โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

Meme เหล่านี้คืออะไร? อะไรคือโจโจ้? สรุปกระแส ‘โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ’ ที่กลับมาฮิตสุดๆ อีกครั้งในอินเทอร์เน็ต

The MATTER

อัพเดต 20 ส.ค. 2562 เวลา 12.14 น. • เผยแพร่ 18 ส.ค. 2562 เวลา 13.00 น. • Recap

โลกอินเทอร์เน็ตมีอะไรสนุกๆ ออกมาเสมอ ยิ่งช่วงหลังมานี้ มองไปทางเพจไหนๆ ก็เจอคนเล่นมุกคนญี่ปุ่นพูดจาภาษาไม่คุ้นหูเช่น “โอร่า โอร่า" บางก็ใช้ศัพท์คำว่า ‘สแตนด์’ ไม่ก็วาดรูปเป็นคนสองคนกำลังเดินหน้าเข้าท้าชนกัน

มุกเหล่านั้นมีที่มาจากไหนกันนะ? ก็เห็นคนมาเฉลยกันแหละว่ามันคือเรื่องเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องโจโจ้ แต่โจโจ้ที่ว่านี้คืออะไรกันแน่ ทำไมต้อง ยาเร่ ยาเร่ กันด้วย โอ๊ย อยากเก็ตมุกแบบนี้มากๆ The MATTER สรุปกระแสนี้มาให้เข้าใจกันแบบคร่าวๆ

1.) ‘โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ’ คือมังงะชิ้นเอก ผลงานสำคัญจาก อ.ฮิโรฮิโกะ อารากิ ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารโชเน็นจัมป์รายสัปดาห์ โดยเริ่มภาคแรกตั้งแต่ช่วงปี 1987 จากวันนั้นถึงวันนี้ก็มีทั้งหมด 8 ภาคแล้ว

2.) โจโจ้เป็นหนึ่งในมังงะที่ได้รับความนิยมในหมู่คนญี่ปุ่น รวมถึงผู้อ่านคนไทยมากๆ อย่างในไทยนั้น ฮิตในที่เป็นหนังสือการ์ตูนภาคบังคับที่ร้านเช่าการ์ตูนหลายๆ ร้านทั่วประเทศต้องมีติดไว้ในร้านเลย

3.) ทำไมโจโจ้ถึงฮิต? คำตอบแบบคร่าวๆ ก็คือ มันเป็นเรื่องราวการต่อสู้และการผจญภัยที่มีเนื้อหาให้ติดตามอยู่เรื่อยๆ รวมถึงมุกตลกที่แทรกในระหว่างทาง รวมทั้งการออกแบบสไตล์ท่าทางของตัวละครที่โดดเด่น

อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนที่ใหญ่มากๆ ที่ทำให้โจโจ้ฮิตแบบสุดๆ และได้รับการพูดถึงมาจนถึงวันนี้ คือภาคที่ 3 ซึ่งมีสิ่งใหม่ปรากฎขึ้นมาที่เรียกว่า ‘สแตนด์’

4.) สแตนด์ที่ว่านี้ หมายถึงพลังพิเศษของตัวละครในเรื่องโจโจ้ บ้างก็เปรียบเทียบว่าสแตนด์นี้เหมือนกับ ‘ผู้พิทักษ์’ ประจำตัวของมนุษย์นั่นเอง พูดให้เห็นภาพก็คือ คนที่มีพลังพิเศษในโจโจ้นั้นจะสามารถเรียกสแตนด์ออกมาได้ โดยส่วนใหญ่สแตนด์จะมีลักษณะคล้ายๆ มนุษย์ (แต่ก็มีสแตนด์ที่หลากหลายไปที่ไม่ใช่รูปร่างมนุษย์ด้วยเหมือนกันนะ)

5.) การเกิดขึ้นของสแตนด์นี่แหละที่ตอบโจทย์จินตนาการของผู้อ่านจำนวนไม่น้อย เช่นความฝันว่า “ถ้าเรามีพลังพิเศษมันจะเป็นยังไงนะ” หรือถ้าเราเรียกผู้พิทักษ์ประจำตัวออกมาได้ เราจะเอาไปทำอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้น่าจะอยู่ในความคิดสนุกๆ ของผู้อ่านด้วยเหมือนกัน หรือที่ผ่านมา ก็มีคนใช้มีมโจโจ้กันบ่อยๆ เช่นท่าโพสต์ต่างๆ ด้วยเหมือนกัน

ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล ผู้เขียนคอลัมน์ ‘เจแปนนิด’ ใน The MATTER เคยอธิบายไว้ในบทความชื่อว่า ‘จากท่ายืนบิดตัว ถึงการเป็นงานศิลปะ เอกลักษณ์ที่ทำให้มังงะเรื่อง JoJo โดดเด่น’ เอาไว้ว่า

