โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Little Sunshine Cafe ร้านโฮมเมดของนักกำหนดอาหารที่ปรุงจานอร่อยสุขภาพดีด้วยวัตถุดิบอินทรีย์คัดสรร

a day magazine

อัพเดต 15 ธ.ค. 2562 เวลา 03.38 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 12.00 น. • ปวีณ์กานต์ อินสว่าง

ก่อนจะมายืนอยู่หน้าบานประตูกระจกใสหน้าร้านสีขาวขนาดย่อมใต้อพาร์ตเมนต์สุทธวงษ เพลส ในซอยวิทยุ 1 อย่างนี้ สารภาพว่าเราแอบจินตนาการภาพร้าน Little Sunshine Cafe ไปต่างๆ นานา

ทั้งร้านอาหารโฮมเมดที่ใช้วัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรตัวจริง แหล่งรวมพลของเหล่าคนรักสุขภาพและการกินดี หรือกระทั่งคาเฟ่บรรยากาศน่ารักที่มีเจ้าของเป็นหญิงสาวแสนสดใสอย่างที่ชอบเห็นตามซีรีส์เรื่องโปรด

แน่นอนว่าความคิดเหล่านี้ใช่ว่าจะปรากฏขึ้นมาในใจเราแบบลอยๆ ทุกสิ่งล้วนมีแรงสนับสนุน อย่างน้อยก็แทบทุกโพสต์ที่ ป๋วย–อัจจิมา ศรีปรัชญาอนันต์ บอกเล่าเรื่องราวลงในเพจของร้านนั่นล่ะ เพราะไม่ว่าจะเกี่ยวกับวัตถุดิบหรือเมนูอาหารเป็นต้องมีข้อความทักทายจากลูกค้าประจำของเธออยู่เป็นนิจ ทั้งคำบอกคิดถึงเจ้าของร้าน ข้อความแบ่งปันความรู้ หรือกระทั่ง ‘อยากทานนน’ คอมเมนต์ที่ตรงกับเสียงเรียกร้องในใจเรา

คงไม่ต้องสืบหาสาเหตุที่เราเดินทางมาหาเธอในวันนี้ เพราะอดรนทนไม่ไหว ไม่สามารถฝืนกลั้นกลืนน้ำลายหน้าจอคอมฯ ได้อีกต่อไปแล้วยังไงล่ะ

เอาเป็นว่าตามมาสิ มาฟังเรื่องเล่าจากปากป๋วย แล้วนั่งลงกินอาหารโฮมเมดที่เธอบรรจงทำด้วยกันสักมื้อ

 

ร้านอาหารของนักกำหนดอาหาร

ว่ากันตามตรง Little Sunshine Cafe ไม่ใช่ร้านอาหารเปิดใหม่แต่อย่างใด กลับกันร้านแห่งนี้ดำเนินกิจการอย่างขันแข็งมาแล้วกว่า 4 ปี ภายใต้การดูแลของเจ้าของร้านที่อดีตเป็นทั้งนักกำหนดอาหารและกองบรรณาธิการนิตยสารอาหารหัวใหญ่อย่าง Health & Cuisine

“เราสนใจเรื่องอาหารมาแต่ไหนแต่ไร เป็นคนชอบกิน ชอบอาหารอร่อย” หญิงสาวยืดอกรับด้วยความภาคภูมิใจ น้ำเสียงที่เธอเปล่งออกมาสดใสไม่ต่างอะไรกับยามบอกเล่าเรื่องราวเป็นตัวอักษร

ความชอบในอาหารของป๋วยตอนนั้นคล้ายคลึงกับคนทั่วไป คือไม่ได้สนใจการกินเพื่อสุขภาพเท่าไหร่นัก เธอเพิ่งมาสนใจสิ่งเหล่านั้นก็ตอนเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว

