส์ เป็นกัปตัน จะสวมหมายเลข 2 ยกทีม แล้วใส่ชื่อของผู้เล่นในทีมเพื่อแสดงความแตกต่างกันไป ซึ่งหมายเลข 2 คือหมายเลขที่ จิอานน่า ไบรอันท์ ลูกสาวของโคบี้นั้นสวมใส่ในช่วงที่เธอยังมีชีวิตอยู่ และเป็นนักบาสเกตบอลในระดับโรงเรียน ส่วน ทีมยานนิส ที่มี ยานนิส อันเททูคูมโป เป็นกัปตัน จะใส่หมายเลข 24 ยกทีม และปักชื่อของผู้เล่นในแต่ละคน ซึ่งหมายเลข 24 นั้น ก็คือหมายเลขที่ โคบี้ ไบรอันท์ ตำนานผู้ล่วงลับ ใส่กับทีม ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส ที่เขาพาทีมคว้าแชมป์ 5 สมัย โดยใส่เบอร์ดังกล่าวระหว่างปี 2006-2016 (ก่อนหน้านี้ ระหว่างปี 1996-2006 โคบี้ใส่เบอร์ 8) นอกจากนั้นบริเวณอกเสื้อด้านขวาบน ทาง NBA ได้มีการเพิ่มแพทช์วงกลม ที่ล้อมรอบไปด้วยดาว 9 ดวง เนื่องจาก 9 คือจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกนั่นเอง

Photo : NBA
 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เลบรอน เจมส์ กัปตันทีมเลบรอน ซึ่งปัจจุบันคือสตาร์เบอร์ 1 ของ แอลเอ เลเกอร์ส สืบทอดจากโคบี้นั้นเห็นดีเห็นงามเต็มที่"มันเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อเป็นเกียรติให้กับโคบี้ ผมรู้ว่ามันเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่มากๆ แต่ผมเชื่อว่าในช่วงเวลานั้น ทุกๆ คนต่างเฝ้ารออยู่ว่าจะมีอะไรเพื่อทำให้เราระลึกถึงโคบี้" 

ขณะที่กัปตันทีมยานนิส ยานนิส อันเททูคูมโป ก็ได้ชื่นชมถึงการรำลึกนี้เช่นกัน"รูปแบบปีนี้น่าทึ่งเอามากๆ การที่ทีมผมสวมหมายเลข 24 ทีมเลบรอนสวมหมายเลข 2 มันเป็นเกียรติกับผมมาก และมันเป็นการให้เกียรติโคบี้และจิอานน่าด้วย มันเป็นการแสดงออกที่ผมว่ามันยอดเยี่ยมมากๆ เลย เพราะสำหรับผม โคบี้ ไบรอันท์ คือ ไมเคิล จอร์แดน ในรุ่นของเรา"

ยานนิส ถือเป็นอีกหนึ่งคนที่มีความผูกพันกับ โคบี้ ไบรอันท์ เขาเติบโตมาโดยมีโคบี้เป็นฮีโร่ และพยายามที่จะเลียนแบบมาโดยตลอด แถมยังเป็นคนที่เจ้าตัวเลือกให้เป็นผู้ติวพิเศษในการเพิ่มทักษะบนสนามอีกด้วย "โคบี้เป็นผู้ชายที่ให้คำปรึกษาผมมาตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมา เขาคือทุกอย่างสำหรับผม โคบี้ให้คำแนะนำผมมาตลอดแม้กระทั่งในช่วงเพลย์ออฟ เมื่อใดที่ผมต้องการคำปรึกษา เขาบอกผมว่าโทรหาได้ตลอดเลยไอ้น้อง และส่งข้อความให้กำลังใจผมมาเสมอ โคบี้เป็นมากกว่าไอดอลของผม เพราะเขาคือคนที่สร้างคุณค่าให้ผม และแบ่งปันทุกอย่างให้ไม่ใช่ผมคนเดียว กับคนอื่นๆ โคบี้ก็ทำ เขาคือคนพิเศษจริงๆ และแน่นอนพวกเราต้องทำอะไรที่พิเศษให้กับเขา" ยานนิสรำลึกถึงโคบี้ในมุมมองของตนเอง

Photo : NBA

ไม่เพียงเท่านั้น อดัม ซิลเวอร์ ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎในเกมออลสตาร์ครั้งนี้เพิ่มเติม นั่นคือ"กฏการทำคะแนน" ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความสูสีแล้ว ซิลเวอร์ยังเรียกว่าเป็นช่วงเวลาเพื่อ โคบี้ ไบรอันท์ อีกด้วย … กฎก็ดังกล่าวก็คือ ใน 3 ควอเตอร์แรก จะนับคะแนนแบบแยกควอเตอร์เพื่อหาผู้ชนะ จับเวลา 12 นาทีต่อควอเตอร์ตามปกติ แต่พอครบ 3 ควอเตอร์แล้ว นาฬิกาจับเวลาแข่งขันจะถูกปิด เหลือแค่ Shot Clock 24 วินาทีเท่านั้น และนำ"กฎ 24" มาใช้ เริ่มจากการรวมสกอร์ที่แต่ละทีมทำได้ตลอด 3 ควอเตอร์ แล้วบวกเพิ่มอีก 24 คะแนนจากสกอร์ของทีมนำ เพื่อเป็นสกอร์สุดท้าย ซึ่งหากทีมใดทำได้ถึงก่อน ก็จะเป็นผู้ชนะ

