โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

MGรับสิทธิภาษีอีวี 0% นำเข้าZSจากจีนขายไม่เกิน1.5ล้านบาท

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 22 พ.ค. 2562 เวลา 06.15 น.

เอ็มจี ตีคู่แข่งอีวีกระจุย ยิ้มรับสิทธินำเข้าจากจีนไม่เสียภาษี พร้อมกดราคา“แซดเอส”รุ่นพลัง งานไฟฟ้า100% ตํ่ากว่า 1.5 ล้านบาท เล็งเปิดตัวเดือนมิถุนายนนี้ แต่ยังไม่ทิ้งแผนประกอบในไทย ด้านนิสสันปั้น “ลีฟ” เหนื่อย ประกาศจับมือพันธมิตรใหม่ “เดลต้า” ติดตั้งวอลล์บ็อกซ์ ให้ลูกค้าราคาพิเศษ​

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มคึกคัก หลังจากค่ายน้องใหม่อย่างเอ็มจีประกาศแนวรบ ถือฤกษ์ดีในวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ทำการเปิดตัวรุ่น แซดเอส อีวี  “MG ZS EV” รถอเนกประสงค์ (บีเอสยูวี)ที่นำเข้าจากประเทศจีน โดยคาดว่าราคาของรถในรุ่นนี้จะไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

“เรานำเข้า “ZS EV” มาจากประเทศจีน เนื่องจากได้สิทธิประโยชน์ภาษี  0% จากเอฟทีเอ ไทย-จีน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบและทำให้ราคาของเราจะแข่งขันได้ในตลาด โดยรุ่นใหม่นี้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกของเอ็มจีที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% มีรูปลักษณ์โดดเด่นตามแบบฉบับของรถอเนกประสงค์ มาพร้อมกับระบบการเชื่อมต่ออัจฉริยะ i-SMART ที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่สู่ตลาดเมืองไทย ซึ่งเราจะทำการเปิดตัวรถรุ่นนี้ในวันที่ 20 มิถุนายน ส่วนราคาและการส่งมอบเมื่อไรนั้น จะประกาศอย่างเป็นทางการในวันเปิดตัว” นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

สำหรับแซดเอส อีวี “ZS EV”  เป็นรถอเนกประสงค์ ในกลุ่มบีเอสยูวี ซึ่งข้อมูลสเปกที่จำหน่ายในจีนระบุว่าขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร สามารถเร่งจาก 0-50 กม./ชม. ได้ภายในเวลา 3.1 วินาที และ 0-100 กม./ชม. ประมาณ 8-9 วินาที วิ่งได้ระยะทางไกลสูงสุด 335 กม. ตามมาตรฐาน NEDC ต่อการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง และ 428 กม. เมื่อวิ่งที่ความเร็วเฉลี่ยไม่เกิน 60 กม./ชม.  รองรับฟาสต์ ชาร์จิ้ง ซึ่งชาร์จไฟจาก 0-80% ได้ในครึ่งชั่วโมง

นอกเหนือจากการนำรถรุ่นใหม่เข้ามาทำตลาด เอ็มจี ยังผนึกกำลังกับอีเอ พลังงานบริสุทธิ์ ซึ่งถือเป็นเอกชนรายใหญ่ที่ให้บริการสถานีชาร์จไฟ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

“การติดตั้งวอลล์บ็อกซ์ให้ที่บ้านหรือไม่นั้น กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ตามเราได้เตรียมความพร้อมด้วยการติดตั้งที่โชว์รูมผู้แทนจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 107 -108 แห่งทั่วประเทศ แต่การขยายจะต้องพูดคุยดูความพร้อมของดีลเลอร์ และพื้นที่ต่างๆว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ รวมไปถึงการสนับสนุนจากทางฝั่งรัฐไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือการไฟฟ้านครหลวง”นายพงษ์ศักดิ์  กล่าว 

การตัดสินใจรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของเอ็มจี ถือเป็นการเดินตามนโยบายหรือวิสัยทัศน์ 4 ข้อที่ได้ประกาศตั้งแต่แรก อันได้แก่  การพัฒนารถยนต์ให้มีการเชื่อมต่ออัจฉริยะมากยิ่งขึ้น (Intelligence connectivity) การพัฒนารถซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electrification) การแบ่งปันรถยนต์ในการใช้งานร่วมกัน  (Car Sharing) และการพัฒนารถยนต์สำหรับตลาดในระดับสากล (Globalization) 

“ในส่วนของประเทศไทย ถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิมๆ สู่รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle-HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle - PHEV) และกำลังก้าวสู่การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% (Electric Vehicle- EV) ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเริ่มเข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเริ่มเติบโต คือการสนับสนุนของภาครัฐที่มีนโยบายและแผนขับเคลื่อนด้านพลังงานที่จูงใจต่อผู้ผลิตรถยนต์ อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และยังมีมาตรการในการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ  ขณะเดียวกันการขยายตัวของสถานีชาร์จไฟ ที่ลงทุนทั้งจากภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐเริ่มมีเพิ่มมากขึ้น  

“ในปีที่ผ่านมาเอ็มจีได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในโครงการรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อินไฮบริด ซึ่งได้รับการอนุมัติแล้ว ส่วนอีกหนึ่งโครงการคือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% หรืออีวีนั้นยังต้องรอ แต่ในเบื้องต้นจะลงทุนไม่เยอะเพราะเรามีการลงทุนในส่วนของปลั๊ก-อินไฮบริดไปแล้ว ส่วนการคัดเลือกว่าจะเป็นโมเดลไหนเข้ามาทำตลาดนั้น ยังอยู่ในกระบวนการศึกษาและพิจารณา ซึ่งความตั้งใจของเราคือการมีส่วนร่วมในการพัฒนายานยนต์ในประเทศไทย และต้องการสร้างไทยเป็นฮับหรือเป็นฐานในการผลิต”

เรียกได้ว่าพร้อมรบเต็มที่สำหรับค่ายเอ็มจี ซึ่งจากแนวรุกที่เปิดหน้ามานี้ จะมีส่วนช่วยผลักดันยอดขายที่วางไว้ 5 หมื่นคันให้ไปถึงฝั่งฝันอย่างแน่นอน

ขณะที่ภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีแนวโน้มได้รับความนิยม เนื่องจากมีผู้เล่นเข้ามาในตลาดมากขึ้น และมีความพร้อมขายอย่างจริงจัง หลังจากปีก่อนบางค่ายมีการตีฆ้องร้องป่าวนำรถมาโชว์ให้ได้เห็นกันหลายรุ่น (แต่ยังไม่เปิดขาย)ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ค่ายไมน์ โมบิลิตี้ ที่นำรถเอ็มพีวี 5 ที่นั่ง ในรุ่นสปา 1 มาเปิดให้จองสิทธิเป็นครั้งแรกในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา ซึ่งภายในงานได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสุวรรณภูมิพัฒนา โดยจะจำหน่ายรถจำนวน 3,500 คัน เพื่อนำไปทำแท็กซี่และจำหน่ายให้กับสมาชิกสหกรณ์ คาดว่าในต้นปีหน้าจะเริ่มเปิดให้บริการแท็กซี่อีวี 

ปิดท้ายด้วยนิสสันกับ “ลีฟ” อีวีที่ขายดีที่สุดในโลก ทว่ายอดขายในไทยอาจจะยังไม่สวยหรู เนื่องจากราคาค่าตัวที่สูง  1.99 ล้านบาท แต่นิสสันยังเดินหน้าปูทางตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยต่อเนื่อง โดยในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ เตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ
ในการสนับสนุนเครื่องชาร์จไฟฟ้า วอลล์บ็อกซ์ ร่วมกับ เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ผู้ดำเนินธุรกิจบริการจัดการพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ คาดว่าการจับมือ​กันในครั้งนี้จะมีราคาส่วนลดพิเศษ​และการรับประกัน สำหรับ​ลูกค้านิสสัน ลีฟ ในการติดตั้งวอลล์บ็อกซ์​ของเดลต้า รวมไปถึงการติดตั้งที่ชาร์จให้กับดีลเลอร์ของนิสสันที่มีความพร้อมในการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,472 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0