“ตอน ม.6 เราไม่รู้จะเรียนอะไรดี อยากเรียนอะไรที่ไม่เหมือนใคร ตอนนั้นรู้ตัวว่าชอบอาหาร ไม่ได้ชอบหมอหรือสนใจบัญชีเหมือนเพื่อนในชั้นเดียวกัน เลยลองเสิร์ชดูเล่นๆ ว่ามันมีสาขาวิชาไหนสอนเกี่ยวกับอาหารบ้างหรือเปล่า ก็ได้เจออาชีพนักกำหนดอาหาร แม้จะต้องไปเรียนที่อเมริกาเพราะสมัยนั้นบ้านเรายังไม่มีอะไรแบบนี้ ซึ่งพอได้เรียนจริงมันเหมือนยิ่งต่อยอดความชอบของเราในเรื่องอาหาร คิดมากขึ้นว่านอกจากกินอร่อยแล้ว ถ้าอยากกินให้ดีต่อสุขภาพด้วยล่ะจะทำได้ยังไง” ป๋วยเล่าให้ฟังถึงความคิดที่เปลี่ยนไปหลังเรียนจบ

และใช่ อาหารโฮมเมดคือคำตอบ

เมื่อมีโอกาสเปิดร้านนี้ขึ้นมาเธอจึงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเสิร์ฟอาหารโฮมเมด นอกจากความชอบส่วนตัวแล้ว ยังเป็นเพราะเธอคิดว่าอาหารโฮมเมดนั้นเป็นอาหารที่เหมือนได้กินกับที่บ้าน รู้ว่าวัตถุดิบที่นำมาทำผ่านขั้นตอนยังไงมาบ้าง ทุกอย่างในจานประกอบไปด้วยอะไร รสชาติเป็นยังไง อยากใช้เครื่องปรุงแบบไหน ก็สามารถกำหนดได้เอง 

บ่อยครั้งหน้าเพจจึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของวัตถุดิบที่เธอนำมาทำ ทั้งหมูหลุมดอนแร่, เห็ดเผาะดองน้ำเกลือจากกลุ่มเกษตรกรจังหวัดราชบุรี, ลำไยอบแห้งอินทรีย์จากจังหวัดลำพูน

 

อาหารที่ดีคืออาหารที่รู้ที่มา

“Michael Pollan เคยบอกไว้ว่าอาหารที่ดีคืออาหารที่เรารู้ที่มาที่ไปของมัน อาหารที่เรานำมาทำให้ลูกค้าหรือแม้กระทั่งทำกินเองก็เป็นแบบนั้น เรามีเครือข่ายของเกษตรอินทรีย์ รู้ว่าจะหาวัตถุดิบดีๆ ได้จากที่ไหนบ้าง อย่างผักของร้านเราล้างน้ำ 3 ครั้ง ล้างจนมั่นใจว่ามันสะอาดจริงๆ หรือวัตถุดิบอื่นๆ ถ้ามีเวลาก็ลงพื้นที่ไปดูเองเลยว่าไว้ใจได้ใช่ไหม” ถึงกระนั้นเธอก็ยอมรับว่ายากที่คนเราจะสามารถกินอาหารอินทรีย์ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ และเธอเองก็เชื่อว่าไม่มีใครอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ แต่อย่างน้อยกระบวนการจัดการกับวัตถุดิบที่เธอทำก็พอจะช่วยได้บ้าง

“เมสเซจที่นักกำหนดอาหารอย่างเราจะบอกก็คือ ไม่มีอาหารไหนที่ควรถูกตราหน้าว่าดีหรือไม่ดี เราจะมาบอกว่ากินคาโบนาราแล้วแย่ก็ไม่ใช่ มันขึ้นกับว่าเรากินยังไง กินในปริมาณเท่าไหร่ และพฤติกรรมอื่นๆ ของเราเป็นยังไงด้วยมากกว่า

“การกินดีของเราคือกินให้ถูกร่างกายและสภาพแวดล้อม หมายความว่าเราเป็นคนไทย เรากินคาโบนาราอาทิตย์ละครั้งก็ไม่เป็นไรหรอก แต่จริงๆ แล้วร่างกายเราควรจะกินอาหารที่อยู่ในท้องถิ่น ในฤดูกาล กินให้ถูกกับอากาศ อีกอย่างหนึ่งคือกินให้ครบ มันเป็นเมสเซจที่ง่ายมาก คือกินให้ครบ 5 หมู่ แต่จะมีสักกี่คนที่ทำได้ ถามว่ากินพาสต้าได้ไหม กินได้ แต่กินพาสต้าคู่กับสลัดจานเล็กที่มีผักด้วยไหม ให้มันครบในหนึ่งมื้อ

