โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

Job Description ตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ควรฝากอนาคตไว้ในมือใคร

THE STANDARD

อัพเดต 19 ธ.ค. 2561 เวลา 04.39 น. • เผยแพร่ 19 ธ.ค. 2561 เวลา 03.19 น. • thestandard.co
Job Description ตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ควรฝากอนาคตไว้ในมือใคร
Job Description ตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ควรฝากอนาคตไว้ในมือใคร

ในที่สุดฝันร้ายของ ‘ปีศาจแดง’ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็จบลง และเป็นการจบลงที่รวดเร็วเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดครับ

 

เพราะถึงแม้จะแพ้ต่อลิเวอร์พูล คู่รักคู่แค้นตลอดกาลแบบหมดสภาพในเกมแดงเดือดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ไม่มีสัญญาณสักนิดว่าบอร์ดบริหารแห่งโอลด์แทรฟฟอร์ดจะตัดสินใจอัปเปหิ โฆเซ มูรินโญ ให้พ้นจากตำแหน่งในทันที

 

ในเช้าวันจันทร์ยังมีรายงานจาก The Guardian ว่า มูรินโญยังได้รับความไว้วางใจจากบอร์ดบริหารให้ทำงานต่อไปอย่างน้อยจนจบฤดูกาล ซึ่งเหตุผลเป็นเพราะนอกจากจะไม่สามารถหาคนที่ดีพอจะมาทำงานทดแทนได้ แต่ยังติดเงื่อนไขของการจ่ายเงินชดเชยจำนวนมหาศาลให้ผู้จัดการทีมชาวโปรตุเกส ซึ่งใช้เงื่อนไขดังกล่าวไม่ต่างจากตัวประกันที่ทำให้เขารอดพ้นจากวิกฤตมาได้ทุกครั้ง

 

 

แต่ไม่ใช่สำหรับครั้งนี้ เมื่อ เอ็ด วูดเวิร์ด ผู้บริหารสูงสุดของทีมตัดสินใจเรียกมูรินโญเข้าพบที่ห้องทำงานของเขาในสนามซ้อมที่แคร์ริงตัน ในเวลา 9 โมงเช้า ก่อนจะแจ้งข่าวร้ายสำหรับเขา แต่เป็นข่าวดีที่ทุกคนในโอลด์แทรฟฟอร์ดรอคอยว่า สโมสรได้ปลดเขาจากการเป็นผู้จัดการทีมแล้ว โดยจะจ่ายเงินชดเชยจำนวน 18 ล้านปอนด์ให้ตามสัญญา (ข้อมูลจาก BBC)

 

เป็นอันยุติช่วงเวลาที่มืดมนอนธการกว่า 31 เดือนที่แทบทุกคนในโอลด์แทรฟฟอร์ดต่างต้องเคยได้รับความเจ็บปวดจากการกระทำของมูรินโญ ผู้ที่ไม่เคยคิดผูกมิตรกับใคร และไม่เคยคิดแม้แต่การจะปักหลักในเมืองแห่งนี้ เพราะเลือกจะพักอยู่ที่โรงแรม Lowry ตั้งแต่วันแรกที่เขาได้เป็นผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจนวันสุดท้าย

 

อย่างไรก็ดี คำถามสำคัญของทีมที่ประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ลีกสูงสุดมากที่สุดในอังกฤษอย่างยูไนเต็ดต้องสนใจไม่ใช่เรื่องของคนเมื่อวันวานแล้วครับ

 

หากแต่เป็นเรื่องของอนาคตว่า พวกเขาจะเอาอย่างไรต่อ ต้องเดินหน้าไปในทิศทางไหน และควรจะฝากสโมสรเอาไว้ในมือใคร?

