โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Kumaré : ปลอมตัวเป็นกูรู ค้นดูคำตอบของศรัทธา

The101.world

เผยแพร่ 18 ต.ค. 2562 เวลา 10.35 น. • The 101 World
Kumaré : ปลอมตัวเป็นกูรู ค้นดูคำตอบของศรัทธา

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

 

ความเชื่อและศรัทธาออกจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล และอาจกระอักกระอ่วนไปบ้างเมื่อผู้คนต่างความคิดพยายามจะหาความหมายเบื้องหลังความเชื่อนั้น โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นชอบในสิ่งที่แตกต่างกัน ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวอย่างการเมือง ศาสนา ไปจนถึงเรื่องบุคคลที่เราชื่นชม

ผลลัพธ์ของการหาคำตอบมีหลากหลายอย่างที่เราทราบดี บางครั้งลงเอยที่ทะเลาะเบาะแว้ง เข้าหน้าไม่ติด บางทีอาจพบคำตอบซึ่งน่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ จนเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ค้นหาและผู้ถูกทวงถามไป และบ้างก็ไม่พบคำตอบ ได้แต่ความเห็นใจกันมากขึ้นกลับมา

วิกรม คานธี (Vikram Gandhi) ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชาวอินเดีย-อเมริกัน เจ้าของสารคดีเรื่อง ‘Kumaré’ เป็นหนึ่งบุคคลที่ตั้งมั่นในการหาคำตอบและทำความเข้าใจความเชื่อของผู้คนที่มีต่อ ‘กูรู’ หรือผู้นำความเชื่อ หนึ่งในปรากฏการณ์ที่ได้รับความนิยมในยุคสมัยปัจจุบัน

วิกรมมาจากครอบครัวชาวอินเดียที่มีความเชื่อที่มั่นคงต่อศาสนาฮินดู เมื่อครอบครัวของเขาย้ายถิ่นฐานมาที่สหรัฐอเมริกา รัฐนิวเจอร์ซีย์ วิกรมจึงกลายเป็นลูกหลานเจเนอเรชั่นแรกที่เติบโตในสังคมอเมริกัน สภาพสังคมเมืองใหญ่ส่งผลให้เขาตั้งคำถามต่อความเชื่อ ทั้งจากความเชื่อเดิมของครอบครัวตัวเอง และสังคมอเมริกันในช่วงหลังปี 2000 ที่ผู้คนสนใจศาสตร์โยคะ นับถือกูรูที่สอนทั้งโยคะ และเผยแพร่แนวคิดในการดำเนินชีวิตไปพร้อมกัน

หลายครั้งที่เขาเข้าไปสำรวจกูรูในอเมริกา ไปถ่ายทำสารคดีเล็กๆ น้อยๆ และรู้สึกว่ากูรูเหล่านั้นช่าง ‘ปลอม’ เขาจึงเดินทางกลับไปยังประเทศอินเดียเพื่อคลุกคลีกับกูรูบางท่าน และพบกับความรู้สึกที่ไม่ต่างไปจากตอนอยู่อเมริกานัก แต่การหาคำตอบเท่านั้นไม่ทำให้เขาสิ้นสงสัย สารคดี ‘Kumaré’ จึงเกิดขึ้น

 

 

สารคดีเรื่องนี้เผยแพร่ในปี 2012 เป็นสารคดีที่บันทึกเส้นทางการทดลองปลอมเป็นกูรูของวิกรม เพื่อหาคำตอบถึงความเชื่อที่เขาไม่เข้าใจ และบทบาทของกูรูที่เขาเคยรู้สึกว่า ‘ปลอม’ ด้วยการลองเป็นในสิ่งที่เขาสงสัยเสียเอง

วิกรมเริ่มไว้ผมยาว ปล่อยหนวดเคราให้ขึ้นรก สร้างรูปลักษณ์แบบกูรูที่ผู้คนคุ้นเคย พร้อมกับสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า ‘กุมาเร’ (Kumaré) ชื่อที่ต่อเติมมาจาก ‘กุมาร’ (Kumar) ชื่อกลางของเขาเอง กุมาเรจะเป็นที่รู้จักในฐานะกูรูสอนโยคะ ผู้มาจากเทือกเขาแดนไกล และเป็นตัวละครสำคัญในการทดลองของเขา

