โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Minakami: แปลงร่างเป็นสาวน้อยจิตอนุรักษ์ ท่ามกลางธรรมชาติระดับพรีเมี่ยม

The Momentum

อัพเดต 20 พ.ค. 2561 เวลา 08.10 น. • เผยแพร่ 20 พ.ค. 2561 เวลา 08.10 น. • ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์

In focus

  • เมืองมินากามิอยู่ในจังหวัดกุนมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องออนเซ็น พืชผักผลไม้ และการเล่นสกี
  • ป่าไม้ของเมืองมินากามิและนีงาตะ ถูกจัดเป็น UNESCO Eco park ที่ต้องการอนุรักษ์ผืนป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยให้เอื้อต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเต็มรูปแบบ
  • โรงบ่มเหล้าสาเกในจังหวัดนีงาตะที่อยู่ติดกับมินากามิ ใช้ภูมิปัญญาโบราณมาพัฒนาเป็นห้องเก็บหิมะ ที่ให้ความเย็นได้ถึงฤดูร้อนโดยไม่ต้องพึ่งไฟฟ้า พร้อมเปิดให้ผู้คนเยี่ยมชม เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการท่องเที่ยวให้หมู่บ้าน
  • ชาวบ้านในมินากามิอนุรักษ์วัฒนธรรมเพื่อสร้างคุณค่าให้กับท้องถิ่น เช่นในหมู่บ้านทาคุมิ โนะ ซาโต้ ที่ทุกหลังคาเรือนร่วมกันเปิดเวิร์กช็อปแบบที่ต้นเองถนัด เช่นสอนทำโซบะ สอนทำเครื่องดนตรี หรือให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการเก็บสตรอว์เบอรี่สดจากไร่

ปลายเดือนเมษายน หลายคนอาจเลิกหวังกับซากุระหรือกระทั่งหิมะไปแล้ว แต่ที่เมืองมินากามิ (Minakami) จังหวัดกุนมะ ในเขตคันโต ประเทศญี่ปุ่น หิมะบนยอดเขายังมีอยู่ และดอกซากุระบางสายพันธุ์ก็ยังชมพูสวย ดูเหมือนว่าปีนี้ฤดูเก็บเกี่ยวจะมาถึงช้ากว่าทุกปี ในฐานะนักท่องเที่ยวเราจึงขอบังอาจรู้สึกดี ทั้งที่มันอาจไม่ใช่เรื่องขำๆ สำหรับชาวบ้านที่ทำอาชีพกสิกรรมเป็นหลักในภูมิภาคนี้ก็ตาม

มินากามิอยู่ห่างไปทางตะวันตกเฉียงเหนือจากโตเกียวประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่งโดยรถบัส (แต่จะเร็วกว่านี้หากมาชินกันเซ็น) เมืองนี้อยู่ในบริเวณต้นแม่น้ำโทเนะ (Tone-gawa) แม่น้ำสายหลักสายหนึ่งของญี่ปุ่น และเป็นเมืองที่ยังเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เป็นแหล่งน้ำพุร้อนชั้นดี สวนผลไม้ และกิจกรรมทางธรรมชาติอันหลากหลายที่ถูกออกแบบมาเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยเฉพาะ

ตามแผนแล้ว เราต้องออกจากสนามบินนาริตะสักประมาณ 5 โมงเย็น แต่ด้วยความที่อากาศในโตเกียวขมุกขมัวจนเครื่องบินลงจอดไม่ได้ ทุกอย่างเลยดีเลย์ไปประมาณหนึ่งชั่วโมง ดังนั้นกว่าจะถึงมินากามิ ฟ้าก็มืดสนิทพอดี มื้อเย็นที่ตั้งตารอก็พลอยกลายเป็นมื้อดึก และร้านสุเอะฮิโระ (Suehiro) ที่ปกติจะปิดตั้งแต่สองทุ่ม ก็เปิดรอเราจนสามทุ่มกว่าๆ ด้วยความเข้าอกเข้าใจ (เพราะจองไว้แล้วด้วยแหละ)

