โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Kakeibo ศิลปะการออมเงินดั้งเดิมของแม่บ้านญี่ปุ่น ช่วยประหยัดมากขึ้น 35% - เพจพื้นที่ให้เล่า

TOP PICK TODAY

อัพเดต 27 มิ.ย. 2563 เวลา 02.37 น. • เผยแพร่ 26 มิ.ย. 2563 เวลา 21.34 น. • เพจพื้นที่ให้เล่า

ต้องยอมรับเลยว่าสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้เราและใครหลายคนต้องเริ่มมองหาลู่ทางเพิ่มเงินออมและหารายได้เสริมกันอย่างเร่งด่วน แน่นอนว่าเมื่อเราต้องหาวิธีการเก็บเงินที่ได้ประสิทธิภาพ เรามักคิดถึงแม่บ้านญี่ปุ่นที่กลายเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดการเงินออมของครอบครัวอยู่เสมอ ขึ้นชื่อในแง่ของความเข้มงวดและประสิทธิภาพพอตัวเลย

.

Kakeibo เป็นแนวทางการเก็บออมที่มีอายุยืนมากกว่า 100 ปีเลยทีเดียว โดยจริงๆ แล้วหากแปลคำว่า ‘Kakeibo’ เป็นภาษาไทย จะเรียกกันง่ายๆ ว่าสมุดบัญชีครัวเรือน แต่ไม่ได้เรียบง่ายเหมือนสมุดรายรับ-รายจ่ายสักทีเดียว เป็นเทคนิคการเก็บออมที่ถูกคิดค้นโดย ฮานิ โมโตโกะ นักหนังสือพิมพ์หญิงญี่ปุ่นคนแรก ซึ่งมีรายละเอียดและเทคนิคมากมายที่เราควรจะรู้ไว้ เพราะมันสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคนได้

อุปกรณ์จะมีเพียงแค่ สมุด 1 เล่ม และปากกา 1 ด้ามเท่านั้น

ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายต่อครอบครัวค่อนข้างสูง การใช้จ่ายควรจับจ่ายอย่างระมัดระวัง ผู้ชายซึ่งถูกยกย่องให้เป็นช้างเท้าตั้งแต่หน้าสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน มักจะเป็นหัวแรงหลักในการหารายรับเข้าครอบครัว จากนั้นจึงนำเงินทั้งหมดไปให้ภรรยาเป็นผู้จัดสรรให้เพียงพอกับรายจ่ายประจำเดือน และจัดเก็บส่วนที่เหลือเป็นเงินออมของครอบครัว ฉะนั้นหากแม่บ้านไม่ละเอียดกับเรื่องการเงิน หรือสมาชิกในครอบครัวคนไหนไม่รอบคอบพอในการจับจ่าย สุดท้ายอาจนำมาสู่ปัญหาด้านการเงินได้ โดยค่าครองชีพต่อ 2 คน (คู่สามี-ภรรยา) ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นจะตกอยู่ที่ 240,000 เยน/เดือน หรือประมาณ 72,000 บาท/เดือน และหากมีลูกจะตกเฉลี่ยค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณคนละ 36,000 บาท/เดือน

เริ่มจากขั้นแรก : การแยกประเภทรายรับและรายจ่าย

การออมเงินเป็นเส้นทางอันยาวนานที่ไม่สามารถพิชิตได้ ถ้าหากไม่มีแบบแผนที่ชัดเจนและวินัยที่สม่ำเสมอ ในการเริ่มทำสมุดบัญชีครัวเรือนนั้น ขั้นแรกคุณฮานิย้ำเสมอว่าเราต้องแบ่งรายรับและรายจ่ายออกให้ชัดเจน

ทำอย่างไร? ก็คือการเขียนทุกอย่างออกมาให้ละเอียดว่าใน 1 เดือนที่ผ่านมา เราได้รับเงินมาเท่าไร และใช้จ่ายกับเรื่องอะไรไปเท่าไรบ้าง แนะนำให้เขียนกำกับเหตุผลความจำเป็นของตัวเองเอาไว้ด้วย

