โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

MISSISSIPPI COMPANY – บริษัทผลิตเงิน (ไม่) จำกัด มหาชน

aomMONEY

อัพเดต 26 มิ.ย. 2561 เวลา 12.03 น. • เผยแพร่ 19 มิ.ย. 2561 เวลา 03.29 น. • นายปั้นเงิน ปีศาจแห่งการลงทุน
MISSISSIPPI COMPANY – บริษัทผลิตเงิน (ไม่) จำกัด มหาชน
MISSISSIPPI COMPANY – บริษัทผลิตเงิน (ไม่) จำกัด มหาชน

ฟองสบู่แห่งความหายนะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่บนโลก เพียงแค่พื้นที่นั้นมีความโลภ

จากความเดิมตอนที่แล้ว เราได้รู้จักมหากาพย์แห่งความโลภที่เกิดขึ้น ณ ประเทศอังกฤษในเหตุการณ์ South Sea Company และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง ที่ประเทศฝรั่งเศสก็มีวิกฤตฟองสบู่ครั้งใหญ่เกิดขึ้น ในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งหายนะครั้งนี้มีสาเหตุมาจากบริษัทที่ชื่อว่า Mississippi Company และนักเศรษฐศาสตร์เจ้าปัญญานามว่า จอห์น ลอว์

ว่ากันว่า..นี่คือชนวนความล่มสลายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส 

และเป็นต้นกำเนิดของการปฏิวัติฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นในปี 1715 รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจที่เลวร้าย ค่าเงินในประเทศผันผวนอย่างรุนแรง ประชาชนประสบปัญหายากจนข้นแค้น แถมยังมีหนี้สินก้อนใหญ่ที่เหลือจากการทำสงครามกับอังกฤษ (ถ้าจำกันได้วิกฤตฟองสบู่ที่เกิดขึ้นในอังกฤษก็มีสาเหตุมาจากสงครามนี่แหละ)

เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะหาทางออกทั้งหมดด้วยตัวเอง จึงตัดสินใจจ้าง “จอห์น ลอว์” นักเศรษฐศาสตร์ชาวสก๊อตแลนด์เข้ามารับหน้าที่ที่ปรึกษาด้านการเงินของประเทศ โดยมอบหมายภารกิจสำคัญ คือ การกอบกู้เศรษฐกิจของฝรั่งเศสให้อยู่รอดให้ได้

ลอว์ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่ศรัทธาในเรื่องของธนบัตรอย่างแรงกล้า เขาเชื่อในระบบเศรษฐกิจที่แลกเปลี่ยนด้วยกระดาษมากกว่าโลหะมีค่าอย่างทองคำ ซึ่งในสมัยนั้นเขายังไม่เคยเจอระบบเศรษฐกิจที่ไหนบนโลกใช้นโยบายการเงินแบบที่เขาเชื่อ ประจวบเหมาะกับฝรั่งเศสจ้างเขาเข้ามาทำหน้าที่สำคัญพอดี

เวลานี้จึงเป็นโอกาสทองที่ลอว์จะสามารถทดสอบนโยบายของเขาได้อย่างเต็มที่…

ในปีต่อมา (1716) ฝรั่งเศสได้จัดตั้งธนาคารกลางขึ้นมาเพื่อรับฝากทองคำจากประชาชน โดยจะพิมพ์ธนบัตรกระดาษที่เป็นตัวแทนมูลค่าทองคำให้กับประชาชน ธนบัตรแต่ละใบจะมีค่าผูกไว้กับทองคำ ทำให้ชาวฝรั่งเศสยอมรับในการใช้ธนบัตร และเริ่มให้ความเชื่อมั่นกับระบบนี้

ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากลอว์ แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับว่าธนบัตรนั้นจะสามารถใช้ชำระหนี้ได้…

ต่อมาในปี 1717 จอห์น ลอว์ ก็ได้เข้าซื้อบริษัท Mississippi Company บริษัทที่ได้รับสัมปทานแต่เพียงผู้เดียวในการค้าขายกับอเมริกาเหนือบริเวณแม่น้ำมิสซิสซิปี ซึ่งในขณะนั้นเป็นพื้นที่อาณานิคมของฝรั่งเศส ก่อนจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Compagnie d'Occident” โดยการเข้าซื้อบริษัทของลอว์ในครั้งนี้ได้รับการเห็นชอบและแรงสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสด้วย

เนื่องจากบริษัท Mississippi ได้รับสัมปทานในการค้าขายที่อเมริกามาตั้งแต่แรก บริษัทยังเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่พื้นที่อาณานิคมที่อเมริกาอีกด้วย นอกจากนี้การที่ Mississippiมีลอว์เป็นเจ้าของ จึงทำให้บริษัทเป็นผู้ควบคุมการเงินทั้งหมดของประเทศฝรั่งเศส ทั้งสิทธิในการผลิตเงินตรา และการเก็บภาษีภายในประเทศฝรั่งเศสทั้งหมด

ภาพรวมของ Mississippi  Company จึงดูดีแบบสุดๆ!!