“โกลของร้านเราเลยเป็นการที่เราต้องการให้คนรู้จักการกินที่พอดี และพอดีนั้นต้องมาจากตัวเองด้วย ไม่ใช่เราไปบอกว่า โอเค พอแล้วค่ะ วางช้อน เพราะสุดท้ายแล้วคนที่กำหนดได้ก็คือตัวคุณเอง ไม่ใช่นักกำหนดอาหารอย่างเรา อยากกินอะไรกินได้ แต่จะกินในปริมาณเท่าไหร่ อย่างที่ร้านจะบอกลูกค้าเลยว่ากินไม่หมดได้นะ กินไม่หมดก็ห่อกลับ เราไม่ว่าอะไร โอเคด้วยซ้ำถ้าเขากินไม่ไหวแล้วหยุด แค่เขารู้ว่าเขาโอเคในปริมาณนี้ ไม่ต้องฝืน ก็พอแล้ว หรือถ้าบอกก่อนว่าขอข้าวน้อยนะคะ เราก็จะรู้แล้วว่าคนนี้เขากินข้าวเท่าไหร่ ก็ทำในปริมาณที่เขาพอกิน นั่นคือข้อดีของการเป็นโฮมเมดด้วย”

ปรุงรสที่ชอบเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือแทรกความดีต่อสุขภาพ 

“คุณมีวิธีการออกแบบอาหารในร้านยังไง” เราโยนคำถามให้นักกำหนดอาหารที่สวมบทแม่ครัวอย่างป๋วยตอบ 

“ตั้งใจออกแบบเมนูให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่ากินง่าย และต้องดีไซน์เมนูตามลูกค้าฝรั่งแถวนี้ด้วย” เธอเอ่ยตอบพร้อมเสียงหัวเราะสดใส ก่อนจะอธิบายต่อ 

“แต่ก่อนเราก็ออกแบบตามความชอบของตัวเองแหละ ชอบกินจานไหนก็ทวิสต์รสชาตินั้นมาเป็นของตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้ก็เริ่มออกแบบโดยแทรกความดีต่อสุขภาพลงไปให้มากขึ้นอีกนิด ให้คนที่ไม่สนใจเรื่องอาหารสุขภาพยังพอเข้าถึงได้ 

“เขาอาจจะไม่สนใจก็จริง แต่เราก็ต้องทำสิ่งที่สะอาดและดีต่อเขาอยู่ดี เขาไม่ต้องรู้ตัวก็ได้ แต่อย่างน้อยเรารู้ไงว่าเรากำลังทำอะไรอยู่”

พอดิบพอดีกับที่พนักงานของร้านยกอาหารมาเสิร์ฟ ป๋วยจึงแนะนำเมนูประจำวันนี้ให้เราได้รู้ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบในจาน 

“จานนี้คือเมนูหมูหมักมะแขว่น เราเอามะแขว่นซึ่งเป็นเครื่องเทศของทางเหนือมาหมักกับหมูและเครื่องเทศหลายตัว รวมทั้งกะทิและขมิ้น แล้วก็เอาหมูมาอบ ทานคู่กับซอสมะขามน้ำตาลมะพร้าว มีผักสดให้ทานเคียง แล้วก็มีขิงกับผักดองไว้ช่วยย่อยเนื้อที่กินไป ดอกไม้ตกแต่งอันนั้นก็กินได้นะ รสจะเปรี้ยวๆ หน่อย” หญิงสาวยิ้มน่ารัก พร้อมอธิบายจานต่อไป