วิกรมยังโยนสำเนียงอเมริกันที่มีมาแต่เกิดทิ้งไป ลอกสำเนียงของคุณยายชาวอินเดียของเขา กลายมาเป็นกุมาเรที่ออกเสียงด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดียตลอดเรื่อง เขาเดินทางไปที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา รัฐที่ไกลจากคนรู้จักและตัวตนเดิมของวิกรม เขาสร้างตัวตนให้หน้าเชื่อถือ ด้วยการเช่าบ้านสักหลัง พร้อมกับนำฟูกออกมาตั้งไว้นอกบ้าน เสริมภาพจำแบบกูรูที่ต้องนอนอาบแสงจันทร์ เขามีเพื่อนสาวสองคนที่รับบทเป็นผู้ติดตาม คนหนึ่งคล้ายเป็นสาวกที่ถ่ายทอดแนวคิดแบบกุมาเร อีกคนเป็นครูสอนโยคะที่จะมาร่วมคิดหลักสูตรโยคะแบบกุมาเร

เพียงแค่ขั้นเตรียมการ สารคดีเรื่องนี้ก็คล้ายพาเราทบทวนภาพจำของกูรูที่หลายคนมักเข้าใจ ชายผมยาวไว้เครารุงรัง โพกผ้า ถือไม้เท้ายาวที่ด้านบนเป็นลวดลายคดเคี้ยว มีหญิงสาวสาวกผู้ติดตามไปทุกที่ และมีหลักสูตรโยคะแบบแปลกๆ กุมาเรทดลองอะไรที่ไม่น่าเชื่อหลายอย่าง เช่น สร้างท่าโยคะแปลกๆ เป็นท่าคลานสี่ขา งุ้มลำตัวลง ก่อนจะยืดลำตัวออก เงยศรีษะ อ้าปากแลบลิ้น พร้อมออกเสียง ‘แฮ่’ ออกมาดังๆ หรือการออกเสียงเป็นทำนองคล้ายการภาวนา โดยเนื้อหาการภาวนาล้วนเป็นคำไร้ความหมาย เขาเขียนหน้าผากของผู้คนด้วยสัญลักษณ์แปลกๆ หน้าตาคล้ายอวัยวะเพศ

 

วิกรม คานธี (Vikram Gandhi)

 

วิกรม คานธี ในคราบ ‘กุมาเร’ (Kumaré)

 

กุมาเรค่อยๆ เป็นที่รู้จัก เขาเริ่มมีผู้ติดตามมากขึ้น มีคนหน้าใหม่ๆ ที่แวะเวียนมา และมีผู้ติดตามประจำที่หาโอกาสมาพบเขาอยู่เสมอ ซึ่งนั่นทำให้ทุกอย่างซับซ้อนขึ้น ผู้ติดตามของกุมาเรประกอบไปด้วยผู้คนที่หลากหลาย ทั้งทนายความของผู้ต้องขังโทษประหารชีวิต, ผู้ฟื้นตัวจากการติดสารเสพติด, สาวอเมริกันที่ป่วยเป็นโรคอ้วน, คนหนุ่มสาวที่แสวงหาความหมายของชีวิตและทุกข์ทรมานกับการสร้างตัว ไปจนถึงคู่สามีภรรยาที่ความสัมพันธ์เริ่มจืดจาง

ทุกคนล้วนแชร์เรื่องราวส่วนตัว และด้านมุมของชีวิตที่ปวดร้าวให้กุมาเรฟัง ด้วยความไว้ใจ และความหวังที่จะเยียวยา จากเดิมที่วิกรมเพียงต้องการดูว่า ‘เขาจะผลักการทดลองนี้ไปได้ไกลแค่ไหน’ เมื่อเขาเริ่มสัมผัสกับเหลี่ยมมุมของชีวิต ได้สัมผัสกับเรื่องราวของผู้คนที่แสนจะจริงแท้ เขาจึงเริ่มคิดหนัก และเริ่มค้นหาวิธีทางที่จะช่วยผู้คนขึ้นมาอย่างจริงจัง ราวกับว่าไม่ได้กำลังทดลองอะไรอยู่เลย

บางทีความเป็นมนุษย์และความเห็นอกเห็นใจคงไม่อาจถูกแยกออกไป แม้จะอยู่ในตัวตนแบบกุมาเร กูรูที่ไม่ใช่ของจริง

เมื่อไม่ใช่กูรูจริงๆ แต่ก็ต้องหาแนวคิดในการดำเนินชีวิต หรือความเชื่อบางอย่างเพื่อส่งต่อให้ผู้ติดตาม กุมาเรจึงเริ่มถ่ายทอดแนวคิดง่ายๆ และเป็นสิ่งที่เขาเชื่อจริงๆ ว่า ‘ความเป็นกูรูอยู่ในตัวตนของทุกคน’ เขาเริ่มทำให้สาวกเชื่อว่า พวกเขาเองนั่นแหละที่เป็นกูรู พวกเขาเองที่มีคุณค่า และจะเยียวยาทุกอย่างได้

