โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

Investigative Interviewing : ความก้าวหน้าของไทยกับทางเลือกใหม่ในการสอบปากคำ

The101.world

เผยแพร่ 15 ต.ค. 2562 เวลา 03.27 น. • The 101 World
Investigative Interviewing : ความก้าวหน้าของไทยกับทางเลือกใหม่ในการสอบปากคำ

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

 

ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างการสืบสวน เป็นหนึ่งในประเด็นความกังวลที่สาธารณชนมีต่อกระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะการสอบปากคำผู้ต้องหาคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ เนื่องจากคดีดังกล่าวต้องเร่งสืบสวนสอบสวนเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด และบางครั้งเกิดกรณีผู้ต้องหาเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว เป็นเหตุให้ประชาชนมักตั้งคำถามถึงวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นไปโดยชอบธรรม ถูกต้องตามหลักสิทธิสากลหรือไม่

การสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมด้วยการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของแนวทางพัฒนาวิธีสอบสวน หนึ่งในความพยายามยกระดับแนวทางการสอบปากคำผู้ต้องหาคือการเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะแนวคิดการสอบปากคำแบบ 'Investigative Interviewing' จากประเทศนอร์เวย์ รวมถึงการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ภายใต้บริบทสังคมและกฎหมายแบบไทย

เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมกันจัด การประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติว่าด้วยอนาคตการสืบสวนสอบสวน : การซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวน และมาตรการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เพื่อเรียนรู้แนวทางการสอบปากคำแบบ 'Investigative Interviewing' ในระดับโลก สำรวจแนวทางการสืบสวนสอบสวนของไทยในปัจจุบัน และมองหาโอกาสการประยุกต์ใช้แนวทางการสอบสวนแบบ ‘คุยกันฉันมิตร’ ในบริบทของสังคมไทย

 

เครื่องมือใหม่ในการทำงานสืบสวนสอบสวนของไทย

 

“การสืบสวนสอบสวนเป็นหัวใจของความสำเร็จในการปิดคดีอาญา เป็นจุดเริ่มต้นของทุกเรื่อง”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกระบวนการสืบสวนสอบสวนว่าหากมิได้มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล จนนำมาสู่ความเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น การได้มาซึ่งข้อมูลนั้นต้องไม่ปฏิบัติกับผู้ต้องหาโดยมิชอบ แม้ว่าจะทำไปโดยมีเจตนาดีต่อสังคมก็ตาม

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

 

อีกแง่หนึ่ง การพัฒนาเครื่องมือทำงานที่มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนสำหรับเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนก็เป็นเรื่องสำคัญ และเครื่องมือที่ได้รับความสนใจในแวดวงสืบสวนสากล คือแนวทางสืบสวนสอบสวนด้วยการซักถามแบบสัมภาษณ์ หรือ Investigative Interviewing อันมีต้นแบบจากประเทศนอร์เวย์

“การพัฒนาการสืบสวนสอบสวนโดยนำแนวคิดการสัมภาษณ์ เป็นเรื่องที่ TIJ เริ่มทำมาปีเศษแล้ว เป็นการจัดกิจกรรมในวงของผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวน มีตำรวจ DSI จากนอร์เวย์มาร่วมกับเรา

“จากการที่ผมได้สังเกตและฟังจากผู้เชี่ยวชาญ แนวทางนี้น่าจะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งประหยัดเวลา และสามารถได้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง เป็นที่ยอมรับโดยไม่ต้องไปเค้นความจริงจากเนื้อตัวร่างกายของคน ซึ่งอาจนำไปสู่การทำผิดกฎหมายและสร้างความเสื่อมศรัทธา”

กิตติพงษ์มองว่าการนำเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาใช้กับกระบวนการสืบสวนสอบสวนของไทยจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ของคนทำงาน ถ้าแนวทางดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ในบริบทสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานด้วยความสมัครใจจากคนภายในระบบ และช่วยยกระดับคุณภาพการสอบสวน

 

ความท้าทายของไทยว่าด้วยเรื่องการทำงานสืบสวนสอบสวนและบริบทด้านกฎหมาย

 

ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ เล่าถึงพัฒนาการกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาของไทยว่า ในยุคหนึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและข้าราชการฝ่ายปกครอง กล่าวคือ สำนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีความที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ส่วนในต่างจังหวัดจะมอบหมายให้นายอำเภอสืบสวนสอบสวน โดยบางครั้งอาจมีตำรวจท้องที่ร่วมทำงานด้วย

“หลังจากนั้นประมาณ พ.ศ. 2509 ก็เปลี่ยนใหม่หมด ให้ตำรวจทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาโดยทั่วไป ฉะนั้นบทบาทในการรวบรวมพยานหลักฐานและสอบปากคำจะอยู่ที่ตำรวจทั้งหมด ยกเว้นเพียงบางคดีเท่านั้น

“พอรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จ จึงจะส่งให้พนักงานอัยการ ด้านอัยการก็มีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามสอบสวน เว้นแต่จะมีกรณีที่ต้องการสอบเพิ่มเติม”

ระบบการทำงานดังกล่าวแตกต่างไปจากวิธีของกลุ่มประเทศแถบยุโรป ที่มักให้พนักงานอัยการเข้ามามีส่วนร่วมในชั้นสอบสวนตั้งแต่ต้น ดังนั้น เมื่ออำนาจสืบสวนสอบสวนตกอยู่แก่ตำรวจเพียงฝ่ายเดียว จึงสร้างความกังวลเรื่องการสอบปากคำที่อาจใช้ความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ

 

แม้ว่ามีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใน พ.ศ. 2547 ให้ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับกุมสามารถมีทนายร่วมนั่งฟังในชั้นสอบสวน แต่ศาสตราจารย์ณรงค์ก็ตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการยังคงมีช่องโหว่ เพราะเจ้าพนักงานบางส่วนสอบปากคำในที่ลับ และไม่ใช่ทุกครั้งที่ผู้ถูกจับกุมทราบว่าสามารถเรียกทนายได้

“ถ้าระหว่างที่สอบปากคำมีการรับสารภาพ หรือทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพแล้ว พอไปถึงศาล ผู้ต้องหาบอกว่าตอนที่ให้การเป็นการพูดเพราะถูกบังคับ มันก็ยากจะตรวจสอบว่าถูกทรมานหรือถูกบังคับหรือไม่ นี่เป็นช่องโหว่ในแง่ของมาตรการป้องกันการทรมานหรือบังคับให้รับสารภาพ”

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของการสร้างมาตรการป้องกันในไทย คือกฎหมายส่วนใหญ่มักให้น้ำหนักเรื่องการควบคุม ตรวจสอบกระบวนการโดยบุคคลหรือองค์กรภายนอก แต่ขาดการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนทำงาน ทำให้บางส่วนยังคงเชื่อว่าต้องใช้วิธีกดดันผู้ต้องสงสัยเท่านั้นจึงจะได้ข้อมูล

“เราจึงต้องสร้างความชัดเจนของมาตรฐานการสืบสวนสอบสวน รวมถึงสร้างวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับการสอบปากคำ”

มาตรฐานการสืบสวนสอบสวนและวิธีคิดใหม่ดังกล่าว คือการสอบปากคำแบบ 'คุยกันฉันมิตร' ตามหลัก Investigative Interviewing ซึ่งนอกจากช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ถูกจับกุมแล้ว ยังเป็นแนวทางการซักถามที่มีประสิทธิภาพกว่าการใช้แรงกดดัน

“ถ้าคนสอบปากคำได้สร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่กำลังจะให้การว่าเราเป็นเพื่อนเขา เรากำลังพยายามช่วยกันค้นหาความจริง เวลาให้ข้อมูลก็นั่งคุยกันสบายๆ เขาจะบอกข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะเขามีความรู้สึกเหมือนเล่าเรื่อง ไม่ได้ถูกกดดันว่าต้องตอบคำถามเหมือนเวลาสอบสวนคดีอาญาปกติ ที่ฝ่ายคนถามมักพุ่งเป้าไปที่รายละเอียดเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไร การกระทำนี้ผิดกฎหมายหรือไม่ มีคำถามไล่ตามลำดับลงมา

“และผมขอเน้นย้ำว่า ถ้าต้องการให้แนวทางการสืบสวนสอบสวนแบบเป็นมิตร มีประสิทธิภาพสูงสุด ทางองค์กรของรัฐอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ DSI ต้องให้ข้อมูลคดีกับพนักงานสอบสวนเพื่อวางแผนเตรียมตัวก่อนเริ่มสัมภาษณ์”

การมีข้อมูลชัดเจนล่วงหน้าทำให้ผู้ถูกจับกุมไม่จำเป็นต้องเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อยืนยันว่าเขา “ทำหรือไม่” แต่จะเล่ารายละเอียดที่หลักฐานพยานอื่นๆ ให้ไม่ได้ เช่น “ทำไมถึงทำ” โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้รับฟังเองก็ต้องมีใจเป็นกลาง เชื่อว่าการสอบปากคำคือขั้นตอนพิสูจน์ความจริง ผู้ถูกจับกุมอาจเป็นผู้บริสุทธิ์ และเบื้องหลังของคดีมีความเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ

“ฉะนั้น ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนมาใช้เทคนิค Investigative Interviewing ให้ได้ผลคือการเปลี่ยน mindset คนทำงาน”

ศาสตราจารย์ณรงค์ยังเสนอว่าควรสร้างหลักสูตรฝึกอบรมทักษะการสืบสวนสอบสวนแก่เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะทักษะการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อเท็จจริง และทักษะการคาดเดาแรงจูงใจในการก่อเหตุที่เป็นไปได้ของผู้ต้องสงสัย ยิ่งไปกว่านั้น ควรมีการฝึกฝนวิธีสอบปากคำในคดีต่างๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสก่อนปฏิบัติงานจริง