 

Job Description ที่ชัดเจน ‘เล่นแบบยูไนเต็ด’

เพราะความจริงแล้วนับตั้งแต่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือจากการเป็นผู้จัดการทีมเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 2012/2013 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดก็ตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นยุคของ เดวิด มอยส์, หลุยส์ ฟาน กัล และล่าสุดกับ มูรินโญ

 

ทั้ง 3 ชื่อที่กล่าวมามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทั้งหมดดู ‘ไม่เข้ากับความเป็นยูไนเต็ด’ แม้แต่น้อย

 

มอยส์อาจเป็นตัวเลือกที่เฟอร์กีตัดสินใจแนะนำสโมสรและให้การหนุนหลัง รวมถึงยังเป็นคนสกอตแลนด์เหมือนกัน แต่ความจริงคือ The Chosen One เก่งน้อยเกินไป บารมีน้อยเกินไป และสไตล์การทำทีมของเขาสวนทางกับปรัชญาฟุตบอลของยูไนเต็ดอย่างสิ้นเชิง

 

ฟาน กัลอาจเป็นโค้ชที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงในวงการฟุตบอลในฐานะปราชญ์คนหนึ่ง แต่ฟุตบอลของเขาซับซ้อนเกินไป ยากจะเข้าใจ ไม่สามารถดึงศักยภาพของลูกทีมออกมาได้ถึงขีดสุด และแน่นอนครับว่าฟุตบอลของเขา ฟุตบอลสไตล์คอนโทรลที่เชื่องช้า ก็ไม่ใช่ฟุตบอลในแบบที่สาวกเรดอาร์มีอยากเห็น

 

มูรินโญเล่า? ประวัติการทำงานดี คว้าแชมป์ลีกกับทุกสโมสรที่ร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น ปอร์โต้, เชลซี, อินเตอร์ มิลาน, เรอัล มาดริด (และเชลซีอีกที) คว้าโทรฟียูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกมาถึง 3 สมัย เรียกว่าการันตีความสำเร็จ

 

The Special One การันตีความสำเร็จได้จริงในฤดูกาลแรก ด้วยการคว้า ‘ดับเบิลแชมป์’ แต่เป็นรายการเล็กอย่างลีกคัพและยูฟ่ายูโรปาลีก แต่ผลงานในสนามนั้นสวนทางกับความคาดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ

 

จากจุดเริ่มต้นที่บอร์ดบริหารและแฟนบอลคาดหวังว่าเขาจะนำทีมกลับคืนสู่ความสำเร็จ และเป็นคู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อที่สุดสำหรับ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ที่รับตำแหน่งในทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน กลับกลายเป็นว่าฤดูกาลแรกเขาทำทีมจบอันดับที่ 6 (กลายเป็น เชลซี ทีมเก่าของเขาที่ได้ อันโตนิโอ คอนเต พาทีมคว้าแชมป์ไปเสียอย่างนั้น) ขณะที่ฤดูกาลต่อมาคว้ารองแชมป์ได้ แต่ระยะห่างระหว่างพวกเขากับแมนเชสเตอร์ ซิตี้นั้นห่างไกลอย่างสัมผัสได้

 

และในฤดูกาลนี้ผลงานนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าเก่า แค่นัดที่ 17 พวกเขาตามหลังจ่าฝูงอย่างลิเวอร์พูล (ย้ำว่าอย่างลิเวอร์พูล! ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวยูไนเต็ดทนไม่ได้และไม่คิดจะทน) ถึง 19 คะแนน ผลงานนั้นบ่งบอกในตัวเองอยู่แล้วว่า ฟุตบอลของมูรินโญที่พยายามบอกตัวเองและบอกคนอื่นมาตลอดว่า ‘เน้นผล’ นั้น หวังผลไม่ได้อีกต่อไป

 

เท่ากับก็ไม่มีเหตุผลที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจะทนกับฟุตบอลที่ไม่ได้เรื่องแบบนี้อีก

 

 

ดังนั้นเมื่อฝันร้ายถูกยุติลง สิ่งแรกที่ทุกฝ่ายของสโมสร ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือแฟนฟุตบอลต้องการคือ คนที่มีความเป็น ‘ยูไนเต็ด’ ในตัวเอง ทำทีมที่เล่นฟุตบอลเกมรุกที่สวยงาม ดุดัน เกรี้ยวกราด

 

ในความหมายที่ชัดเจนกว่านั้นคือ ใครก็ได้ที่ทำให้หายคิดถึงเฟอร์กี

 

หากใครทำได้จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

 