ไม่ต้องยกตัวอย่างให้เสียเวลา แต่เอาเกมที่เพิ่งเกิดขึ้นจริงๆ มาดูเพื่อให้เห็นภาพเลยดีกว่า เกมวันนั้น ทีมเลบรอนเอาชนะไปก่อนในควอเตอร์แรก 53-41 ก่อนทีมยานนิสเอาคืนในควอเตอร์สอง 53-30 ส่วนควอเตอร์สาม เสมอกัน 41-41 โดยจบ 3 ควอเตอร์ ทีมยานนิสนำ 133-124 ทำให้หากทีมใดทำได้ถึง 157 แต้มก่อน ก็จะชนะเกมนี้ไปเลย

และกลายเป็นว่า กฎดังกล่าวทำให้การแข่งขัน โดยเฉพาะในควอเตอร์สุดท้ายมีความจริงจังยิ่งขึ้น ผู้เล่นในสนามทุกคนต่างงัดเอาฟอร์มที่ดีที่สุดออกมาเพื่อให้ทีมของตนคว้าชัยชนะ เพราะชัยชนะ หมายถึงเงินที่จะเข้าองค์กรการกุศลตามที่กัปตันทีมได้เลือกไว้ก็จะมากตามไปด้วย ซึ่งสุดท้าย เป็นทีมเลบรอนที่ชนะไปแบบสุดดุเดือด 157-155 … จากสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นไปได้เช่นกันว่าอาจจะมีการเปลี่ยนกฎดังกล่าวเพื่อใช้ในเกมออลสตาร์ตลอดไป จากเสียงตอบรับที่ดีสุดๆ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อสรรเสริญตำนานของโคบี้ นั่นคือการเปลี่ยนชื่อรางวัล MVP หรือผู้เล่นทรงคุณค่าประจำเกมออลสตาร์ จากเดิม NBA All-Star MVP เป็น NBA All-Star Kobe Bryant MVP เพื่อให้เกียรติโคบี้ ผู้เล่นที่คว้ารางวัล MVP เกมออลสตาร์มากที่สุด (ร่วม) ถึง 4 สมัย และมีชื่อติดทีมออลสตาร์ต่อเนื่องยาวนานที่สุด 18 สมัย ตั้งแต่ปี 1998-2016 (ยกเว้นปี 1999 ซึ่งปีดังกล่าวไม่มีเกมออลสตาร์จากเหตุล็อกเอาท์)

"สำหรับเราแล้ว โคบี้ ไบรอันท์ มีความหมายกับเกมออลสตาร์มากๆ และที่ผ่านมาโคบี้ก็แสดงให้เราเห็นถึงจิตวิญญาณในการเล่นบาสเกตบอลระดับโลก เขามักจะชื่นชม และสนุกสนานกับเกมออลสตาร์เสมอๆ" นี่คือสิ่งที่ อดัม ซิลเวอร์ กล่าวถึงเหตุผลในการเปลี่ยนชื่อรางวัล ซึ่งในการโหวต MVP เกมออลสตาร์จะคิดเป็นการโหวตจากแฟนๆ 25% การโหวตจากสื่อต่างๆ 75% โดยในปี 2020 คนที่ได้รางวัลไปก็ยังถือเป็นอีกหนึ่งศิษย์เอกของโคบี้ นั่นคือ คาวาย เลียวนาร์ด

ไม่มีใครไม่คิดถึง

NBA มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรำลึกโคบี้ และแน่นอน บรรดาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานออลสตาร์ในปีนี้ ก็มีการเพิ่มเติมสิ่งต่างๆ เพื่อให้เป็นเกียรติกับตำนานผู้ล่วงลับ ทั้งโคบี้ รวมถึง เดวิด สเติร์น ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันขึ้นปีใหม่ 2020 อีกด้วย 

เริ่มตั้งแต่ ควีน ลาติฟาห์ สุดยอดนักร้องเสียงทอง และนักแสดงฮอลลีวูดวัย 49 ปี ที่ได้รับเกียรติขึ้นมาร้องเพลงในสัปดาห์ออลสตาร์วันที่ 2 วันที่มีการแข่งขันสกิลชาเลนจ์, แข่งยิง 3 คะแนน และสแลมดังค์ วันนั้นเจ้าตัวเลือกเพลง Love’s In Need of Love Today ของ สตีวี่ วันเดอร์ มาขับกล่อม พร้อมกับเปลี่ยนเนื้อร้อง 2-3 ท่อนเพื่อให้เป็นเกียรติกับโคบี้อีกด้วย 