ในแง่บทลงโทษทางกฎหมายสำหรับเจ้าพนักงานที่ทรมานผู้ต้องหาหรือบังคับให้สูญหาย ศาสตราจารย์ณรงค์เล่าว่าที่ผ่านมามีการดำเนินคดีกรณีทำร้ายร่างกายหลายครั้ง แต่ด้านการบังคับให้สูญหายหรือ ‘การอุ้มหาย’ ยังไม่มีความผิดบัญญัติชัดเจน ดังนั้น หากเกิดกรณีดังกล่าว ผู้กระทำจะได้รับแค่โทษฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังซึ่งเป็นโทษสถานเบา จึงอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นช่องว่างทางกฎหมายประการหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สภากำลังอยู่ในช่วงพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีเนื้อหากำหนดฐานความผิดเรื่องการทรมานและอุ้มหายเป็นความผิดเฉพาะ และมีโทษสูงมาก นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของไทย

 

ประเทศไทยกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาตามหลักสากล

 

ปัจจุบัน การคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางอาญาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะการรับเรื่องราวร้องทุกข์กรณีที่ผู้ต้องหาถูกทรมานหรือบังคับให้หายสาบสูญ

“กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกผู้ถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ ช่วยเหลือเยียวยา ป้องกันไม่ให้มีการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ” สมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมชี้แจง

 

สมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

 

นอกจากนี้ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพยังมีหน้าที่รับผิดชอบสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการดูแลสิทธิผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) เพื่อเป็นหลักประกันว่าประเทศไทยจะปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางกฎหมายของผู้ถูกจับกุมตามหลักสากลทุกประการ

ด้านการนำแนวทางการสืบสวนสอบสวนรูปแบบใหม่อย่าง Investigative Interviewing มาใช้ในไทย สมณ์แสดงความเห็นว่าเป็นวิธีทางที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

“แนวทางดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้หน่วยงานสืบสวนสอบสวนมีประสิทธิภาพ ปราศจากการบีบบังคับ ไม่เกิดการปฏิบัติหรือใช้อำนาจโดยมิชอบในทุกรูปแบบ รวมถึงหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดการกระทำทรมาน ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทุกคนต่างมุ่งหวัง”

 

ก้าวสำคัญของ DSI ในการพัฒนางานสอบสวน

 

พันตำรวจโทคมวิชช์ พัฒนรัฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ DSI

 

พันตำรวจโทคมวิชช์ พัฒนรัฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เล่าความคืบหน้าของการประยุกต์แนวทาง Investigative Interviewing เข้ามาใช้ในประเทศไทยว่า DSI มีความพยายามในการสร้างหลักสูตรอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่รับองค์ความรู้มาจากวิทยากรของนอร์เวย์

“เมื่อ TIJ ได้เริ่มเชิญเราร่วมรับฟังการบรรยายจากมหาวิทยาลัยออสโลและผู้เชี่ยวชาญจากทางนอร์เวย์เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษก็เข้าใจคอนเซปต์ในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้และมีความตื่นตัว ไม่ละเลยที่จะเข้าร่วมกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างมาตรฐานการสืบสวนสอบสวน

“เราคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านของการซักถามเพื่อสืบสวนสอบสวนมาประชุม ให้ความเห็นร่วมกับ TIJ และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เพื่อจัดทำร่างหลักสูตรลงบน SOP (Standard Operating Procedure) การปฏิบัติงาน รวมถึงจัดการปรับเปลี่ยนหลักสูตรในการฝึกอบรมพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของเรา ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 นี้”

พันตำรวจโทคมวิชช์ยืนยันว่า จะติดตามผลที่ได้จากการดำเนินงานมาประเมินเพื่อพัฒนากระบวนการสืบสวนของไทย รวมถึงนำกรณีที่น่าสนใจไปแลกเปลี่ยนความรู้บนเวทีนานาชาติในอนาคต

จะเห็นได้ว่า นักวิชาการ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสืบสวนและสอบสวนไทย ต่างตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางกฎหมายของผู้ต้องหา ตลอดจนเล็งเห็นถึงปัญหาที่พบระหว่างการสืบสวนและสอบสวน เช่นการข่มขู่ บีบบังคับ ทรมาน ซึ่งมีผลต่อรูปคดี ดังนั้นจึงเห็นควรว่ากระบวนการทางเลือกที่เอื้อประโยชน์และช่วยปรับปรุงการสืบสวนและสอบสวนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างแนวคิดการสอบปากคำแบบ Investigative Interviewing จากประเทศนอร์เวย์ จะมีบทบาทในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของไทยต่อไป

 

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0