เพราะสิ่งสำคัญคือการกอบกู้ตัวตนที่หายไปให้กลับมา มากกว่าจะคิดถึงเพียงแค่ความสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมายูไนเต็ดก็ได้บทเรียนแล้วว่า แม้กระทั่งผู้จัดการทีมที่การันตีความสำเร็จก็ไม่ใช่คนที่จะนำพวกเขากลับไปสู่จุดที่เฟอร์กีเคยนำไปได้

 

บางครั้งความสำเร็จอาจไม่ได้วัดจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมเพียงอย่างเดียว

 

ความสุขจากการได้เห็นทีมเล่นฟุตบอลที่ดี สนุก และสู้ไม่ถอย ก็เป็นความสำเร็จได้เหมือนกัน

 

และนั่นคือตัวตนและหัวใจที่แท้จริงของสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ ไม่ใช่แค่ถ้วยรางวัล

 

ผู้กอบกู้ที่คุ้นเคย

จากกระแสข่าวในช่วงแรก ดูเหมือน ไมเคิล คาร์ริก ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสตาฟฟ์ของมูรินโญอาจต้องรับตำแหน่งแทนเป็นการชั่วคราวไปจนจบฤดูกาล ซื้อเวลาให้ฝ่ายบริหารได้ใช้จ่ายอย่างเต็มที่ในการมองหาและเจรจากับคนที่คิดว่าจะเหมาะสมกับการทำทีมในระยะยาว

 

แต่ผ่านมาถึงตรงนี้ คาร์ริกอาจจะไม่ใช่คนที่ต้องแบกรับหน้าที่นี้แล้ว เนื่องจากประสบการณ์ในการทำทีมนั้นเป็นศูนย์ การรับหน้าที่ตรงนี้เป็นความเสี่ยงที่มากเกินไปสำหรับสโมสร

 

 

คนที่น่าจะได้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเป็นการชั่วคราว (หรืออาจถาวรหากทำได้ดีพอ) ในเวลานี้ กลายเป็นตัวเลือกที่น่าเซอร์ไพรส์และน่ายินดีในเวลาเดียวกันอย่าง โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ อดีตเพชฌฆาตหน้าทารก ผู้ที่เคยเป็นขวัญใจในวันวานของชาวปีศาจแดง

 

ชื่อของโซลชาร์ หรือ ‘เพชฌฆาตหน้าทารก’ (Baby Faced Assassin) อาจเงียบหายไปจากความทรงจำบ้าง เนื่องจากนับตั้งแต่ลาจากทีมไปเมื่อปี 2007 ชีวิตการทำงานในฐานะโค้ชของเขาก็ไม่ได้หวือหวาอะไรนัก โดยเคยรับตำแหน่งผู้จัดการทีม คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ เมื่อปี 2014 แต่ก็ล้มเหลวในภารกิจนำทีมให้รอดพ้นจากการตกชั้น และถูกปลดในระยะเวลาไม่นาน

 

แต่หลังจากนั้นเขากลับบ้านเกิดที่นอร์เวย์ และถือว่าประสบความสำเร็จกับ โมลด์ สโมสรเก่าของเขา และสร้างชื่อเสียงตัวตนใหม่ โดยสามารถนำทีมคว้ารองแชมป์ได้ถึง 2 ฤดูกาล

 

และที่สำคัญคือ เขาทำทีมเล่นฟุตบอลแบบเกมรุกที่น่าตื่นเต้น จนได้รับการยกย่องอย่างเงียบๆ ว่า บางทีในกลุ่มลูกทีมของเฟอร์กี เขาอาจเป็นคนที่ประสบความสำเร็จและมีโอกาสจะได้กลับมารับตำแหน่งเดียวกับครูของเขาในอนาคต

 

เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสันเองก็เคยเปรยว่า โซลชาร์เป็นคนที่เกิดมาเพื่อเป็นโค้ช เพราะแม้กระทั่งในวันที่เป็นผู้เล่น สิ่งที่เฟอร์กีชื่นชอบในตัวสุดยอดซูเปอร์ซับชาวนอร์เวย์คนนี้มากที่สุดคือ ‘มันสมอง’ ในการเล่น มากกว่าสัญชาตญาณในการล่าตาข่ายเสียด้วยซ้ำไป

