โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

Lucid Dream : ทีมที่มีเจ้าของอายุ 27 ปี ผู้เรียนไม่จบแต่ทำทีมไปถึงระดับโลก

Main Stand

อัพเดต 24 มิ.ย. 2562 เวลา 14.10 น. • เผยแพร่ 19 มิ.ย. 2562 เวลา 17.00 น. • อลงกต เดือนคล้อย

วัยรุ่น เป็นช่วงวัยของชีวิต ที่เต็มไปด้วยพลังงาน ความฝัน และความกล้า ในการลงมือทำอะไรสักอย่าง แบบทุ่มสุดตัว

 

“ป๊อป” สรวิศ สื่ออยู่ยง เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เลือกใช้ชีวิตตามความฝันวาดที่ตนวาดไว้ เขากล้าที่จะทิ้งการเรียน ขณะศึกษาอยู่ชั้นปี 4  คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อมาเริ่มต้นสร้างทีม Esports เป็นของตัวเอง แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารทีมเกมส์ แถมอายุยังน้อย

แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำให้เขาหยุดตัวเองไม่ให้ทำทีมต่อ และจากก้าวแรกของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ในวันนั้น ได้เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดก้าวสำคัญของวงการเกม CS :GO (Counter-Strike) บ้านเรา

เมื่อ “Lucid Dream” กลายเป็นทีมไทยทีมแรก ที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน DreamHack Master Dallas 2019 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นรายการยิ่งใหญ่สุดของเกม Counter Strike ระดับโลก

ประวัติศาสตร์หน้านี้ คงไม่มีทางเกิดขึ้นเลย หากเขาปล่อยให้ความฝันในวันนั้น ลอยลมอยู่ในอากาศ แต่ปราศจากการทำให้เกิดขึ้นจริง

 

Round 1 : ก่อนความฝัน

 

“ช่วงปี 4 ผมตัดสินใจดร็อปเรียน เพราะรู้สึกว่าที่เรียนอยู่ มันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำ คุณพ่อคุณแม่ ท่านไม่ใช่คนที่ตามใจลูก ท่านปล่อยให้ผมได้ค้นหาตัวเอง ได้ลองทำ นั่นเป็นจุดที่ผมต้องตัดสินใจว่าเอาอย่างไรต่อกับชีวิตดี”

“ในชีวิตนี้ ผมชอบฟุตบอลมากที่สุด แต่มันคงยากที่ผมจะกลับไปเล่นให้เก่งจนเป็นอาชีพได้ สิ่งที่ชอบรองลงมาคือ เกมส์ เพราะเล่นมาตั้งแต่เด็ก เป้าหมายในตอนแรก ผมแค่อยากเป็น โปร เพลเยอร์ หารายได้จากตรงนี้ ไม่ได้มีความคิดเรื่องการเป็นเจ้าของทีมอยู่ในหัวเลย”

เกมชีวิตจริงของ สรวิศ สื่ออยู่ยง ถูกกดปุ่มสตาร์ท นับตั้งแต่ก้าวเท้าออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อตามหาตัวเองให้เจอ โดยเริ่มจากการไปทำงานในบริษัทด้านวิศวกรรมของคุณพ่อ แต่นั่นไม่ใช่ทางที่ใช่สำหรับตัวเขานัก

ตรงกันข้ามกับเกมส์ เขาสนุกและยินดีที่จะให้เวลากับมันอย่างเต็มที่ อาจเพราะด้วยนิสัยที่ชอบเล่นเกมส์ทุกประเภท ทุกแพลตฟอร์ม บวกกับการเป็นคนที่ชอบศึกษา ดูการสตรีมของเหล่าบรรดา โปร เพลเยอร์ จึงยิ่งทำให้เขาสนใจ Esports มากขึ้น

*“ผมชอบเล่นเกมส์มาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่ช่วงเข้ามหา'ลัย เริ่มเล่นน้อยลง หันมาให้เวลากับการดูมากขึ้น ทำให้ผมได้เห็นผู้เล่น แนวทางการเล่นของแต่ละเกม พอถึงช่วงที่ต้องเลือกว่าจะเอาอย่างไรต่อกับชีวิต ? ผมตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นโปรฯ เกม DOTA2 ให้ได้ เพราะในรายการ TI (The International) มีเงินรางวัลค่อนข้างสูง อีกอย่าง DOTA2 เป็นเกมที่ผมเล่นบ่อยที่สุดแล้ว” *