“อีกเมนูคือสลัดฟักทองจากฟาร์มที่วังน้ำเขียว จานนี้มีผักครบทุกสีเลย มีมันม่วง ฟักทอง แคร์รอต เห็ดย่าง แต่เราเพิ่มความกินอร่อยให้ด้วยอัลมอนด์อบ น้ำสลัดก็กินง่ายหน่อย เพราะเป็นงาขาวมิโซะ”

“เสียดาย อยากทำสโคนให้กินมากเลย สโคนเป็นอะไรที่สนุกมาก”

สโคนที่ป๋วยพูดถึงคือสโคนชิ้นสามเหลี่ยมที่เธอทำบ่อยๆ ในวันพฤหัสบดี ในหนึ่งชิ้นบรรจุทุกรสชาติไว้แล้วเรียบร้อย ไม่ต้องมานั่งจิ้มเนยหรือแยมแยกทีหลัง โดยรสชาติที่ได้ก็มาจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ต้นฉบับอาจใช้บลูเบอร์รีหรือเลมอน เธอก็นำมาปรับสูตรใหม่เป็นลูกหม่อน ใช้ผงจิงจูฉ่ายแทนชาเขียวแบบญี่ปุ่น 

“เวลาดีไซน์อาหารแต่ละจานเราพยายามดีไซน์ให้ครบรสด้วย เพราะมันเป็นหนึ่งในหลักการกินที่ดีต่อสุขภาพ เวลาทำสโคนก็ให้มีทั้งรสหวาน เปรี้ยว เค็ม บางอันก็ขม บางอันก็ฝาด ให้ครบในหนึ่งชิ้น รสชาติมันเลยแรนดอมมาก ไม่ได้มีประจำไว้ว่าต้องทำรสไหนบ้าง นึกอะไรขึ้นมาได้ก็ลงมือทำ อย่างฟักทองงาดำหรือกาแฟลูกชิด พยายามเปลี่ยนรสไปเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ ทำอันใหม่ออกมาเรื่อยๆ เพื่อที่คนกินจะได้ไม่เบื่อ และสิ่งที่ต้องมีอีกอย่างคือกลิ่น เราต้องนึกไว้ว่ากลิ่นควรเป็นยังไง ต้องมีกลิ่นอะไรนำ”

อาจเพราะสีหน้าของเราดูงุนงงอย่างเห็นได้ชัด เธอจึงอธิบายเรื่องการกินครบทุกรสสัมผัสให้ฟังเพิ่มเติมว่า “การที่คนเราได้กินอาหารครบทุกรสหรือครบทุกสัมผัสจะทำให้ไม่รู้สึกอยากอาหาร บางคนเวลาอดอาหารหรือหลังจากอดอาหารเสร็จจะรู้สึกอยากกินสิ่งนี้สิ่งนั้นจังเลย แต่ถ้าเราได้กินทุกมื้อหรือทุกวัน เป็นคนชอบกินของหวานก็กินของหวานสักคำสองคำ ก็จะไม่รู้สึกว่าเราอยากกินขนาดต้องไปจัดหนักจัดเต็มทีหลัง”

“คือไม่ได้ห้ามกิน เพียงแต่กินให้พอดี” เราถามเธอซ้ำอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ  

“ใช่ อันนี้พูดถึงหลักของคนที่ไม่ได้เป็นโรคอะไรนะ มันก็มีแค่นั้นแหละ กินอาหารให้ครบรสชาติ ครบรสสัมผัส กินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ทุกวันนี้ที่มีปัญหากันอยู่ก็เพราะเรากินตามใจปาก ไม่ได้ห้ามนะว่าห้ามกินชานมไข่มุก แต่กินวันละกี่แก้วล่ะ มากไปก็ไม่ดีอยู่แล้ว” ป๋วยในมาดนักกำหนดอาหารหัวเราะสดใส