 

เพียงแต่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าวันนั้นจะมาถึงเร็วขนาดนี้

 

แต่มันก็อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดต้องการใครสักคนที่สามารถกอบกู้ตัวตนที่หายไปของสโมสรแห่งนี้ และมากกว่านั้นคือคนที่รับรู้และเข้าใจในความรู้สึกของทุกฝ่ายในสโมสร ไม่เฉพาะแฟนบอล แต่ยังรวมถึงสตาฟฟ์ นักฟุตบอล และบอร์ดบริหาร

 

โซลชาร์ ‘ถูกทุกข้อ’ ในโจทย์นี้ เพราะนอกจากจะเคยเป็นนักเตะ ยังเคยเป็น ‘ลูกมือ’ ของเฟอร์กี และเคยคุมทีมสำรองของยูไนเต็ดมาแล้วในช่วงปี 2008-2010

 

อย่างไรก็ดี หากโซลชาร์ตัดสินใจรับตำแหน่งงานนี้จริง (และนั่นหมายถึงเขาต้องทิ้งงานที่โมลด์ ทั้งที่เพิ่งต่อสัญญาไปไม่กี่วันที่ผ่านมา) ก็ต้องนับถือในความกล้าหาญอย่างมาก เพราะมันเป็นงานที่มีความเสี่ยงต่อตัวเขาอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

 

สถานการณ์นั้นมีความคล้ายบางอย่างกับวันที่เขารับงานในคาร์ดิฟฟ์ ทีมที่ประสบปัญหาอย่างหนัก ไม่ว่าจะเรื่องผลงานในสนามหรือการบริหารนอกสนามโดย วินเซนต์ ตัน เจ้าของสโมสรที่แสนวุ่นวาย โดยในวันนั้นมีคนตั้งคำถามกับโซลชาร์ว่า เขารับงานที่ไม่มีใครอยากรับนี้ ไม่ห่วงต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงเลยหรือ

 

คำตอบของโซลชาร์ในวันนั้นคือ “ถ้าผมคิดถึงเรื่องของภาพลักษณ์ มันคงเป็นเรื่องที่ผิดแน่นอน แต่ผมไม่ได้สนใจเรื่องภาพลักษณ์ของผม งานของผมคือการทำให้คาร์ดิฟฟ์เป็นทีมที่ดีขึ้น มันไม่ใช่การทำให้แบรนด์ของโอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์แข็งแกร่งขึ้น”

 

การรับเผือกร้อนต่อจากมูรินโญ หากถือไม่ดีก็มีสิทธิ์จะทำให้เส้นทางการทำงานในอนาคตพังได้เหมือนกัน

 

อย่างไรก็ดี โซลชาร์จะได้รับความช่วยเหลือจาก ไมค์ ฟีแลน อดีตมือขวาของเฟอร์กี ที่ถูกปลดจากตำแหน่งไปเมื่อ เดวิด มอยส์ เข้ารับงาน (ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟอร์กีไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของมอยส์ และเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากว่าเป็นต้นกำเนิดความหายนะของยูไนเต็ดจนถึงทุกวันนี้)

 

ฟีแลนยังเป็นคนที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงที่โอลด์แทรฟฟอร์ด ความรู้และบารมีของเขาจะช่วยประคับประคองโซลชาร์ได้มาก

 

นอกจากนี้ยังมีคาร์ริกที่จะผนึกกำลังในงานนี้ด้วย

 

เบื้องต้นคาดว่าโซลชาร์จะรับงานในสัญญาที่มีระยะเวลาถึงเดือนพฤษภาคม หรือสิ้นสุดฤดูกาลหน้า และจะกลับไปทำงานที่โมลด์ในลีกนอร์เวย์ต่อ (ลีกจะเริ่มในเดือนมีนาคม โดยระหว่างนั้นจะหาคนทำงานแทนโซลชาร์ไปพลางๆ ก่อน) ซึ่งน่าจะเป็นข้อตกลงที่ลงตัวสำหรับทุกฝ่าย