ส่วนที่เป็นรายรับก็คือเงินเดือนและเงินจากรายได้เสริมที่เรารับเป็นประจำ ส่วนที่เป็นรายจ่ายก็คือค่าใช้จ่ายอย่างหนี้ชำระประจำต่อเดือน ในการผ่อนบ้านและสิ่งของต่างๆ ค่าเดินทางและค่าอาหาร รายจ่ายเพื่อความพอใจ อย่างเช่นค่าใช้จ่ายในการพักผ่อนหย่อนใจ ค่าชอปปิ้งต่างๆ และสุดท้ายรายจ่ายที่เรากันไว้สำหรับค่าฉุกเฉินเหตุไม่คาดฝันต่างๆ 

เชื่อว่าเมื่อจัดสรรเสร็จแล้ว เราจะเริ่มเห็นว่ารายจ่ายส่วนใหญ่ของครอบครัวนั้นอยู่ตรงหมวดหมู่ไหนเป็นพิเศษ บางครอบครัวอาจจะเน้นกินดี ไม่เน้นเที่ยว บางครอบครัวอาจเสียไปกับค่าเดินทางเป็นพิเศษ เมื่อเราเขียนลงสมุด สิ่งนี้จะช่วยให้เราเห็นภาพการใช้เงินของครอบครัวชัดเจนขึ้น นำไปสู่การหาทางแก้ไขได้ตรงประเด็น

.

ขั้นที่สอง : ปักธงไว้เลยจะออมเท่าไรต่อเดือน

สิ่งหนึ่งที่หลายคนเข้าใจผิดคือการลดค่าใช้จ่ายจะช่วยให้เราออมเงินได้เยอะขึ้นอัตโนมัติ แต่แท้จริงแล้วมีวิธีที่ได้ผลมากกว่านั้น นั่นคือการปักธงเอาไว้ในใจของสมาชิกทุกคนเลย ว่าครอบครัวเราควรจะออมเงินได้เท่าไรต่อเดือนกันแน่ จากนั้นจึงสรุป ‘แผนปฏิบัติการ’ หรือภารกิจร่วมกันว่าใครรับผิดชอบส่วนไหน เขียนรายการออกมาให้ชัดเจนว่าวิธีไหนจะช่วยเพิ่มเงินออมของครอบครัวได้บ้าง

ซึ่งวิธีการพิชิตเงินออมนั้น ขึ้นอยู่กับความง่าย-ยากของเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

ยกตัวอย่างวิธียอดนิยมของคนญี่ปุ่นทั่วไป

  • วางแผนเลือกซื้อวัตถุดิบรายอาทิตย์ จากนั้นทำข้าวกล่องไปกินเองทุกวัน

  • การเลือกไปซื้อของเฉพาะ ‘เวลาทอง’ ของซุปเปอร์มาร์เก็ตและซื้อเฉพาะสินค้าลดราคาพิเศษ

  • การใช้คูปองส่วนลดและแสตมป์แลกสินค้าต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

  • การซื้อเสื้อผ้ามือสอง แทนการชอปปิ้งสินค้ามือหนึ่งและสินค้าแบรนด์เนม

  • เลือกการเดินและการปั่นจักรยานแทนการใช้ขนส่งคมนาคมอื่นๆ (ไม่แนะนำในประเทศไทย)

  • การใช้ขวดน้ำอุ่นพันผ้าเช็ดตัว เพื่อนำมากอดเพิ่มความอบอุ่นแทนการใช้ฮีตเตอร์

แต่การตึงไปก็ไม่ดี แม่บ้านญี่ปุ่นจะมีวิธีจูงใจคนในครอบง่ายๆ ด้วยการให้รางวัลเมื่อถึงเป้าหมายเงินออมแล้ว อาจเป็นการเอาเงินก้อนนั้นไปซื้อสิ่งของที่ดีกว่าหรือใหญ่กว่าให้ครอบครัว หรืออาจจะเป็นทริปท่องเที่ยวต่างจังหวัดหรือทุนการศึกษาของลูกก็ได้ เชื่อว่านำความสุขมาให้ทุกคนแน่นอน

.