ซึ่งท่อนที่เธอเปลี่ยนนั้นมีใจความว่า "Give Love a shot / When you do say KOBE / 24 Hours 8 Days a week, trophies" ซึ่งทำให้บรรดาแฟนๆ NBA ทั่วโลกต่างปลาบปลื้ม กับการให้เกียรติ โคบี้ ไบรอันท์ โดยลาติฟาห์ได้กล่าวว่า"เดวิด สเติร์น เปลี่ยน NBA ให้มีทุกวันนี้ และทำให้ความนิยมของการแข่งขันนั้นมากขึ้น เช่นเดียวกับ โคบี้ ไบรอันท์ พวกเขาทั้งสองเชื่อว่าเกมการแข่งขันนั้นจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้ มันเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เรารู้สึกอยู่ในใจอยู่แล้วว่ามันเลวร้ายสำหรับจิตใจเรามาก"

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีแรปเปอร์ที่คนในวงการบาสเกตบอลคุ้นเคยกันดีอย่าง Dame D.O.L.L.A. หรือ เดเมี่ยน ลิลลาร์ด การ์ดตัวเก่งจาก พอร์ทแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส ซึ่งแม้ว่าจะบาดเจ็บจนต้องถอนตัวจากเกมออลสตาร์ในปีนี้ แต่ก็ยังมาโชว์สปิริต มาร้องเพลงในวันที่ 2 ของสัปดาห์ออลสตาร์เช่นกัน โดยเจ้าตัวสวมเสื้อ"Mamba Forever" ที่ยกย่องฉายาของ โคบี้ ไบรอันท์ ขึ้นเวทีร่วมกับศิลปินอย่าง Lil Wayne และ Jeremih

แม้แต่ในการแข่งขันสแลมดังค์ ก็ยังมีการรำลึกถึงโคบี้ โดยฝีมือของ ดไวท์ ฮาเวิร์ด อดีตแชมป์ปี 2008 ที่ใส่ชุดซูเปอร์แมน พรอพประกอบสำคัญที่ทำให้ตัวเองได้แชมป์ในคราวนั้น แต่คราวนี้มีหมายเลข 24 ประดับหน้าอก แถมยังใช้ลูกบาสเกตบอลที่มีลายเซ็นโคบี้ และ ลวดลายเป็นเกล็ดงูแมมบ้าที่เป็นฉายาของโคบี้มาเป็นส่วนประกอบในการดังค์อีกด้วย 

โดยเจ้าตัวเปิดใจหลังจากจบการแข่งขันว่า อันที่จริงแผนแรกของตัวเขา คือการเชิญ โคบี้ ไบรอันท์ มาเป็นผู้ช่วยในการดังค์ โดยจะเป็นคนมอบชุดดังกล่าวให้เขาสวมใส่ ซึ่งทางโคบี้เองก็ได้ตอบตกลงแล้ว ทว่ากลับประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเสียก่อน

ไม่เพียงแต่ผู้เล่น หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกมออลสตาร์ที่จะรำลึกถึงโคบี้เท่านั้น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบาม่า ยังได้ส่งข้อความมาในช่วงออลสตาร์เกมอีกด้วย ใจความว่า"การสูญเสียนั้นเป็นสิ่งที่เรายากที่จะทำใจได้ ผมเชื่อว่าหลายคนยังต้องต่อสู้กับมันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียโคบี้ มันน่าเศร้ามาก เขาอยู่กับลูกสาวของตนเองและครอบครัวของเด็กๆ เหล่านั้น มันไม่มีอะไรที่น่าปวดใจไปกว่านี้อีกแล้ว" 

ซึ่งการรำลึกโคบี้ในช่วงเกมออลสตาร์ปี 2020 นี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นหลายสิ่งหลายอย่าง และในงานวันที่ 24 กุมภาพันธ์ งานรำลึกถึง โคบี้ ไบรอันท์ อย่างเป็นทางการที่ สเตเปิ้ลส์ เซนเตอร์ สนามของเลเกอร์สนั้น มีคนลงทะเบียน ณ ตอนนี้มากกว่า 800,000 คนแล้ว ทั้งๆ ที่สนามแห่งนี้สามารถจุคนได้เต็มที่เพียงแค่ 20,000 คนเท่านั้น

Photo : ESPN 

การเปลี่ยนแปลงในเกมออลสตาร์ปี 2020 นี้ ถือว่าเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ NBA เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเบอร์เสื้อผู้เล่น การใช้ธีม การเปลี่ยนชื่อรางวัล  การเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขัน การที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเกมนี้ ทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อรำลึก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อเป็นเกียรติให้กับตำนานแห่งวงการบาสเกตบอลอย่าง โคบี้ ไบรอันท์ และมีความเป็นไปได้สูงมากว่า หลายสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2020 จะยังเป็นเช่นนั้นต่อไป

เช่นเดียวกับมรดกที่ โคบี้ ไบรอันท์ ได้สร้างไว้ เพราะถึงตัวจะจากไป แต่ตำนานแมมบ้าจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ … "Mamba Forever"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0