 

อย่างน้อยสำหรับ ‘วันนี้’ ของสโมสร ถึงแม้ว่าในอีกด้านจะมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ เหมือนที่ ดาร์เรน เฟล็ตเชอร์ อดีตนักเตะปีศาจแดง มองว่า ทีมอาจจะเสี่ยงต่อการเสียเวลาฟรีอย่างน้อย 2 ฤดูกาล หากเลือกหนทางนี้มากกว่าจะให้ผู้จัดการทีมคนใหม่มีเวลาในการประเมินทีมและเตรียมทีมใหม่ทันที (ซึ่งก็อาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีกว่าจะกลับมาเข้าที่เข้าทาง)

 

คนที่ใช่โดยไม่มีเงื่อนไขสำหรับวันข้างหน้า

หากโซลชาร์คือผู้ที่ถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่เก็บกู้สโมสรแค่ในวันนี้ นั่นหมายถึงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดยังมีภารกิจในการหาผู้จัดการทีมตัวจริงที่จะเข้ามากอบกู้และนำสโมสรกลับคืนสู่ความสำเร็จอีกครั้ง และนั่นคือสิ่งสำคัญสำหรับ ‘วันหน้า’ ของพวกเขา

 

โดยที่ดูเหมือนเป้าหมายจะชัดเจนว่า เมาริซิโอ โปเชตติโน ผู้จัดการทีมท็อตแนม ฮอตสเปอร์ คือคนนั้น

 

เรื่องฝีไม้ลายมือไม่มีคำถาม ผู้จัดการทีมชาวอาร์เจนไตน์เป็นหนึ่งในยอดโค้ชของวงการในยุคปัจจุบัน ยืนเคียงกับ เป๊ป กวาร์ดิโอลา และ เจอร์เกน คลอปป์ ได้อย่างสูสี ผลงานของเขาในการยกระดับสเปอร์สจนกลายเป็นทีมระดับท็อปของอังกฤษและของยุโรป เป็นผลงานที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง

 

หลายสโมสรยักษ์ใหญ่ใส่ชื่อของเขาเอาไว้ในลิสต์ของกุนซือแห่งอนาคต โดยเฉพาะ ‘ราชันชุดขาว’ เรอัล มาดริด ที่เฝ้ารอมานานแต่ยังไม่สบจังหวะที่จะคว้าตัวมาครอบครอง

 

ปัญหาที่ผ่านมาคือสเปอร์สไม่ต้องการจะเสียผู้จัดการทีมคนสำคัญของพวกเขาไป และตัวของโปเชตติโนเองก็ยังภักดีกับต้นสังกัดอยู่

 

แต่ลึกๆ แล้วสถานการณ์ของเขาในลอนดอนนั้นไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด การแล้งไร้ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของสเปอร์ส ในความหมายถึงการได้เป็นแชมป์ลีกหรืออย่างน้อยต้องได้ลุ้นแชมป์ลีก เป็นสิ่งที่ทำให้โปเชตติโนไม่มีความสุข

 

มันเหมือนเขาไม่สามารถก้าวข้ามผ่านกำแพงบางอย่างได้ และเป็นไปได้ที่จะเริ่มคิดว่าบางทีสโมสรที่เขาอยู่ในวันนี้อาจไม่ใช่สโมสรที่จะประสบความสำเร็จในแบบนั้นได้ หรือหากทำได้ก็อาจจะเป็นเรื่องยากที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการต่อเติมไปสู่ความสำเร็จ โดยสิ่งที่ลงแรงเหนื่อยทำมาหลายปีเป็นเพียงแค่ฐานรากเท่านั้น

 

พูดในความหมายที่ตรงกว่าคือ สเปอร์สอาจจะไม่ใหญ่พอสำหรับความทะเยอทะยานของเขา

 

เรื่องนี้ได้รับการตอกย้ำกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปิดฤดูกาล เมื่อสเปอร์สล้มเหลวในการเสริมทัพผู้เล่น ไม่ได้ใครเข้ามาแม้แต่รายเดียว ทำให้เครื่องหมายคำถามนั้นยิ่งชัดขึ้นไปอีก