“พอเล่นไปสักระยะ เริ่มรู้ตัวเองว่าฝีมือเราคงไปไม่จุดนั้น แต่ผมยังชอบเกมส์อยู่ ถ้าเราเป็นคนเล่นไม่ได้ เราสามารถทำอะไรเกี่ยวกับเกมส์ได้บ้าง เป็นโค้ชไหม? มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมจึงตัดสินใจเลือกมาเป็นคนเบื้องหลัง คอยสนับสนุนนักกีฬา ทำทีมสมัครเล่นลงแข่งภายในประเทศ”

“ประกอบกับตอนนั้นกระแส Esports ในบ้านเรากำลังมา แต่ยังคิดไม่ได้ไปไกลถึงขั้นทำทีมอาชีพไปแข่งเมืองนอก หรือจัดตั้งบริษัทหรอกนะ”

DOTA2 และ Counter Strike คือ สองเกมที่ สรวิศ สื่ออยู่ยง หันมาศึกษาอย่างเต็มตัว ในช่วงประมาณปลายปี 2017 เพื่อหาคำตอบว่าตัวเองควรทำทีมเกมส์ไหนดี ?

ถึงแม้จะเคยมีความฝันในการอยากเป็น โปร เพลเยอร์ และชื่นชอบเกม DOTA2 เป็นการส่วนตัว แต่สุดท้ายคำตอบของเขากลับเป็น เกมแนว Shooting ชื่อคุ้นหูคนไทยอย่างเกม Counter Strike

“ผมชอบดู Counter Strike มากกว่า เพราะนี่คือเกมจิตวิทยา ใครได้ 16 แต้มก่อนจะได้ 1 เกม ซึ่งในแต่ละรอบ จะมีผู้แพ้ ผู้ชนะ ดังนั้นการตัดสินใจเพียงเสี้ยววินาที มีผลต่อการแพ้ชนะของทีมได้เลย ถ้าเราสามารถอ่านความคิดฝ่ายตรงข้ามได้ เราจะรู้ได้เลยว่าเขากำลังทำอะไร สำหรับผมเกมนี้ยาก แต่ท้าทาย”

“ผมเน้นศึกษาจากทีมในต่างประเทศ ดูข้อมูลต่างๆ ประวัติย้อนหลัง 2-3 ปี รายการแข่งขันเป็นอย่างไร ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ในการศึกษาอย่างจริงจัง จนรู้ว่ามันสามารถต่อยอดได้ ไม่ใช่เราจ่ายอย่างเดียว จึงนำไปเสนอคุณพ่อ เพื่อขอลงทุน แต่ท่านไม่ได้ตอบตกลงในตอนแรก ต้องนำเสนอหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งท่านก็ให้เรากลับไปดูเพิ่มเติม ในรายละเอียดต่างๆ จนท่านอนุญาต”

 

Round 2 : ไม่ถึงฝั่งฝัน

 

Lucid Dream แปลว่า ความฝันที่เป็นจริง สรวิศ สื่ออยู่ยง เลือกคำนี้มาใช้เป็นชื่อทีม เพื่อย้ำเตือนตัวเองว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ตั้งเป้าแล้ว ต้องทำให้ได้จริง

ความฝันในตอนนั้นของทีม Lucid Dream คือการได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งในระดับนานาชาติ แต่ถึงกระนั้นหนทางสู่เป้าหมายที่เขาตั้งใจไว้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะในเมืองไทย มีหลายๆทีม ฝีมือดี พร้อมจะสกัดเส้นทางความฝันของ Lucid Dream ทีมที่มีเจ้าของอายุเพียง 26 ปี (ในเวลานั้น)

แถมเขาเองก็ไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการเกม CS :GO ดังนั้นการต้องไปติดต่อทาบทาม ผู้เล่นมือดี ให้ร่วมงานด้วย จึงเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร สำหรับเด็กหนุ่มเช่นเขา

