โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

Meet The Doctor: สอนลูกอย่างไรไม่ให้ เอาแต่ใจตัวเอง ตอนที่ 1

Mumraisin

อัพเดต 22 พ.ค. 2561 เวลา 01.00 น. • เผยแพร่ 22 พ.ค. 2561 เวลา 01.00 น. • MUMRAISIN

คำถาม: เลี้ยงลูกรักอย่างไรดีไม่ให้เอาแต่ใจตัวเอง และรักสบาย

เอาแต่ใจตัวเองแปลว่าอะไรได้บ้าง เช่น เห็นตนเองเป็นศูนย์กลางไม่ยอมเลิกเสียที เวลาถูกขัดใจไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ อธิบายเหตุผลมากเพียงไรก็ไม่รับฟัง
เราเรียกว่านิสัยไม่ดีก็ได้ แต่อาจจะดีกว่าหากเรามองทะลุไปที่ต้นเหตุของอาการเหล่านี้ แล้วคิดเสียว่าเขาไม่มีความสามารถที่จะทำให้ดีได้ ความสามารถเหล่านี้ไม่เคยถูกฝึก
เห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง เรียกว่า self-centered เป็นลักษณะของเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุประมาณ 7 ขวบอยู่แล้ว หากเรามีทัศนคติที่ดีเราควรรู้ว่าเรื่องนี้เป็นธรรมดาและเป็นปกติ ทัศนคติที่ดีเป็นเรื่องสำคัญเพราะช่วยให้เราอารมณ์ดี
อย่างไรก็ตาม เราสามารถบอกกล่าวและเปิดพื้นที่ให้ฝึกได้ เช่น ให้โอกาสเด็กเล็กได้เล่นในสนามอย่างเป็นอิสระ โดยมีพื้นที่รอบตัวเขาพอสมควรเท่าที่เขาจะรับได้ เราสามารถบอกความคาดหวังได้ว่าถ้าหนูอยากเล่นกับคนอื่นก็ได้นะ แต่ไม่กดดันบังคับด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กแต่ละคนจะลดความเป็นศูนย์กลางของตนเองลงด้วยความเร็วช้าต่างๆ กันไป
ในทางตรงข้าม เราจับเด็กเล็กตั้งแต่ 3-7 ขวบไปนั่งในห้องเรียนที่มีระเบียบเคร่งครัด มองกระดานดำ ห้ามเล่นห้ามยุกยิก ฟังครูเท่านั้น และเขียนหนังสือ เท่ากับตัดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาตนเองผ่านการเห็นตนเองเป็นศูนย์กลางให้อิ่มใจแล้วค่อยๆ ลดลงตามเวลาที่ผ่านไป เราจึงได้เด็กอายุ 7-8 ขวบที่ยังเห็นตนเองเป็นศูนย์กลางไม่ยอมเลิกมากมายเต็มไปหมด
ทั้งนี้ยังไม่นับว่าพวกเขาไม่สามารถไปถึงระดับไม่หวง แบ่งปัน หรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

พฤติกรรมเอาแต่ใจตัวจึงมิใช่นิสัยไม่ดี แต่เพราะยังเอาแต่ใจตัวไม่อิ่มเสียให้เรียบร้อยตั้งแต่ยังเล็กก่อนที่จะออกมาเผชิญสังคมที่กว้างกว่าตัวเอง
การเล่นกับเพื่อนเป็นวิธีลดพฤติกรรมเอาแต่ใจตัวลงได้มาก เพราะเขาอยากเล่นเป็นทุนเดิม และเมื่ออายุเกิน 7 ขวบไปแล้วเขาไม่อยากเล่นคนเดียวโดยธรรมชาติ เขาอยากมีเพื่อนและเล่นกับเพื่อน คือจิตวิทยาพัฒนาการของเด็กวัยประถม เรียกว่า industry แปลตามตัวว่า สร้างผลผลิต
ผลผลิตที่เขาอยากสร้างคือการเล่นด้วยกัน
การเล่นด้วยกันเป็นทักษะ ขึ้นชื่อว่าทักษะหรือ skills ต้องการการฝึกฝนเสมอ ดังนั้นหากต้องการลดความเอาแต่ใจก็ควรโยนเด็กเอาแต่ใจเข้าไปในกลุ่มเพื่อน เขาจะได้ฝึก
หากไม่ยอมฝึก เขาก็จะถูกเพื่อนๆ บีบให้ฝึก เพราะกลไกของทุกคนคือต้องการผลผลิตจากการเล่นด้วยกันอยู่แล้ว ดังนั้นทุกคนจะได้ฝึกพร้อมกันด้วยปฏิสัมพันธ์ มีการทะเลาะเบาะแว้ง แก่งแย่งชิงดี แต่ก็จะยินดีรอมชอม ประนีประนอม เพื่อที่จะได้เล่นด้วยกันตามที่จิตใจทุกคนต้องการจนได้
การเล่นเป็นคำตอบ จึงต้องลดเวลาเรียนลงบ้างเพื่อมีเวลาเล่น ติดตามสัปดาห์หน้า เรื่องที่สอง “เวลาถูกขัดใจไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0