โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Lamaze method คือ? แล้วมีประโยชน์ยังไง

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2562 เวลา 15.30 น. • Motherhood.co.th Blog
Lamaze method คือ? แล้วมีประโยชน์ยังไง

Lamaze method คือ? แล้วมีประโยชน์ยังไง

Lamaze method คือ เทคนิคการควบคุมการหายใจที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดความเจ็บปวดของคุณแม่ขณะเบ่งคลอด เนื่องจากระยะเวลาที่เจ็บท้องคลอดนั้นกินเวลาหลายชั่วโมง จึงทำให้คุณแม่หลายคนเกิดความหวาดวิตกกับความเจ็บที่จะเกิดขึ้นขณะเบ่งคลอด เพราะเคยได้ยินกันมาว่าเป็นความเจ็บที่ต่อเนื่องและยาวนาน Motherhood เลยนำเอาวิธีเตรียมตัวเพื่อการคลอดที่ง่ายขึ้นมาฝากค่ะ

Lamaze เป็นเทคนิคเตรียมความพร้อมก่อนคลอดที่คิดค้นโดยสูติแพทย์ชาวฝรั่งเศส
Lamaze เป็นเทคนิคเตรียมความพร้อมก่อนคลอดที่คิดค้นโดยสูติแพทย์ชาวฝรั่งเศส

เตรียมตัวเพื่อการคลอดไปทำไม

ผู้หญิงที่กำลังจะได้เป็นแม่ทุกคนต่างรู้กันดีว่าการคลอดเป็นสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดแล้วในชีวิต ยิ่งใกล้วันคลอดมากขึ้นเท่าไหร่ความกลัวนั้นก็ดูเหมือนจะยิ่งทวีคูณ ความกังวลนี้ไม่ส่งผลดีเลย เพราะมันจะกระทบต่อการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้การคลอดยิ่งล่าช้าออกไป ใช้เวลาในการทำคลอดยาวนานขึ้นกว่าปกติ ดังนั้นการเตรียมตัวเพื่อการคลอดจะช่วยลดความวิตกกังวล ความกลัว และความเครียดที่จะเกิดขึ้นได้ในระหว่างการคลอด คุณแม่ที่มีการเตรียมความพร้อมนี้มาเป็นอย่างดีจะเข้าใจในสมรรถนะของตนเองในการเผชิญความเจ็บปวดระหว่างคลอดได้ดี ร่างกายมีอิทธิพลต่อการเจ็บท้องคลอด เกิดจากการหัดตัวของมดลูก มีแรงดันในโพรงมดลูก และการถูกดึงรั้งออกของกระดูกเชิงกรานและกล้ามเนื้อฝีเย็บ

Lamaze คืออะไร

Lamaze method คือหนึ่งในแนวคิดของการเตรียมผู้หญิงตั้งครรภ์เพื่อการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ถูกคิดค้นขึ้นในปีค.ศ. 1933 โดยสูติแพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Ferdinan Lamaze เขาได้นำเสนอวิธีการเตรียมตัวเพื่อการคลอดด้วยกลวิธีป้องกันทางจิต (Psychoprophylaxis) โดยนำพื้นฐานความรู้จากทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไขของ Pavlov มาใช้ วิธีการของ Lamaze ประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน 2 ส่วนดังนี้

Classic Lamaze

สามารถแบ่งออกเป็น 3 กระบวนการย่อยๆ คือ

  • Conditional เป็นการสร้างเงื่อนไขให้ผู้คลอด เช่น การใช้เทคนิคการหายใจ เมื่อมีการหดรัดตัวของมดลูกให้หายใจเข้าลึกๆ และเป่าลมออกทางปาก 6-8 ครั้งต่อนาที
  • Concentration การมุ่งจุดสนใจไปที่เทคนิคการหายใจ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจออกจากความเจ็บปวด
  • Discipline ผู้คลอดจะต้องสามารถปฏิบัติการใช้เทคนิคการหายใจได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีใครคอยกำกับ

Adapted Lamaze

คือการให้ความรู้แก่ผู้คลอด เพื่อให้ผู้คลอดได้ฝึกใช้เทคนิคการบรรเทาความเจ็บปวดต่างๆ โดยคุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะต้องเลือกเทคนิคที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น การสร้างจินตภาพที่สวยงามโดยนึกถึงใบหน้าของลูกน้อยแสนน่ารัก หรือการใช้ดนตรีบรรเลงเพื่อการบำบัด

แนวคิดของ Lamaze นี้เป็นที่แพร่หลายมากในแถบตะวันตก มีผลการวิจัยเกี่ยวกับผลดีที่ได้รับจากวิธีการเตรียมตัวคลอดของ Lamaze และมีผู้นำไปใช้เปิดคอร์สอบรมแก่คุณพ่อคุณแม่มากมาย อีกทั้งยังมีการเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนของโภชนาการของแม่และทารก กับการดูแลตัวเองในระยะหลังคลอดเข้าไปด้วย

คลาส Lamaze จะเตรียมความพร้อมให้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่
คลาส Lamaze จะเตรียมความพร้อมให้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่