ร้านสุเอะฮิโระที่แอบเอาใจกันด้วยการเขียนภาษาไทยไว้รอต้อนรับเฉพาะกิจ

บาร์ในร้านที่จะคึกคักกว่านี้ถ้ามาตั้งแต่หัวค่ำ มีตั้งแต่สุราต่างชาติจนถึงเหล้าบ๊วยดองเอง

หลังพระอาทิตย์ตกเราก็หลับมาตลอดทาง ตื่นอีกทีก็ถึงร้านแล้ว ความทรงจำแรกในมินากามิของเราจึงเป็นบรรยากาศอบอุ่นของสุเอะฮิโระ ร้านสไตล์โฮมเมดที่ดัดแปลงบ้านของตัวเองเป็นห้องอาหารเล็กๆ ตกแต่งมุมหนึ่งเป็นบาร์ที่ดูก็รู้เลยว่าเจ้าของเป็นคนรักดนตรี และน่าจะเคยเฟี้ยวมากในยุค 60s-70s หลังอิ่มกับเซ็ตทงคัตสึกรอบนอกนุ่มในและข้าวญี่ปุ่นหุงร้อน (ข้าวที่เมืองมินากามิได้ชื่อว่าเป็นข้าวที่อร่อยที่สุดในญี่ปุ่น และเมื่อได้ชิมเราก็เห็นด้วยทุกประการ) เราออกมาเดินเล่นรับลมหนาวด้านนอกร้าน ตอนนั้นทุกอย่างรอบข้างมืดหมดแล้ว เห็นแค่ตัวร้านที่ตั้งอยู่แสงไฟแบบละครเวที เราจึงยังแทบไม่รู้ว่ามินากามิหน้าตาเป็นยังไงกันแน่

เมเปิ้ลแดงหลงฤดูหน้าร้านสุเอะฮิโระ

ซากุระยามค่ำคืนที่รอต้อนรับอยู่หน้าเรียวกัง

จบมื้ออาหาร เจ้าของร้านและภรรยาออกมารอส่งพวกเราจนกว่ารถบัสจะลับสายตา จากนั้นเราจึงมุ่งหน้าสู่ซารุกะเคียว (Sarugakyo) ที่พักแบบเรียวกังขนานแท้ ที่พาเราเข้าสู่บรรยากาศญี่ปุ่นย้อนยุคได้โดยสมบูรณ์ จุดเด่นของที่นี่คือมื้ออาหารสุขภาพ และออนเซ็นที่มีให้เลือกทั้งแบบในร่มและกลางแจ้ง โดยทุกๆ วันจะมีการสลับฝั่งชาย-หญิง เพื่อให้แขกได้ซึมซับบรรยากาศออนเซ็นอันหลากหลายด้วย

จังหวัดกุนมะเป็นจังหวัดที่มีบ่อน้ำพุร้อนมากที่สุดในเขตคันไซ มีบ่อน้ำพุร้อนอันหลากหลาย ทั้งน้ำพุธรรมดา น้ำพุที่เป็นด่าง น้ำพุเกลือซัลเฟต จนถึงน้ำพุคลอไรต์ และบ่อน้ำพุร้อนในมินากามิก็เป็นหนึ่งในพื้นที่โดดเด่นของกุนมะ โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่นักท่องเที่ยวมักขึ้นมาเล่นสกีที่นี่แล้วจบวันด้วยออนเซ็นชั้นเยี่ยม

ด้วยความเพลียเราจึงอดใจจากออนเซ็นไว้ก่อนแล้วเข้านอนอย่างเร็ว มองไปนอกหน้าต่างเห็นแต่ความมืดสุดลูกหูลูกตากับดาวเล็กน้อย คืนนั้นเราเปิดม่านหน้าต่างทิ้งไว้จนสุด เพื่อรอลุ้นว่าฉากแรกที่เห็นตอนเช้าจะเป็นแบบไหน และสักประมาณ 7 โมงเช้าหลังมอร์นิ่งคอลล์ ฉากเพอร์เฟ็กต์ของมินากามิก็ปรากฏแก่สายตา