“มันก็เก้ๆ กังๆ นะ ผมไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน ในการต้องไปติดต่อนักกีฬามาร่วมทีม ซึ่งทุกคนไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่คนที่ผมเคยรู้จักมาก่อน เราเป็นคนแปลกหน้าของเขา คำถามที่เจอบ่อยสุดก็คือ ‘เขาจะเชื่อใจเราได้อย่างไร’ เพราะในทุกวงการ ต้องมีทั้งคนดีและคนที่เอาเปรียบผู้อื่น ซึ่งเขาอาจเคยเจอคนที่เข้ามาหาผลประโยชน์จากเขา การเจรจากับผู้เล่น ในตอนเริ่มสร้างทีม จึงค่อนข้างยาก เหมือนเขามีกำแพงที่ตั้งไว้”

“ผมค่อยๆลดกำแพงนั้นลงมา ด้วยการทำตามคำพูด ทำตามสัญญาที่ให้เขาไว้ เช่น ผมจะสนับสนุนอุปกรณ์ (Gaming Gear) ทุกอย่าง เราก็ทำจริง ไม่ใช่พูดปากเปล่า ก็ใช้เวลาอยู่ประมาณ 1 เดือน กว่าที่นักกีฬาจะยอมเปิดใจ และค่อยๆเชื่อในตัวเรา เพราะเราทำตามสัญญาทั้งหมด”

Lucid Dream ได้ขุมกำลังครบ 5 ตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจัดเป็นผู้เล่นที่มีฝีไม้ลายมือไม่เป็นรองใคร แต่อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ร่วมงานกัน ผลงานของทีมกลับไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในการได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งระดับนานาชาติ

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ สรวิศ สื่ออยู่ยง ในฐานะเจ้าของทีม ต้องตัดสินใจแยกทางปล่อยนักกีฬาที่ไปติดต่อทาบทามมาด้วยตัวเองออกจากทีม

“นักกีฬาเซ็ทแรกที่เราได้มา ครึ่งทีมยังเรียนอยู่ ทำให้การฝึกซ้อมไม่สามารถทำได้เต็มร้อย แต่เราก็ยืดหยุ่นให้น้องๆ ถ้าเป็นช่วงสอบ เราจะไม่ไปบีบบังคับเขา ขออย่างน้อย 2-3 วันต่อสัปดาห์ ให้เขาซ้อมหรือเล่นด้วยกัน”

“ผลที่ตามมาคือ ตัวเด็กซ้อมได้ไม่เต็มที่ กระทบต่อผลงานของทีม ซึ่งมันไม่ได้แย่ แค่ไม่ถึงเป้าหมายที่เราต้องการ ทีมเราไม่ได้เป็นตัวแทนสักรายการเลย มีแต่เฉียดไปเฉียดมา ไม่ได้ไปต่างประเทศสักที ไม่แพ้รอบ 4 ทีม ก็แพ้รอบชิง ได้ที่ 2-3 แทบทุกรายการ”

“แต่มันก็ไม่ง่ายนะที่ต้องบอกเลิกสัญญาเขา เพราะทีมชุดแรกเราทำงานร่วมกันมาถึง 11 เดือน ก็มีบางคนที่อาจไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงต้องแยกทางกัน แต่ในเมื่อผมเลือกที่จะเดินไปข้างหน้า ก็ต้องยอมรับผลกระทบที่มันตามมา นี่คือสิ่งที่เจ้าของทีมกีฬาทุกคนต้องเคยเจออยู่แล้ว ในการแยกทางกับนักกีฬา ผมแค่ต้องเดินต่อไปแค่นั้นเอง”

 

Round 3 : ฝันที่เป็นจริง

Lucid Dream ภายใต้การบริหารของ สรวิศ สื่ออยู่ยง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ ช่วงปลายปี 2018 ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงขุมกำลังผู้เล่นแทบยกชุด เริ่มมีการจ้างโค้ชต่างชาติ ไปจนถึงการจัดตั้งบริษัท เพื่อดำเนินการอย่าง ทีมกีฬาอาชีพ รวมถึงทำทีม PUBG ขึ้นมาอีกหนึ่งเกม

ขณะเดียวกัน“ป๊อป” บอสคนหนุ่ม ยังตั้งเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ที่มองไปถึงระดับทวีปเอเชีย ไม่ใช่แค่หวังเป็นแชมป์แค่ภายในประเทศ แม้ต้องเจอกับอุปสรรค และต้องลงทุนมากกว่าเดิม แต่เขามองว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ฝันของ Lucid Dream เป็นจริงเสียที