กิจกรรมหนึ่งที่น่าประทับใจคือการให้ผู้ติดตามแต่ละคน นั่งหันหน้าเข้าหากุมาเร และลองสมมติว่าพวกเขาเป็นกูรูที่จะต้องกล่าวบทเรียน มอบคำพูดที่เยียวยาและเป็นประโยชน์แก่ผู้ติดตาม ซึ่งในที่นี้คือกุมาเรที่นั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ผู้ติดตามแต่ละคนจึงเริ่มสวมบทบาท นำเรื่องราวความเจ็บปวดของพวกเขามากลั่นเป็นบทเรียน แน่นอนว่าทุกบทเรียนที่ปรากฏในสารคดีล้วนมีความหมาย และเป็นไปด้วยความเข้าใจ เพราะมาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของบางผู้คน และกุมาเรก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าเป็นกระจกสะท้อนแก่ผู้ติดตาม

หลายครั้งที่สารคดีฉายให้เห็นกุมาเรพูดย้ำว่าเขาไม่ใช่กูรู อาจพูดเพื่อคลายความรู้สึกผิด และเป็นการหยอดความจริงลงไปในการทดลอง แต่ด้วยแนวคิดน่าประทับใจที่กุมาเรใช้เยียวยาผู้ติดตาม คำสารภาพเล็กๆ ของเขาตลอดเรื่องจึงเป็นการเสริมย้ำคุณค่าหรือความเป็นกูรูในตัวผู้ติดตาม และเป็นการเพิ่มศรัทธาในตัวกุมาเรเสียมากกว่า

ปลายทางของสารคดีเรื่องนี้คือการที่กุมาเรต้องเฉลยความจริงแก่ผู้ติดตาม ว่าเขาไม่ใช่ใครที่ทุกคนคิด ไม่ใช่กูรู ไม่ใช่กุมาเร ซึ่งบางช่วงตอนของการเปิดเผยถูกยกมายั่วยวนไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง ผู้ชมสารคดีจะรู้ตั้งแต่แรกว่าอะไรรออยู่ที่ปลายทางของการทดลอง คำโกหกจะลงเอยด้วยการเปิดเผยความจริง แต่ยิ่งละเลียดชีวิตผู้คนในเรื่องราวไปพร้อมกับกุมาเร ปลายทางนั้นกลับลี้ลับขึ้นเรื่อยๆ การเปิดเผยไม่ใช่สิ่งที่เรารอคอยอีกแล้ว แต่เป็นความรู้สึก ปฏิกิริยา และการรับมือของผู้ติดตามหลังรู้ความจริงต่างหากที่ผู้ชมสารคดี รวมไปถึงกุมาเรเริ่มห่วงใยขึ้นมา

สารคดีเรื่องนี้ดำเนินด้วยโทนสดใสตลอดเรื่อง มีเสียงเพลงประกอบและการตัดต่อที่ทำให้ทุกอย่างสนุกสนาน มีกลวิธีต่างๆ ที่ดูน่าขันของกุมาเร สารคดีย้ำกับเราว่าสิ่งที่ไม่จริงที่สุดก็อาจโน้มน้าวให้ผู้คนศรัทธาได้ แต่ในที่สุดตัววิกรม และสารคดี ก็ไม่ได้ดำเนินไปด้วยการดูถูกหรือสนุกสนานกับความเชื่อของใคร

แม้เราจะเริ่มต้นด้วยการมองความเชื่อผ่านสายตากุมาเร แต่ผู้ชมสารคดีก็จะได้เห็นผู้คนที่อยู่อีกฟากฝั่งด้วยเช่นกัน สิ่งที่เราได้ค้นหาผ่านสารคดีจึงไม่ใช่แค่ ‘ทำไมเขาจึงเชื่อในสิ่งนี้’ แต่ทำให้เราเห็นด้วยว่า เมื่อความจริงเปิดเผย ผู้คนได้รับรู้ว่าสิ่งที่เชื่อไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด เขาเลือกรับมือมันอย่างไรได้บ้าง ความเชื่อทั้งหมดไร้ความหมายไปเลยหรือไม่ และเมื่อเราได้เข้าใจความเชื่อของคนอื่นแล้ว เราจะจัดการมันอย่างไร

“Faith begins as an experiment and ends as an experience.” (ศรัทธาเริ่มต้นจากการทดลอง และจบลงที่ประสบการณ์) เป็นประโยคเปิดของสารคดี Kumaré และเป็นข้อยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อใด ประสบการณ์ที่ได้จากการ ‘ทดลอง’ ทำความเข้าใจนั้นมีค่าเสมอ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0