โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

Investigative Interviewing : ‘คุยกันฉันมิตร’ แนวคิดใหม่ในการสอบปากคำ

The101.world

เผยแพร่ 13 ต.ค. 2562 เวลา 17.38 น. • The 101 World
Investigative Interviewing : ‘คุยกันฉันมิตร’ แนวคิดใหม่ในการสอบปากคำ

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

 

การปกป้องสิทธิมนุษยชนและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกจับกุม คือคุณค่าที่กระบวนการยุติธรรมทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ แต่อีกด้านหนึ่ง เมื่อเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานสืบสวนท่ามกลางสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก อาทิ เหตุก่อการร้าย หรืออาชญากรรมซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ แรงกดดันจากสาธารณชนและความโกรธแค้นของผู้สูญเสียอาจเป็นเหตุทำให้การดำเนินงานบางกรณีสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะขั้นตอนการสอบปากคำ เพราะเจ้าหน้าที่บางส่วนยังคงใช้วิธีเร่งรัดผู้ต้องสงสัยให้สารภาพภายใต้สภาพแวดล้อมบีบคั้น หรืออาจบานปลายไปถึงขั้นทำร้ายร่างกาย

ตามที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวไว้ว่า การสืบสวนสอบสวนต้องยึดหลัก ‘ค้นหา’ ความจริง ไม่ใช่ ‘เค้นหา’ ความจริง การพัฒนาแนวทางการสอบปากคำรูปแบบใหม่ที่ช่วยรักษาสิทธิมนุษยชนจึงเป็นโจทย์สำคัญของกระบวนการยุติธรรม และทางเลือกหนึ่งในนั้นคือแนวทางการซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวน หรือ ‘Investigative Interviewing’

กระบวนการ Investigative Interviewing เป็นการค้นหาความจริงผ่านการซักถามอย่างเป็นมิตรกับผู้ถูกจับกุม ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย ปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อประโยชน์สูงสุดร่วมกันทุกฝ่ายในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการ ‘คุยกันฉันมิตร’ กับผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สมาคมเพื่อการยุติการทรมาน (Association for the Prevention of Torture – APT) และศูนย์สิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ (NCHR) ได้ร่วมกันจัด การประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติว่าด้วยอนาคตการสืบสวนสอบสวน : การซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวน และมาตรการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอทางเลือกในการสืบสวนสอบสวนและการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยแนวคิด Investigative Interviewing พร้อมทั้งถอดบทเรียนจากการใช้แนวคิดดังกล่าวจากประเทศนอร์เวย์ เพื่อนำมาพัฒนากระบวนการสืบสวนสอบสวนของไทย

 

การเติบโตของอาชญากรรมนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง

 

“ในปัจจุบัน ประเทศส่วนใหญ่ยังเน้นการสืบสวนภาคสนามเพื่อจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมให้ได้จำนวนมาก แต่ปริมาณการจับกุมเหล่านั้นบ่งชี้ถึงความสำเร็จของกระบวนการสืบสวนจริงหรือ”

นั่นคือสิ่งที่ Julien Garsany รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ตั้งคำถาม

 

Julien Garsany รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก UNODC

 

เมื่อย้อนมองสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่าองค์กรอาชญากรรมถือกำเนิดและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ทางตำรวจสามารถจับคนร้ายได้ในการก่อเหตุหลายต่อหลายครั้ง หากกลุ่มคนเหล่านั้นมักเป็นเพียงสมาชิกระดับล่างขององค์กร ทำให้ต้นเหตุของความรุนแรงที่แท้จริงยังคงลอยนวล

“5 ปีที่ผ่านมา องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้สามารถทำเงินเพิ่มขึ้นจากหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ เป็นหนึ่งแสนสามหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี นั่นหมายความว่าปัญหาเรื่ององค์กรอาชญากรรมมีแนวโน้มเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ”