“ผมว่าทีมเกมส์ก็คล้ายๆสโมสรฟุตบอล ที่ผู้บริหารต้องเลือกคนที่พร้อมจะไปกับเราจริงๆ ปีที่แล้วน้องๆ ชุดเก่า เขามีความสามารถ แต่หลายคนยังติดภารกิจด้านการเรียน ปีนี้เราจึงต้องเลือกคนที่พร้อมทุ่มเทกับงาน และมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกับเรา”

“ผมพูดคุยกับนักกีฬาใหม่ทีละคน เอาสิ่งที่เราอยากได้ กับสิ่งที่เขาต้องการมาพูดคุยกัน เพื่อหาจุดร่วมตรงกลาง ซึ่งทุกคนมีเป้าหมายเดียวกับเราคือ ต้องการไปถึงระดับ ทีมชั้นนำของเอเชีย เพื่อต่อยอดสู่ทัวร์นาเมนต์ระดับโลก

Wannafly, PTC, Geniuss, qqGod และ cbbk กัปตันทีม คือ ไลน์อัพผู้เล่น 5 คน ในซีซั่นใหม่ที่ Lucid Dream เลือกใช้ แต่ทุกอย่างไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะในการแข่งขันแบบออนไลน์แบบนานาชาติ 2 รายการแรก พวกเขาทำผลงานไม่ดีนัก

ทำให้ทีมเสียความมั่นใจไปไม่น้อย ก่อนการแข่งขันระดับเอเชีย เพื่อหาตัวแทนหนึ่งเดียว ไปรายการ DreamHack Masters Dallas 2019 ซึ่งในรอบรองชนะเลิศฯ Lucid Dream มีคิวพบกับ MVP_PK ทีมเต็งหนึ่งของทัวร์นาเมนต์นี้จาก เกาหลีใต้

*“เราเคยเจอกับทีมนี้มาในช่วงซ้อม ส่วนใหญ่จะเราจะเป็นฝ่ายแพ้ เขาดูเหนือกว่าเราในระดับหนึ่ง แต่เกมนั้น เราสามารถเอาชนะเขาได้ 2-0 เกม ผ่านเข้าไปเจอกับทีมไทยกันเอง (Beyond) ถึงตอนนั้นเรามั่นใจมากแล้ว เรามีโอกาสได้ไป แต่ในด่านแรกเราตกเป็นรอง เขาได้ไปก่อน 11 คะแนน ส่วนเราได้มาแค่ 6-7 แต้มเอง” *

“จากความมั่นใจ กลายเป็นความกดดัน แต่เหมือนว่าผู้เล่นทุกคนสามารถพลิกสถานการณ์ จนกลับมาแซงชนะเขาได้ 2 เกม เป็น Winning Moment (ความรู้สึกที่ได้รับชัยชนะ) ที่ทุกคนกระโดดเฮ เพราะยังไม่เคยมีทีมจากไทยทีมไหนได้ไปแข่งรายการนี้ ซึ่งถือเป็นรายการหลักของ CS : GO ที่นักกีฬาทุกคนอยากไปสัมผัสให้ได้สักครั้ง"

Lucid Dream ออกเดินทางยังแผ่นดินเกิด ไปยังเมืองดัลลัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน  DreamHack Masters Dallas 2019

นี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น และนับเป็นประสบการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย สำหรับนักกีฬา รวมถึงเจ้าของทีมวัย 27 ปี ในการแข่งขันท่ามกลางบรรยากาศของผู้ชมเรือนหมื่นในสนาม

“การไปดัลลัสครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของต้นสังกัดเหมือนกัน ที่ได้เป็นตัวแทนทวีป เรารู้ดีว่าการแข่งขัน มันยากจริงๆ เปรียบเหมือนฟุตบอล ไทย เจอ บราซิล รู้ว่าสู้ไม่ได้ แต่ก็พยายามสู้อย่างถึงที่สุด เตรียมตัวและข้อมูลให้พร้อมที่สุด”

