โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

LGBT ไทยมากสุดเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย เตรียมแผนรับสังคมสูงวัยที่มีความหลากหลายทางเพศ

BLT BANGKOK

อัพเดต 26 มิ.ย. 2562 เวลา 06.12 น. • เผยแพร่ 26 มิ.ย. 2562 เวลา 06.10 น.
5247fabe5fa82e153798983af46b6848.jpg

ไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนผ่านทางประชากรอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2593 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 35% ขณะเดียวกันกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังขยายตัวขึ้น แต่ยังมีการดำเนินการเพียงเล็กน้อยในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้าสู่บั้นปลายชีวิต ภาครัฐจึงต้องมีแผนรองรับสังคมสูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้น
ไทยมี LGBT กว่า 4 ล้านคน 
ข้อมูลจาก LGBT Capital บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินที่ให้บริการกลุ่ม LGBT เป็นหลัก ระบุว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรกลุ่ม LGBT (เฉพาะที่เปิดเผย) มีอยู่ 483 ล้านคน จาก 7.4 พันล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็น 6.53% อยู่ในเอเชีย 288 ล้านคน หรือ 60% ของชาว LGBT ทั้งหมด โดยจีนเป็นประเทศที่มีชาว LGBT สูงสุด 85 ล้านคน ตามด้วยอินเดีย 80 ล้านคน ญี่ปุ่น 8 ล้านคน และไทย 4 ล้านคน
ด้านมูลนิธิอิควล เอเชีย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ชี้ให้เห็นว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลก โดยภายในปี 2593 ไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็น 35% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งผลกระทบทางด้านนโยบายทางการเงินและนโยบายสาธารณะจากการเปลี่ยนผ่านจะนำไปสู่ความท้าทายที่สำคัญยิ่งต่อรัฐบาล กลุ่มประชาสังคม และประเทศ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกันกลุ่มผู้สูงวัยที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหามากมาย อาทิ การไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการขาดการคุ้มครองทางสังคม
ข้อมูลจาก Alice’s Garage กลุ่มองค์กรระดับชาติที่ทำงานเพื่อสิทธิของผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศในออสเตรเลีย เผยว่า สถานดูแลผู้สูงอายุน้อยมากที่จะรับรองว่าเปิดรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และนั่นทำให้พวกเขาต้องพบเจอประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติและถูกคุกคามเพราะความหลากหลายทางเพศ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สถานดูแลผู้สูงอายุเท่านั้น ในการบริการดูแลที่บ้าน ซึ่งเป็นบริการส่วนมากในธุรกิจการดูแล ก็มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นเช่นกัน

สถานฑูตแคนาดาสนับสนุนสิทธิ LGBT สูงวัย
สำหรับประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าในการพัฒนานโยบายที่ส่งเสริมให้พลเมืองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่นโยบายเหล่านี้มักไม่ตระหนักถึงความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังดำเนินการเพียงเล็กน้อยในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มหลากหลายทางเพศสูงวัย ซึ่งความต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้มีความแตกต่างอย่างมีลักษณะเฉพาะ ทั้งยังต้องมีการประเมินภายในตัวตนของพวกเขาอีกด้วย
คุณโดนิก้า พอตตี้ เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า แคนาดาได้ให้การสนับสนุนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในการสร้างพันธมิตรระดับโลก เช่น การเป็นประธานร่วมของ Equal Rights Coalition (ERC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 40 ประเทศ ถือเป็นเวทีเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้ก้าวหน้า และส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกคนในสังคม
สำหรับในประเทศไทย แคนาดาร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชน เพราะความอ่อนแอและเปราะบางของผู้สูงวัยที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นเลวร้ายลงด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ามีความแปลกแยกกันมากขึ้นระหว่างคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้เกิดความจำเป็นในการทำงานที่เน้นระหว่างคนต่างวัยเพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรมระหว่างคนต่างวัยในสังคมและบรรดากลุ่มต่างๆ

เร่งภาครัฐดูแลกลุ่มหลากหลายทางเพศสูงวัย
ด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยผลสำรวจแหล่งรายได้หลักในการดำรงชีพของผู้สูงอายุปัจจุบัน พบว่า 35% มาจากบุตร ตามด้วยการทำงาน 21% และเบี้ยยังชีพ 20%
ขณะที่จำนวนสินทรัพย์ของผู้สูงวัยในไทย ส่วนใหญ่มีจำนวนน้อยกว่า 1 แสนบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะค่าใช้จ่ายของผู้สูงวัยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 7,000 บาท ดังนั้น ถ้าจะดำรงชีวิตอยู่ได้ภายใน 10 ปี ต้องมีเงินออมอย่างน้อย 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาครัฐได้เร่งดำเนินการเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่กำลังเกิดขึ้น ล่าสุด สำนักงานประกันสังคม เตรียมพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ โดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณ ให้สอดรับกับช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน ซึ่งหากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออกกระทบกับเสถียรภาพของกองทุน
แม้ภาครัฐเริ่มดำเนินการในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดที่ระบุชัดเจนถึงการคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะยังมีการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในสถานดูแลผู้สูงอายุที่ผู้สูงวัยหวังพึ่งพาในบั้นปลายชีวิต ทำให้ภาระความรับผิดชอบยังคงตกเป็นของผู้มีความหลากหลายทางเพศเพียงฝ่ายเดียว
อีกทั้งเมื่อปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการ “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” แต่ก็ยังมีหลายเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขต่างๆ อย่างการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ-สกุล, การรับบุตรบุญธรรม, การมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยี, สวัสดิการต่างๆ ของรัฐ, การลดหย่อนภาษีจากการมีคู่สมรส รวมถึงสิทธิในกองทุนประกันสังคมของคู่สมรส เป็นต้น เหล่านี้คือสิทธิตามกฎหมายที่คู่สมรสได้รับ แต่กลับไม่มีการบรรจุใน พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่ภาครัฐต้องหาแนวทางเติมเต็มช่องว่างที่เป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศในไทยให้เทียมทัดกับประชากรทั่วประเทศ 

ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ - ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน
“ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั้งที่มีอายุน้อยและอายุมากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพต้องแก้ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างรุ่นเพื่อเป็นกลไกในการพัฒนารูปแบบใหม่ของการให้การสนับสนุน นอกจากนี้คุณค่าด้านความเสมอภาคระหว่างคนต่างวัยเพื่อขจัดบรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นภัย แก้ไขปัญหาด้านคตินิยม และสร้างอิทธิพลต่อพฤติกรรมและทัศนคติจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรเพิกเฉย”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0