เมื่อไหร่ถึงจะเข้าคลาส Lamaze ได้

คุณแม่สามารถเข้าร่วมคลาสฝึกการหายใจแบบ Lamaze เป็นเวลา 6 สัปดาห์ได้ในช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ และเวลาฝึกรวมทั้งหมดจนจบคอร์สจะอยู่ที่ 12 ชั่วโมง

ในคลาส Lamaze ทำอะไรกันบ้าง

โดยปกติแล้วในคลาส Lamaze จะพูดถึงปัญหาที่คุณแม่อาจจะต้องเผชิญในระหว่างการคลอดลูก แต่เบื้องต้นที่เราจะพบเจอในคลาสก็คือ

  • การพูดคุยถึงความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางอารมณ์

คุณพ่อคุณแม่ทุกๆคู่ที่เข้าร่วมคลาสจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ได้รับรู้ความรู้สึกและให้กำลังใจกัน คุณแม่ทุกๆคนจะได้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับตนเองในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ รวมทั้งสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีที่จะระบุอาการขั้นต้นของการเจ็บท้องคลอดและการปฏิบัติตัวในสถานการณ์จริง

  • การเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการคลอดลูก

ในคลาสจะสอนเทคนิคในการตั้งจิตให้มั่นคง การผ่อนคลายแบบต่อเนื่อง และรู้จักสร้างจินตภาพในเชิงบวก

- การตั้งจิตให้มั่นคงจะช่วยขจัดความคิดในแง่ลบที่มีขึ้นในระหว่างคลอด

- การผ่อนคลายแบบต่อเนื่องจะช่วยให้ทั้งกายและใจผ่อนคลาย ปากมดลูกก็จะไม่หดเกร็งระหว่างคลอด

- การสร้างจินตภาพในเชิงบวกจะทำให้คุณแม่สามารถนึกภาพลูกน้อยผู้น่ารักในระหว่างการคลอด ซึ่งมันจะช่วยให้รู้สึกชื่นชมยินดีแทนที่จะกลัวความเจ็บปวดและเกร็งตัว

นอกจากนี้ยังมีการดูวิดิโอสำหรับการคลอดลูกที่จะช่วยให้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างการทำคลอด

  • เทคนิคการหายใจและการเบ่งคลอด

ผู้ร่วมคลาสจะได้เรียนรู้เทคนิคการหายใจที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอด ในขณะที่ทารกเคลื่อนตัวสู่ทางออก คุณแม่ก็จะต้องหายใจเข้าและเบ่งเด็กออกมา เทคนิคของการเบ่งที่ถูกวิธีก็จะรวมอยู่ในบทเรียนส่วนนี้ด้วย

  • เตรียมความพร้อมสำหรับผู้เป็นพ่อ

ฝ่ายคุณพ่อจะถูกสอนให้อำนวยความสะดวกสบายให้คุณแม่ในเวลาที่คุณแม่ต้องการ คุณพ่อจะได้เรียนรู้เทคนิคกดเพื่อคลายอาการปวดหลัง การผ่อนคลายด้วยการสัมผัสที่กล้ามเนื้อ รวมทั้งการนวดที่หลังต้นขาและกล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนล่าง

  • โภชนาการและการออกกำลังกาย

ทุกคนจะได้เรียนรู้ถึงความจำเป็นของการไ้ดรับอาหารโภชนาการในระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งการออกกำลังกายที่เหมาะสมในระหว่างตั้งครรภ์ด้วย

  • พูดถึงพัฒนาการของลูกน้อย

เป็นการอธิบายพร้อมภาพประกอบของทารกที่อยู่ในตัวคุณแม่ว่าเขาเจริญเติบโตอย่างไรในไตรมาสสุดท้ายนี้ เรียนรู้รูปแบบการเคลื่อนไหวของเขา และรูปแบบการนอน

  • การดูแลลูกหลังคลอด

จะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะมันช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้นและช่วยลดการไหลเวียนของเลือดในช่วงหลังคลอด อีกทั้งยังสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ลูกน้อย นอกจากนี้ทั้งคุณแม่และคุณพ่อจะได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับอาการซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งเรียนรู้ที่จะขอความช่วยเหลือกจากคนรอบตัวและผู้เชี่ยวชาญ

คุณพ่อสามารถนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้เพียงแค่เรียนรู้จากคลาส Lamaze
คุณพ่อสามารถนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้เพียงแค่เรียนรู้จากคลาส Lamaze

จะเห็นได้ว่าการเตรียมความพร้อมให้คุณแม่สำหรับการคลอดลูกมีความสำคัญมากๆ นอกจากจะช่วยให้คุณแม่ลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการทำคลอดแล้ว การได้ไปเข้าคลาสด้วยกันกับคุณพ่อก็จะช่วยให้คุณพ่อมีความเข้าใจถึงความยากลำบากในการอุ้มท้องมากขึ้น และได้เรียนรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับอาการซึมเศร้าหลังคลอด เพื่อที่จะได้ช่วยกันเตรียมรับสถานการณ์ได้อย่างไม่ฉุกละหุก Lamaze method คืออีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถเตรียมความพร้อมเหล่านี้ให้แก่คุณพ่อคุณแม่ได้

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0