และแล้วฟองสบู่ก็เริ่มก่อตัวขึ้นในต้นปี 1719 เมื่อแผนของลอว์ที่จะปรับโครงสร้างหนี้ให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งเป็นแผนการแบบเดียวกันกับที่ South Sea Company ปลดหนี้ให้รัฐบาลอังกฤษ

ลอว์ใช้บริษัท Mississippi รับซื้อหนี้ของรัฐบาลที่อยู่ในรูปพันธบัตรมาจากประชาชน โดยแลกกับหุ้นสามัญของบริษัท ซึ่งในขณะนั้นบริษัท Mississippi เป็นที่เชื่อมั่นของชาวฝรั่งเศสว่าเป็นบริษัทที่ดีและมีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง

ในตอนเริ่มต้นหุ้นของบริษัทถูกจำหน่ายให้กับประชาชนในราคา 500 ลีฟวร์ส แต่เนื่องจากชาวฝรั่งเศส ต้องการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตร โดยมีโอกาสรวยจากการเติบโตของบริษัท Mississippi ในอนาคต อุปสงค์ของหุ้นจึงมีมากขึ้น ในขณะที่หุ้นสามัญมีจำนวนจำกัด ราคาหุ้น Mississippi จึงพุ่งไปแตะ 10,000 ลีฟวร์ส ภายในเวลาไม่นาน

สาเหตุสำคัญที่ช่วยผลักดันราคาหุ้นขึ้นมา ไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยการพิมพ์ธนบัตรออกมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทำให้เงินในมือประชาชนมีมากขึ้น ราคาหุ้นและสินค้าต่างๆ ภายในประเทศฝรั่งเศสจึงเฟ้อขึ้นอย่างรุนแรง

โดยหารู้ไม่ว่า…ณ เวลานั้นธนบัตรถูกพิมพ์ออกมามากกว่าปริมาณทองในคลังของฝรั่งเศสหลายเท่าตัว

หายนะจึงเกิดขึ้นเมื่อคนที่ร่ำรวยและมีธนบัตรในมือมากมาย ต้องการแลกธนบัตรกลับมาเป็นทองคำ แต่ลอว์ดันกำหนดจำนวนเงินที่จะให้แลก เพราะปริมาณทองคำในระบบมีไม่เพียงพอนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้นสัมปทานการค้าที่บริษัทได้มากลับไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดไว้

เพราะที่อเมริกาไม่มีทองคำจำนวนมหาศาลอยู่จริงอย่างที่เคยเชื่อกัน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ราคาของหุ้น Mississippi ร่วงลงอย่างรวดเร็ว และมูลค่าของธนบัตรที่อยู่ในมือของประชาชนก็ลดลงตามความเชื่อมั่นที่หายไป ความมั่งคั่งของคนที่มีทั้งหุ้นและธนบัตรในมืออย่างอู้ฟู่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ในปีต่อมาอัตราเงินเฟ้อของฝรั่งเศสสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย (ราวๆ 23% ต่อเดือน) เพราะเงินในระบบมีอยู่มากและไม่หายไปไหน ธนบัตรที่ประชาชนถืออยู่ไร้ค่าไปในทันทีหลังจากที่ธนาคารกลางออกมายอมรับว่า โลหะมีค่าในคลังของประเทศนั้นมีไม่พอ และหยุดผลิตธนบัตรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ราคาหุ้นของ Mississippi ก็ร่วงลงจาก 10,000 ลีฟวร์ส กลับมาเหลือ 500 ลีฟวร์ส จนไม่เหลือค่าอะไรภายในระยะเวลาไม่นาน

หลังจากโป๊ะแตกทำประเทศคนอื่นเสียหาย ลอว์ก็หายตัวไปจากประเทศฝรั่งเศสอย่างไร้ร่องรอย

ความเป็นจริงนโยบายของลอว์เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน เพียงแต่ว่าโร้ดแมพการปลดหนี้ให้ประเทศฝรั่งเศสของเขาในยุคนั้นค่อนข้างจะ Aggressive เกินตัวไปมาก เพราะธนบัตรกระดาษในยุคนั้นเป็นเรื่องใหม่ที่ยังมีคนให้ความเชื่อมั่นอยู่น้อย การพิมพ์ธนบัตรจนเกินตัวทำให้ผลเสียหายเกิดตามมาอย่างรุนแรง

ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่สามารถบอกกับเราได้ว่า

ฟองสบู่ที่เกิดขึ้นมักจะใช้เวลาก่อตัวอย่างช้าๆ แต่เมื่อมันแตกเมื่อไหร่ ผลเสียหายที่ตามมาก็เปรียบได้เหมือนฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นเพียงพริบตา แต่ความเจ็บปวดนั้นรุนแรงมหาศาล และสร้างแผลเป็นที่ไม่อาจรักษาให้หายไปได้โดยง่ายครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0