“คนอาจมองว่าการกินดีเป็นการหักดิบ ต้องกินผักทั้งมื้อเลย กินหวานกินเค็มไม่ได้เลยเหรอ น้ำมันคือห้ามใช้เลยใช่ไหม จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แบบนั้น มันคือการค่อยๆ เปลี่ยนทีละนิดมากกว่า เพราะนี่คือการสร้างนิสัยใหม่ และการสร้างนิสัยใหม่มันไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว ใช่ว่าเราจะสร้างได้ทีละ 10 นิสัย บางคนชอบกินรสจัด กินทั้งเค็ม เผ็ด หวาน จะให้ลดทั้งสามรสเลยก็ไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ ลดไปทีละอย่าง ปรับไปทีละนิด มันจะค่อยๆ เป็นนิสัยไปเองโดยที่เราไม่รู้สึกฝืน ไม่รู้สึกว่าต้องพยายาม มันเป็น small achievement ตามหลักจิตวิทยาเขาบอกไว้นั่นแหละ ถ้าเราทำอะไรสำเร็จ เราก็อยาก go on เพื่อบรรลุเป้าหมายต่อไป และการที่จะทำให้สำเร็จเราก็ต้องค่อยๆ เริ่มจากเป้าเล็กๆ ของเรา”

 

สร้างสังคมของคนกินดีที่ Little Sunshine Cafe 

พูดถึงเป้าหมาย เราอดไม่ได้ที่จะถามว่าเธอคิดยังไงภายหลังเปิดร้านมาแล้วกว่า 4 ปี นับจากวันที่ในตอนนั้นอาหารเพื่อสุขภาพยังไม่เป็นกระแสอย่างทุกวันนี้ 

“เป้าแรกที่ตั้งไว้กับตัวเองคือ เราอยากทำร้านที่เราจะมีความสุขกับสิ่งที่ทำทุกวัน ตอนนี้เรามีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีลูกค้าที่ดีที่กลายมาเป็นเพื่อนกัน สร้างสังคมเล็กๆ พูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ซึ่งกันและกัน เราว่าสิ่งเหล่านี้ก็น่าจะเรียกได้ว่าบรรลุเป้าหมายนั้นแล้ว 

“ถ้าเทียบกับหลายปีก่อนหน้า เราว่าเดี๋ยวนี้คอมมิวนิตี้ของคนรักสุขภาพและการกินดีมันไม่เล็กแล้วนะ มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เลยด้วยซ้ำ ซึ่งเราว่ามันดีมาก เพราะเราก็จะได้อาหารที่มาจากที่มาดีๆ มีความรู้ในเรื่องการกินมากขึ้น ทั้งความรู้ในการกินที่ดีต่อสุขภาพ ความรู้ในเรื่องวัตถุดิบที่ดี คอมมิวนิตี้จะใหญ่โตขึ้นไปอีก สุดท้ายมันก็จะดีต่อประเทศไทยในภาพรวม

“โดยที่ก็จะมีเรานี่แหละค่อยๆ เริ่ม ค่อยๆ ทำไปพร้อมกัน สร้างสังคมเล็กๆ ของเราผ่านร้าน Little Sunshine Cafe”

Little Sunshine Cafe 

address: 83/4 ใต้อพาร์ตเมนต์สุทธวงษ เพลส ถนนวิทยุ ซอยวิทยุ 1 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

hours: วันจันทร์-เสาร์ เวลา 09:00-16:00 น.

facebook: Little Sunshine Cafe

Highlights

  • Little Sunshine Cafe คือร้านอาหารโฮมเมดที่มีเจ้าของเป็นอดีตนักกำหนดอาหารและกองบรรณาธิการนิตยสาร Health & Cuisine
  • ตลอด 4 ปีที่เปิดร้าน เธอมุ่งมั่นคัดสรรวัตถุดิบอินทรีย์เชื่อถือได้มาแปลงเป็นอาหารรสกลมกล่อม เพื่อส่งต่อสุขภาพดีให้คนที่มาเยือน หมูหลุมดอนแร่, เห็ดเผาะดองน้ำเกลือจากจังหวัดราชบุรี, ลำไยอบแห้งจากจังหวัดลำพูน คือตัวอย่างวัตถุดิบที่เธอนำมาใช้ในอาหาร
  • ตามไปชิมให้รู้รส แล้วชวนเธอพูดคุยถึงการกินดี
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0