ถึงการทำงานสืบสวนภาคสนามจะได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่ Garsany มองว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยวิธีใหม่ๆ โดยเน้นสืบสวนเชิงคุณภาพที่สามารถต่อยอดข้อมูลจากผู้ต้องหา ระบุรายละเอียดโครงสร้างองค์กรอาชญากรรมเพื่อการปราบปรามอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แต่การ ‘ต่อยอด’ ข้อมูลด้วยการทรมานอาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุด เพราะนอกจากสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ผู้ต้องหาที่ถูกทรมานหรือทำร้ายร่างกายระหว่างการสืบสวน ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์เสมอไป รวมถึงอาจสร้างความไม่ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

ในฐานะตัวแทนจาก UNODC เขาเสนอว่า “ทาง UNODC สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงกระบวนการสืบสวน โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน และกระบวนการสอบสวนด้วยวิธีซักถามอย่างเหมาะสม ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับงานสืบสวนในอนาคต”

 

ไม่มีใครสมควรถูกทรมานในทุกสถานการณ์

 

“เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประเทศอย่างตำรวจหรือทหาร จำเป็นต้องรักษาความปลอดภัยด้านสิทธิมนุษยชนของผู้คนด้วยเช่นกัน”

Alka Pradhan ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน เริ่มต้นประเด็นด้วยความเห็นดังกล่าว ก่อนเล่าเรื่องราวของนาย Ammar al-Baluchi ชายชาวปากีสถานผู้ถูกลักพาตัวจากเมืองการาจี (Karachi) เมื่อปี 2003 ไปยังเรือนจำกวนตานาโม ประเทศคิวบา เพราะต้องสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิดกับแกนนำก่อเหตุวินาศกรรม 9/11

ที่นั่น นาย Ammar al-Baluchi ถูกเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (Central Intelligence Agency – CIA) ทารุณกรรมอยู่เกือบ 3 ปี ได้รับความทุกข์ทรมานทางร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส อีกทั้งยังถูกจับตาการเคลื่อนไหวหลังการปล่อยตัวอีกเป็นเวลานาน กรณีนี้คือตัวอย่างการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

จากประสบการณ์ในฐานะทนายของนาย Baluchi ศาสตราจารย์ Pradhan ให้ความเห็นว่าคำสารภาพที่มาจากการทรมานมักเต็มไปด้วยความผิดพลาด ทำให้การสืบสวนคดีล่าช้ามากกว่าเดิม และฝ่ายทนายอย่างเธอก็ต้องปกป้องลูกความไม่ให้ถูกพิพากษาประหารชีวิต เพราะคำสารภาพที่ไม่เป็นความจริงเหล่านั้น

แม้ว่าหลายๆ ครั้ง เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือรับแรงกดดันจากสาธารณชนในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ศาสตราจารย์ Pradhan เชื่อว่า “ไม่ควรมีสถานการณ์ใดที่ต้องละเว้นสิทธิตามหลักกฎหมายหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกจับกุม”

“พวกเขาควรได้รับการแจ้งสิทธิอย่างครบถ้วน เช่น สิทธิในการเรียกทนาย สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล ที่สำคัญคือสิทธิในการติดต่อกับครอบครัวเพื่อบอกว่าถูกจับกุม เพราะเราพบว่าคนส่วนใหญ่มักยอมพูดอะไรก็ได้เพื่อให้ได้พบกับครอบครัวตนเอง”

ฉะนั้น การสร้างกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ตั้งอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชน จะช่วยปกป้องทั้งตัวผู้ถูกจับกุมจากการถูกละเมิดสิทธิ ปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐจากคำครหา และปกป้องความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไปพร้อมๆ กัน

 

พัฒนากระบวนการสืบสวนสอบสวนด้วยแนวคิดใหม่

 

Juan E. Méndez อดีตผู้ตรวจการพิเศษด้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ

 

“สังคมทุกวันนี้ยังคงมีปัญหาเรื่องการทรมานเพื่อสอบปากคำในกระบวนการสืบสวนสอบสวน แม้ว่าจะมีหลักกฎหมายสากลว่าด้วยเรื่องคุ้มครองสิทธิผู้ถูกจับกุมอยู่ก็ตาม”

