โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Malicious อุ่นอกอ้อมแขนอ้อมกอดแม่ตระกอง

Horrorism

อัพเดต 10 มี.ค. 2563 เวลา 00.00 น. • เผยแพร่ 10 มี.ค. 2563 เวลา 07.40 น. • Horrorism

 

 

 

       ด้วยความที่ Get Out (2017) และ The Collector (2009) เป็นหนังสยองในดวงใจเรา ปีนี้เมื่อ ฌอน เรดดิค โปรดิวเซอร์ใหญ่จาก Get Out มาจับมือร่วมงานกับ จอช สจ๊วต พระเอกหน้าอมทุกข์จาก The Collector โปรเจกต์ Malicious (หรือในชื่อไทย ไม่ไปผุด ไม่ไปเกิด) จึงเป็นโปรเจกต์ที่เราอดจับตามองไม่ได้ 

 

 

       เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อ อดัม เพียซ อาจารย์วิชาคณิตศาสตร์ผู้ยึดมั่นในตรรกะ พา ลิซ่า ภรรยาสาวสวยท้องอ่อน ๆ เดินทางมาอยู่ในบ้านต่างจังหวัดเพื่อรับงานสอนในมหาวิทยาลัยเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ในภาควิชานี้มีสาขาวิชาปรจิตวิทยา(Parapsychology – ว่าด้วยจิตเหนือธรรมชาติ) ของ ดร.คล๊าก ผู้พิการทางสายตารวมอยู่ด้วย อดัมรู้สึกแปลกใจที่วิชาไม่ค่อยตรรกะทำนองนั้นมารวมอยู่ในสาขานี้ด้วย ขณะเดียวกัน เบ็กกี้ น้องสาวของลิซ่าก็ส่งกล่องโบราณใบหนึ่งมาให้เป็นของขวัญ กล่องนี้ตอนแรกอดัมพยายามเปิดเท่าไหร่ก็เปิดไม่ออกแต่ลิซ่ากลับเปิดง่าย ๆ แล้วเหตุการณ์แปลก ๆ ก็เริ่มขึ้น

 

 

       ตัวหนังค่อนข้างดำเนินไปอืด ๆ ในช่วงแรก เน้นชีวิตประจำวันของลิซ่าที่เริ่มท้องใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และย้ำคำพูดหลายอย่างที่ฟังดูพยายามคม อย่างเช่น 1+1=2 แต่บางที 1+1 ก็เท่ากับ 3 ในกรณีของพ่อ แม่ ลูก และคนที่ยอมรับความเชื่อข้างหลังนี้ก็คือลิซ่ากับดร.คล๊ากผู้สอนวิชาไร้ตรรกะในสายตาของอดัม จากนั้นเมื่อเรื่องเริ่มเข้าสู่จุดน่าหลอนระคนน่าสงสัย หนังก็สร้างบรรยากาศในส่วนนี้ได้ดี (ในแง่การดำเนินเรื่อง อาจจะถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดเลยก็ว่าได้) เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้าน ผีเด็กหญิงที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในแต่ละฉาก ของเล่นเด็กที่ขยับเล่นเอง เสียงเด็กร้อง เสียงฝีเท้า แล้วรูปวาดของแม่กับเด็กหญิงสี่คนบนฝาผนังก็ค่อย ๆ หันมา ดวงตากลายเป็นเลือดไหล 
       ที่เล่ามาข้างต้นนั้นไม่เรียกว่าสปอยล์ เพราะหนังเอามาใส่ในตัวอย่างหมดแล้ว ซึ่งก็น่าเสียดายนะ เพราะแม้การให้บรรยากาศผีจะดี แต่มุกผีส่วนใหญ่ค่อนข้างเดาได้ว่ามันจะเกิดอะไร แถมมาถูกตัวอย่างเฉลยตัดหน้าอีก ไป ๆ มา ๆ เราเลยรู้สึกว่า สิ่งที่น่าสนใจและน่าขบไขกว่าบรรยากาศผี ๆ ก็คือสมการที่หนังตั้งขึ้นเบื้องหลังสถานการณ์ต่าง ๆ นี่ละ ถ้าสังเกตดี ๆ เราจะพบว่ามันเต็มไปด้วยนัยและสัญลักษณ์ไม่ต่างจาก Get Out เลย เพราะฉะนั้น รีวิวครั้งนี้จึงต้องมีอันสปอยล์ เพื่อชวนผู้อ่าน / ผู้ชมคิดไปด้วยกันนะครับ ว่าจริง ๆ แล้วหนังกำลังพูดถึงอะไรบ้าง (ใครยังไม่ได้ดูหนัง ไปดูก่อนแล้วค่อยมาอ่านนะครับ ตอนนี้ข้ามไปที่ย่อหน้าสุดท้ายก่อนได้จ้า)

 

 