“เราเจอรอบแรกคือ Liquid ทีมอันดับ 2 ของโลก ขณะที่ผู้เล่นเราเป็นคนไทยล้วน ในตอนแรกก็หวังแค่ไม่อยากฝันร้าย 16-0 เพราะทีมระดับนี้ ถ้าจังหวะเขามาแล้ว มันจะไหลเลย แม้แต่เจอทีมระดับโลกด้วยกัน เขายังสามารถชนะสกอร์ขาดลอยได้ แต่เราก็สร้างความประทับใจ ด้วยการเก็บวินแรก ขึ้นนำไปก่อน แม้สุดท้ายจะแพ้ แต่ก็มาได้ถึง 7 วิน แพ้ 16-7 ไม่ได้แพ้แบบหมดสภาพ”

แม้ Lucid Dream จะพ่ายต่อ Team Liquid ไปในรอบแรก และตกรอบในนัดต่อมา เมื่อแพ้ต่อ  Vitalliy อีกหนึ่งทีมชั้นนำจากประเทศ ฝรั่งเศส 2-0 เกม

แต่ก็นับเป็นการก้าวที่กระโดดที่ไวมากๆ สำหรับทีม Esports ทีมหนึ่ง ที่มีเจ้าของอายุแค่ 27 ปี และไม่เคยผ่านงานบริหารองค์กรใดๆ มาก่อน

 

Round 4 : ความจริง

 

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ หากขึ้นชื่อว่าเป็น “ผู้บริหาร” ย่อมหนีไม่พ้นที่ต้องพบเจอกับ ปัญหาอุปสรรคมากมาย ในการบริหารจัดการ

ภายใต้ฉากหน้าที่สวยงาม ย่อมผ่านฉากหลัง แห่งการทำงานหนัก และการวางแผนเป็นอย่างดี ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ สรวิศ สื่ออยู่ยง ยึดถือเสมอก็คือ *“การไม่หนีปัญหา” *

“การเอานักกีฬาอายุน้อยๆ มาอยู่ร่วมกัน ก็ต้องปรับนิสัย พฤติกรรมส่วนตัวให้เข้าให้ได้ ไม่ใช่แค่ซ้อมเสร็จ แยกย้ายต่างคนต่างอยู่ แต่เราต้องการให้เขาพยายามปรับตัวเข้าหากัน เวลาเกิดปัญหาทุกคนจะช่วยกันหาวิธีแก้ไข ไม่ใช่หนีปัญหา”

“ผมมองว่าก่อนที่ทีมประสบความสำเร็จ มันต้องผ่านอุปสรรคอยู่แล้ว ถึงแม้หลายคนอาจมองว่า ทีมเราประสบความสำเร็จไวจัง แต่เราก็ผ่านปัญหามาไม่น้อยเหมือนกัน ไม่ได้สดใสอย่างที่คิด สิ่งสำคัญคือทุกคนไม่หนีปัญหา ผมจะเปิดโอกาสให้ทุกคนเสนอวิธีแก้ ไม่ได้ยึดแต่ความคิดตัวเอง เพราะผมเชื่อว่า ถ้าเราพยายามแก้ปัญหา ไม่หนีมัน ปัญหาที่ดูว่าหนักหนา มันจะคลายลงไปได้”

ถึงกระนั้น ด้วยความเป็นผู้บริหารที่อายุน้อย แต่ต้องรับผิดชอบดูแลนักกีฬา ที่อายุห่างกับตัวเองแค่ไม่กี่ปี ก็เป็นเรื่องที่ยากไม่น้อย ในการสร้างความน่าเชื่อถือให้ ผู้เล่นยอมรับ

แต่ในมุมของ สรวิศ สื่ออยู่ยง เขากลับบอกเราว่า “อายุ” ไม่ใช่ข้อจำกัด ทุกคนสามารถเป็นผู้บริหารได้ หากมีความรับผิดชอบที่มากพอ

“ผมคิดว่าคนอายุเท่าไหร่ก็ทำทีมได้ ถ้ามีความรับผิดชอบมากพอ โอเค ถ้าคุณเป็นเจ้าของทีมที่มีอายุมาก ก็อาจดูน่าเชื่อถือขึ้นมาหน่อย แต่ผมไม่คิดว่าคนอายุเยอะจะน่าเชื่อถือกว่าคนอายุน้อยเสมอไป คนอายุน้อยก็ปฏิบัติตัวให้น่าเชื่อถือได้เช่นกัน”