ทะเลสาบอากายะที่เกิดขึ้นจากการกั้นเขื่อน ซึ่งเอาไว้ผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ตัวเมือง ทางเดินรอบทะเลสาบเป็นจุดหมายสำคัญในการชมซากุระก่อนเข้าฤดูใบไม้ผลิ

วิวจากห้องอาหารเช้าของเรียวกัง ถัดมาอีกวันเป็นวันเด็กผู้ชาย (Kodomonohi) พอดี เลยจะมีธงปลาคาร์พขึงจากฝั่งหนึ่งของน้ำไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมัวแต่มองเลยไม่ได้ถ่ายรูปไว้

นับว่าแต้มบุญดี ที่ทางโรงแรมจัดห้องพักให้เราอยู่ฝั่งทะเลสาบอากายะ (Akaya) วิวแรกของวันจึงเป็นอย่างในภาพ และภูเขากับป่าไม้เท่าที่เห็นในสายตาเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของเขตสงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) หรือ UNESCO Eco Park ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 9 แห่งในประเทศญี่ปุ่น และมินากามิก็เป็นหนึ่งในนั้น

เขตสงวนชีวมณฑลนี้ จะแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ 1) พื้นที่แกนกลาง อันเป็นป่าทึบที่ถูกคุ้มครองอย่างเข้มงวด ทั้งหมดเป็นป่าที่แทบไม่ถูกมนุษย์แตะต้องเลย 2) พื้นที่กันชน อยู่ตรงกลางระหว่างป่าทึบกับพื้นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ป่าที่มนุษย์เข้าไปจัดการบ้างเพื่อการศึกษา ฝึกอบรมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ 3) พื้นที่รอบนอกหรือย่านที่อยู่อาศัยที่พยายามจัดการให้กลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ตามถนนในมินากามิจึงมีป้ายเตือนให้ระวังกวาง แมวป่า หรือหมีตัดหน้ารถเป็นเรื่องธรรมดาๆ และการมีหมีตัวใหญ่มายืนแถวสวนผักในบ้านให้ตกใจเล่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

ในทริปนี้ที่เป็นส่วนหนึ่งของค่ายเยาวชนเพาเวอร์กรีน โดยบริษัทบ้านปูจำกัด ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะพาเด็กๆ ที่ชนะเลิศกิจกรรมค่ายมาศึกษาโมเดลการอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่นี่ ซึ่งเราจะได้เที่ยวชมศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ส่วนที่ 2 และ 3 ของเขตสงวนชีวมณฑล โดยมีพื้นที่แกนกลางเป็นฉากหลังไกลๆ ให้รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และเมื่อออกจากเรียวกัง เราก็ได้เห็นหมู่บ้านในมินากามิเต็มตา ทุกหลังเป็นบ้านทรงโบราณหลังไม่ใหญ่นัก ตั้งอยู่ลดหลั่นกันไปตามแนวเขา แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ในแต่ละบ้านคือสวนดอกไม้ที่ปลูกกันง่ายๆ แต่เบ่งบานอู้ฟู่ ถัดจากโซนบ้านเรือนก็เป็นทุ่งนาและสวนผลไม้อย่างเชอร์รี่ อัลมอนด์ หรือแอปเปิ้ล

นอกจากข้าวแล้ว พืชพันธุ์และผลไม้ของมินากามิก็เป็นของพรีเมียมอีกเช่นกัน หากเรามาที่นี่ในฤดูที่แอปเปิ้ลออกผล ออนเซ็นบางแห่งก็จะใช้แอปเปิ้ลแดงจำนวนมากมาลอยในบ่อน้ำพุร้อนเพื่อเพิ่มความหอมในบรรยากาศ แต่เนื่องจากตอนนั้นยังเป็นฤดูดอกไม้บานอยู่ ออนเซ็นกลางแจ้งที่เรารีบตื่นไปแช่ตั้งแต่เช้า เลยมีกลีบดอกซากุระที่ลอยตามลมมาโรยบนผิวน้ำแทน

สวนญี่ปุ่นให้บรรยากาศสุดย้อนยุค

บ้านเรือนในเมืองมินากามิ ส่วนใหญ่ยังเป็นบ้านเก่า ทุกหลังจะอยู่กับต้นไม้ดอกไม้อย่างกลมกลืน ในฐานะพื้นที่รอบนอกของเขตสงวนชีวมณฑล