“สาเหตุที่ทำให้คนติดโจโจ้คงเป็นเพราะความแปลกแหวกแนวของไอเดียการใช้ ‘สแตนด์’ นั่นละครับ เพราะไม่เคยเจอไอเดียแบบนี้มาก่อนเลย แล้วพอยิ่งอ่านไปอ่านมา มันยิ่งมีอะไรมากกว่าสแตนด์”

“ตัวละครในเรื่องมักจะมีท่ายืนโพสแบบแปลกๆ ไม่เหมือนใคร บางทีก็เล่นเอาสงสัยว่าคนเรามันยืนคุยกันท่านั้นจริงเหรอ แต่ด้วยความแปลกแหวกแนว ท่ายืนแบบโจโจ้จึงกลายเป็นจุดเด่นของเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าที่โพสในปกมังงะแต่ละเล่มที่ยิ่งเพิ่มความโดดเด่นและเวอร์เข้าไปใหญ่ (สมัยเรียนเพื่อนผมชอบเรียกว่าเอียงเป็นปกอัลบั้มของ RS) เห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่ามาจากไหน

“ในช่วงที่ผมเรียนต่อญี่ปุ่นการโพสท่าแบบโจโจ้ก็เริ่มฮิตในวงกว้างมากขึ้น ขนาดมีคลิปสอนการออกกำลังกายด้วยการโพสท่าโจโจ้เอาฮาด้วย แต่จริงๆ แล้ว ที่มาของท่าโพสต่างๆ ก็มักจะมีอ้างอิงมาจากรูปปั้นงานศิลปะยุคคลาสสิกจากทางยุโรปที่ตัวอาจารย์ชื่นชอบนั่นละครับ—เป็นความประหลาดที่กลายมาเป็นจุดขาย”

6.) ตัดภาพกลับมาในยุคปัจจุบัน โจโจ้ กลายเป็นกระแสและมีมในอินเทอร์เน็ตมากมายเพราะตัวละครในภาคที่ 3 ซึ่งมีสแตนด์นี่แหละ โดยเฉพาะสแตนด์ของพระเอกอย่าง ‘คูโจ โจทาโร่’ (สแตนด์ของเขาชื่อ Star Platinum ซึ่งมีพลังท้าตีท้าต่อยระดับสุดยอด สามารถปล่อยหมัดโจมตีคู่ต่อสู้ได้อย่างต่อเนื่องเป็นร้อยๆ หมัดในชั่วพริบตาไม่กี่วินาที)

7.) ระหว่างที่โจทาโร่ใช้สแตนด์ปล่อยหมัดรัวๆ ใส่คู่ต่อสู้ ก็มักจะมาพร้อมกับคำว่า “ORA ORA” (โอร่า โอร่า) เป็นการเปล่งเสียงที่ทำให้การปล่อยหมัดดุเดือดมากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน บอสตัวร้ายที่สุดในภาคนี้ก็คือ ‘ดิโอ บรันโด’ ซึ่งก็มีสแตนด์เหมือนกัน ชื่อว่า The World และเวลาปล่อยหมัดจะใช้คำว่า “MUDA MUDA” (มูดา มูดา) ที่ถูกแปลว่า “เปล่าประโยชน์”

8.) มีมโจโจ้ทั่วโลกอินเทอร์เน็ต ได้เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์หลังจากที่อนิเมะโจโจ้ภาค 3 (เวอร์ชั่นใหม่) ได้เริ่มฉายเมื่อปี 2014 การกลับมาในครั้งนี้ เหมือนกับความฝันของแฟนคลับที่จะได้เห็นภาพโจโจ้แบบสวยๆ และฉากการต่อสู้ในมังงะที่จำได้ในอดีตอีกครั้ง แบบที่มีเสียงพากษ์และภาพเคลื่อนไหวสนุกๆ

9.) ฉากสู้กันระหว่างโจทาโร่และดิโอเวอร์ชั่นอนิเมะ ได้กลายเป็นมีมที่แพร่หลายกันอย่างมากในช่วงหลายเดือนมานี้ และถูกนำไปใส่ในคลิปตลกๆ ใน VINE เช่นคลิปแมวทะเลาะกัน หรือคนทะเลาะกันตามสไตล์โจโจ้

เช่นเดียวกับภาพคลาสสิกในมังงะในตอนที่โจทาโร่กำลังยืนเผชิญหน้ากับดิโอ มันก็ได้กลายเป็น reference ให้กับมุกตลกมากมายในไทย

10.) อย่างในไทยก็เคยมีคนทำคอนเทนต์สนุกหลายอัน เช่น มุกหลวงปู่เค็มแบบโจโจ้ รวมถึงมุกเรื่องการเมืองก็มีในเพจไข่แมวหลายรูป นอกจากนั้นยังมีคลิปสไตล์โจโจ้ เช่น

-ธนาธรไปประชุมสภาแบบโจโจ้ (https://youtu.be/BxH-izupXjo)