ขั้นสุดท้าย: วางเป้าหมายเงินออมก้อนใหญ่ในระยะยาว ที่เกี่ยวกับสุขภาพและฉุกเฉินของครอบครัว

ในประเทศญี่ปุ่น ความเป็นอยู่ของผู้คนมักจะฝึกให้คุ้นชินกับเรื่องราวอันไม่คาดฝันซะเยอะ เพราะแผ่นดินไหวบ่อยและภัยธรรมชาติเกิดขึ้นได้ โดยไม่มีสัญญาณเตือน ดังนั้นคนจึงให้ความสำคัญกับการประกันความเสี่ยงเยอะ วัยกลางคนที่มีครอบครัวแล้วส่วนใหญ่มักออมเงินมากกว่า 50% ของตัวเองเพื่อกันเอาไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน อย่างค่ารักษาเมื่อเจ็บป่วยกะทันหัน ดังนั้นคำถามที่แม่บ้านหรือคนที่ดูแลเรื่องเงินของบ้านต้องตอบตัวเองในสมุดบัญชีครัวเรือนให้ได้ เพื่อที่สร้างเงินออมก้อนใหญ่อย่างครอบครัวอย่างมีแบบแผนจะมีดังนี้ 

ก่อนที่จะเริ่มตั้งคำถาม เราต้องรู้ให้แน่ชัดก่อนว่าเงินสำรองฉุกเฉินที่ควรกันเอาไว้สำหรับสมาชิกแต่ละคนคือเท่าไรกันแน่ อาจกำหนดเอาไว้คร่าวๆ ตามการคาดการณ์ของแต่ละคนมากน้อยไม่เหมือนกัน

-เงินออมตอนนี้มีเท่าไร? เราควรทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายเงินออมได้เพิ่มขึ้น? หากพบว่าเงินออมยังมีอยู่น้อยมาก หากเกิดเหตุไม่คาดฝันจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นั่นถึงเวลาแล้วที่ต้องรัดเข็มขัดให้มากขึ้น หรือสนับสนุนให้ตัวเองและคนรอบข้างไปหารายได้เสริม

-เงินออมยังขาดจากเป้าหมายใหญ่อีกกี่เยน? เป็นการย้ำถึงเป้าหมายให้ชัดเจน คุณฮานิได้เสนอข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า คนเราจะมีวินัยมากกว่าถ้าเราเห็นชัดว่าอีกนานแค่ไหนถึงจะสัมฤทธิ์ผล การที่เราได้เห็นความคืบหน้าทีละเล็กทีละน้อยของตัวเองจะทำให้เรามีกำลังใจและมุ่งสู่ปลายทางได้อย่างมีความหวังมากขึ้น สามารถลดความตึง-ความหย่อนของการอดออมตัวเองได้ โดยไม่ออกนอกลู่นอกทางมากเกินไป เพราะจริงๆแล้วการตั้งเป้าประหยัดมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี อาจส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมด้วยซ้ำ ดังนั้นควรตั้งเป้าหมายและระยะเวลาสำเร็จไว้คร่าวๆ วิธีนี้ดีกว่าการบังคับให้ตัวเองให้ใช้เงินได้แค่วันละไม่กี่เยนแน่นอน

.

แค่ 3 ขั้นตอนแบบนี้และวินัยอันเข้มแข็ง เงินก้อนใหญ่จะเกิดขึ้นได้แน่ๆ สักวันหนึ่งในอนาคต การจดบัญชีรายรับรายจ่ายด้วยมือแบบนี้เป็นความสำเร็จอันยาวนานของแม่บ้านญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมาเลย เรียกได้ว่าสมุดทำบัญชีครัวเรือนยังคงขายดีและมีขายอยู่ทั่วไป นิยมใช้กันมากกว่าแอปพลิเคชันหรือเทคโนโลยีทดแทนอยู่มาก

สุดท้าย.. หากเรามีสมุด Kakeibo แต่เราไม่มีวินัย สมุดก็จะกลายเป็นของสิ้นเปลืองที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

เพราะฉะนั้นจะออมอย่างไรก็ได้ ใครถนัดแบบไหนก็ทำแบบนั้น แต่หลักการคือวินัยสม่ำเสมอ น่าจะเกิดผลสุด :) 

.

ติดตามบทความของเพจพื้นที่ให้เล่า ได้บน LINE TODAY ทุกวันเสาร์

.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0