Juan E. Méndez อดีตผู้ตรวจการพิเศษด้านการทรมานแห่งสหประชาชาติเปิดเผยว่า สาเหตุหนึ่งของปัญหามาจากทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน ที่ตั้งเป้าหมายในการสืบสวนสอบสวนว่าต้องทำให้ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ ดังนั้นจึงทำทุกวิถีทาง จนอาจละเลยสิทธิบางประการของผู้ถูกจับกุม เป็นต้นว่า สิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ในชั้นสอบสวน หรือ สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิดจนกว่าศาลจะตัดสิน

แต่เป้าหมายแท้จริงของการสืบสวนสอบสวน ควรเป็นการทำงานที่ยึดหลัก ‘ไม่ทรมาน’ แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินหรือแรงกดดันจากสาธารณชนก็ตาม

“หลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า ผู้ถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างทารุณมีแนวโน้ม ‘พูดอะไรก็ได้’ ที่ทำให้การทรมานจบลง ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จึงไม่น่าเชื่อถือ กลายเป็นว่าสูญเสียทั้งเวลาและทรัพยากร ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของสังคมในระยะยาว และยังมีหลักฐานว่าการทรมานส่งผลร้ายต่อสมองส่วนที่ทำงานด้านการรู้คิดและความจำของผู้ถูกกระทำอีกด้วย”

การสอบปากคำโดยใช้แนวทางซักถามตามหลัก Investigative Interviewing อันมีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ เวลส์ และนอร์เวย์ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งซึ่งเข้ามาทดแทนวิธีการทำงานแบบเก่า

“จุดประสงค์ของกระบวนการซักถามคือการรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่ความจริงของเรื่องราว โดยหัวใจหลักของการตั้งคำถามอยู่บนข้อสันนิษฐานว่าผู้ถูกจับกุมบริสุทธิ์ แตกต่างจากวิธีการซักถามแบบเดิมที่คิดว่าผู้ถูกจับกุมเท่ากับคนร้าย”

“แนวทางนี้จะช่วยป้องกันการทรมานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา รวมถึงเปลี่ยนทัศนคติหรือวัฒนธรรมของผู้ปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นการบีบคั้นให้รับสารภาพ”

คุณลักษณะสำคัญของเจ้าหน้าที่สอบสวนตามแนวทางของ Investigative Interviewing คือมีความยุติธรรม ตั้งตนเป็นกลาง ไม่ด่วนตัดสิน และมีทักษะการสร้างไมตรีกับผู้ถูกซักถาม ซึ่งนอกจากสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ยังช่วยลดความเครียด หรือกระทั่งความโกรธเกรี้ยวของผู้ถูกคุมขัง ทำให้พวกเขายอมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ แนวทางการซักถามแบบ Investigative Interviewing ยังสามารถเป็นต้นแบบการฝึกอบรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตนบนมาตรฐานการทำงานเดียวกัน และร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดการทรมาน ที่ประชาชนสามารถเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมว่าจะช่วยปกป้องสิทธิและมอบความเป็นธรรมแก่พวกเขา

 

นอร์เวย์ ตัวอย่างความสำเร็จของการใช้แนวทางซักถามเพื่อการสืบสวน

 

“ผมเคยถูกสอนให้เชื่อว่า เมื่อจับผู้ต้องสงสัยได้ เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้เขาสารภาพ” Asbjorn Rachlew ผู้กำกับการตำรวจ จากสำนักงานตำรวจ ประเทศนอร์เวย์ เล่าย้อนถึงประสบการณ์ตรงของเขา “แต่งานวิจัยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาบอกกับเราว่า การสอบปากคำด้วยวิธีการกดดัน บีบคั้นแบบเดิม อาจไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรวบรวมข้อมูล ดังนั้น เราจึงต้องเปลี่ยนความคิด”

 

Asbjorn Rachlew ผู้กำกับการตำรวจ สำนักงานตำรวจประเทศนอร์เวย์

 