ยามเช้าอากาศสดใส เราเดินทางขึ้นเหนือสู่จังหวัดนีงาตะ (Niigata) เพื่อเยี่ยมชมโรงหมักสาเกฮักไกซัง (Hakkaisan Yukimuro) แบรนด์สาเกชื่อดังของญี่ปุ่น ที่นำเอาภูมิปัญญาโบราณมาใช้เพื่อช่วยให้ประหยัดพลังงาน สร้างตู้เย็นยักษ์ที่ให้ความเย็น 3-4 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องพึ่งกระแสไฟฟ้าทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100%

วิธีการคือสร้างห้องเก็บความเย็นธรรมชาติ ที่อาศัยความเย็นสะสมจากหิมะกว่า 1,000 ตัน โดยหิมะจะถูกโกยเก็บไว้ในฤดูหนาว และกว่าจะละลายหมดก็ผ่านพ้นฤดูร้อนและเข้าสู่ฤดูหนาวอีกรอบหนึ่งพอดี แนวคิดนี้พัฒนามาจากการสร้างคามาคุระ (Kamakura) ในยุคโบราณ ที่ชาวบ้านจะใช้โครงไม้ไผ่มุงด้วยฟางหนาๆ 2 ชั้น เพื่อเก็บหิมะไว้หั่นขายให้ชาวโตเกียวใช้แช่แตงโมในฤดูร้อน ซึ่งต่อมาในยุคของตู้เย็นก็ไม่มีใครทำคามาคุระกันอีก

โรงหมักสาเกแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2013 และหยิบเอาวิธีการของคามาคุระมาใช้อีกครั้ง ในชื่อยูคิมูโระ ที่แปลว่า ‘ห้องหิมะ’ ซึ่งด้วยความเย็นอันคงที่ตลอดปี สาเกที่ได้จึงมีรสชาติกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ ที่นี่ยังบ่มผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดทั้งสาเกรสชาติต่างๆ เหล้าบ๊วย เหล้าชนิดอื่นๆ จนถึงน้ำข้าวหมักไร้แอลกอฮอล์แต่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ โดยห้องหิมะของที่นี่เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ฟรีๆ และเมื่อเดินออกจากห้องหิมะก็จะเจอกับโรงเก็บถังสาเกและบาร์ให้ลองชิมผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของที่นี่ ท้าทายเงินในกระเป๋าเป็นอย่างยิ่ง

ด้านหน้าโรงบ่มสาเก ที่เห็นพวยพุ่งออกมาคือไอน้ำ หาใช่ควันไม่

สำนักงานในโรงบ่มที่คงไว้ซึ่งบ้านทรงโบราณ

ก้อนหิมะยักษ์ภายในโรงบ่มที่ใกล้ละลายหมดแล้ว

ถังไม้โอ๊คและขวดสาเกที่ถูกจองไว้ตั้งแต่ 5 ปีก่อนแล้ว

สวนสวยของโรงบ่มสาเกฮักไกซัง

ออกจากโรงบ่มสาเกฮักไกซัง เราก็เดินทางผ่านอ้อมกอดของภูเขาสูงกลับมายังมินาคามิ เพื่อเยือนหมู่บ้านทาคุมิ โนะ ซาโต้ (Takumi no Sato) หรือหมู่บ้านหัตถกรรมที่ชาวบ้านพร้อมใจกันเปิดเวิร์กช็อปตามที่ตัวเองเชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในหมู่บ้านพร้อมกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมไปด้วย

ทางเข้าศูนย์หัตถกรรมจะมีป้ายแขวนไว้บอกว่าในแต่ละวัน มีบ้านหลังไหนที่เปิดเวิร์กช็อปบ้าง และวันนี้ที่เราจะได้ทำก็คือเส้นโซบะโฮมเมด และ เพนท์สีคัสทาเน็ต (Castanets) เครื่องเคาะจังหวะพื้นฐานที่เด็กๆ ญี่ปุ่นทุกคนรู้จักกันดี รวมถึงตะลุยเก็บสตรอว์เบอร์รี่กินสดๆ แบบบุฟเฟ่ต์