-สั่งข้าวแบบโจโจ้ (https://youtu.be/GoI4ENoZ0xM)

“ผมขอบคุณทุกคนมากๆ ใครหลายๆ คนที่แชร์มีมโจโจ้ในเฟซบุ๊ก เป็นอะไรที่ทำให้ผมมีสติดีในความเศร้าก็ไม่ใช่นะ เอาจริงๆ เสียสติหนักเข้าไปใหญ่ คือผมมีอารมณ์สนุกได้เพราะโจโจ้เลย…คืออนิเมะเรื่องอื่นมันทำอย่างนี้ไม่ได้ เราเห็นโจโจ้ reference กับทุกอย่าง” สตรีมเมอร์ Gssspotted ระบุไว้ระหว่างที่เขาเล่าถึงความสนุกกับโจโจ้

11.) สรุปก็คือ มีมโจโจ้ที่เราเห็นกันในช่วงหลังมานี้ มันเกี่ยวข้องกับสแตนด์ตามที่เราได้อธิบายไป รวมถึงฉากการต่อสู้ของตัวเอกและตัวร้ายในภาคที่สาม โดยปัจจัยสำคัญที่มันเป็นกระแสมากๆ ก็เพราะว่าอนิเมะในภาคสามที่กลับมาฉาย รวมถึงอนิเมะภาคอื่นๆ เช่นภาค 5 ที่มีมในอินเทอร์เน็ตมักจะใช้เพลง ‘Il vento d’oro’ ในสถานการณ์หักมุมที่คนเหมือนจะแพ้ ได้พลิกกลับมาได้ชัยชนะ

(แต่ที่ผ่านมากระแสมีมในโจโจ้ก็ไม่ได้หายไปไหนนะ มีการรวมกลุ่ม หรือมีมีมโจโจ้ในอินเทอร์เน็ตมาก่อนแล้ว แต่ช่วงหลังนี้มันอาจจะมากขึ้นกว่าเดิมเพราะอนิเมะกลับมาฉาย)

12.) ปรากฏการณ์ ‘มีมโจโจ้’ บอกอะไรกับเราบ้าง? อย่างแรกเลยคือ มันสะท้อนความนิยมในการ์ตูนเรื่องนี้ที่อยู่กับผู้อ่าน/ผู้ชมมาอย่างสม่ำเสมอ ด้วยตัวตนที่โดดเด่นของตัวละครต่างๆ และฉากสำคัญที่ยังติดอยู่ในความทรงจำ

นอกจากนั้น ยังทำให้เราเห็นถึงความสำเร็จของการนำมังงะ/อนิเมะเรื่องนี้มารื้อฟื้นและปรับปรุงใหม่ และทำให้จินตนาการในอดีตมันสนุกสนาน แถมเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม และกลายเป็นหัวข้อไว้คุยกันสนุกๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย เพราะความหวือหวาและแหวกแนวของตัวละคร

13.) ในภาพรวมๆ ของอุตสาหกรรมบันเทิงแล้ว เรายังเห็นกลยุทธ์การนำคอนเทนต์ในอดีตมานำเสนอใหม่อีกครั้งผ่านโลกดิจิทัล และกลายเป็นประเด็นให้สื่อยุคปัจจุบันได้กลับมาแนะนำ และชวนมองหาความน่าสนใจในคอนเทนต์เหล่านั้นให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ที่อาจเคยเสพสิ่งเหล่านี้มาก่อน

จนถึงตอนนี้เรื่องราวของโจโจ้ ได้กลายเป็นสื่อหลายแบบแล้ว นอกจากอนิเมะ หรือมีมในอินเทอร์เน็ต ยังมีงานนิทรรศาการศิลปะ รวมไปถึง โจโจ้ภาค Live action ที่มีคนแสดงรวมถึงเกมต่างๆ อีกด้วย นี่เองก็เป็นภาพที่ตอกย้ำความนิยมที่ผู้คนมีต่อโจโจ้ได้ไม่น้อยเลย

**ถ้ามีโอกาส The MATTER จะสรุปเรื่องราวในโจโจ้ทั้งหมดทุกภาคอีกทีหนึ่งนะ เพราะถ้าสรุปเรื่องตั้งแต่ภาคแรกเลยคงต้องยาวมากๆ แน่นอน**

อ้างอิงจาก

https://thematter.co/thinkers/jojo-as-an-art/62315

https://kotaku.com/japans-ageless-manga-artist-meme-continues-1755888893

https://comicbook.com/anime/2019/03/10/jojos-bizarre-adventure-golden-wind-recap-episode-special/

https://www.reddit.com/r/JoJoMemes/

https://jojo.fandom.com/wiki/Stand_Cry

https://www.facebook.com/gssspotted/videos/916077318759813/

#Recap #โจโจ้ #TheMATTER

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0