 

เมื่อฤดูกาลเริ่มต้น สิ่งที่ปรากฏคือ แม้ทีมของโปเชตติโนจะยังคงแข็งแกร่งเป็นทีมระดับท็อปของประเทศ แต่พวกเขายังขาดบางสิ่งบางอย่างที่จะทำให้ก้าวไปสู่การเป็นทีมลุ้นแชมป์อย่างเต็มตัว

 

ดังนั้นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เป็นหนึ่งใน ‘โปรเจกต์’ ที่น่าสนใจสำหรับเขา

 

สิ่งที่เราอาจจะลืมไปคือ โปเชตติโนก็เคยเป็นหนึ่งในคนที่ถูกคาดหมายว่าจะได้ตำแหน่งที่โอลด์แทรฟฟอร์ด โดยที่ในช่วงนั้นเขาเคยมีภาพคู่กับเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คนที่เขาบอกว่า ‘นี่คือคนที่เคยเป็นและยังเป็นแรงบันดาลใจ’

 

ในกลุ่มวงในของฟุตบอลอังกฤษยังเชื่อว่า จริงๆ แล้วคนที่เฟอร์กีอยากได้หลังหลุยส์ ฟาน กัล คือ โปเชตติโน ไม่ใช่ มูรินโญ (และการมีภาพคู่กันก็อาจเป็นหนึ่งในยุทวิธีเพื่อให้โปเชตติโนได้งานนี้) แต่สุดท้าย The Special One ก็ได้งานนี้ไป

 

มองด้วยเหตุผลต่างๆ นานา โปเชตติโนดูเหมือนจะเป็นคนที่ใช่ในหลายมิติ

 

เก่ง ทำทีมดี บุคลิกดี มีวุฒิภาวะ เป็นคนรุ่นใหม่ มีความทะเยอทะยาน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขาคือตัวเลือกที่ดีที่สุดที่คิดได้ในเวลานี้

 

แต่หากต้องการได้ตัวเขามาจริง ยูไนเต็ดมีงานที่ยากมหาหินในการต้องเจรจากับสเปอร์สในฐานะเจ้าของสัญญา ไม่นับการต้องเกลี้ยกล่อมตัวของโปเชตติโน ซึ่งมีอารมณ์ศิลปินในตัวอยู่ค่อนข้างมาก และไม่แน่เสมอไปที่เขาจะตอบตกลงรับงานนี้ โดยที่ทุกอย่างต้องจัดการให้เสร็จก่อนฤดูกาลจะสิ้นสุดลง

 

 

โดยที่หากไม่สำเร็จก็อาจต้องลองเสี่ยงกับคนอื่นต่อไป เช่น ซีเนดีน ซีดาน ซึ่งเคยมีข่าวหนาหูก่อนหน้านี้แต่ก็เงียบหายไป หรือ ดิเอโก ซิเมโอเน ยอดโค้ชชาวอาร์เจนไตน์อีกคนที่ดูเหมือนใกล้ถึงจุดอิ่มตัวกับแอตเลติโก มาดริด

 

เพียงแต่สองรายนี้ยังมีคำถามนิดๆ ถึงสไตล์การทำทีม โดยซีดานเน้นฟุตบอลแท็กติกรัดกุม ไม่ได้เดินเกมรุกสวยงามดุดัน ขณะที่ซิเมโอเนเป็นฟุตบอลสายบู๊ ไม่ได้เน้นเกมรุกที่สวยงามเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญสำหรับผู้จัดการทีมในอนาคตของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่แค่คนที่ทำทีมเล่นฟุตบอลเกมรุก หรือมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณของสโมสรเท่านั้น

 

แต่ต้องเป็นคนมีฝีมือ มีทัศนคติที่ดี มีความเป็นสุภาพบุรุษ

 

สุดท้ายคือต้องเป็นคนที่ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นหนึ่งเดียวกันสมชื่อ ‘ยูไนเต็ด’ เหมือนที่ครั้งหนึ่ง เซอร์แมตต์ บัสบี และ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เคยทำได้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0