**สปอยล์**
       เมื่อพิจารณาดูแล้ว เราจะพบว่าการที่หนังอืดช้าและเพียรขีดย้ำคำพูด (พยายามคม) ในช่วงต้นนั้นมีเหตุผลอยู่ มันเป็นการนำเสนอตรรกะอีกแบบ 1+1=3 ซึ่งเป็นความจริงเหมือนกัน เพียงแต่ซ่อนตัวอยู่และปรากฏให้เห็นเพียงบางสถานการณ์ตรงนี้หนังใช้เทียบกับวิชาปรจิตวิทยาที่ดูไม่เป็นตรรกะ แต่กลับนำมาวางอยู่ในสาขาวิชาโคตรตรรกะอย่างคณิตศาสตร์ เพื่อแสดงว่าจริง ๆ มันอาจเป็นตรรกะอยู่ก็ได้ ‘เพียงแต่ซ่อนตัวอยู่’ (คือไม่ใช่เรื่องไม่จริงจนถูกเขี่ยออกจากความเป็นตรรกะ) ขณะเดียวกัน ผู้ยอมรับตรรกะนั้น นอกจากตัวอาจารย์วิชาจิตวิญญาณเอง ก็ยังมีลิซ่าผู้อยู่ในฐานะ ‘แม่’
       ความเป็นตรรกะ / ไร้ตรรกะ (หรือที่จริงคือ ‘มีตรรกะที่ซ่อนตัวอยู่’) นี้ ยังถูกย้ำด้วยสัญลักษณ์ตาเนื้อกับการเสียหายของตาเนื้ออีกด้วย ตาเนื้อคือดวงตาของมนุษย์ทั่วไปที่เห็นตรรกะตามธรรมดา เช่นดวงตาของอดัมเองในช่วงต้น ส่วนตาที่ไม่ใช่ตาเนื้อสามารถมองเห็นภาพที่ไม่ธรรมดา หรือเหนือตรรกะขึ้นไป ได้แก่ ลิซ่ากับดร.คล๊าก

 

 

       (1) ตัวลิซ่า จะสังเกตได้ว่าหนังให้ความสำคัญกับฉาก sex พอสมควร มันถูกออกแบบให้ดูมีนัยลึกลับเหมือนจะเชื่อมโยงกับผีซึ่งถือเป็นสิ่งไร้ตรรกะ นั่นอาจเพราะ sex คือจุดเริ่มต้นของความเป็น ‘แม่’ ยิ่งท้องใหญ่ลิซ่าก็ยิ่งรู้เห็นเหตุการณ์แปลก ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ คนในภาพวาดค่อย ๆ หันมาจนกระทั่งครบทุกคน และทุกคนล้วนมีดวงตาที่ถูกควักอาบเลือด นี่คือสิ่งแทนตัวตนของลิซ่าซึ่งถูกครอบงำโดยสิ่งไร้ตรรกะแล้วโดยสมบูรณ์ เธอไม่ได้มองเห็นด้วยตาเนื้ออีกต่อไป แต่เห็นด้วยสิ่งที่เหนือกว่านั้น นั่นก็คือ ความรู้สึกของการเป็น ‘แม่’ ที่รักลูกจนสามารถให้อภัยและปกป้องลูกได้เสมอไม่ว่าลูกจะดีหรือร้าย จุดนี้ถูกขีดเส้นใต้ด้วยคำอธิบายของดร.คล๊ากว่า คนที่เป็นแม่ถึงจะแท้งไปแล้ว แต่เซลล์จากภาวะครรภ์เป็นพิษก็ยังติดอยู่ในตัว นั่นคือเธอก็จะยังแบกรับความเป็นแม่อยู่นั่นเอง เช่นกันกับการออกแบบผีให้เป็นสี่วัย ตั้งแต่เด็ก ต้นสาว วัยสาว จนถึงวัยแก่ ราวกับจะบอกว่า ไม่ว่าลูกอายุเท่าไหร่ แม่ก็จะยังรู้สึกว่าเธอเป็นลูกของแม่อยู่เสมอ

 

 

       (2) ดร.คล๊ากผู้ตาบอด เขาใช้ตาที่ไม่ใช่ตาเนื้อมองเห็นสิ่งที่อยู่เหนือตรรกะ ฉากโต้ตอบกับผีแล้วเขาค่อย ๆ พบเห็นความจริงนั้นนับเป็นฉากที่ออกแบบมาดีที่สุดของเรื่อง การใช้ภาพสะท้อนบนแว่นกันแดดแสดงภาพแทนสายตาว่าทุกอย่างเปลี่ยนไป และเขามองเห็นแล้วด้วยตาอันเหนือตรรกะ ได้เห็นภาพที่เหนือตรรกะ 
ในฉากจบ ความสำคัญของแม่ต่อลูกถูกย้ำด้วยการออกแบบการตายของผี พระเอกใช้กล่องซึ่งเป็นเสมือน ‘ผู้ให้กำเนิด / แม่’ ของผี (เพราะผีออกมาจากในนั้น) มาฆ่าผีได้ง่าย ๆ ก็เหมือนกับการบอกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่แม่ไม่ปกป้องลูกแล้ว ลูกก็ยากที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปนั่นเอง

 

       ในที่สุด การนำความรักของแม่ที่มีต่อลูกน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือความเข้าใจของมนุษย์มาตีความเป็นผี ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือความเข้าใจของมนุษย์เช่นกันนั้น นับว่าเป็นประเด็นแปลกใหม่และน่าสนใจมาก ๆ น่าเสียดายที่หนังดำเนินเรื่องหย่อนไป และไม่คมคายเท่ากับสารที่ตั้งไว้แต่ต้น สรุปแล้วเราจึงขอปักธูปให้ 3 ดอก

ปักธูปการันตีความหลอน : 

รูปภาพประกอบ : Malicious อุ่นอกอ้อมแขนอ้อมกอดแม่ตระกอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0