แม้หมู่บ้านนี้จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ แต่สิ่งที่เห็นความตั้งใจที่จะทำให้ชุมชนและธรรมชาติรอบๆ ชุมชนของตัวเองคงความรุ่มรวยเอาไว้ เพื่อรอการเติบโตของลูกหลานพวกเขา ความน่ารักคือในซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ผักผลไม้ทุกชิ้นที่วางขายจะมีเขียนกำกับไว้เสร็จสรรพว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของบ้านหลังไหน หากชอบใจก็สามารถสอบถามตำแหน่งบ้านและเดินไปดูสวนของเขาด้วยตาตัวเองได้

บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน มีสแตมป์ให้นักเดินทางสะสมแต้มด้วย

สตรอว์เบอร์รี่หลากไซส์ในสวน

ดอกไม้สามัญประจำหมู่บ้าน

พุ่มไม้พันธุ์กุหลาบที่สวยจนอยากได้มาไว้ที่บ้าน

ใกล้เที่ยงหน่อยๆ เราเริ่มจากการทำเส้นโซบะ ที่เหมือนจะง่าย แต่ต้องใช้แรงและความอดทนมหาศาล เริ่มที่ร่อนแป้งบัควีทผสมกับแป้งสาลีก่อน จากนั้นค่อยเติมน้ำ กวนให้แป้งกับน้ำผสมเข้ากันดีแล้วจึงเริ่มนวด นวดมันอย่างนั้นจนเซ็นเซประเมินว่าได้ที่แล้ว ก็มาต่อด้วยการนำแป้งนั้นมาแผ่แล้วใช้ไม้นวดให้ขยายเป็นแผ่นกลมกว้างๆ ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการตัดที่ต้องอาศัยสมาธิและความชำนาญระดับสูง ให้แต่ละเส้นมีขนาดเท่ากัน เราจึงบอกตัวเองว่าเสน่ห์ของการทำเอง ก็คือขนาดเส้นที่ไม่เท่ากันนี่แล

หลังจากได้เส้นโซบะสดเรียบร้อยแล้ว เสร็จทางร้านก็จะนำไปต้มให้ พร้อมเสิร์ฟเป็นอาหารกลางวันที่มากับซุปพอนสึรสชาติสุดเซ็น และเทมปุระผักที่อร่อยที่สุดในชีวิต ส่วนรสชาติเส้นโซบะที่ทำเองนั้นขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ

ภายในศูนย์หัตถกรรม เซ็นเซเตรียมอุปกรณ์ทำโซบะไว้คอยท่า

ผลงานสุดเพอร์เฟ็คต์ (?)

อิ่มหนำแล้วก็ไปต่อกันที่สตูดิโอเพนท์คัสทาเน็ต ที่เป็นต้นกำเนิดของคัสทาเน็ตในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อ 60 ปีก่อน โดยเจ้าของสตูดิโอคนเก่าเป็นผู้นำเครื่องเคาะจังหวะของระบำฟลามิงโก้ มาดัดแปลงและใช้ไม้ของญี่ปุ่นทำ ก่อนที่มันจะแพร่หลายไปทั่วประเทศ

สิ่งที่เราต้องทำก็คือเลือกชิ้นไม้ที่ถูกทำเอาไว้สำเร็จรูปแล้ว โดยมีให้เลือก 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ไม้ซากุระ ไม้สนสุกิ ไม้บีชญี่ปุ่น และไม้เกาลัด ซึ่งไม้แต่ละชนิดจะมีสีสัน เนื้อไม้ ความแน่น และเสียงเวลากระทบที่ต่างกัน ใครนึกสนุกจะมิกซ์ไม้สองชนิดในคัสทาเน็ตอันเดียวเขาก็ไม่ว่า เมื่อได้คู่แล้วก็นำมาเพนท์ด้วยสีเมจิกตามใจชอบ