“ผมเคยได้ยินปัญหาต่างๆ จากผู้เล่น เช่น การผิดสัญญา การค้างเงินเดือน ไม่จ่ายเงินรางวัล การดูแลที่ไม่ดีพอ ผมเคยไล่คนออกนะ แต่ก็จ่ายเงินชดเชยไป แม้คนนั้นๆจะสร้างปัญหาให้เราก็ตาม แต่ผมต้องการทำให้ทุกคนเห็นว่า เราแฟร์ เราชัดเจน ถึงแม้มีช่องให้เราเอาเปรียบเขาได้ แต่เราจะไม่ทำ”

“ถ้าเราเขียนอะไรลงไปในสัญญา และปฏิบัติตามทั้งหมด นักกีฬา ก็คงไม่มีทางจะไม่พอใจเรา เพราะเราทำตามสัญญา ส่วนอื่นที่นอกเหนือจากสัญญา ถ้าเราสามารถทำอะไรให้เขาได้ เราก็อยากทำให้ แต่ต้องดูขอบเขตด้วย ไม่ใช่ตามใจให้หมดทุกอย่าง นี่คงเป็นจุดที่ทำให้ ผู้เล่นในทีมเชื่อใจ และยังอยู่กับทีมเราต่อไป”

หากย้อนเวลากลับไปในจุดที่หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ถ้าวันนั้น สรวิศ ไม่เลือกที่จะออกจากพื้นที่ปลอดภัย เพื่อมาค้นหาตัวเอง ไม่แน่เหมือนกันว่า วันนี้เขาอาจยังเป็นเพียงวัยรุ่นคนหนึ่งที่เคว้งคว้าง และใช้ชีวิตโดยปราศจากความฝัน แม้จะมีใบสำเร็จการศึกษาก็ตาม

จากการสนทนา เราไม่ได้คิดว่าเขาแตกต่างกับวัยรุ่นทั่วไป เขายังมีพลังงาน ความฝัน และความกล้า เหมือนกับคนในช่วงอายุนี้ ที่กล้าได้ กล้าเสีย

แต่สิ่งที่แตกต่างอาจเป็นผลลัพธ์ ที่เกิดจากการตั้งใจจริง ศึกษาอย่างละเอียด และรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับอายุ แต่เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ที่คุณจะเอาจริงเอาจังและเรียนรู้มากแค่ไหน ? ในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่

“ผมสนับสนุนให้เด็กไทยทำตามความฝัน ไม่ต้องทำ Esports ก็ได้ ผมเชื่อว่าเด็กไทยมีความสามารถเยอะ แต่ขาดโฟกัส สนใจสิ่งที่อยู่ภายนอกมากไปหน่อย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ถ้าทุกคนโฟกัสได้ร้อยเปอร์เซนต์ เราไปถึงระดับโลกได้ ดูอย่าง Jabz (ผู้เล่นไทยเกม DOTA2) หรือ Mickie (ผู้เล่นไทยเกม Overwatch) ที่ได้เล่นในลีกต่างประเทศ”

“ถ้าฝันอยากเป็นอะไร ก็ให้เวลากับมัน ศึกษาให้มากพอ ที่สำคัญคือลงมือทำ ต้องลงมือทำด้วย ถึงแม้ทำแล้วมันจะไม่ได้อย่างที่เราตั้งเป้าไว้ แต่อย่างน้อยเราจะได้รู้ว่า มันมีปัญหาอะไรบ้าง จะพัฒนาต่อไปได้อย่างไร เพราะในโลกการทำงาน ทุกครั้งที่ผ่านอุปสรรคไปได้ เราจะค้นพบมุมมองใหม่”

“ประสบการณ์คือสิ่งที่เงินไม่สามารถซื้อได้ ต้องออกไปทำเอง เหมือนผมซื้อตั๋วเครื่องบิน ไปนั่งดูการแข่งขันเกมส์ระดับโลก กับทำทีมของตัวเองไปแข่งในรายการนั้น ความรู้สึกมันต่างกันมาก การซื้อตั๋วเป็นผู้ชม เราได้ดูเหมือนกัน แต่มันไม่ภูมิใจเท่ากับเราสร้างทีมไปถึงจุดนั้นด้วยตัวเอง”

“คิดแล้ว ศึกษาแล้ว ก็ลงมือทำเลยครับ อย่าหนีปัญหา อย่ากลัวปัญหา” สรวิศ ทิ้งท้าย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0