โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Kingdom และ The King ตัวแทนฮีโร่ในอุดมคติและพระราชาเกาหลีในโลกสมัยใหม่

a day magazine

อัพเดต 31 พ.ค. 2563 เวลา 14.38 น. • เผยแพร่ 31 พ.ค. 2563 เวลา 14.18 น. • ปวรพล รุ่งรจนา

กษัตริย์ในอุดมคติของคุณต้องมีคุณสมบัติแบบไหน? 

เป็นศูนย์รวมชาติ อยู่เคียงข้างประชาชน เป็นผู้นำ กล้าหาญ เสียสละเพื่อส่วนรวม มีพระอัจฉริยภาพ หรือมีพระปรีชาสามารถรอบด้าน 

ไม่ว่าราชาในอุดมคติของแต่ละคนจะเป็นแบบไหน คุณสมบัติเหล่านี้มักถูกนำเสนอทางอ้อมผ่านตัวตนของพระมหากษัตริย์ในซีรีส์เกาหลีหลายเรื่อง โดยเฉพาะปีนี้มีซีรีส์เกาหลีเกี่ยวกับกษัตริย์ถึง 2 เรื่อง ทั้งคาแร็กเตอร์ดุดันแบบองค์รัชทายาท Lee Chang ที่มีสิทธิขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดาในซีรีส์ซอมบี้ยุคโชซอนเรื่อง Kingdom (2019-2020) หรือตัวละครละมุนละไมแบบกษัตริย์แห่งจักรวรรดิเกาหลีอย่าง Lee Gon ในซีรีส์เรื่องThe King: Eternal Monarch (2020)

เมื่อมองดูตัวตนของทั้งอี ชาง และอี กน เราคิดว่านี่เป็นเหมือนภาพลักษณ์กษัตริย์ที่คนเกาหลีพยายามสร้างขึ้นและสะท้อนผ่านสื่อบันเทิง ความคิดนั้นนำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่ากษัตริย์ที่เป็นวีรบุรุษในซีรีส์ทั้งสองเรื่องทำงานกับความรู้สึกของตัวละครที่เป็นประชาชนชาวเกาหลีในเรื่องยังไง

ถึงแม้ในแต่ละอีพีของซีรีส์จะมีข้อความกำกับว่าเป็นเรื่องสมมติ แต่เราจะเห็นได้ว่าทั้ง Kingdom และ The King: Eternal Monarch ต่างมีแรงบันดาลใจบางส่วนจากเรื่องจริง เริ่มที่เรื่อง Kingdom ที่มีภูมิหลังเป็นยุคโชซอน ซีรีส์นี้เล่าเรื่องช่วงหลังการทำสงครามกับญี่ปุ่นในปี 1598 ครั้งนั้นญี่ปุ่นต้องถอนทัพจากอาณาจักรโชซอนไป สังเกตว่าตัวละครที่กำหนดทิศทางของเรื่องคือชนชั้นนำทั้งหมด เราจึงสงสัยว่าแล้วประชาชนล่ะอยู่ในสมการไหนของเรื่อง

จากภูมิหลังและช่วงเวลาของเรื่องราวที่เกิดใน Kingdom สันนิษฐานว่าตัวละครในซีรีส์น่าจะดัดแปลงมาจากเค้าโครงประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระเจ้า Seonjo พระองค์แต่งตั้ง Gwanghae พระราชโอรสองค์โตที่เกิดจากสนมเป็นรัชทายาท ทั้งที่พระเจ้าซอนโจเองก็มีพระราชโอรสชื่อ Yeonsan ผู้เกิดจากพระมเหสี ในความจริงแล้วยองซังจึงน่าจะมีสิทธิขึ้นครองราชย์มากกว่าควังแฮ แต่ขุนนางแบ่งเป็นหลายฝักหลายฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนให้ควังแฮขึ้นครองราชย์ ส่วนอีกฝั่งสนับสนุนยองซังให้เป็นพระราชา

จนกระทั่งปี 1608 เมื่อพระเจ้าซอนโจสวรรคต ควังแฮได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา มิหนำซ้ำขุนนางฝั่งควังแฮยังลงมือปราบเสี้ยนหนามฝ่ายตรงข้ามและฆ่าองค์ชายยองซังจนเสียชีวิต แต่สุดท้ายควังแฮก็อยู่ในอำนาจได้ไม่นานและถูกรัฐประหารในปี 1623

หากนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นี้มาเทียบกับซีรีส์ Kingdom ควังแฮอาจเป็นต้นแบบของอี ชาง แต่ในซีรีส์น่าจะเขียนเรื่องราวของพระเอกขึ้นใหม่ให้มีชีวิตที่ต่างกันลิบลับกับตัวละครในประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อเป็นเรื่องแต่งที่มาจากการ์ตูนเรื่อง Land of the Gods (2011) พระเอกอย่างอี ชาง ได้ถูกปูทางให้มีบทบาทเป็นรัชทายาทผู้ถูกกระทำและกำลังจะถูกแย่งชิงอำนาจไปเพราะความชั่วร้ายและโรคระบาดที่ทำให้คนกลายเป็นซอมบี้ เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบชนชั้นนำที่กำลังอ่อนแอ แถมยังมีกลุ่ม Haewon Jo ของขุนนางโฉด Jo Hak-joo ที่ต้องการยึดอำนาจในราชสำนัก ยอมทำเรื่องเลวร้ายถึงขนาดปลุกให้พระราชาที่ตายไปแล้วคืนชีพเป็นปีศาจกระหายเลือด ทั้งยั้งผลักดันลูกสาวที่เป็นมเหสีให้รีบกำเนิดบุตรชายเพื่อสืบทอดอำนาจของตนต่อไป

อี ชาง ในเรื่องเป็นคนวรรณะกษัตริย์ที่ห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร เป็นภาพแทนของกษัตริย์พระองค์ใหม่ผู้ที่จะกอบกู้ให้แผ่นดินกลับมาสงบสุข เป็นปึกแผ่น แต่กว่าจะรอดจากวิกฤตที่ต้องเจอ เขาต้องพบบททดสอบมากมายและภัยอันตรายต่างๆ ซึ่งอี ชาง ก้าวผ่านความยากลำบากด้วยความหลักแหลม ความกล้าหาญ และความแข็งแกร่ง ดังนั้นคุณภาพชีวิตของประชาชนในโชซอนจึงแขวนอยู่บนตัวผู้นำที่จะพาพวกเขาไปในทางดีและร้าย

แต่ระยะที่เราเห็นประชาชนไม่ได้ใกล้ชิดกับชนชั้นนำในเรื่อง พวกเขาต่างยำเกรงองค์ชายรัชทายาทเมื่อได้เห็นเครื่องแสดงฐานะของพระองค์ นั่นยิ่งย้ำชัดว่าประชาชนยังอยู่ใต้อำนาจการปกครองที่มีลำดับชั้นวรรณะ แม้อี ชาง จะต่อสู้เพื่อตัวเองและชาวบ้าน แต่วันหนึ่งเขาก็เลือกที่จะหายตัวไปแบบนิรนามตามแบบฉบับของฮีโร่ที่ไม่ต้องการเคลมเครดิตตัวเอง อี ชาง จึงเป็นพระราชาและฮีโร่ตามสูตรของหนังประเภทนี้มากๆ

ในขณะที่ The King: Eternal Monarch มีความแฟนตาซีไปกว่านั้นอีกขั้น เพราะซีรีส์ได้สร้างโลกคู่ขนานอีกใบขึ้นมา ประเทศเกาหลีจึงมีอยู่ 2 แห่ง โลกหนึ่งคือ ‘สาธารณรัฐเกาหลี’ ซึ่งคือเกาหลีใต้ปัจจุบันที่เราคุ้นเคยกันดี แต่ยังมีอีกโลกที่เรียกว่า ‘จักรวรรดิเกาหลี’ โดยมีกษัตริย์ชื่ออี กน เป็นประมุขของประเทศและมีนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหาร

ถ้าไล่เรียงไทม์ไลน์จาก Kingdom อี กน จะเป็นญาติกับอี ชาง เพราะหลังจากควังแฮ ตัวละครที่เราสันนิษฐานว่าเป็นต้นแบบของอี ชาง ถูกรัฐประหารและเนรเทศ พระเจ้า Injo หลานของพระเจ้าซอนโจก็ขึ้นครองราชย์ต่อ พระองค์มีพระราชโอรสองค์โตคือองค์รัชทายาท Sohyeon ที่ถูกส่งไปเป็นองค์ประกันที่จีน

ผ่านไปหลายปีจึงเสด็จกลับโชซอนเมื่อปี 1645 แต่แนวคิดของพระองค์ขัดแย้งกับพระราชบิดา เพราะพระเจ้าอินโจไม่เห็นด้วยที่องค์รัชทายาทโซฮยอนจะปฏิรูปอาณาจักรตามแนวคิดของตะวันตก

จากนั้นไม่นานองค์ชายโซฮยอนก็สิ้นพระชนม์กะทันหัน การสิ้นพระชนม์นั้นเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ดังนั้น Pongnim พระราชโอรสอีกองค์ของพระเจ้าอินโจจึงได้เป็นองค์รัชทายาทและขึ้นเป็นพระเจ้า Hyojong ในที่สุด ช่วงเวลาดังกล่าวระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ของเกาหลีเริ่มอ่อนแอลง เต็มไปด้วยการแก่งแย่งอำนาจ นำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ประกอบกับการเข้ามามีอำนาจของญี่ปุ่น ทำให้ราชวงศ์โชซอนเสื่อมลงในช่วงเวลาถัดมา จนกระทั่งสถาบันไร้บทบาทและความสำคัญทางการเมือง

จุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้ทั้งสองโลกไม่เหมือนกันเพราะผู้เขียนบทสร้างชุดคำอธิบายที่เป็นข้อแตกต่าง ขณะที่โลกของเรานั้นราชวงศ์โชซอนล่มสลาย แต่ในโลกคู่ขนานระบอบกษัตริย์สามารถดำเนินมาได้อย่างยาวนาน เพราะองค์รัชทายาทโซฮยอนซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ที่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ไม่ได้สิ้นพระชนม์และได้ขึ้นครองราชย์ต่อ จากนั้นก็ย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่ปูซานเพื่อตั้งรับและป้องกันประเทศจากการรุกรานของญี่ปุ่น

ในซีรีส์เรื่อง The King: Eternal Monarch ผู้ชมจะเห็นความพยายามปรับตัวของกษัตริย์ในโลกสมัยใหม่ เห็นเงาต้นแบบภาพลักษณ์ของอี กน มาจากภาพความป๊อปของราชวงศ์อังกฤษ แต่ซีรีส์ก็คือซีรีส์ เพราะอี กน มีความสมบูรณ์แบบมากจนไม่ได้มีมิติที่ดำมืดอื่นๆ เขาเป็นกษัตริย์ภาพลักษณ์ดีและปกครองโดยคำนึงถึงประเทศเป็นหลัก แถมเสียภาษีไม่ต่างจากประชาชนในจักรวรรดิ ใกล้ชิดกับประชาชน สื่อและประชาชนในประเทศวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ได้ อี กน ฉลาดรอบรู้ทุกอย่าง โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ภาพของพระองค์จึงเป็นทั้งกษัตริย์และไอดอลที่เก่งกาจไร้ที่ติราวกับกษัตริย์ในเทพนิยาย 

อี กน ห่วงหน้าที่ของตัวเองมาก เมื่อเดินทางมาสาธารณรัฐเกาหลีเขามักพูดกับ Jeong Tae-eul นางเอกของเรื่องบ่อยครั้งว่า ตัวเองต้องรีบกลับไปดูแลประเทศ ครั้งหนึ่งเมื่อญี่ปุ่นบุกน่านน้ำ กษัตริย์แห่งจักรวรรดิเกาหลีก็รีบขึ้นเรือเป็นกองหน้าของทหารทั้งหมดก่อนใคร ไม่มีท่าทีเกรงกลัว ประเทศของเขาร่ำรวยและประชาชนในซีรีส์ก็มีความสุขกันดี ทว่าเมื่ออี กน ข้ามมาในโลกของเรา เขากลายเป็น nobody ที่ไม่มีใครรู้จักและเคารพ ความเป็นราชาของเขาจึงอาจมีอำนาจขอบข่ายแค่ในจักรวรรดิหรือโลกที่เขาอยู่เท่านั้น

การกระทำของทั้งอี ชาง และอี กน อาจเป็นอุดมคติที่แสดงและสะท้อนคุณค่าของความเป็นพระราชาสมบูรณ์แบบ แต่หากมองอีกทางก็น่าจะเป็นเรื่องสมมติที่ไม่มีวันเป็นจริง เพราะในยุคสมัยของอี ชาง ระบอบการปกครองมีแต่จะเสื่อมโทรมลงทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ส่วนอี กน ก็อยู่ในโลกคู่ขนานที่ถูกแต่งขึ้น พระราชาขี่ม้าขาวข้ามโลกแบบพระองค์จึงอาจมีอยู่แต่ในนิทานหรือปรากฏบนสื่อบันเทิงที่ผู้ชมเสพเพื่อความมัน เพราะซีรีส์ที่เกี่ยวกับกษัตริย์ของเกาหลียังคงได้รับความนิยม ประกอบกับการท่องเที่ยวเกาหลีได้ประโยชน์จากการที่คนมาเยี่ยมชมโลเคชั่นถ่ายทำซีรีส์พีเรียดเกี่ยวกับชีวิตในรั้วในวัง

นั่นอาจเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ได้บ้างว่าในอนาคตเราน่าจะได้เห็นภาพของพระราชาในแบบที่ผลิตซ้ำ หรือในแบบที่พยายามพลิกแพลงคาแร็กเตอร์จากทีมคนทำซีรีส์เกาหลีอีกหลายเรื่อง

Highlights

  • เรื่องของ ‘กษัตริย์และราชวงศ์’ มักถูกนำเสนอทางอ้อมในซีรีส์เกาหลีหลายเรื่อง โดยเฉพาะปีนี้มีซีรีส์เกาหลีเกี่ยวกับกษัตริย์ถึง 2 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคาแร็กเตอร์ดุดันแบบองค์รัชทายาท Lee Chang ที่มีสิทธิขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดาในซีรีส์ซอมบี้ยุคโชซอนเรื่อง Kingdom หรือตัวละครละมุนละไมแบบกษัตริย์แห่งจักรวรรดิเกาหลีอย่าง Lee Gon ใน The King: Eternal Monarch
  • ชวนค้นคว้าประวัติศาสตร์ว่าซีรีส์ทั้งสองเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากตอนไหน และแนวคิดเบื้องหลังของการดัดแปลงนี้คืออะไรกันแน่
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0