อันที่จริงนี่เป็นกิจกรรมส่งเสริมจินตนาการสำหรับเด็ก ซึ่งความน่ารักอีกข้อคือ ภาพที่เขามีไว้เป็นเรฟเฟอร์เรนซ์ให้เด็กวาดเป็นรูปสัตว์ป่าอันหลากหลายที่มีในเขตสงวนชีวมณฑลมินากามิ พร้อมความรู้เกี่ยวกับสัตว์แต่ละชนิด

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของอากายะโปรเจคต์ (Akaya Project) ภายในเขตสงวนชีวมณฑล ที่ต้องการเป็นโมเดลจำลองในการอยู่อาศัยอย่างพึ่งพากันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งอย่างที่เราบอกไปในตอนต้นว่า ที่นี่มีสัตว์ป่าจนป้ายระวังสัตว์ป่าข้างถนนเป็นเรื่องสามัญ แต่ถึงอย่างนั้นสัตว์ป่าบางชนิดก็มีจำนวนน้อยลงหรือสูญหายไป เช่นหิ่งห้อย หรือนกอินทรีย์อินุวาชิ (นกอินทรีทอง) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ขั้นสุดยอดของธรรมชาติ

ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่มินากามิอยากให้เด็กๆ เห็นความสำคัญ จึงออกแบบหลายๆ กิจกรรมเพื่อปลูกฝังเด็กๆ เช่นการทำความรู้จักสัตว์สำคัญผ่านสื่อการสอนและงานฝีมือต่างๆ รวมถึงกิจกรรมเชิงอนุรักษ์อย่างการพาเด็กๆ ไปปล่อยทากสีดำที่เป็นอาหารของหิ่งห้อยสู่แหล่งน้ำ เพื่อให้หิ่งห้อยกลับคืนสู่ป่าของ หลายครั้งก็ชวนให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมด้วย เช่นทริปเดินเข้าป่าเพื่อชมวิวพร้อมกับกำจัดพืชต่างถิ่นที่ทำลายความสมดุลในระบบนิเวศ เป็นต้น

เนินเขาโล่งๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการปลูกต้นไม้มีดอกให้เต็มพื้นที่

ระหว่างทางขึ้นสู่ยอดเขาทานิกาวะ ถ้าไม่มีหมอกจะเห็นยอดเขาหิมะอยู่ด้านในสุด

ในวันสุดท้ายที่มินากามิ เรายังได้ไปเยือนยอดเขาทานิกาวะ (Tanikawa) ที่ยังมีหิมะท้ายฤดูกาลหลงเหลือเต็มยอดเขา ระหว่างทางพบว่าที่เมืองนี้มีกิจกรรมชมวิวและผจญภัยเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งเล่นสกี ขึ้นกระเช้า ล่องแก่ง จนถึงบันจี้จั๊มพ์ น่าประทับใจที่เมืองนี้ดึงดูดคนได้หลากหลาย เพราะในเทือกเขานั้นก็ขึ้นชื่อเรื่องความสงบงามและน้ำพุร้อน จนนักเขียนและกวีหลายคนเดินทางมาพักผ่อนหรือเขียนงานที่นี่ด้วยเหมือนกัน

แม้เราจะอยู่ที่นี่ในเวลาเพียงสั้นๆ แต่ก็ทำให้แอบสัญญากับตัวเองว่าจะต้องกลับมาให้ได้ และถึงตอนนั้น ด้วยรูปแบบโครงการอนุรักษ์ที่วางแผนมาอย่างดีเยี่ยม และความร่วมมืออย่างยั่งยืนของคนที่นี่ ป่าใหญ่ที่พวกเขาเป็นห่วงก็อาจจะมีหิ่งห้อยและนกอินทรีกลับมาอาศัยอยู่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

*ขอขอบคุณ *

ทริปทัศนศึกษา ค่ายเพาเวอร์กรีน 12 ด้านการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยบริษัทบ้านปู จำกัด ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโสองค์กรสัมพันธ์ บริษัทบ้านปู จำกัด

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจกรรมนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รวมถึงคุณกัณวีร์ วัตราเศรษฐ์ และคุณพรรษณา นิไกโดะ ไกด์ผู้ร่วมมอบความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นตลอดเส้นทาง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0