กระบวนการซักถามแบบ Investigative Interviewing เป็นหลักสูตรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนในประเทศนอร์เวย์มากว่า 10 ปี นับเป็นประเทศที่สองต่อจากสหราชอาณาจักรที่นำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จนั้นได้แก่ คดีก่อการร้ายเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2011 โดยนาย Anders Behring Breivik ได้ก่อเหตุวางระเบิดที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ และกราดยิงเยาวชนในองค์การเยาวชนของพรรคแรงงานนอร์เวย์บนเกาะ Utøya ทำให้มีผู้เสียชีวิต 77 คน และผู้บาดเจ็บกว่า 310 คน

เขาถูกจับกุมพร้อมอาวุธปืนในมือ และประกาศกร้าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ‘เป็นเพียงจุดเริ่มต้น’ เท่านั้น เมื่อนาย Anders ไม่ยอมปริปากเล่าแผนการหรือแรงจูงใจแก่ตำรวจ จึงทำให้การสืบสวนคดีเป็นไปอย่างยากลำบาก

ท่ามกลางความโกรธแค้นของสาธารณชนและสถานการณ์บีบบังคับให้เร่งสอบสวนเพื่อดำเนินการลงโทษ ทางตำรวจนอร์เวย์เลือกใช้วิธีการเชิญนักสัมภาษณ์ที่มีประสบการณ์ด้านการซักถาม การฟัง และมีความรู้เรื่องจิตวิทยามาพูดคุยกับนาย Anders ในห้องซึ่งถูกจัดเตรียมไว้ให้มีบรรยากาศผ่อนคลาย รวมถึงไม่มีตำรวจคอยควบคุม

พวกเขาพบว่าวิธีดังกล่าวได้ผลดียิ่งกว่าการสอบปากคำใต้ความกดดัน นาย Anders ยอมสารภาพข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้น

“กระบวนการเหล่านั้นทำให้ผู้ถูกจับกุมรู้สึกว่าได้รับความเคารพ และมีคนรับฟังเรื่องของพวกเขาจริงๆ”

Rachlew เล่าขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่สอบสวนว่าต้องเตรียมตัว ศึกษาข้อมูลของคดีเพื่อวางแผนการสัมภาษณ์ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ถูกซักถาม

“ไม่ใช่เพื่อแกล้งทำตัวเป็นพวกเดียวกัน แต่เพื่อทำให้อีกฝ่ายมั่นใจว่าเราใส่ใจกับเรื่องของเขา เราจะไม่ละเมิดสิทธิของเขา และเราจะช่วยกันค้นหาความจริง”

หลังจากนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด ก่อนจะถามคำถามเจาะจงในแต่ละประเด็นที่สนใจ ทั้งนี้ หัวข้อคำถามจะตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานว่าผู้ต้องสงสัยคือผู้บริสุทธิ์ และถามเพื่อค้นหาคำอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกเหนือไปจากการคาดเดาข้อมูลจากพยานหลักฐานที่มีอยู่

“เราสอนเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนว่าต้องเปิดใจ และต้องพยายามพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้ผู้ถูกจับกุม เพราะบางครั้งเขาอาจจะเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ นี่คือสิ่งที่เราต้องเปลี่ยนทัศนคติการทำงาน”

เมื่อเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์ และประเมินการซักถามเป็นที่เรียบร้อย Rachlew ยืนยันว่าผู้ถูกซักถามจะยังคงได้รับการปฏิบัติอย่างดี และให้เกียรติในฐานะมนุษย์ไม่แตกต่างไปจากเดิม

ปัจจุบัน ทางนอร์เวย์ได้ส่งต่อหลักสูตร Investigative Interviewing แก่ประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน โดยมุ่งหวังให้เกิดกระบวนการสืบสวนที่มีประสิทธิภาพและสร้างวิทยากรต้นแบบภายในประเทศเหล่านั้นเพื่อสืบทอดองค์ความรู้

สำหรับประเทศไทย เป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งกำลังนำแนวทางการสืบสวนดังกล่าวมาเรียนรู้ผ่านความร่วมมือของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อสร้างหลักสูตร Investigative Interview ให้เกิดขึ้นในกระบวนการสอบสวนของไทย และพัฒนากระบวนการยุติธรรมบนหลักการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไป

 

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0